×

เกาะติดชุมนุม #16ตุลาไปราชประสงค์ #16ตุลาไปปทุมวัน สถานการณ์ล่าสุด

โดย THE STANDARD TEAM
16.10.2020
  • LOADING...

เกาะติดชุมนุม #16ตุลาไปราชประสงค์ สถานการณ์ล่าสุด

 

 


ปล่อยตัวนักข่าวประชาไทที่ถูกจับระหว่างรายงานสถานการณ์แล้ว
 
 
วันนี้ (17 ตุลาคม) เมื่อเวลา 02.00 น. ที่ผ่านมา ประชาไท รายงานว่า กิตติ พันธภาค นักข่าวประชาไทที่ถูกจับกุมขณะเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน ได้รับการปล่อยตัวจาก ตชด. ภาค 1 หลังปรับ 300 บาท ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ม.368
 
 
กิตติระบุว่า เขาถูกควบคุมตัวขณะถ่ายทอดสดอยู่ฝั่งเจ้าหน้าที่ และมีประกาศให้ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ แต่เขาเข้าใจว่าผู้สื่อข่าวยังสามารถรายงานสถานการณ์ได้ โดยถูกจับใส่สายเคเบิลรัดมือไพล่หลัง ยืนยันว่า ไม่มีการขัดขืนระหว่างคุมตัว ก่อนจะนำไปตัวไปที่ สน.ปทุมวัน และนำตัวมาที่ ตชด. ภาค 1
 
 
กิตติยังระบุว่า การรายงานความจริงไม่ผิด เป็นหน้าที่ของสื่อที่จะพูดความจริง การจับกุมสื่อเป็นการคุกคามที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะสื่อไม่ใช่อาชญากร เป็นเสรีภาพและหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะพูดความจริง

 

 


โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ทวีตข้อความผ่านแอ็กเคานต์ส่วนตัว (@joshuawongcf) ให้กำลังใจกลุ่มคณะราษฎรและมวลชนว่า “ผมขอเป็นกำลังใจให้ชาวไทยทุกคนนะครับ”

พร้อมยกประโยคจากภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta ที่ระบุว่า “ประชาชนไม่ควรจะหวาดกลัวรัฐบาล ตรงกันข้าม รัฐบาลต่างหากที่ต้องกลัวประชาชน”

 

โจชัว หว่อง

 

 


นักข่าวประชาไทถูกจับระหว่างรายงานสถานการณ์ สมาคมนักข่าวฯ กำลังประสานงานช่วยเหลือใกล้ชิด

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีนักข่าวประชาไทถูกจับกุมนั้น 6 องค์กรวิชาชีพสื่อรับทราบเรื่องแล้ว และกำลังดำเนินการประสานข้อมูล ช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด รวมทั้งประสานกับบรรณาธิการประชาไทด้วยเช่นกัน ความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป

 

สำหรับนักข่าวที่ถูกจับกุม ประชาไทรายงานว่า ‘กิตติ’ ถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ปทุมวัน ตั้งแต่ประมาณ 21.50 น. โดยมีผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวอยู่ด้วยกันอีก 2 คน รวมเป็น 3 คน เจ้าหน้าที่แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่าจะถูกนำตัวไป ตชด. ภาค 1

 

กิตติเล่าว่า ถูกควบคุมตัวขณะถ่ายทอดสดอยู่ฝั่งเจ้าหน้าที่ และมีประกาศให้ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ แต่เขาเข้าใจว่าผู้สื่อข่าวยังสามารถรายงานสถานการณ์ได้

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 


23.00 น. ผู้แทนนิสิตนักศึกษาทั้ง 8 มหาวิทยาลัย ได้แก่ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, องค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล, สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร, องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และองค์การบริหาร องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ออกแถลงการประณามการใช้ความรุนแรงในการเข้าสลายการชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคม 2563

 

 

แถลงการณ์

 


22.48 น. ฟอร์ด-ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการเยาวชนปลดแอก และหนึ่งในแกนนำคณะราษฎร โพสต์ภาพหมายจับลงบนทวิตเตอร์ @fordtattepRuang ระบุข้อความว่า ‘ผมโดนจับแล้ว กำลังไป ตชด. ภาค 1’ โดยก่อนหน้านี้ศาลแขวงปทุมวันได้ออกหมายจับแกนนำคณะราษฎรเพิ่มเติม 12 คนในช่วงเย็นที่ผ่านมา

 

ฟอร์ด-ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการเยาวชนปลดแอก ศาลแขวงปทุมวันได้ออกหมายจับแกนนำคณะราษฎรเพิ่มเติม 12 คน

 


ราชกิจจานุเบกษาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ ฉบับที่ 2
 
 
ราชกิจจานุเบกษาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) ระบุว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เวลา 04.00 น. เป็นต้นไปนั้น
 
 
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการชุมนุมและการก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินและร้ายแรงเป็นไปโดยความเรียบร้อยและสามารถยุติลงได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
 
 
รวมทั้งเพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิต หรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
 
 
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ดังกล่าว
 
 
และเห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงจนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
 

ราชกิจจาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ ฉบับที่ 2

 


20.45 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงฉีดน้ำแรงดันสูงใส่มวลชนบริเวณแยกปทุมวัน แม้มวลชนคณะราษฎรจะประกาศยุติการชุมนุมแล้วก็ตา

 

การฉีดพ่นน้ำ สลายการชุมนุม

 


20.40 น. เพจเยาวชนปลดแอก (Free Youth) ประกาศห้ามมวลชนเข้าไปยังบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุพื้นที่ดังกล่าวไม่ปลอดภัย “พื้นที่ปิดไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด! ขอให้ทุกคนกลับบ้านโดยปลอดภัยแล้วรอการอัพเดทต่อไป! รัฐได้ประกาศศึกกับเราเต็มรูปแบบแล้ว ต่อจากนี้ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม!”

 

คณะราษฎร เลี่ยงพื้นที่ปิด ชุมนุม จุฬา

 

 


20.39 น. เพจรถไฟฟ้าบีทีเอส ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้รถไฟฟ้าบีทีเอสได้ให้บริการตามปกติทุกสถานีแล้ว

 

BTS ให้บริการตามปกติ

 


20.16 แกนนำผู้ชุมนุมประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้มวลชนถอยกลับไปตั้งหลักบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากสถานการณ์ในตอนนี้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก จากการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่รถบรรทุกน้ำแรงดันสูงของเจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนผ่านบริเวณหัวโค้งแยกปทุมวัน มุ่งหน้ามาทางศูนย์การค้า MBK แล้ว

 

 


20.10 น. พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ระบุว่า หากใครได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่ ขอให้รีบมายัง 5 จุดที่ได้จัดทีมแพทย์ไว้คอยช่วยเหลือ
1. Tesco Lotus พระราม 1
2. Stadium One
3. สามย่านมิตรทาวน์
4. แยกประตูน้ำ
5. แยกเฉลิมเผ่า

หรือโทรมายังเบอร์ 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือได้เช่นกัน

 

 


20.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเคลื่อนแถวถึงหน้าบริเวณแยกปทุมวันและสกายวอล์ก พร้อมฉีดน้ำจากรถบรรทุกน้ำแรงดันสูงเข้าใส่มวลชนอย่างต่อเนื่องเพื่อสลายการชุมนุม

 


19.55 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเคลื่อนแถวถึงบริเวณแยกปทุมวันแล้ว พร้อมเดินหน้าเข้าสลายการชุมนุมของมวลชน

 

ตำรวจตั้งโล่กั้น

 

 


19.49 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้ประชาชนออกจากพื้นที่บริเวณหน้าศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์และลิโด้ ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการ ‘ควบคุมตัว’ พร้อมกระชับพื้นที่เข้าถึงบริเวณแยกปทุมวันอย่างต่อเนื่อ

 

 


19.45 เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศผ่านรถขยายเสียงเดินหน้ากระชับพื้นที่มวลชนบริเวณหน้าศูนย์การค้าสนามเซนเตอร์อย่างต่อเนื่อง พร้อมฉีดน้ำใส่มวลชนอีกครั้ง พร้อมให้สื่อมวลชนออกจากพื้นที่โดยด่วน

 

 


19.39 น. มวลชนเริ่มประชาสัมพันธ์ผ่านเครื่องขยายเสียงให้ผู้ร่วมชุมนุมเคลื่อนทัพไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมประกาศว่า “ตำรวจอย่าทำร้ายประชาชน มวลชนคือลูกหลานของท่าน” อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงเคลื่อนประชิดแนวมวลชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมฉีดน้ำใส่กลุ่มผู้ชุมนุมเป็นระยะ

 

มวลชนเคลื่อนทัพไปจุฬา

 


19.33 น. ตำรวจที่ตั้งแถวอยู่หน้า BTS สยามเริ่มเคลื่อนแนวกำลังอีกครั้ง มีการฉีดน้ำแรงดันสูง ขณะที่มวลชนถอยร่นออกไปบริเวณแยกปทุมวัน

 

ราชประสงค์ - 19.33

 


19.24 น.​ เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มตั้งแถวหน้ารถฉีดน้ำแรงดันสูงใส่มวลชนอีกครั้ง โดยถือโล่และกระบองเพื่อเตรียมผลักดันมวลชนหน้าบริเวณ BTS สยาม

 


19.20 รถพยาบาลจำนวน 5 คันมุ่งหน้าจากถนนสามย่านเข้าพื้นที่ชุมนุม ขณะที่มวลชนจำนวนมากทยอยเดินทางออกจากพื้นที่ และเข้าไปหลบในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมตะโกนว่า ‘ไปจุฬาฯ’ ที่ไม่มีการปิดประตูรั้ว

 


 

19.15 น. มีรายงานจากผู้สื่อข่าวในพื้นที่ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มยิง ‘แก๊สน้ำตา’ ใส่มวลชนแล้ว พร้อมกันนี้ยังประกาศผ่านรถขยายเสียงให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเดินทางออกจากพื้นที่โดยด่วน รวมถึงประกาศให้สื่อมวลชนออกจากพื้นที่

 

ตำรวจไล่ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่

 


19.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวหน้ารถฉีดน้ำแรงดันสูงอีกครั้ง พร้อมผลักดันกองกำลังผ่านรั้วเหล็กแนวกั้นของมวลชน เริ่มมีการปะทะอีกครั้ง

 

 

รถฉีดน้ำสลายการชุมนุม

 


เจ้าหน้าที่ตำรวจฉีด ‘สารสีน้ำเงิน’ และน้ำจากรถน้ำแรงดันสูงใส่มวลชน

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เคลื่อนรถฉีดน้ำแรงดันสูงมาบริเวณแนวหน้าของมวลชนคณะราษฎรบริเวณหน้าศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ก่อนจะฉีดน้ำและ ‘สารสีฟ้า’ เข้าใส่กลุ่มมวลชนอย่างต่อเนื่องเพื่อพยายามที่จะสลายการชุมนุม

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจฉีด ‘สารสีน้ำเงิน’ และน้ำจากรถน้ำแรงดันสูงใส่มวลชน

 


19.05 น. การปะทะยุติลงชั่วคราว เมื่อเจ้าหน้าที่หยุดเคลื่อนกำลังใส่แนวกั้นของมวลชน แต่สถานการณ์ยังคงตึงเครียด มวลชนพยายามสร้างแนวกั้นโดยนำรั้วเหล็กมาวางอีกครั้ง

 


18.57 น. แนวกั้นบางส่วนของมวลชนเริ่มสลายแล้ว หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจประชิดกำลังเข้ากดดันมวลชนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี มวลชนบางส่วนพยายามนำรั้วเหล็กมาตั้งเป็นแนวกั้นอีกครั้ง

 

ตำรวจฉีดน้ำสลายการชุมนุม

 

 


 

18.56 น. เกิดการปะทะกันระหว่างมวลชนและกองกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังมีการฉีดสารสีน้ำเงินใส่มวลชนอย่างต่อเนื่องโดยรถฉีดน้ำแรงดันสูง จนมวลชนต้องถอยร่นเข้าไปหลบในที่ปลอดภัย

 

การปะทะกัน

 


18.55 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มขยับพลเข้าประชิดมวลชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมฉีด ‘สารสีน้ำเงิน’ เข้าใส่ ขณะที่มวลชนพยายามใช้ร่มป้องกันตัวเอง

 

การชุมนุมกลางสายฝน ผู้ชุมนุม กางร่ม ถ่ายรูป

 


18.50 น. ตำรวจเคลื่อนรถฉีดน้ำมายังแนวหน้าของมวลชนบริเวณหน้าศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ก่อนจะเริ่มฉีดน้ำแรงดันสูงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมอีกครั้ง ขณะที่ผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามตั้งกำแพงแนวกั้น ไม่ให้แถวของตำรวจเข้ามาประชิดผู้ชุมนุมที่เหลือได้

 

ฉีดน้ำสลายการชุมนุม

 

 


18.47 น. บริเวณศูนย์การค้า MBK ฝั่งปทุมวัน มีการประกาศให้มวลชนที่วิ่งออกไปก่อนหน้านี้กลับเข้ามารวมตัวกันที่เวทีเหมือนเดิมแล้ว โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น เรามาชุมนุมอย่างสันติ”

 


18.45 น. ผู้ชุมนุมลุกขึ้นยืนและชูสามนิ้ว พร้อมตะโกนร่วมกันว่า ‘หยุดคุกคามประชาชน’ ‘ออกไป’ และตะโกนเรียกเพื่อนๆ ให้ออกมาจากบริเวณที่มีการผลักดันจากเจ้าหน้าที่ตำรว

 

ผู้ชุมนุม แยกปทุมวัน

 


18.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มกระชับพื้นที่ผู้ชุมนุม โดยมีรายงานว่ามีการใช้ ‘รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม’ บริเวณหน้าสยามดิสคัฟเวอรี ผู้ชุมนุมพยายามวิ่งหลบหนี บรรยากาศเริ่มชุลมุน

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มกระชับพื้นที่ผู้ชุมนุม

 


18.15 น. MRT แจ้งปิดให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน สถานีสามย่านชั่วคราวแล้ว ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป สำหรับสถานีอื่นๆ ยังคงให้บริการตามปกติ

 

 


18.10 น. เจ้าหน้าที่เริ่มให้ผู้โดยสารทยอยออกจากรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสามย่านและสีลมแล้ว ขณะที่ผู้สื่อข่าวภาคสนามรายงานว่ารถไฟฟ้าใต้ดินได้ปิดให้บริการในสถานีสามย่านชั่วคราวแล้ว

 


17.55 น. ภาพมุมสูงจากบริเวณสกายวอล์ก เผยให้เห็นมวลชนจำนวนมากที่เดินทางมารวมตัวกันร่วมกิจกรรมชุมนุมบริเวณแยกปทุมวันตามกำหนดการใหม่ที่ #คณะราษฎร2563 ได้นัดหมายเอาไว้

 

 

แยกปทุมวัน แยกปทุมวัน แยกปทุมวัน แยกปทุมวัน


ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ขอแจ้งปิดศูนย์การค้าเร็วขึ้นกว่าเวลาปกติ

ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ขอแจ้งปิดศูนย์การค้าเร็วขึ้นจากเวลาปกติ วันนี้ (16 ตุลาคม) เป็นเวลา 17.00 น. เพื่อความสะดวกในการเดินทาง และคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าที่มาใช้บริการภายในศูนย์การค้าฯ และพนักงาน เนื่องจากมีการชุมนุมและปิดการจราจรบริเวณสี่แยกปทุมวัน

 

 

 


16.26 น. รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ศาลอาญายังไม่อนุมัติประกันตัว ‘ไผ่ ดาวดิน’ แม้จะใช้ตำแหน่ง ส.ส. เพื่อขอประกันตัว โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ส่วนผู้ชุมนุม 6 ราย คือ นัดธนัย ขุนแข็ง, พรเทพ คงอินทร์, ธนิฐา กาวี, ศักดิ์ชัย ศรีเมือง, ธีรชัย จุติมงคลกุล และนฤชา จันทร์สุข ที่ถูกฝากขังที่ศาลแขวงปทุมวัน อมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. พรรคก้าวไกล เปิดเผยในเวลา 14.50 น. ว่าศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว
 
 
 

บีทีเอส แจ้งปิดให้บริการชั่วคราวเพิ่มอีก 3 สถานี ได้แก่ สถานีสยาม, สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และสถานีราชเทวี ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป จนปิดให้บริการ ตามประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ส่งผลให้ปิดรวมเป็น 5 สถานีแล้ว (นับรวมราชดำริและชิดลม) ส่วนสถานีอื่นๆ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ

 

 


17.14 น. อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ เริ่มปราศรัยเรียกมวลชนให้มารวมตัวกันบริเวณผิวถนนแยกปทุมวัน โดยระบุว่า วันนี้ ‘เราจะแกงตำรวจ’ ร่วมกัน

 

 


17.20 น. มวลชนเข้าจับจองพื้นผิวถนนแยกปทุมวัน พร้อมตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา” เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวมวลชนที่ถูกควบคุมตัวไปก่อนหน้านี้ ขณะที่รถกระบะติดเครื่องขยายเสียงของผู้ชุมนุมได้เคลื่อนเข้ามายังบริเวณพื้นที่แล้ว

 

 

 


17.00 น. มวลชนเริ่มกระจายลงผิวถนนบริเวณแยกปทุมวันแล้ว ตามเวลานัดหมายของคณะราษฎร

 


16.45 น. บรรยากาศบริเวณแยกราชประสงค์หลัง #คณะราษฎร2563 ย้ายจุดชุมนุมไปยังแยกปทุมวัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงปักหลักปิดกั้นถนนทุกเส้นทางเข้าแยกราชประสงค์ พร้อมตั้งแนวกำลังล้อมพื้นที่แยกราชประสงค์ไว้

 


16.41 น. มวลชนทยอยเดินทางมายืนรอบริเวณแยกปทุมวันแล้ว หลังคณะราษฎรแจ้งการเปลี่ยนสถานที่จากแยกราชประสงค์มาที่แยกปทุมวันในเวลา 17.00 น.

 

 


16.30 น. หลังมีรายงานว่าคณะราษฎรได้ประกาศเปลี่ยนสถานที่การชุมนุมไปยังบริเวณแยกปทุมวันในเวลา 17.00 น. ล่าสุดมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากเริ่มเดินทางมาปักหลักบริเวณแยกปทุมวันแล้ว ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีการปิดเส้นทางการจราจรในจุดดังกล่าว

 

 


16.27 น. รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ประกาศเปิดให้บริการตามปกติ โดยขอความร่วมมือผู้โดยสารปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

 

 


16.06 น. พนักงานร้านค้าในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ทยอยเดินทางออกจากศูนย์การค้าแล้ว หลังมีการประกาศปิดศูนย์การค้าในเวลา 16.00 น. เนื่องจากมีการปิดการจราจรในบริเวณแยกราชประสงค์

 

 


BREAKING: ด่วน คณะราษฎรยืนยัน เปลี่ยนสถานที่ชุมนุมไปที่แยกปทุมวัน นัดชุมนุมวันนี้ เวลา 17.00 น.

 

แยกปทุมวัน

 


ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ประกาศปิดบริการวันนี้ในเวลา 16.00 น.
 
ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แจ้งว่า เนื่องจากมีการปิดการจราจรโดยรอบศูนย์การค้าตั้งแต่เวลา 14.00 น. ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ขอปรับเวลาการปิดให้บริการในวันนี้ (16 ตุลาคม) เป็นเวลา 16.00 น. เพื่อความสะดวกในการเดินทางสัญจรของพนักงานบริษัท ร้านค้า และลูกค้าภายในศูนย์ฯ ทางศูนย์การค้าขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้

 


หมายเหตุ: ล่าสุด เวลา 16.00 น. เพจ ‘รถไฟฟ้าบีทีเอส’ แจ้งปิดให้บริการเฉพาะ 2 สถานี ได้แก่ ‘สถานีชิดลม (สายสุขุมวิท)’ และ ‘สถานีราชดำริ (สายสีลม)’ ตั้งแต่เวลา 15.00 น. จนปิดให้บริการ ตามประกาศ พรก. ฉุกเฉิน
 
15.25 น. บีทีเอส แจ้งงดรับส่งผู้โดยสาร 2 สถานี ได้แก่ ‘สถานีชิดลม (สายสุขุมวิท)’ และ ‘สถานีราชดำริ (สายสีลม)’ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร เนื่องจากมีเหตุชุมนุม ก่อนจะลบโพสต์ข้อความดังกล่าวออกไปในเวลาต่อมา

 

 


15.13 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามพนักงานขับรถรับส่งอาหารเข้าพื้นที่บริเวณโดยรอบแยกราชประสงค์เพื่อรับอาหารไปส่งลูกค้า นอกจากนี้ยังให้พ่อค้าแม่ค้าที่ตั้งร้านค้าและรถเข็นบริเวณดังกล่าวออกจากพื้นที่อีกด้วย
 
 

 
14.53 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำแผงเหล็กกั้นปิดเส้นทางการจราจรบริเวณสี่แยกปทุมวัน ฝั่งศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่แล้ว หลังมีการนัดหมายชุมนุมของคณะราษฎรเวลา 17.00 น. ที่แยกราชประสงค์วันนี้
 

 


14.43 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจวางแผงกั้นบริเวณท่าเรือประตูน้ำ ก่อนเข้าแยกราชประสงค์แล้ว เพื่อปิดเส้นทางไม่ให้มีการสัญจรผ่าน
 

 


14.38 น. เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนลงจากพื้นที่สกายวอล์กบีทีเอส เพื่อปิดการสัญจรตลอดพื้นที่

 

 


14.30 น. รายงานจากคณะก้าวหน้า ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ (คาดว่าจาก สน.มักกะสัน) ประมาณ 4 นาย เดินทางมาที่สำนักงานคณะก้าวหน้า อาคารไทยซัมมิท ชั้น 5 ขณะที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล กำลังแถลงข่าว ‘ข้อเสนอต่อสังคมไทย กรณีประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมกรณีขบวนเสด็จ’

 


14.25 น. รถตู้ตำรวจจำนวนมากวิ่งเข้ามาที่บริเวณแยกราชประสงค์ หลังตำรวจประกาศปิดถนนรอบแยกราชประสงค์ในเวลา 14.00 น. ห้ามรถผ่านเข้าออก

โดยตำรวจจะเข้าควบคุมพื้นที่และการจราจรถนนราชดำริ ตั้งแต่แยกราชดำริถึงแยกประตูน้ำ และถนนพระราม 1 ต่อเนื่องถนนเพลินจิต ตั้งแต่แยกเฉลิมเผ่าถึงแยกชิดลม โดยไม่อนุญาตให้รถทุกชนิดและประชาชนที่ไม่มีกิจธุระสัญจรเข้ามาในพื้นที่แยกราชประสงค์ โดยจะมีการตั้งจุดคัดกรองบุคคลอย่างเข้มงวด

พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองที่จะมารับบุตรหลานและบุคคลที่ทำงานหรือมีธุระในย่านดังกล่าว ขอให้ปรับเวลา ปรับการใช้ยานพาหนะในการเดินทาง และศึกษาเส้นทางเลี่ยงซึ่งมีถึง 12 เส้นทางรอบพื้นที่ ผ่านทางสายด่วน 1197 หรือแอปพลิเคชัน M-Help Me

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X