×

‘ประชาธิปไตย’ คำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรีในรอบ 23 ปี

13.01.2024
  • LOADING...

‘มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย’ คือคำขวัญเนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2567 จากเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 

 

นับเป็นคำขวัญวันเด็กไทยที่มีคำมีว่า ‘ประชาธิปไตย’ ในรอบ 23 ปี

 

เศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 
ระหว่างเป็นประธานมอบโล่รางวัลแด่เยาวชนดีเด่น​ 
เนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2567​ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567

 

คำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรี 

 

คำขวัญวันเด็กโดยนายกรัฐมนตรีมีขึ้นตั้งแต่ปี 2499 หรือ 68 ปีที่แล้ว โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ระบุว่า ‘จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม’

 

จากนั้นคำขวัญวันเด็กเงียบหายไป 2 ปี หลังจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจอมพล ป. ได้สำเร็จเมื่อปี 2500 

 

ก่อนที่ปี 2502 จอมพล สฤษดิ์ ได้มอบคำขวัญวันเด็กอีกครั้ง ระบุว่า ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า 

 

นับแต่นั้นประเทศไทยก็ไม่เคยขาดแคลนคำขวัญวันเด็กอีกเลย มีเว้นช่วงปี 2507 ยุคจอมพล ถนอม กิตติขจร เพียงปีเดียวเท่านั้น 

 

คำขวัญประจำเด็กตั้งแต่ปี 2499-2567 ที่เด็กๆ ได้รับจาก 19 นายกรัฐมนตรี มีทั้งสิ้น 66 ครั้ง โดยมีคำขวัญที่กล่าวถึง ‘ประชาธิปไตย’ เพียง 5 ครั้งเท่านั้น จากชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 4 ครั้ง ในปี 2536, 2537, 2543 และ 2544 

 

ล่าสุดในปี 2567 จากเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยอีก 1 ครั้ง สามารถเรียงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้ 

 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม 

 

ปี 2499: จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม

 

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

ปี 2502: ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า

ปี 2503: ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด

ปี 2504: ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย

ปี 2505: ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด

ปี 2506: ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด

 

จอมพล ถนอม กิตติขจร

 

ปี 2508: เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี

ปี 2509: เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี

ปี 2510: อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรง เรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย

ปี 2511: ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย มีความเฉลียวฉลาด รักชาติยิ่ง

ปี 2512: รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ

ปี 2513: เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส

ปี 2514: ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ

ปี 2515: เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ

ปี 2516: เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ

 

สัญญา ธรรมศักดิ์

 

ปี 2517: สามัคคีคือพลัง

ปี 2518: เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี

 

คึกฤทธิ์ ปราโมช

 

ปี 2519: เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรืองจะต้องทำตัวให้ดีมีวินัยเสียแต่บัดนี้

 

ธานินทร์ กรัยวิเชียร

 

ปี 2520: รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย

 

เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

 

ปี 2521: เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง

ปี 2522: เด็กไทยคือหัวใจของชาติ

ปี 2523: อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย

 

เปรม ติณสูลานนท์

 

ปี 2524: เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม

ปี 2525: ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย

ปี 2526: รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัย คุณธรรม

ปี 2527: รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดี มีความคิด สุจริต ใจมั่น หมั่นศึกษา

ปี 2528: สามัคคี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม

ปี 2529: นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

ปี 2530: นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

ปี 2531: นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

 

ชาติชาย ชุณหะวัณ

 

ปี 2532: รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

ปี 2533: รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

ปี 2534: รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา

 

อานันท์ ปันยารชุน

 

ปี 2535: สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม

 

ชวน หลีกภัย

 

ปี 2536: ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

ปี 2537: ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

ปี 2538: สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

 

บรรหาร ศิลปอาชา

 

ปี 2539: มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด

 

ชวลิต ยงใจยุทธ

 

ปี 2540: รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด

 

ชวน หลีกภัย

 

ปี 2541: ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย

ปี 2542: ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย

ปี 2543: มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย

ปี 2544: มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย

 

ทักษิณ ชินวัตร

 

ปี 2545: เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส

ปี 2546: เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี

ปี 2547: รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน

ปี 2548: เด็กรุ่นใหม่ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด

ปี 2549: อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด

 

สุรยุทธ์ จุลานนท์

 

ปี 2550: มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข

ปี 2551: สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม

 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

ปี 2552: ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี

ปี 2553: คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม

ปี 2554: รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ

 

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

ปี 2555: สามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี

ปี 2556: รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน

ปี 2557: กตัญญู รู้หน้าที่ เป็นเด็กดี มีวินัย สร้างไทย ให้มั่นคง

 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ปี 2558: ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต

ปี 2559: เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต

ปี 2560: เด็กไทยใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง

ปี 2561: รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี

ปี 2562: เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ

ปี 2563: เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย

ปี 2564: เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม

ปี 2565: รู้คิด รอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคม

ปี 2566: รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี

 

เศรษฐา ทวีสิน

 

ปี 2567: มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย

 

ครูจวง ก้าวไกลชี้ อย่าให้คำขวัญวันเด็กจากนายกฯ ​เป็นแค่ลมปาก

 

ปารมี ไวจงเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ในฐานะอดีตแม่พิมพ์ของชาติ ผู้ที่เคยสอนวิชาสังคมและประวัติศาสตร์มานานเกือบ 30 ปี ถึงคำขวัญวันเด็กประจำปี 2567 ที่ระบุว่า ‘มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย’ ว่าถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่นายกรัฐมนตรีเลือกใช้คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ในรอบหลายปี

 

ปารมีบอกอีกว่า ตนเองไม่อยากให้คำว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงคำขวัญที่ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ หากอ่านคำขวัญของนายกรัฐมนตรีแล้วนั้นก็ต้องทำให้ทุกความหมายในคำขวัญวันเด็กปีนี้เกิดขึ้นได้จริงๆ โดยเฉพาะการให้สังคมเคารพความเห็นต่าง

 

ตัวอย่างเช่น โรงเรียนไทยนั้นยังมีความเป็นอำนาจนิยมสูง ไม่เคารพความเห็นต่าง และละเมิดสิทธิเด็กเสมอ 

 

“ดิฉันไม่อยากให้คำขวัญของท่านนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงแค่ลมปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักสูตรการเรียนในวิชาสังคมศึกษาที่มีการยัดเยียดอุดมการณ์แบบเดิมๆ ด้วยการเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์และวิชาหน้าที่พลเมือง”

 

ปารมี ไวจงเจริญ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 
แฟ้มภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

ปารมีอธิบายเพิ่มเติมว่า รัฐบาลพยายามเพิ่มหลักสูตรวิชาการปลูกฝังหน้าที่พลเมืองด้วยแนวคิดและอุดมการณ์แบบเก่าๆ โดยไม่ให้เชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย ความเท่าเทียม หรือการมีส่วนร่วมในประเทศนี้ โดยมีแต่ปลูกฝังให้รักชาติ และไม่ให้คำนึงว่าเราก็เป็นพลเมืองของโลกเช่นกัน 

 

การปลูกฝังประชาธิปไตยในโรงเรียนนั้น ‘มี’ แต่ ‘ไม่มาก’ มีการสอนและท่องไปตามตำราที่มีแต่เปลือก เป็นประชาธิปไตยเชิงพฤติกรรม โดยที่ไม่คำนึงถึงเนื้อแท้ของประชาธิปไตย แล้วเด็กรุ่นใหม่จะเข้าใจถึงความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร 

 

ประชาธิปไตยในโรงเรียนอย่างแท้จริง เริ่มง่ายๆ คือผู้อำนวยการโรงเรียนต้องฟังคุณครูให้มากขึ้น และครูต้องฟังและให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เอาแต่ ‘สั่งๆๆ’ และสิ่งที่สำคัญที่สุด ทุกคนต้องไม่สยบยอมกับเผด็จการและอำนาจนิยม

 

ทำไม ‘ต้องมี’ วันเด็กแห่งชาติ

 

สำหรับการจัดงานวันเด็กแห่งชาตินั้นเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2498 ในรัฐบาล จอมพล ป. มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของเด็กเหมือนนานาประเทศ โดยได้ถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมเป็นวันเด็กแห่งชาติเรื่อยมาจนถึงปี 2506 

 

จากนั้นคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติมีความเห็นว่าควรเลื่อนกำหนดการจัดงานวันเด็ก เนื่องจากเดือนตุลาคมของไทยนั้นอยู่ในช่วงฤดูฝน ประกอบกับวันจันทร์เป็นวันที่ผู้ปกครองต้องไปทำงาน จึงเป็นอุปสรรคต่อการฉลองและทำกิจกรรมของเด็กๆ 

 

คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร จึงมีมติเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 ประกาศเปลี่ยนแปลงวันจัดงานวันเด็กจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมมาเป็นวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2508 เป็นต้นมา 

 

สำหรับวัตถุประสงค์นั้น รัฐบาลไทยกำหนดไว้คือ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี และเพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising