หากมองแบบผิวเผิน สิงคโปร์ถูกนับว่าเป็นหนึ่งในประเทศประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นประจำและมีการแข่งขันระหว่างหลายพรรคการเมือง แต่ถ้ามองลึกลงไปแล้ว ประชาธิปไตยแบบที่สิงคโปร์เป็นอยู่กลับไม่สามารถเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ
ตลอดระยะเวลา 55 ปีนับตั้งแต่เป็นเอกราช สิงคโปร์อยู่ภายใต้การปกครองของพรรคกิจสังคม (People’s Action Party: PAP) อยู่เพียงพรรคเดียว แม้หลายคนจะบอกว่าการผูกขาดอำนาจของพรรค PAP ได้มาด้วยความชอบธรรม เพราะ PAP สามารถกวาดคะแนนเลือกตั้งท่วมท้นจากมหาชนมาได้ทุกครั้งด้วยตัวเอง แต่การเลือกตั้งของสิงคโปร์ก็เป็นที่เคลือบแคลงไม่น้อย เพราะกฎกติกาต่างๆ ดูจะถูกออกแบบมาโดยเอื้อให้ PAP ได้เปรียบเหนือคู่แข่งทุกประตู นอกจากนี้ PAP ยังแทรกซึมเข้าไปในทุกองคาพยพของระบบการเมืองสิงคโปร์จนเป็นเนื้อหนังเดียวกัน วางกลไกสืบทอดอำนาจของตัวเองไว้อย่างเป็นระบบ และที่สำคัญประชาธิปไตยสไตล์สิงคโปร์ยังแหกตำราโลกประชาธิปไตยเสรีตรงที่ประชาชนไม่ได้มีปากมีเสียงเต็มที่ รัฐบาลครอบงำสื่ออย่างเข้มข้น และยังมีความพยายามเล่นงานคนที่ออกมาต่อต้านหรือเห็นต่างด้วยกฎหมาย
แม้จะไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ แต่หลายคนก็มองว่าระบอบการปกครองของสิงคโปร์มีข้อดี เพราะมีส่วนทำให้การเมืองสิงคโปร์มีเสถียรภาพจนการพัฒนาประเทศเดินหน้าได้ต่อเนื่องไม่มีสะดุด แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าคนสิงคโปร์ทุกคนจะพอใจกับชีวิตแบบนี้ที่พวกเขาไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงเต็มร้อยและถูกควบคุมโดยคนเพียงกลุ่มเดียว คนสิงคโปร์จำนวนหนึ่งส่งเสียงเรียกร้องที่จะเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และจำนวนมากของคนกลุ่มนั้นก็คือ ‘คนรุ่นใหม่’
ช่องว่างระหว่างวัยสู่ความขัดแย้งทางความคิด
สิงคโปร์ก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่หนีไม่พ้นการต้องเผชิญการปะทะทางความคิดระหว่างกลุ่มคนต่างวัย ผลสำรวจของสถาบันการศึกษานโยบาย (Institute of Policy Studies) เมื่อปี 2561 พบว่าคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ในสิงคโปร์กำลังสวมคอนเวิร์สแยกทางกันทางทัศนคติต่อประเด็นสังคมหลายประเด็น เช่น ประเด็นรักร่วมเพศ คนรุ่นใหม่ดูจะยอมรับกับเรื่องดังกล่าวได้มากกว่าคนรุ่นเก่ามาก นอกจากทัศนคติเกี่ยวกับค่านิยมทางสังคม ความคิดเห็นต่อประเด็นการเมืองระหว่างคนสองกลุ่มก็ดูจะแตกต่างกันเช่นกัน
เมื่อปีที่แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเรียนปริญญาโทในสาขาเอเชียศึกษาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์ ในคาบเรียนหนึ่งของวิชาการเมืองเปรียบเทียบในเอเชีย อาจารย์เข้าสู่บทเรียนเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของชาติเอเชีย เมื่อถึงช่วงท้ายของคาบเรียน อาจารย์บอกให้นักศึกษาในห้องเรียนนั่งแยกเป็นสองฝั่งเพื่ออภิปรายถกเถียงกัน ฝั่งหนึ่งคือคนที่อยากให้ประเทศตัวเองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยก็ให้นั่งอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อนร่วมชั้นของผมที่มาจากหลายชาติมีความคิดที่แตกต่างหลากหลาย กระจายกันนั่งอยู่ทั้งสองฝั่ง แต่ที่น่าสนใจคือถ้ามองดูเฉพาะคนสิงคโปร์ ซึ่งเป็นคนจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของห้องเรียน มันมีความแตกต่างของคนที่นั่งระหว่างสองซีกอย่างชัดเจน คนสิงคโปร์ที่เพิ่งจบปริญญาตรีมาหมาดๆ อายุ 20-30 ปี ต่างนั่งฝั่งประชาธิปไตย ขณะที่คนสิงคโปร์วัย 40 ปีขึ้นไปทุกคนในห้องนั่งฝั่งตรงข้าม
ระหว่างการอภิปรายในคลาสเรียนวันนั้น คนสิงคโปร์วัย 40 ปีขึ้นไปพูดคล้ายๆ กันว่าการเมืองการปกครองแบบที่สิงคโปร์เป็นอยู่นี้ก็ดีอยู่แล้ว เพราะมีความมั่นคง สงบเรียบร้อย และประเทศก็กำลังไปได้ดี ขณะที่คนสิงคโปร์รุ่นใหม่กลับไม่คิดเช่นนั้น จากการอภิปรายบวกกับการที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับพวกเขานอกรอบ พวกเขามองว่าถึงแม้รัฐบาลพรรค PAP จะบริหารประเทศได้ดีแบบปฏิเสธไม่ได้ แต่สิงคโปร์จะจมอยู่กับระบอบนี้ต่อไปอีกไม่ได้ เพราะกำลังล้าหลัง ไม่ตอบโจทย์โลกสมัยใหม่ที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมมากกว่านี้ พวกเขาอยากเห็นการเมืองที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ออกสิทธิ์ออกเสียงมากกว่าที่เป็นอยู่ คนรุ่นใหม่ที่ผมได้คุยยังโต้แย้งมุมมองของคนรุ่นเก่าที่มักพร่ำบอกว่า ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประเทศก็อาจจะวุ่นวายและไม่เดินหน้าเหมือนอย่างประเทศอาเซียนบางประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย โดยคนรุ่นใหม่มองว่าการเปรียบเทียบแบบนั้นไม่สมเหตุสมผล เพราะชาติอาเซียนเหล่านั้นไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง การดูตัวอย่างประชาธิปไตยตะวันตกต่างหากจึงจะถูกต้อง
นอกชั้นเรียน แนวคิดของคนสิงคโปร์จากที่ได้สัมผัสมาด้วยตัวเองก็ไม่ได้ต่างจากที่ผมได้เจอในห้องเรียนมากนัก คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ดูจะมีชุดความคิดที่แตกต่างกันอยู่มาก นักวิชาการหลายคนในสิงคโปร์ชี้สาเหตุไปที่บริบททางสังคมที่แตกต่างกันระหว่างยุคสมัยที่คนสองรุ่นเติบโตมา คนรุ่นเก่าทันการมีชีวิตอยู่ในห้วงเวลาที่สิงคโปร์กำลังสร้างชาติ เจอภัยรอบด้าน และได้เห็นคุณูปการของบิดาแห่งชาติอย่างลีกวนยู พวกเขาจึงมีความรู้สำนึกที่ยึดโยงกับพรรค PAP มีความชาตินิยมสูง และถือมั่นในแนวคิดจำพวกเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันช่วงเวลานั้นก็อาจไม่ได้อินกับแนวคิดพวกนี้มากนัก บวกกับการได้รับการศึกษามากขึ้น การมีโอกาสได้ไปเปิดหูเปิดตาในต่างแดนมากขึ้น และการเข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ได้อย่างกว้างขวาง คนรุ่นใหม่จึงโน้มเข้าหาคุณค่าเสรีนิยม มองตัวเองเป็นพลเมืองโลกมากกว่าที่จะยึดติดกับค่านิยมดั้งเดิมของชาติ และยังกล้าวิจารณ์รัฐบาลอย่างดาษดื่นตามสื่อโซเชียลมีเดีย
ผลการเลือกตั้ง 2563 กับเสียงที่ดังกังวานขึ้นของคนรุ่นใหม่
ในการเลือกตั้งทั่วไปล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้พรรค PAP จะยังคงกวาดที่นั่งในสภาท่วมท้นเหมือนทุกครั้ง แต่ขณะเดียวกันก็ถือเป็นครั้งที่พรรคฝ่ายค้านทำผลงานดีที่สุดในประวัติศาสตร์ และเมื่อหันกลับมามองทางฝั่งพรรค PAP เองก็จะเห็นได้ว่าสัดส่วนคะแนนลดลงจากครั้งก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
นักการเมืองและนักวิชาการบางส่วนมองว่าความนิยมต่อพรรค PAP ที่ลดลงในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคนรุ่นใหม่ พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่าการที่พรรคฝ่ายค้านทำคะแนนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในการเลือกตั้งตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (ไม่นับการเลือกตั้งปี 2558) เป็นเพราะคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ การเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ยังมีความพิเศษ เพราะเป็นครั้งแรกที่คนสิงคโปร์ในเจเนอเรชัน Z (Gen Z) ซึ่งหมายถึงผู้ที่เกิดระหว่างปี 2540-2555 ได้เดินเข้าสู่คูหาเลือกตั้ง โดยคน Gen Z ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งปีนี้ก็คือคนที่มีอายุ 21-23 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ภักดีต่อพรรค PAP มากเท่าไรนัก
ข้อสันนิษฐานนี้สอดคล้องกับผลสำรวจของ Blackbox Research บริษัทวิจัยชั้นนำของสิงคโปร์ ที่ออกมาบ่งชี้ว่าขณะที่คนสิงคโปร์ในวัย 60 ปีขึ้นไปยังเลือกพรรค PAP กันอย่างเหนียวแน่น ประชาชนหนุ่มสาวกลับเทใจให้พรรคฝ่ายค้าน โดยคนวัย 21-25 ปีส่วนใหญ่เลือกพรรคแรงงาน (Workers’ Party: WP) ส่วนคนวัย 25-59 ปีเลือกพรรคสิงคโปร์ก้าวหน้า (Progress Singapore Party: PSP) โดยเหตุผลหนึ่งที่คนรุ่นใหม่หลายๆ คนเอ่ยถึงก็คือพวกเขาต้องการที่จะเห็นรัฐสภามีตัวแทนจากพรรคการเมืองที่หลากหลาย มีการตรวจสอบถ่วงดุล คานอำนาจมากขึ้น ไม่ใช่มีเพียงพรรค PAP พรรคเดียวที่ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ บางส่วนยังอ้างเหตุผลไปถึงความอัดอั้นตันใจต่อรัฐบาลที่มักจะพยายามปิดปากคนเห็นต่าง
การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้จึงกลายเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าการเติบโตขึ้นมาทุกขวบปีของคนรุ่นใหม่เท่ากับเสียงของพวกเขาที่กำลังดังขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลไม่อาจที่จะเมินเฉยได้อีกต่อไป
การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของคนรุ่นใหม่ ความเป็นไปไม่ได้ที่อาจเป็นไปได้
ภาพจำของสิงคโปร์ในสายตาชาวโลกคือประเทศที่สงบ ปลอดการชุมนุมประท้วง แต่ที่จริงแล้วสิงคโปร์ก็มีประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มเยาวชน โดยมียุคทองอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 1950-1980 ซึ่งเป็นช่วงที่สมาพันธ์นักเรียนนักศึกษาหลายกลุ่มถือกำเนิดขึ้นด้วยหลายจุดประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านอาณานิคม เรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพทางวิชาการ สิทธิแรงงาน และประเด็นสังคมอื่นๆ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมองการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาเป็นปฏิปักษ์ และมักจะตราหน้าว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ จนหลายครั้งนำไปสู่การปราบปรามแบบใช้กำลัง เช่น เหตุการณ์ประท้วงต่อต้านการเกณฑ์ทหารเมื่อปี 2497 และการประท้วงต่อต้านการสั่งปิดโรงเรียนจีนด้วยข้อหาเชื่อมโยงกับคอมมิวนิสต์ในปี 2499
กิจกรรมทางการเมืองของนักเรียนนักศึกษาเริ่มหมดลงไปหลังจากปี 2518 เมื่อรัฐบาลออกพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยซึ่งลิดรอนอิสรภาพในการดำเนินกิจกรรมของสมาพันธ์นักเรียนนักศึกษาต่างๆ ขณะเดียวกันบรรดานักเคลื่อนไหวก็ถูกปราบปรามอย่างหนักหน่วง บ้างถูกจับกุม บ้างต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศจนถึงทุกวันนี้ โดยชีวิตในต่างแดนของผู้ลี้ภัยการเมืองชาวสิงคโปร์ได้ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์สารคดีชื่อ To Singapore, with Love เมื่อปี 2556 ซึ่งต่อมาถูกสั่งห้ามฉายในสิงคโปร์
สิงคโปร์ในยุคสมัยใหม่ก็ยังคงมีนักเคลื่อนไหวที่ออกมาตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงพฤติกรรมต่อต้านต่อรัฐบาลอยู่เป็นระยะ แต่ไม่ได้มีการรวมกลุ่มก้อนเป็นจริงเป็นจังหรือจัดกิจกรรมเป็นรูปเป็นร่างมากอย่างแต่ก่อน และการแสดงออกก็มักเกิดขึ้นในนามบุคคลผ่านทางโลกออนไลน์หรือตามงานเขียน ขณะที่ทางการสิงคโปร์ก็ยังคงไม่หยุดความพยายามปิดปากนักเคลื่อนไหวผู้เห็นต่างเหล่านี้ด้วยตัวบทกฎหมายที่รุนแรงจนหลายคนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ขณะที่ประชาชนทั่วไปที่สนับสนุนนักเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็มักจะทำได้มากที่สุดเพียงโพสต์ข้อความให้กำลังใจและสดุดีในความกล้าหาญของพวกเขา
กรณีหนึ่งที่จัดว่าโด่งดังก็คือกรณีของ เอมอส ยี เยาวชนนักเคลื่อนไหวและบล็อกเกอร์วิจารณ์สังคมและการเมืองคนดังของสิงคโปร์ ในปี 2558 ขณะที่เขามีอายุเพียง 17 ปี ลีกวนยูถึงแก่อสัญกรรมท่ามกลางความเศร้าโศกของคนสิงคโปร์ แต่ยีโพสต์คลิปล้อเลียนและวิพากษ์วิจารณ์ลีกวนยูแบบถึงพริกถึงขิง ยีถูกคนสิงคโปร์หลายคนประณามและล่าแม่มดอย่างหนักหน่วง เขาถูกจับกุมในเวลาต่อมา โดยทางการอ้างว่าเป็นเพราะข้อความบางช่วงบางตอนในคลิปที่หมิ่นศาสนาซึ่งมีโทษร้ายแรงในสิงคโปร์ ยีถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด และตัวเขาได้ลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกาในปี 2560 คนสิงคโปร์บางกลุ่มวิจารณ์อย่างหนักว่ารัฐบาลพยายามปิดปากฝ่ายตรงข้าม นำไปสู่การประท้วงทั้งในสิงคโปร์เอง รวมถึงในฮ่องกงและไต้หวัน เหตุการณ์นี้ทำให้ยีถูกยกเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยคนสิงคโปร์จำนวนหนึ่ง
คนสิงคโปร์หลายคนกำลังมองถึงความไปได้ที่การแสดงออกทางการเมืองของเยาวชนจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโลกออนไลน์และการเลือกตั้ง แต่ออกมาสู่พื้นที่สาธารณะด้วย อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้การจัดการเคลื่อนไหวใหญ่ในสิงคโปร์อย่างแต่ก่อนเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เพราะข้อจำกัดทางกฎหมายที่เข้มงวด กฎหมายสิงคโปร์จัดให้การชุมนุมประท้วงอย่างสงบเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ร้ายแรงเทียบเท่ากับการก่อการร้าย และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจัดควบคุมการชุมนุมได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ทางการสิงคโปร์ยังอนุญาตให้ประชาชนจัดการชุมนุมโดยสันติได้ในสถานที่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นก็คือสวนสาธารณะหงลิม (Hong Lim Park) ในย่านใจกลางเมือง โดยที่ผู้จัดการชุมนุมต้องขออนุญาตทางการผ่านทางเว็บไซต์ก่อน แต่ด้วยความคับแคบของสถานที่ การชุมนุมขนาดใหญ่จึงเป็นไปได้ยาก
ด้วยข้อจำกัดพวกนี้ สิงคโปร์จึงไม่ค่อยได้เห็นการเคลื่อนไหวของมวลชนในที่สาธารณะมากนักในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ปรากฏว่าคนรุ่นใหม่เริ่มมีความตื่นตัวในประเด็นสังคมและการเมืองมากขึ้นอย่างที่สิงคโปร์ไม่ได้เห็นมานาน ในบางโอกาส สวนสาธารณะหงลิมก็คลาคล่ำไปด้วยคนหนุ่มสาวที่ออกมาประท้วงนโยบายของรัฐ ตั้งข้อสงสัยในความประพฤติของรัฐที่ส่อไปในทางทุจริต รวมไปถึงการต่อต้านความพยายามของรัฐในการปิดปากนักเคลื่อนไหวบางคน บางครั้งการชุมนุมย่อมๆ ก็เกิดขึ้นในพื้นที่มหาวิทยาลัย บรรดาคนสิงคโปร์รุ่นใหม่ยังให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นสังคมบางเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นในระดับสากล เช่น การรณรงค์สิทธิของกลุ่มคนเพศทางเลือก และการรณรงค์แก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งสามารถดึงมวลชนคนรุ่นใหม่เข้าร่วมได้เป็นหลักพัน ขณะที่คนสิงคโปร์รุ่นเก่ามักจะไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องเหล่านี้มากนัก
การประท้วงในฮ่องกงเมื่อปีที่แล้วได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ในสิงคโปร์จำนวนมาก พวกเขาส่งเสียงเชียร์ให้ม็อบฮ่องกง และเริ่มเกิดการตั้งประเด็นขึ้นมาว่าพวกเขาจะทำเหมือนคนฮ่องกงได้หรือไม่ นักกิจกรรมชาวสิงคโปร์บางคนยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อนักเคลื่อนไหวคนดังของฮ่องกงอย่าง โจชัว หว่อง โดยเคยจัดชุมนุมให้หว่องปราศรัยต่อคนสิงคโปร์ผ่านสไกป์มาแล้ว สิงคโปร์ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่หว่องคาดหมายว่าจะเป็นพันธมิตรหากมีการสร้างเครือข่ายเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ในเอเชียขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง ขณะที่คนรุ่นเก่ามองเหตุการณ์ในฮ่องกงในมุมที่ต่างออกไป พวกเขามองว่าการประท้วงเป็นการจงใจสร้างความวุ่นวายและทำลายประเทศ แน่นอนว่าพวกเขาไม่อยากให้มันเกิดขึ้นในสิงคโปร์ นักการเมืองบางคน เช่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยที่แล้วออกมาปรามว่า “ถ้าเหตุการณ์ประท้วงอย่างในฮ่องกงเกิดขึ้นที่สิงคโปร์ ภาพลักษณ์ของประเทศจะพินาศย่อยยับ และอนาคตของพวกเราจะดำดิ่งสู่หายนะ”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนรุ่นเก่าและชนชั้นนำในสิงคโปร์กลัวยังไม่เกิดขึ้นจริง เพราะสิงคโปร์ยังมีบริบทที่ต่างจากฮ่องกง และยังไม่มีสถานการณ์ที่มีวี่แววว่าจะนำไปสู่การแตกหัก นอกจากนี้รัฐบาลยังมีเครื่องสร้างความชอบธรรมชั้นดีคือความสามารถในการบริหารประเทศและภาพลักษณ์ที่ยังดูขาวสะอาด แต่ถึงอย่างนั้นอนาคตอันใกล้ของสิงคโปร์ก็กำลังยืนอยู่บนความไม่แน่นอนสูง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากพิษโควิด-19 กำลังจ่อคอหอย และนี่อาจเป็นสมัยสุดท้ายของลีเซียนลุงตามที่ตัวเขาตั้งใจไว้ ก่อนที่จะส่งผ่านไปยังผู้นำรุ่นที่ 4 ซึ่งกำลังจะไม่ใช่คนตระกูลลี หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดี หรือหากผู้นำคนใหม่พิสูจน์ความสามารถไม่ได้ ความชอบธรรมก็อาจลดลงอย่างรวดเร็ว การขับไล่รัฐบาลก็อาจเป็นไปได้
รัฐบาลสิงคโปร์รู้แก่ใจดีว่าพวกเขาไม่สามารถครองใจคนรุ่นใหม่ได้อีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด ซึ่งลีเซียนลุงเองก็เคยออกมาพูดยอมรับความจริงข้อนี้หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลสิงคโปร์ได้ยอมโอนอ่อนผ่อนตามเสียงคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นสภาเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วยการเพิ่มอำนาจหน้าที่และสิทธิประโยชน์หลายอย่างให้กับฝ่ายค้านในสภา แต่แน่นอนว่าการยอมปรับตัวของรัฐบาลครั้งนี้ครั้งเดียวไม่เพียงพอ เพราะคนรุ่นใหม่กำลังเติบโตขึ้นมาท้าทายการผูกขาดอำนาจและระบอบประชาธิปไตยไม่เต็มใบของพรรค PAP มากขึ้นทุกวัน ท่าทีของรัฐบาลต่อเสียงเรียกร้องคนรุ่นใหม่จึงสำคัญมาก หากในอนาคตรัฐบาลสิงคโปร์ดึงดันที่จะไม่เปลี่ยนแปลง ความอดทนของพวกเขาอาจถึงขีดจำกัดได้เหมือนกัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/article/us-singapore-election-youth/singapores-rulers-fret-over-generational-shift-in-big-election-win-idUSKCN24H1D4
- https://blackbox.com.sg/wp-content/uploads/2020/07/Artboard-14-copy.png
- https://www.onlinecitizenasia.com/2020/07/17/survey-findings-workers-party-won-voters-aged-21-25-psp-won-disaffected-former-pap-voters-aged%E2%80%A6
- https://www.straitstimes.com/singapore/growing-generation-gap
- https://www.straitstimes.com/singapore/signs-of-young-voters-crucial-role-in-ge2020-outcome
- https://www.ricemedia.co/current-affairs-ge-2020-first-time-gen-z-voters/
- https://ifex.org/shaking-off-the-fear-of-state-censorship-in-singapore-youth-hold-out-hope/
- https://www.bbc.com/news/world-asia-32604122
- https://www.bbc.com/news/world-asia-41409857
- https://theindependent.sg/protests-in-hong-kong-vs-protests-in-singapore/
- https://foreignpolicy.com/2019/11/27/protests-china-singapore-isnt-the-next-hong-kong/
- https://www.reuters.com/article/us-singapore-politics/singapore-activist-fined-for-public-skype-call-with-hk-protest-leader-idUSKCN1QA0X1
- Institute of Policy Studies (IPS). 2019. IPS Working Paper No. 34 – Religion, Morality and Conservatism in Singapore. Singapore: IPS.