×

หมอยงไขข้อเท็จจริง โควิดสายพันธุ์เดลตาครอนเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ของเดลตา ไม่ใช่สายพันธุ์เด่น

โดย THE STANDARD TEAM
01.12.2022
  • LOADING...

วันนี้ (1 ธันวาคม) นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Yong Poovorawan’ ในหัวข้อ ‘โควิด การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ไขข้อเท็จจริงเดลตาครอน’

 

นพ.ยงระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัสเกิดขึ้นได้จากการค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กละน้อย ด้วยการเปลี่ยนพันธุกรรม และทำให้สร้างกรดอะมิโนเปลี่ยนแปลงไป ทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์จากอัลฟา เบตา เดลตา โอมิครอน เปลี่ยนแปลงบนยีนของหนามแหลม (Spike) ทำให้ระบบภูมิต้านทานเปลี่ยนแปลง โอมิครอนยังเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยไปเป็นลูกหลาน BA.1, BA.2, BA.5 เปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยก็ยังเป็นโอมิครอนอยู่

 

“สายพันธุ์โอมิครอนอยู่นานมาก อยู่มา 1 ปีแล้ว การแยกสายพันธุ์ดังแสดงในรูปปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มของสายพันธุ์อู่ฮั่นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพื่อความอยู่รอดของไวรัส ที่ผ่านมาตัวที่แพร่พันธุ์ได้เร็ว ความรุนแรงน้อย ก็จะอยู่รอด และเกิดสายพันธุ์ใหม่เรื่อยมา อัตราการเสียชีวิตก็ลดลงมาโดยตลอด”

 

นพ.ยงระบุอีกว่า การเปลี่ยนแปลงชนิดที่ 2 เป็นการแลกชิ้นส่วนต่างสายพันธุ์ หรือผสมส่วน ที่เรียกว่า Recombination เราได้พบเห็นในไวรัสหลายชนิด เช่น ไวรัสที่ทําให้เกิดโรคมือเท้าปาก ไวรัสท้องเสีย Norovirus เกิดได้จากการที่มีไวรัส 2 สายพันธุ์ติดเชื้อในผู้ป่วยคนเดียวกันแล้วไปแลกชิ้นส่วนกัน เกิดเป็นลูกผสม หัวเป็นสายพันธุ์หนึ่ง หางเป็นสายพันธุ์หนึ่ง ดังนั้นเดลตาครอนจะเกิดได้จะต้องมีผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาร่วมกับโอมิครอน จึงจะเกิดลูกผสมเดลตาครอน แต่ขณะนี้แทบจะไม่พบสายพันธุ์เดลตา จะเกิดลูกผสมเดลตาครอนได้อย่างไร เมื่อไม่มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ คิดแบบง่ายๆ

 

มีการพูดถึงเดลตาครอน จะเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ ของสายพันธุ์เดลตาที่มีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนคล้ายคลึงกับสายพันธุ์เดลตาในสายพันธุ์โอมิครอน เชื่อว่าไม่ได้เป็นการแลกชิ้นส่วนกัน และตั้งชื่อเป็น XBC และทางองค์การอนามัยโลกก็ไม่ได้มีการกำหนดชื่อใหม่หรือสายพันธุ์ใหม่ว่าเป็นเดลตาครอน หรือให้ความสำคัญแต่อย่างใด ตอนนี้ก็ยังมีแต่อัลฟา เดลตา โอมิครอน และมีสายพันธุ์ย่อยที่เราคุ้นหูกัน

 

“ใครจะเรียกเดลตาครอนขณะนี้ก็ไม่ได้มีความสำคัญอะไร การรายงานเข้าไปในธนาคารรหัสพันธุกรรม GISAID สายพันธุ์นี้ก็ไม่ได้เป็นสายพันธุ์เด่นอะไรเลย และไม่มีความสำคัญในขณะนี้ ไม่ว่าในอัตราการแพร่กระจายที่พบหรือความรุนแรงที่พบ”

 

นพ.ยงกล่าวทิ้งท้ายว่า สายพันธุ์ที่พบมากทั่วโลกขณะนี้เป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2.75 และ BQ.1.1 บ้านเราขณะนี้เป็น BA.2.75 และก็คงจะตามมาด้วย BQ.1.1 ในอนาคตอันใกล้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X