×

เมื่อ ‘เดลตา’ กำลังกลายเป็นเชื้อโควิด-19 ‘สายพันธุ์หลัก’ ของโลก สถานการณ์การระบาดล่าสุดใน 5 ประเทศรวมทั้งไทยอยู่จุดไหน วัคซีนเอาอยู่แค่ไหน

19.06.2021
  • LOADING...
โควิด สายพันธุ์ เดลตา

1 เดือนเศษผ่านไป หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.167.2 หรือที่เรียกกันว่าสายพันธุ์เดลตา เป็น ‘สายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern)’ และล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศก็พร้อมใจกันรายงานว่าหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ WHO แถลงกลางวงสัมภาษณ์ว่า ‘เดลตา’ กำลังกลายมาเป็นเชื้อสายพันธุ์หลักสำหรับการระบาดทั่วโลก

 

แล้วสถานการณ์การระบาดของเชื้อสายพันธุ์นี้ในที่ต่างๆ เป็นอย่างไร เราสรุปสถานการณ์ใน 5 ประเทศรวมถึงไทย พร้อมหาคำตอบเบื้องต้นกับคำถามว่า วัคซีนจะรับมือไวรัสชนิดนี้ได้มากเพียงใด

 

  • WHO ระบุว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวระบาดไปแล้วกว่า 80 ประเทศทั่วโลก มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าทีมเทคนิคสำหรับโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลกชี้ว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้น และมันอาจสร้างภาระหนักให้กับระบบสาธารณสุข รวมถึงทำให้การใช้เตียงผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และล่าสุดเมื่อคืนที่วันที่ 18 มิถุนายน ตามเวลาในประเทศไทย มีรายงานว่า ดร.โสมญา สวามินาธาน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ของ WHO ระบุระหว่างการแถลงข่าวว่า เชื้อสายพันธุ์นี้กำลังกลายมาเป็น ‘สายพันธุ์หลัก’ สำหรับการระบาดทั่วโลก เนื่องจากความสามารถในการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

  • ที่สหรัฐอเมริกา ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) ของสหรัฐฯ ประกาศยกระดับสายพันธุ์เดลตาให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลในสหรัฐฯ แล้วเช่นกัน โดย CDC ระบุในแถลงการณ์ที่ส่งถึงสำนักข่าว NBC ว่า การยกระดับดังกล่าวอิงจากหลักฐานที่บ่งชี้ว่าสายพันธุ์เดลตาแพร่กระจายได้ง่ายกว่า และทำให้มีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ B.1.1.7 (อัลฟา) และข้อมูลรายสองสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 5 มิถุนายน ทำให้คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากเชื้อสายพันธุ์เดลตาจะคิดเป็นเกือบร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาแล้ว เทียบกับช่วงวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผู้ติดเชื้อเดลตารายใหม่ในขณะนั้นคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.7 ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมดเท่านั้น

 

  • ส่วนในสหราชอาณาจักร เชื้อสายพันธุ์เดลตาเป็นความกังวลสำคัญที่นำมาซึ่งการประกาศเลื่อนการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ระยะที่ 4 ในอังกฤษ ออกไปอีก 4 สัปดาห์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยหนึ่งในการรับมือคือการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรมากขึ้น ล่าสุดข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England: PHE) พบว่า จำนวนผู้ป่วยทั้งที่ยืนยันแล้วและน่าเชื่อว่าจะติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 79 เทียบกับสัปดาห์ก่อน และในระยะ 1 สัปดาห์หลังสุดนับจนถึง 16 มิถุนายนนั้น ‘เดลตา’ ยังถือเป็นเชื้อสายพันธุ์ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยืนยันแล้ว และน่าเชื่อว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์ใดๆ มากที่สุดในสหราชอาณาจักร แซงหน้าสายพันธุ์อัลฟา ที่พบครั้งแรกในเมืองเคนท์ของอังกฤษไปแล้ว

 

  • ที่จีน มณฑลกวางตุ้งกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกจับตาหลังพบการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะเมืองกวางโจวซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลดังกล่าว หลังพบผู้ติดเชื้อรายแรกจากการระบาดระลอกนี้ในวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นหญิงวัย 75 ปี สื่อทางการจีนอ้างรายงานของเมืองกวางโจวว่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในพื้นที่ (จากการแพร่ระบาดกันเองในท้องถิ่น) ตั้งแต่ 21 พฤษภาคมจนถึงเวลาเที่ยงของวันอังคารที่ผ่านมาทั้งสิ้น 147 ราย ในจำนวนนี้ 7 ราย ไม่แสดงอาการ และในระดับมณฑลกวางตุ้งนั้น ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา สถานการณ์มีแนวโน้มเบาบางลง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการแพร่ระบาดกันเองในท้องถิ่นต่อวันไม่เกิน 4 คน และไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติมในวันอังคาร ขณะที่สื่อต่างประเทศยังรายงานว่ามีการใช้มาตรการในการควบคุมการระบาด เช่น การตรวจหาการติดเชื้อกว่า 32 ล้านครั้งทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งรวมถึงประชากรทั้งหมดของเมืองกวางโจวกว่า 18.7 ล้านคน, การกำหนดพื้นที่เพื่อใช้มาตรการล็อกดาวน์, การสั่งปรับหรือกักขังผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายโดยตำรวจ เช่น ผู้ที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย หรือไม่ให้ความร่วมมือเมื่อถูกขอให้ไปตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังเรียกร้องให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนด้วย

 

  • และที่อินโดนีเซีย ปรากฏเป็นข่าวว่าบุคลากรทางการแพทย์กว่า 350 คนติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่ได้รับวัคซีน Sinovac ไปแล้ว สำนักข่าว Reuters รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ บาดาอี อิสโมโย หัวหน้าสำนักงานสาธารณสุขในเขตคูดุสของเกาะชวา ว่าในเขตดังกล่าวกำลังมีการต่อสู้กับการระบาดที่ทำให้อัตราการครองเตียงสูงกว่าร้อยละ 90 ซึ่งเชื่อว่ามาจากสายพันธุ์เดลตา บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไม่แสดงอาการและแยกกักตัวอยู่ที่บ้าน แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการไข้สูงและระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดลดลง อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Aljazeera รายงานคำให้สัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญ อาทิ ศาสตราจารย์กัสตี นูราห์ มาฮาร์ดีกา นักไวรัสวิทยาอาวุโสของบาหลี ที่ให้ความเห็นว่าเชื้อสายพันธุ์เดลตายังไม่ถูกพิสูจน์ว่าเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตมากกว่า และเขาเชื่อว่าเชื้อสายพันธุ์นี้กลายเป็น ‘แพะรับบาป’ จากการขาดความสามารถในการควบคุมโรคของรัฐบาล โดยการเคลื่อนที่ของผู้คนในช่วงเดือนรอมฎอนก็มีบทบาท เขาตั้งข้อสังเกตถึงความเหนื่อยล้าจากสถานการณ์โควิด-19 ของผู้คน ตลอดจนการโฟกัสที่เศรษฐกิจ และบอกว่าในเมืองเดนปาซาร์ที่เขาอาศัย คาเฟ่และร้านอาหารก็เต็มไปด้วยผู้คนยามค่ำคืน นอกจากนี้ยังบอกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะฟันธงสาเหตุการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อรายใหม่ เพราะอัตราการติดเชื้อในอินโดนีเซียถูกรายงานต่ำกว่าความเป็นจริง นักระบาดวิทยายังคาดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้ สายพันธุ์เดลตาอาจเป็นสายพันธุ์ที่นำในการระบาดในอินโดนีเซีย จะมีภาระงานในการดูแลผู้ป่วยจำนวนมากและอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นบนเกาะชวาด้วย ด้านโฆษกกระทรวงสาธารณสุขด้านการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็ยอมรับว่า การเดินทางมีบทบาทในการเร่งการระบาดเช่นกัน โฆษกรายดังกล่าวยังให้ข้อมูลว่า มีการเตรียมกลยุทธ์การล็อกดาวน์ในระดับย่อยของพื้นที่ และยืนยันว่า ‘ไม่สายไป’ ในการป้องกันการระบาดไม่ให้ถึงระดับสูงสุด แต่นักระบาดวิทยาเชื่อว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะไม่ได้ผล โดยระบุว่าประสบการณ์จากประเทศอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าการล็อกดาวน์พร้อมด้วยการเพิ่มการตรวจหาเชื้อ การติดตามผู้สัมผัสและแยกกักตัว ตลอดจนการฉีดวัคซีนขนานใหญ่คือหนทางที่มีประสิทธิภาพ

 

  • ในไทย เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน มติชนรายงานการแถลงจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบตัวอย่างเชื้อที่ส่งเข้ามาตรวจสอบที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฉพาะระหว่างวันที่ 8-13 มิถุนายน ว่าส่วนใหญ่ยังเป็นเชื้อสายพันธุ์อัลฟาที่ 809 ตัวอย่าง ส่วนสายพันธุ์เดลตามี 137 ตัวอย่าง และสายพันธุ์เบตา 2 ตัวอย่าง และเมื่อดูยอดสะสมสำหรับการตรวจเชื้อที่ส่งเข้ามาตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึง 13 มิถุนายน พบว่าจากทั้งหมด 5,055 ตัวอย่าง มีสายพันธุ์อัลฟา 4,528 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 89.6 ส่วนสายพันธุ์เดลตามี 496 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 9.8 และสายพันธุ์เบตา 31 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 0.6 ซึ่ง นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ความสามารถในการแพร่เชื้อของสายพันธุ์เดลตานั้นมากกว่าสายพันธุ์อัลฟา 40% ซึ่งต้องมีการจับตาอย่างใกล้ชิดเป็นรายสัปดาห์ หากยังมีการแพร่ระบาดแบบก้าวกระโดด คาดว่าประมาณ 2-3 เดือน อาจจะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากขึ้นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งกับสายพันธุ์อัลฟา

 

  • และล่าสุด ยังมีการพบเชื้อเดลตาที่มีการกลายพันธุ์ต่อไปอีกเป็น ‘Delta Plus’ หรืออีกชื่อคือ ‘Delta AY.1’ โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง 417 (K417N) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พบครั้งแรกในสายพันธุ์เบตา และจนถึงวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อเดลตาพลัสนี้แล้วในหลายประเทศ ได้แก่ อินเดีย 6 ราย, แคนาดา เยอรมนี และรัสเซีย ประเทศละ 1 ราย, เนปาล 2 ราย, สวิตเซอร์แลนด์ 4 ราย, โปแลนด์ 9 ราย, โปรตุเกส 12 ราย, ญี่ปุ่น 13 ราย และสหรัฐฯ 14 ราย แต่ทางการอินเดียยังกำหนดให้เดลตาพลัสเป็นเพียงสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง (Variant of Interest) และยังไม่ใช่สายพันธุ์ไวรัสที่น่ากังวล (Variant of Concern) เนื่องจากยังไม่พบว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มีศักยภาพในการแพร่ระบาดที่รุนแรงมากกว่าเดิม จนสามารถสร้างผลกระทบต่อมนุษยชาติ

 

  • มาถึงคำถามที่ว่า วัคซีนจะรับมือสายพันธุ์เดลตาได้ดีแค่ไหน เรายกผลการศึกษามาจำนวนหนึ่ง การศึกษาแรกนั้นมีผลตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ The Lancet เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งดูระดับของแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ที่สร้างขึ้นในผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer-BioNTech ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา อัลฟา และเบตา ซึ่งพบว่าระดับแอนติบอดีในผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer-BioNTech สองโดสเมื่อได้รับเชื้อสายพันธุ์เดลตานั้นต่ำกว่าเมื่อได้รับเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมราว 6 เท่า ส่วนผลการศึกษาจาก Pasteur Institute ในฝรั่งเศสชี้ว่า ระดับแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ที่ถูกสร้างจากการฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech มีประสิทธิภาพลดลง 3-6 เท่าต่อเชื้อสายพันธุ์เดลตา เมื่อเทียบกับเชื้อสายพันธุ์อัลฟา

 

  • อย่างไรก็ตาม การดูเพียงระดับแอนติบอดีที่วัดในห้องปฏิบัติการอาจไม่เพียงพอกับการระบุประสิทธิภาพของวัคซีน มาดูอีกหนึ่งต้นฉบับงานวิจัยที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาตรวจสอบ (Peer Review) จากคณะนักวิจัยที่นำโดย Julia Stowe จาก PHE ระบุข้อมูลจากการใช้งานจริง (Real World Data) จากประชากรกว่า 14,000 คน ว่าการได้รับวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca 1 เข็ม หลังรับวัคซีน 21 วัน จะมีประสิทธิผล (Effectiveness) ในการป้องกันการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่ 71% ส่วนถ้าได้รับครบ 2 เข็ม ประสิทธิผลดังกล่าวหลังรับวัคซีนเข็มที่สอง 14 วันจะอยู่ที่ 92% ส่วนวัคซีนของ Pfizer-BioNTech เมื่อฉีด 1 เข็ม หลังรับวัคซีน 21 วันจะมีประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่ 94% และเมื่อฉีด 2 เข็ม ประสิทธิผลดังกล่าวหลังรับวัคซีนเข็มที่สอง 14 วันจะอยู่ที่ 96% 

 

  • นอกจากนี้ ยังมีอีกผลการศึกษาของ PHE ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ที่ระบุว่า วัคซีน Pfizer-BioNTech และวัคซีน Oxford-AstraZeneca สองเข็ม มีประสิทธิภาพ (Efficacy) ในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการสำหรับสายพันธุ์เดลตา 88% และ 60% ตามลำดับ

 

  • ทั้งนี้ การศึกษาในสหรัฐฯ ยังคงยืนยันว่า การเพิ่มจำนวนประชากรผู้ที่ได้รับวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยังคงเป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อลดการเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่ให้น้อยที่สุด และยุติการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ขณะที่ อองตวน ฟลาโฮลต์ หัวหน้าสถาบันสุขภาพโลกของมหาวิทยาลัยเจนีวา ยืนยันว่ายังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรักษาการเว้นระยะห่างทางสังคม แบ่งปันข้อมูลการติดเชื้อ และปฏิบัติตามข้อจำกัดต่างๆ เมื่อจำเป็น เพื่อรักษาอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสให้อยู่ในระดับต่ำ เพราะยิ่งไวรัสยังคงหมุนเวียนอยู่มากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์ได้มากขึ้นเท่านั้น

 

ภาพ: angellodeco via ShutterStock

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X