×

ผลกระทบงบประมาณปี 63 ล่าช้า ฉุดเศรษฐกิจ-ความเชื่อมั่น-จ่อกู้เงินประชาชน

24.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS. READ
  • งบประมาณปี 2563 ล่าช้ามาจากเดือนตุลาคม ปี 2562 เพราะการตั้งรัฐบาลผสมจนถึงปัจจุบันมีกรณีการเสียบบัตรแทนกัน ทำให้ต้องใช้เวลาอีกราว 1 เดือน เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่างบประมาณปี 2563 จะใช้ได้หรือไม่
  • งบประมาณปี 2563 ล่าช้า ส่งผลต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยลดลง ตลาดหุ้น การใช้จ่ายของประชาชน และการลงทุนภาคเอกชน
  • ทางแก้เร่งด่วน รัฐบาลอาจออกพระราชกำหนดกู้เงินจากประชาชนในรูปแบบของพันธบัตร เพื่อนำมาเบิกจ่ายให้ทันโครงการขนาดเล็กในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2563 ที่มีมูลค่าราว 4 แสนล้านบาท  

ปีงบประมาณของรัฐบาลมักจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคมของปีก่อนหน้า อย่างงบประมาณปี 2563 กว่า 3.2 ล้านล้านบาทนี้ ตามปกติควรจะเริ่มใช้เมื่อ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา แต่ที่ล่าช้าเพราะติดการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ รวมถึงการตั้งรัฐบาลผสมที่ทำให้งบประมาณปี 2563 เข้าสภาล่าช้าขึ้นไปอีก จนล่าสุดมีกรณีการเสียบบัตรแทนกันของพรรคร่วมรัฐบาล จนต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน และยืดเวลาในการอนุมัติรวมถึงเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ออกไป   

 

เรื่องนี้จะส่งผลให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างไร 

 

รัฐบาลจ่อออกพระราชกำหนดกู้เงินประชาชนเพื่อจ่ายโครงการลงทุน

มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่าตามปกติการทำงบประมาณแต่ละปีจะเสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคม และลงในราชกิจจานุเบกษาช่วงเดือนกันยายน เพื่อให้ทันกับปีงบประมาณใหม่ในเดือนตุลาคม (ปีงบประมาณเริ่มต้นในเดือนตุลาคมถึงกันยายนของทุกปี)

 

แต่ปัจจุบันงบประมาณปี 2563 จะล่าช้าออกไปอีกจากการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งอาจใช้เวลาพิจารณาจนจบกระบวนการอีก 1 เดือน ทำให้งบประมาณปี 2563 ไม่สามารถเบิกจ่ายในเดือนมีนาคม 2563 

 

ทั้งนี้จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่ามีเม็ดเงินลงทุนราว 4 แสนล้านบาทที่ควรจะเบิกจ่ายในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2563 (เม็ดเงินลงทุนที่ไม่มีงบผูกพัน เป็นโครงการขนาดเล็ก) หากงบประมาณปี 2563 ล่าช้าออกไป อาจทำให้รัฐบาลต้องออกพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อการลงทุน ส่วนใหญ่จะเป็นการออกพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถซื้อได้ คล้ายกับการออกพระราชกำหนดกู้เงินเมื่อปี 2556 และ 2557 

 

 

KTBST ชี้ 4 ปัญหาเศรษฐกิจไทย เผยงบประมาณปี 2563 ล่าช้าฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน 

ผลกระทบต่อประเทศไทยเมื่องบประมาณปี 2563 ล่าช้า ได้แก่
1. หนี้สาธารณะของไทยจะเพิ่มขึ้น

2. ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชนลดลง เมื่อการผลักดันงบที่ล่าช้าทำให้เห็นประสิทธิภาพของภาครัฐที่ลดลง ดังนั้นช่วงที่ผ่านมาหลังมีข่าวงบประมาณปี 2563 ล่าช้า ส่งผลต่อหุ้นในกลุ่มรับเหมาและนิคมอุตสาหกรรมปรับลดลง

 

“งบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้าทำให้เห็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือความเชื่อมั่นลดลง ซึ่งตลาดไทยแปลกกว่าที่อื่นๆ เพราะมีเรื่องความเชื่อมั่นเป็นหลัก เห็นได้จากทิศทางของตลาดหุ้น ถ้าคนมีความเชื่อมั่นจะกล้าซื้อหุ้นและใช้จ่าย แต่ถ้ามีสถานการณ์ ขาดความเชื่อมั่น คนไทยจะหยุดการใช้จ่าย หยุดการลงทุน ซึ่งจะกระทบหลายส่วน เช่น รับเหมา นิคมอุตสาหกรรม ธนาคาร ฯลฯ ยกเว้นหมวดสินค้าที่คนใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ค้าปลีก”  

 

ทั้งนี้ปัจจัยลบของเศรษฐกิจไทยมีหลายด้าน แบ่งเป็น 4 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ 

1. ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชนที่ลดลงจะส่งผลต่อการลงทุนและเศรษฐกิจไทย โดย 1-2 ปีที่ผ่านมาการลงทุนของไทยลดลงเพราะความไม่แน่นอนทางการเมือง หากปี 2563 ยังไม่มีความชัดเจนอาจกระทบต่อการลงทุนทางตรง (FDI) และการลงทุนเอกชนเพิ่มเติม

2. KTBST มองภาวะกำไรของตลาดปี 2563 จะลดลง จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะเติบโต 8% จากปี 2562 แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ไวรัสโคโรนา และความเชื่อมั่นภาครัฐที่ลดลง อาจส่งผลให้ EPS (กำไรต่อหุ้น) ของไทยปี 2563 จะอยู่ต่ำกว่า 100

3. ภัยแล้ง จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรและรายได้ของประชาชน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยราว 0.07% ต่อไตรมาส 

4. การท่องเที่ยวปี 2563 คาดว่าจะเติบโตน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะไวรัสโคโรนาที่กำลังแพร่กระจายและเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ทาง KTBST อยู่ระหว่างการปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2563 คาดว่าจะโตเหลือ 1% จากเดิมที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 40.2 ล้านคน หรือเติบโต 3.5%

 

เศรษฐกิจไทยขาลงยังมีความหวังหรือไม่ ธุรกิจใดที่ยังเติบโต 

ปี 2563 มองว่าเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก ทำให้คาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ณ สิ้นปีนี้ เดิมอยู่ระดับ 1,725 ปัจจุบันมองว่าจุดสูงสุดของ SET Index จะอยู่ที่ 1,700 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 1,540 จุด ขณะที่มีโอกาสลดลงต่ำกว่าระดับนี้หากมีสถานการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น

 

“ปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยต้องหวังว่าจะมีจุดต่ำสุดเกิดขึ้น เช่น จุดต่ำสุดในราคาหุ้นไทย กำไรตลาด และเศรษฐกิจไทย หากเกิดขึ้นแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งจะมีโอกาสให้หุ้นไทยเป็นขาขึ้นได้บ้าง” 

 

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวจะมีกลุ่มธุรกิจที่โดดเด่นและจะเติบโตสวนทางเศรษฐกิจคือธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียน ซึ่งได้ประโยชน์สองทางจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและคนกู้ยืมเงินเพิ่ม โดยปีนี้ตลาดมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง เช่น 

  • บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC 
  • บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD

 

สุดท้ายงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้ามาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 นักวิเคราะห์หลายแห่งมองว่ากว่าเม็ดเงินจะเบิกจ่ายจริงก็เข้าสู่เดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงกลางปีงบประมาณ 2563 ดังนั้นปัญหาต่อไปที่ต้องจับตาคือรัฐบาลจะเบิกจ่ายจริงได้เท่าไร และจะเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาได้จริงหรือไม่

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X