×

จับตา ‘Deep C’ ขึ้นแท่นขุมทรัพย์ใหญ่เวียดนาม หลังผู้ผลิตต่างชาติแห่ย้ายฐานไปปักหลักแล้ว 962 โครงการ

05.07.2023
  • LOADING...
Deep C

ผู้ผลิตต่างชาติลดพึ่งพาจีน แห่ย้ายฐานการผลิตจากจีนไปนิคมอุตสาหกรรม ‘Deep C’ เวียดนามเหนือต่อเนื่อง ล่าสุด Foxconn ทุ่มอีก 246 ล้านดอลลาร์ ขยายไลน์ผลิตประกอบอุปกรณ์โทรคมนาคมและยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ (EV) ขณะที่เอกชนไทย WHA เดินหน้าลงทุนนิคมอุตสาหกรรมเวียดนามอีก 2 โปรเจกต์

 

สำนักข่าว Financial Times รายงานว่า ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ส่งผลให้บรรดาผู้ผลิตต่างชาติตัดสินใจถอนการลงทุนออกจากจีน และย้ายฐานการผลิตไปสู่พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม ‘Deep C’ ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของกลุ่มซัพพลายเออร์รายใหญ่ และบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เช่น Apple โดยพื้นที่แห่งนี้อยู่ใกล้เขตไฮฟอง ท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดของเวียดนาม 

 

ส่งผลให้นักพัฒนาเวียดนามมีแผนสร้างและขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไปใช้พื้นที่ในทะเลจีนใต้เพื่อรองรับนักลงทุน อีกทั้งยังอยู่ระหว่างหารือถึงแผนถมทะเล อย่างไรก็ตาม สัญญาณการเร่งย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ ใกล้เคียงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ ‘จีนบวกหนึ่ง’ (China Plus One) เพื่อเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานโลก 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

รายงานข่าวระบุอีกว่า ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนามอยู่ที่ 2.24 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้น 13.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ยอด FDI ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างระบุว่า ตัวเลข FDI ของเวียดนามยังคงแข็งแกร่ง โดยเวียดนามดึงดูดโครงการ FDI ใหม่ได้ 962 โครงการในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 578 โครงการในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

สำหรับนิคมอุตสาหกรรม Deep C ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเวียดนามและกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ นำโดยบริษัท Rent-A-Port จากเบลเยียม ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมและโครงการท่าเรือต่างๆ ทั่วโลก พื้นที่แห่งนี้เป็นเขตอุตสาหกรรมตั้งอยู่ศูนย์กลางของนครไฮฟอง ซึ่งเชื่อมโยงการคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ นับเป็นทำเลที่ดีเยี่ยมในอาเซียน 

 

โดย Deep C มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โครงสร้างขั้นพื้นฐาน สาธารณูปโภค การเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า โทรคมนาคม ระบบจัดการน้ำ และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ให้บริการลูกค้าด้วยการสนับสนุนในระหว่างขั้นตอนการก่อตั้งธุรกิจ 

 

เขตนิคมอุตสาหกรรม Deep C มีท่าเรือน้ำลึกขนาด 15 เมตร สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ มีอุตสาหกรรมระดับโลกอย่าง Apple Foxconn ด้านโลจิสติกส์และบริการ อุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมสิ่งทอ

 

Foxconn เพิ่มลงทุน 246 ล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานผลิตเครื่องชาร์จ EV 

ด้านสำนักข่าว Reuters รายงานว่า Foxconn บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของไต้หวัน ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์สำคัญของ Apple เตรียมขยายการลงทุน 246 ล้านดอลลาร์ในการสร้างโรงงานเพื่อผลิตเครื่องชาร์จ EV และส่วนประกอบในเวียดนามตอนเหนือ 2 แห่ง อยู่ในจังหวัดกว๋างนิญ และจะบริหารงานโดย Foxconn Singapore โดยเริ่มการผลิตตั้งแต่เดือนมกราคม 2025 พร้อมทั้งจ้างพนักงาน 1,200 คน

 

สอดคล้องกับเป้าหมายที่บริษัทต้องการครองตลาด EV ทั่วโลกให้ได้ 5% ภายในปี 2568 และร่วมมือกับ NXP Semiconductors เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มและระบบเชื่อมต่อสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์

 

โดย Young Liu ประธาน Foxconn กล่าวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า บริษัทตั้งเป้าการลงทุนเพิ่มเติมในเวียดนามต่อเนื่องและเม็กซิโก เนื่องจากบริษัทย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เพราะความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ

 

WHA เดินหน้าลงทุนในเวียดนาม

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เวียดนามเป็นประเทศที่น่าลงทุน โดยขณะนี้ WHA Group อยู่ระหว่างขยายโครงการเขตอุตสาหกรรมใหม่ในจังหวัดหลักๆ ของเวียดนามอีก 2 โครงการ ซึ่งได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับทางการองค์กรท้องถิ่นของประเทศเวียดนามเพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรมอีก 2 แห่ง 

 

ได้แก่ เขตอุตสาหกรรม WHA Smart Technology Industrial Zone-Thanh Hoa พื้นที่ 5,320 ไร่ โดยกำหนดเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2567 หรือต้นปี 2568 และเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Eco Industrial Zone-Quang Nam พื้นที่ 2,500 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตต่างๆ ในปี 2569 หรือ 2570 และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างตามแผนการลงทุนในระยะยาวของบริษัทในอนาคต 

 

มองรัฐบาลเวียดนามมีแนวทางแก้ไฟฟ้าดับในเวียดนามเหนือ

ส่วนความกังวลกรณีไฟฟ้าดับในเวียดนามเหนือล่าสุดนั้น ภาพรวมเชื่อว่ารัฐบาลมีแนวทางแก้ไข ซึ่งการแก้ปัญหาระยะสั้นสามารถนำแผนพลังงานประเทศ PDP8 มาพัฒนาเร่งจ่ายไฟเข้าระบบ 

 

อย่างไรก็ตาม ต้นตอของปัญหาไฟฟ้าตกและดับนั้น ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า เวียดนามเองมีการลงทุนด้านพลังงานจำนวนมากก็จริง แต่มีหลายโครงการล่าช้าและยังไม่สามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ซึ่งมีทั้งโครงการพลังงานลม โซลาร์เซลล์ บวกกับปัญหาสายส่ง 

 

“ปัญหาเหล่านี้ล้วนมาจากสถานการณ์โควิดทำให้ชะลอ โดยเบื้องต้นคาดว่าน่าจะค้างอยู่หลายพันกว่าเมกะวัตต์ หากหารือกันได้ ตรงนี้ก็นำไปสำรองได้ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลก็ต่อรองบริษัทเอกชนให้จ่ายไฟ แล้วรับเงินสนับสนุนไปบ้างแล้ว ทำให้การใช้ไฟภาคอุตสาหกรรมเริ่มคลี่คลายมากขึ้น และเวียดนามมีความสัมพันธ์อันดีกับ สปป.ลาว และจีน ก็เจรจานำเข้าพลังงานได้ ทั้งนี้ WHA ยังไม่ได้รับผลกระทบเพราะอยู่ห่างจากพื้นที่ภาคเหนือ แต่ก็เตรียมความพร้อมและติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด”

 

อย่างไรก็ตาม แม้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง แต่ WHA Group เชื่อมั่นว่าเมืองไทยเองก็มีความมั่นคงเรื่องพลังงานเช่นกัน 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising