เข้าสู่ปี 2024 สำหรับใครหลายคนอาจหมายถึงการเริ่มต้นใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่อะไรที่ดีขึ้น
แต่สำหรับวงการฟุตบอลอิตาลีแล้ว การเข้าสู่ปี 2024 ในความรู้สึกของพวกเขากลับเป็นการเริ่มต้นของจุดจบ และอนาคตที่มืดมนอนธการของอดีตชาติมหาอำนาจที่มีลีกฟุตบอลเข้มแข็งอันดับ 1 ของโลก
เรื่องนี้เป็นผลมาจากกฎหมายฉบับหนึ่งที่เรียกว่า Decreto Crescita ที่กำลังจะถูกยกเลิก หลังจากที่ทางการอิตาลีตัดสินใจไม่ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้
กฎหมายฉบับนี้มีความสัมพันธ์กับเกมฟุตบอลอย่างไร และสำคัญแค่ไหน ทำไมคนในวงการฟุตบอลอิตาลีจึงโอดครวญภายหลังจากที่รู้ว่าจะไม่มีกฎหมายฉบับนี้แล้ว
Decreto Crescita หรือ Beckham Rule
สำหรับกฎหมายที่เรียกว่า Decreto Crescita หรือภาษาอังกฤษว่า Growth Decree เป็นกฎหมายที่ได้รับการรับรองในเดือนมิถุนายน 2019 ก่อนจะมีการบังคับใช้ได้จริงในปี 2020
กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีที่ออกมาเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจที่ชะงักงันของประเทศอิตาลีในภาพรวม โดยจะให้สิทธิพิเศษในการลดการจัดเก็บภาษีเป็นระยะเวลา 5 ปีสำหรับแรงงานที่มีทักษะที่ย้ายเข้ามาทำงานภายในประเทศอิตาลี รวมถึงแรงงานชาวอิตาลีเองด้วย แต่มีข้อแม้คือจะต้องไม่ได้ทำงานอยู่ในอิตาลีในช่วงระยะเวลา 2 ปีก่อนบังคับใช้กฎหมาย
นั่นหมายถึงถ้าเคยทำงานอยู่ในอิตาลีในช่วงปี 2017-2019 จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษ แต่ถ้าเคยทำงานในอิตาลีก่อนปี 2017 หรือไม่เคยทำงานในอิตาลีเลย จึงจะได้รับสิทธิพิเศษนี้
กฎหมายฉบับนี้กลายมาเป็นกฎหมายที่สำคัญต่อเกมฟุตบอลอย่างไร?
นั่นเพราะในวรรคที่ 5 ของ Decresto Crescita นั้นระบุว่า อนุญาตให้นักฟุตบอลหรือโค้ชที่ไม่ได้ประกอบอาชีพอยู่ในอิตาลีในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นชาวอิตาลีหรือไม่ สามารถจ่ายภาษีในอัตราส่วนเพียงแค่ 50% ของภาษีเงินได้
พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นคือ ปกติภาษีเงินได้ของนักฟุตบอลในระดับสูงสุดจะอยู่ที่ 43% ก็จะจ่ายเพียงแค่ 50% หรือครึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้
ยกตัวอย่างเช่น กรณีของ นิโกลา มิเลนโควิช นักเตะที่ได้รับค่าตอบแทนสูงสุดของฟิออเรนตินา ตามรายงานข่าวระบุว่า เงินรายได้อยู่ที่ปีละ 3 ล้านยูโร ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขหลังการหักภาษี ถ้าเป็นกฎหมายปกติแล้วเงินที่สโมสรต้องจ่ายเต็มๆ รวมภาษีอยู่ที่ 5.56 ล้านยูโร โดย 2.56 ล้านยูโรคือภาษีที่เข้าสู่รัฐบาล
ประโยชน์ของกฎหมายฉบับนี้จึงทำให้สโมสรในอิตาลีสามารถใช้ข้อได้เปรียบเรื่องเงินภาษีได้ 2 ทาง หนึ่งคือทำให้สโมสรจ่ายค่าตอบแทนในจำนวนที่สูงขึ้นให้กับนักฟุตบอลได้ เช่น มิเลนโควิชได้ข้อเสนอก่อนหักเงินภาษีเป็นจำนวน 5.56 ล้านยูโร แต่จะได้เงินหลักหักภาษีมากกว่าเดิมเป็น 4.366 ล้านยูโร
อีกทางหนึ่งคือสโมสรจ่ายเงินค่าตอบแทนหลังหักภาษีเท่าเดิม แต่จะจ่ายเงินรวมน้อยลง เช่น มิเลนโควิชได้เงินหลังหักภาษีปีละ 3 ล้านยูโร ส่วนเงินรวมภาษีที่สโมสรต้องจ่ายอยู่ที่ 4.27 ล้านยูโร
แต่มีข้อแม้คือ ใครที่ขอรับสิทธิพิเศษนี้จะต้องอยู่ในอิตาลีอย่างน้อย 2 ปี หากใครออกจากประเทศไปก่อนจะต้องเสียเงินภาษีส่วนต่างกลับคืนสู่รัฐด้วย
Decreto Crescita จึงได้รับการสรรเสริญแซ่ซ้องจากคนในวงการฟุตบอลอิตาลีว่าเป็นกฎหมายที่จะช่วยทำให้ลีกฟุตบอลระดับสูงสุดของพวกเขาอย่างเซเรียอา (Serie A) ที่เคยเป็นลีกอันดับ 1 ของโลกในอดีตยุค 80-90 และมิลเลนเนียม กลับมาน่าดึงดูดใจสำหรับนักฟุตบอลหรือโค้ชระดับท็อปของโลกที่จะมาทำมาหากินในอิตาลีอีกครั้ง
เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศสเปน เมื่อรัฐบาลสเปนออกกฎหมายในลักษณะเดียวกันที่ช่วยให้นักฟุตบอลหรือโค้ชจ่ายภาษีน้อยลงจากเดิมในระหว่างปี 2005-2010 โดยนักฟุตบอลคนแรกๆ ที่ได้สิทธิพิเศษนี้คือ เดวิด เบ็คแฮม ซูเปอร์สตาร์ลูกหนังชาวอังกฤษ จนทำให้มีการเรียกขานกฎหมายฉบับนี้ว่ากฎหมายของเบ็คแฮม (Beckham Rule)
ความตายของเกมฟุตบอลอิตาลี
Decreto Crescita ทำหน้าที่ได้สมกับการระบุไว้ในกฎหมายว่าเพื่อ ‘Rientro dei Cervelli’ หรือ ‘การกลับมาของมันสมอง’ เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเซเรียอา อิตาลี สามารถดึงดูดนักฟุตบอลและโค้ชระดับยอดฝีมือจำนวนมากมาสู่ลีกได้อีกครั้ง
หนึ่งในนั้นคือ ‘The Special One’ โชเซ มูรินโญ ที่กลับมาทำงานในอิตาลีอีกครั้งกับทีมโรมา และในภาพรวมแล้วศักยภาพการแข่งขันของทีมจากอิตาลีก็ดูดีขึ้นด้วย การเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลรายการยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกของอินเตอร์ มิลาน เมื่อฤดูกาลที่แล้วเป็นหนึ่งในเครื่องสะท้อนได้เป็นอย่างดี
ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้เมื่อรัฐบาลอิตาลีออกมาประกาศที่จะไม่ขยายเวลาในกฎหมาย Decreto Crescita จึงเกิดเสียงสะท้อนในเชิงความกังวลต่ออนาคตของวงการฟุตบอลอิตาลีจากคนในวงการ
เลกา เซเรียอา องค์กรที่กำกับดูแลการแข่งขันลีกเซเรียอา ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลใจในเรื่องนี้อย่างชัดเจน โดยระบุว่า “การยกเลิกกฎหมายนี้จะเป็นการพรากเอาศักยภาพในการแข่งขันจากสโมสรที่มีรายได้น้อย และนั่นก็หมายถึงการที่รัฐจะจัดเก็บเงินภาษีได้น้อยลงไปด้วย”
ขณะที่ จอร์จิโอ เฟอร์ลานี ซีอีโอสโมสรเอซี มิลาน ย้ำว่า “การยกเลิก Decreto Crescita จะเป็นการทำลายวงการฟุตบอลอิตาลี”
เคลาดิโอ โลติโต ประธานสโมสรลาซิโอ บอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้ “ไร้สาระสิ้นดี” และเชื่อว่ากลุ่มผู้มีอำนาจในสภาผู้แทนราษฎรจะ “ตระหนักถึงความผิดพลาดในอนาคต” เพราะการดึงดูดนักฟุตบอลชาวต่างชาติให้มาเสียภาษีในอิตาลีก็ย่อมดีกว่าไม่มีใครมาเสียภาษีเข้าประเทศ
จุดที่หลายคนเห็นตรงกันคือ เซเรียอาจะสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันไป
แต่ในอีกมุมหนึ่ง Decreto Crescita ก็ไม่ได้มีแต่ข้อดี
ภาษีคนรวยเพื่อคนรวย และการคุมกำเนิดแข้งดาวรุ่ง
เหรียญมี 2 ด้าน กฎหมายอย่าง Decreto Crescita ก็มี 2 ด้านเหมือนกัน
ในแง่งามได้กล่าวถึงไปแล้วด้านบน แต่ในเงามืดนั้นกฎหมายฉบับนี้ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย โดยเฉพาะประเด็นใหญ่คือ ‘คนที่ได้รับผลประโยชน์จากภาษีฉบับนี้มีเพียงแค่นักฟุตบอล โค้ช หรือสโมสรฟุตบอลที่ร่ำรวยเท่านั้น’
หรือพูดง่ายๆ คือเป็นกฎหมายเพื่อคนรวย ช่วยให้มีชีวิตที่ดีและง่ายขึ้น
ขณะที่การไหลเข้าของจำนวนนักฟุตบอลต่างชาติก็หมายถึงการปิดประตูของนักฟุตบอลดาวรุ่งในอิตาลีที่หาโอกาสในการแจ้งเกิดได้ยากขึ้น ซึ่งนั่นจะส่งผลต่อระบบและโครงสร้างของวงการฟุตบอลในประเทศทั้งหมด
นั่นเพราะสัดส่วนตัวเลขของนักฟุตบอลต่างชาติในเซเรียอาในฤดูกาล 2023/24 คิดเป็น 63.27% ของจำนวนผู้เล่นทั้งหมด (360 คน จาก 569 คนที่มีการขึ้นทะเบียนไว้) สูงกว่าฤดูกาลที่แล้ว (2022/23) ถึง 6.27% (456 คน จาก 800 คน)
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้สมาคมนักฟุตบอลอิตาลี (Italian Footballers’ Association) แสดงความพอใจกับการออกมาประกาศเตรียมยกเลิก Decreto Crescita ภายหลังจากที่ได้พยายามต่อสู้และเรียกร้องมาอย่างหนักหน่วง
อนาคตของวงการฟุตบอลอิตาลีจะไปทางไหน?
สิ่งที่น่าสนใจคือทิศทางของวงการฟุตบอลอิตาลีภายหลังจากนี้ว่าจะก้าวไปในทิศทางใด?
ที่แน่นอนคือทุกสโมสรจะต้องปรับกลยุทธ์ในการบริหารสโมสรใหม่ ภายหลังจากที่ใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษมาเป็นเวลาหลายปี การไม่มี Decreto Crescita จะทำให้การทุ่มเงินเพื่อดึงดูดนักฟุตบอลในระดับซูเปอร์สตาร์มาเล่นในเซเรียอาเป็นเรื่องที่ยากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะสโมสรไม่สามารถทุ่มเงินแข่งกับลีกอื่น โดยเฉพาะพรีเมียร์ลีกได้ไหว
นักฟุตบอลหรือโค้ชที่ได้รับค่าตอบแทนสูงในช่วงที่ผ่านมามีโอกาสจะถูกขายหรือปล่อยตัวออกจากสโมสร เพื่อลดภาระการใช้จ่ายลง
แนวทางต่อมาคือการผลักดันนักเตะจากระบบเยาวชนของสโมสรขึ้นมาแทน หรือการเฟ้นหาดาวรุ่งพรสวรรค์จากวงการฟุตบอลเยาวชนในประเทศขึ้นมาทดแทน แม้ว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลามากกว่าการซื้อนักเตะต่างชาติที่พร้อมใช้งานได้เลยก็ตาม
และเพราะเหตุนี้การลงทุนกับระบบเยาวชนมีโอกาสจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะเป็นการลงทุนที่ใช้เงินน้อยกว่าการทุ่มซื้อซูเปอร์สตาร์
อย่างไรก็ดี ระหว่างนี้จนถึงสิ้นเดือนที่จะเป็นเดือนสุดท้ายของ Decreto Crescita สโมสรฟุตบอลในอิตาลีจะเดินหน้าอย่างไร หรือจะมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงให้กฎหมายฉบับนี้ยังอยู่ต่อไป เป็นเรื่องที่ยังต้องจับตา
บางทีรัฐบาลอาจมีมาตรการช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษสำหรับวงการฟุตบอล ในฐานะ Soft Power ที่สำคัญอีกอย่างของประเทศ ไม่น้อยไปกว่าพาสต้า พิซซ่า และลีโอนาร์โด ดา วินชี
อ้างอิง: