×

‘น้ำมันแลกข้าว’ ถึง ‘ทอดไม่ทิ้ง’ ถอดรหัสธุรกิจ ESG กับที่มาของคำว่า DNA บางจาก

26.07.2023
  • LOADING...
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช บางจาก

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • ESG กลยุทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจที่เปรียบเสมือนเป็น DNA ของบางจาก
  • เทรนด์พลังงานทางเลือกไฮโดรเจนยังไม่เสถียรและราคาแพง คำตอบที่แท้จริงคือ ‘ไบโอแมส’ 
  • แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจการบิน บางจากพร้อมทุ่มหมื่นล้านสร้างโรงงานผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) จากน้ำมันที่มาจากการปรุงอาหารใช้แล้วผ่านโครงการ ‘ทอดไม่ทิ้ง’

“โดยหากย้อนไปหลายปีที่ผ่านมา ESG ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจที่เปรียบเสมือนเป็น DNA ของบางจาก” ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP กล่าวในงานสัมมนา ESG Game Changer ในหัวข้อ ‘The Great Remake สู่โอกาสใหม่’ 

 

ทั้งนี้ บางจากเป็น ‘รายแรกในประเทศไทย’ ที่ดำเนินโครงการน้ำมันแลกข้าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผ่านสหกรณ์การเกษตรในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำและในช่วงที่น้ำมันแพง ซึ่งได้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาเป็นปั๊มน้ำมันสหกรณ์หรือปั๊มน้ำมันชุมชนแห่งแรกในปี 2533 จนปัจจุบันมีปั๊มน้ำมันชุมชนกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ 

 

จุดนี้ถือเป็น Social Enterprise ที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง และเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 บางจากก็เป็นผู้ริเริ่มการใช้พลังงานทดแทน โดยการผลิตไบโอดีเซล เอทานอล เพื่อการจำหน่ายในสถานีบริการปี 2548

 

เข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

 

ระยะหลัง เมื่อโลกเปลี่ยน เริ่มเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน บางจากก็เป็นบริษัทไทยรายแรกที่ไปลงทุนเหมืองแร่ลิเธียมในทวีปอเมริกาใต้ผ่านบริษัทในสหรัฐอเมริกา และขยายธุรกิจพลังงานสะอาดผ่านบริษัทลูกกระทั่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ นั่นคือบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG รวมถึงตั้งสถานีบริการน้ำมัน GEMS ต้นแบบด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม ที่มีระบบกักเก็บพลังงานและซื้อ-ขายไฟฟ้าผ่านบล็อกเชน และเป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ของประเทศไทยที่ประกาศเป้าหมาย Net Zero GHG Emissions ในปี 2593 ผ่านแผน ‘BCP316 NET’ ซึ่งประกาศไว้เมื่อปี 2563 

 

BCP NET สำคัญอย่างไร

 

เรื่องแรก บางจากเข้าไปพัฒนาเครื่องจักรที่ใช้ให้สามารถลดคาร์บอนได้ โดยจะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพภายใน 5-7 ปี ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนได้ 30% นอกจากนี้บางจากจะเข้าไปร่วมโครงการปลูกป่า ปลูกไม้โกงกาง หรือการปลูกหญ้าทะเล ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงได้คิดเป็น 10% ของแผนการดำเนินงาน และอีก 60% นั้นจะมุ่งเน้นไปที่การลงทุนในแผนระยะยาวที่จะดำเนินการโดยคัดเลือกพลังงานใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์กับการลดการปล่อยคาร์บอนและเข้าไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นไฮโดรเจนหรือการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) 

 

รวมไปถึงสร้างระบบนิเวศต่างๆ สำหรับสังคมคาร์บอนต่ำ ไม่ว่าจะเป็นการบุกเบิกแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพร้อมเครือข่ายสถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ Winnonie, จัดตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต และส่งเสริมองค์ความรู้เรื่อง Synthetic Biology 

 

ทุ่ม 1 หมื่นล้านบาทรุกโปรเจกต์ ‘ทอดไม่ทิ้ง’ พร้อมให้บริการปลายปีหน้า

 

บางจากได้ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) จากน้ำมันที่มาจากการปรุงอาหารใช้แล้วนับเป็นรายแรกในประเทศไทย

 

ขณะนี้กำลังก่อตั้งโรงงานผลิตน้ำมันเครื่องบินจากน้ำมันที่ใช้แล้ว โดยใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ ‘ทอดไม่ทิ้ง’ โดยเป็นการนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วจากการทำอาหาร นำมาเข้ากระบวนการเพื่อผลิตเป็นไบโอดีเซลที่สามารถนำไปผสมกับน้ำมันเครื่องบินได้ 

 

โรงงานแห่งนี้สามารถผลิตน้ำมันได้กว่า 1 ล้านลิตรต่อวัน ลดการปล่อยคาร์บอนได้ 80,000 ตันต่อปี ร่วมกับพันธมิตร และคาดว่าจะพร้อมให้บริการอุตสาหกรรมการบินทั้งในและต่างประเทศในไตรมาส 4 ของปี 2567 หรือช่วงปลายปีหน้า

 

โอกาสธุรกิจที่เกิดขึ้นนั้นมาจากแนวคิดที่ว่า ปัจจุบันโลกบริโภคน้ำมันวันละ 100 ล้านบาร์เรล ขณะที่ประเทศไทยมีการบริโภคน้ำมันอยู่ที่วันละ 1 ล้านบาร์เรล หรือ 1% ของโลก โดยปีนี้คาดว่าโลกจะบริโภคน้ำมันอยู่ที่วันละ 102 ล้านบาร์เรล ขณะเดียวกันคาดการณ์การใช้น้ำมันของโลกจะแตะสูงสุดราว 20 ปีข้างหน้า รวมถึงการคมนาคมทั้งการขนส่งทางบกและการขนส่งทางน้ำก็จะถึงจุดสูงสุดด้วยเช่นกัน ขณะที่การขนส่งทางอากาศและธุรกิจปิโตรเคมีคอลยังมีโอกาสเติบโตได้อีก

 

ดังนั้นธุรกิจนี้คือโอกาสในอนาคต และเป็นคำตอบสำหรับผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันในการขยายการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีคอลที่มุ่งไปสู่การผลิตพลาสติกชีวภาพ และยังมีจุดที่น่าสนใจอีกข้อคือ ในปี 2613 ประเมินว่า การปล่อยมลพิษจากธุรกิจการบินจะเติบโตถึง 5 เท่า 

 

ดังนั้นโลกจึงพยายามคิดค้นและพัฒนาเครื่องบินให้มีน้ำหนักเบามากขึ้น เพื่อลดการปล่อยมลพิษและคาร์บอน สามารถนำเอาเทคโนโลยี AI มาวางแผนการบิน เพื่อลดการบริโภคน้ำมัน 

 

เพราะสุดท้ายแล้วคำตอบที่ชัดเจนของพลังงานในอนาคตคือ การหาเชื้อเพลิงอื่นที่จะนำมาใช้แทนน้ำมันจากปัจจุบันนี้ไปจนถึงปี 2593 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงว่าธุรกิจน้ำมันอาจไม่ใช่คำตอบของการใช้พลังงานในอนาคตแล้ว เนื่องจากโลกกำลังจะเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่สะอาดและมีการใช้แบตเตอรี่มากขึ้นเพื่อกักเก็บพลังงาน แต่ในมุมมองของธุรกิจการบินนั้น เคยมีการทดลองเกิดขึ้นบนโลก โดยนำเครื่องบินที่ติดตั้งแบตเตอรี่เป็นพลังงานควบคู่ไปกับน้ำมัน แต่เมื่อลองใช้จริงแล้วไม่สามารถใช้งานได้ เพราะเมื่อแบตเตอรี่บินขึ้นไปถึงระดับหนึ่งแล้วจะติดไฟ เครื่องบินจึงมีข้อจำกัดที่ต้องใช้เชื้อเพลิงที่เป็นของเหลวเท่านั้น

 

‘ไบโอแมส’ คือคำตอบที่แท้จริงมากกว่า ‘ไฮโดรเจน’

 

เพราะฉะนั้นการเติบโตของการบินนั้นมีแต่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาพร้อมการพัฒนาเทคโนโลยีหลากหลายด้าน แม้หลายคนจะมองว่าไฮโดรเจนจะเข้ามาเป็นคำตอบ แต่ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า เทคโนโลยียังไม่เสถียรและราคายังแพง ดังนั้นคำตอบที่แท้จริง ณ วันนี้ คือ ‘ไบโอแมส’ จึงเป็นที่มาของการพัฒนา SAF ขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาระบบลงทะเบียน Book and Claim หรือระบบจองและรับสิทธิ์โดยใช้บล็อกเชนผ่าน Carbon Markets Club เพื่อให้ผู้โดยสารสายการบินสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเดินทางทางอากาศผ่านการใช้ SAF ด้วย

 

ชัยวัฒน์ทิ้งท้ายว่า “การลงทุนเพื่อโลกและสังคม สิ่งสำคัญคือการหาธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ ผสาน ESG เข้าไปในธุรกิจ และสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ ESG จึงจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า บางจากดำเนินงานด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยยกให้เรื่อง ESG เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเสมอมา”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X