บรรดานักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำจากหลายสำนักของสหรัฐอเมริกาต่างออกมาแสดงความกังวลถึงปัญหาที่ตามมา หลังตระหนักว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ในขณะนี้กำลังควักเงินออมของตนเองออกมาใช้จ่าย โดยเป็นเงินออมที่เก็บหอมรอมริบมาได้ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดระบาด ซึ่งเงินออมดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
รายงานระบุว่า เงินเก็บที่มากมายมหาศาลดังกล่าวส่งผลให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังคงมีเงินใช้จ่ายต่อไปในปีต่อๆ ไป และเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อยังคงดำเนินต่อไป
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าเงินใช้จ่ายส่วนเกินหมดลงแล้ว ทำให้เริ่มกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป โดย Hamza Abdelrahman และ Luiz Edgard Oliveira นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารกลางซานฟรานซิสโก ระบุว่า ประมาณการล่าสุดของเงินเก็บที่ออมได้ในช่วงโควิดกำลังลดลงจนอยู่ในขั้นติดลบอย่างรวดเร็ว
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวหมายความว่าชาวอเมริกันจำนวนมากมีหนี้มากกว่าเงินออม และครัวเรือนอเมริกันใช้เงินออมที่เก็บมาจากช่วงโควิดของตนอย่างเต็มที่
ทั้งนี้การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และแสดงให้เห็นความแข็งแกร่งอย่างน่าทึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า การใช้จ่ายที่แข็งแกร่งก็เพราะได้เงินออมที่เก็บไว้ แต่ตอนนี้การออมส่วนเกินได้ลดน้อยลงจนไม่เหลือเลย และบางรายถึงขั้นติดลบเรียบร้อยแล้ว จนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายและสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจอเมริกันในอนาคตนับต่อจากนี้
ที่สำคัญสิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าก็คือหนี้ที่สั่งสมมา โดย Austan Goolsbee ประธาน Fed สาขาชิคาโก กล่าวแสดงความเห็นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า แม้ระดับหนี้ผู้บริโภคจะยังไม่ ‘สูงเป็นพิเศษ’ แต่ Fed ก็เริ่มกังวลเกี่ยวกับอัตราการผิดนัดชำระหนี้ของผู้บริโภค หรือการพลาดหรือล่าช้าในการชำระเงินค่าใช้จ่าย เช่น สินเชื่อรถยนต์ บิลบัตรเครดิต และค่าเช่าที่อยู่อาศัย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังแสดงความเห็นระหว่างเข้าร่วมเวทีเสวนาที่จัดโดย Society for Advancing Business Editing and Writing ว่า หากอัตราการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคเริ่มเพิ่มขึ้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมักจะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญในการตอกย้ำว่าสิ่งต่างๆ กำลังจะแย่ลง
รายงานระบุว่า Real GDP ซึ่งเป็นมาตรวัดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในวงกว้าง เพิ่มขึ้นเพียง 1.6% ต่อปีในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์มาก ทำให้นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์บางรายเริ่มปรับลดความคาดหวังการเติบโตของสหรัฐฯ ในปีนี้ลง โดย Fitch Ratings ได้ออกมาระบุว่า การเติบโตของสหรัฐฯ น่าจะชะลอตัวลงจนต่ำกว่าแนวโน้มอย่างมีนัยสำคัญในปลายปีนี้
ด้านธุรกิจค้าปลีกของสหรัฐฯ ก็เริ่มกังวลเช่นกัน เพราะขณะนี้ผู้บริโภคชาวอเมริกันไม่ได้ช้อปปิ้งเหมือนเคย และผู้ค้าปลีกจำนวนมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประกาศลดราคา เนื่องจากพวกเขาพยายามดึงดูดผู้คนให้เข้ามาในร้านค้าและดึงดูดให้พวกเขาใช้จ่ายเงินกับสิ่งของต่างๆ เช่น เสื้อผ้าใหม่ ของตกแต่งบ้าน ศิลปะและงานฝีมือ หรือชุดงานอดิเรก
Sarah Wyeth กรรมการผู้จัดการฝ่ายค้าปลีกและผู้บริโภคของ S&P Global Ratings เปิดเผยว่า นักช้อปลดจำนวนการซื้อและปริมาณที่ซื้อของตนเองมาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว เนื่องจากต้นทุนค่าครองชีพได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และเนื่องจากรายได้ไม่สามารถเติบโตทันกับรายจ่ายได้
ความกังวลดังกล่าวเริ่มสะท้อนให้เห็นในรายงานผลประกอบการของผู้ค้าปลีกหลายรายในสหรัฐฯ เช่น หุ้นของ Tyson Foods หนึ่งในบริษัทเนื้อสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ร่วงลงเกือบ 6% เมื่อวันจันทร์ (6 พฤษภาคม) หลังจากที่บริษัทบรรจุเนื้อสัตว์รายงานว่าผู้บริโภคตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนที่สูง และไม่เต็มใจที่จะใช้จ่ายเหมือนแต่ก่อน
นอกจากนี้ Starbucks ยังเห็นราคาหุ้นลดลงอย่างมากหลังจากที่ร้านกาแฟลดการคาดการณ์ทั้งปี โดยอ้างถึงยอดขายที่ลดลงและสภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่ยากลำบาก ส่วน Chris Kempczinski ซีอีโอของ McDonald’s ตั้งข้อสังเกตว่าผู้บริโภคหันมาประหยัดกันมากขึ้น และเริ่มคิดมากในเรื่องของการใช้จ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ กับทุกๆ ดอลลาร์ที่ต้องควักออกจากกระเป๋า ซึ่งสร้างแรงกดดันให้กับอุตสาหกรรม (ร้านอาหารบริการด่วน)
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวในตลาดอสังหาริมทรัพย์และการเติบโตของตลาดการจ้างงานที่ล่าสุดแม้จะชะลอตัวลงมาก ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งในหลายปัจจัยที่เป็นไปได้ที่ช่วยให้ผู้บริโภครักษาระดับการใช้จ่ายที่แข็งแกร่งต่อไป
อ้างอิง: