×

ถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ไทยพบกลุ่ม B มากที่สุด ยังระบุไม่ได้ว่าการกลายพันธุ์ทำให้โรครุนแรงหรือติดต่อไวขึ้นหรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
27.04.2020
  • LOADING...

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ในประเทศไทย พบว่าเป็นกลุ่ม B ซึ่งพบมากในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และระบาดนอกประเทศจีน 85% ส่วนการตรวจเชื้อโควิด-19 ในไทยใช้วิธี Realtime Reverse Transcription – PCR (RT-PCR) ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เร่งพัฒนาการตรวจด้วยน้ำลายและ Reverse Transcription – Loop-mediated Isothermal Amplification (RT-LAMP)

 

วันนี้ (27 เมษายน) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทยจากผู้ติดเชื้อ 40 ราย พบแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 

 

กลุ่ม B ที่เกิดการกลายพันธุ์จากกลุ่ม A พบมากในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และการระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วนอกประเทศจีน โดยประเทศไทยพบถึง 85% 

 

และกลุ่ม C ที่เกิดการกลายพันธุ์จากกลุ่ม B โดยเริ่มพบการระบาดในยุโรปและสิงคโปร์ ในประเทศไทยพบ 15% 

 

ส่วนกลุ่ม A ซึ่งเป็นเชื้อที่คล้ายกับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่พบในค้างคาวและตัวนิ่ม ที่คาดว่าเป็นต้นกำเนิดของการระบาดในครั้งนี้ ยังไม่พบในประเทศไทย 

 

ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกโดยดูตำแหน่งความหลากหลายทางพันธุกรรม (Polymorphism) ของสายพันธุ์โควิด-19 พบว่ากลุ่ม B และ C ที่ระบาดในไทยมี 3 สายพันธุ์หลักคือ S, G และ V โดยสายพันธุ์ S พบมากที่สุด รองลงมาเป็น G และ V ตามลำดับ ทั้งหมดยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการแสดงผลในการก่อโรคที่แตกต่างกัน และยังไม่สามารถระบุได้ว่าการกลายพันธุ์ทำให้ก่อโรครุนแรงหรือติดต่อไวขึ้น

 

การถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 จะดำเนินการถอดรหัสจากตัวอย่างผู้ติดเชื้อทุกภูมิภาคของประเทศไทยให้ครบ 100 ราย เพื่อศึกษาการกระจายตัว ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ และกลไกการก่อโรคของเชื้อต่อไป ซึ่งการถอดรหัสในอนาคตจะร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภากาชาดไทย การตรวจเชื้อโควิด-19 ในไทยมีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว 133 แห่ง ทำให้เข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้ง่าย มีการส่งตัวอย่างและรายงานผลผ่านระบบออนไลน์ รายงานผลได้ภายใน 1 วัน 

 

สำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยใช้วิธี RT-PCR ซึ่งเป็นการตรวจที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เป็นการตรวจหารหัสพันธุกรรมซึ่งมีความแม่นยำและรวดเร็ว พร้อมกันนี้จะเร่งพัฒนาการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีตรวจทางน้ำลายและ RT-LAMP

 

“ทั้งนี้การตรวจหาเชื้อจะต้องทำในสถานพยาบาลและวิเคราะห์แปลผลโดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น จึงไม่แนะนำให้ซื้อชุดทดสอบทางออนไลน์มาตรวจเอง” นพ.โอภาส กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X