×

ผอ.สถาบันวิจัยนโยบายฯ ก้าวไกล ชี้รัฐเยียวยาไม่ตอบโจทย์ เสนอให้เงินสด 10 จังหวัดล็อกดาวน์ วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
15.07.2021
  • LOADING...
เดชรัต สุขกำเนิด

วานนี้ (14 กรกฎาคม) เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยนโยบายของพรรคก้าวไกลได้เผยแพร่รายงาน ‘มาตรการเยียวยา ถั่วจะสุกหรืองาจะไหม้’ วิจารณ์มาตรการเยียวยาที่รัฐบาลออกมาหลังจากที่ออกมาตรการเสมือนล็อกดาวน์

 

รายงานกล่าวว่าแม้ว่าตัวเลขเงินช่วยเหลือดังกล่าวจะถือว่าเป็นการช่วยเหลือที่ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับรอบก่อน ๆ (เช่น 3,500 บาทต่อเดือน) แต่ยังมีข้อน่ากังวลใจอย่างต่ำ 2 ข้อ

 

ประการแรก คือความทั่วถึง แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามให้เงินช่วยเหลือมากขึ้น และให้ทั้งกับนายจ้างและลูกจ้าง แต่ก็ยังจำกัดเฉพาะ 9 หมวดกิจการเท่านั้น ตัวอย่างของกิจการที่ไม่เข้าอยู่ใน 9 หมวดกิจการนี้คือ โรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลาย ซึ่งแม้จะไม่ได้มีคำสั่งให้ปิดดำเนินการ แต่โรงงานหลายแห่งก็จำเป็นต้องลดหรือหยุดดำเนินการ ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ซึ่งก็จะไม่เข้าข่ายใน 9 กิจการที่ได้รับความช่วยเหลือที่กล่าวถึงข้างต้น

 

ประการที่สอง ความเร่งด่วนของการช่วยเหลือ ซึ่งการผูกความช่วยเหลือไว้กับการเข้าระบบประกันสังคมก็อาจนำมาซึ่งปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการ จากประสบการณ์ในการช่วยเหลือครั้งที่ผ่านมา (ปิดแคมป์คนงานและร้านอาหาร) กว่าที่เงินช่วยเหลือสำหรับผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมอยู่แล้วจะออกมาก็ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนนับจากวันที่สั่งปิดแคมป์คนงาน แต่ในคราวนี้ยังจะต้องรอให้นายจ้าง/ลูกจ้างสมัครเข้าระบบประกันสังคมเสียก่อน จึงยิ่งต้องใช้เวลายาวนานขึ้นกว่าที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจริงๆ

 

“แม้ว่าการผูกมาตรการช่วยเหลือทั้งหมดไว้กับระบบประกันสังคมอาจจะดูเป็นกุศโลบายที่ดี แต่ในสถานการณ์เร่งด่วนฉุกเฉิน เงื่อนไขดังกล่าวก็อาจส่งผลเสียต่อผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน ทั้งในแง่ของความไม่ทั่วถึงและความล่าช้าได้ เข้าทำนอง ‘กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้’ เสียแล้ว” เดชรัตกล่าว

 

เดชรัตยังกล่าวอีกด้วยว่า ในความเป็นจริงนั้น ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดมันไม่ได้หมายเฉพาะลูกจ้าง (นายจ้าง) ที่ต้องหยุดงานในช่วงล็อกดาวน์นี้ แต่ยังรวมถึงผู้ที่ตกงานตั้งแต่การระบาดระลอกแรกและระลอกที่สองแล้ว ซึ่งก็อาจไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐบาลในครั้งนี้

 

เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบก็เช่นกัน เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและได้รับผลกระทบไปก่อนหน้านี้แล้ว คือเด็กและเยาวชนที่ต้องหลุดออกนอกระบบโรงเรียน แน่นอนว่าการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่อยู่ในระบบไม่ให้หลุดออกไปนอกระบบเป็นสิ่งที่ดี และควรรีบกระทำอย่างยิ่ง แต่การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกนอกระบบไปแล้ว ก็เป็นเรื่องเร่งด่วนมากๆ เช่นกัน เพราะฉะนั้นภายใต้สถานการณ์ที่เร่งด่วนและความทุกข์ยากแพร่กระจายไปทั่ว การให้ความช่วยเหลือแบบ ‘ถ้วนหน้า’ น่าจะดำเนินการได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วมากกว่าโดยไม่มีใครตกหล่น

 

สุดท้ายรายงานได้เสนอข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่

  1. การพยุงการจ้างงาน หรือการให้เงินผ่านนายจ้าง (50% แต่ไม่เกิน 7,500 บาท) ทุกกิจการที่อยู่ในพื้นที่ล็อกดาวน์ 
  2. การเยียวยาแบบถ้วนหน้า (3,000 บาทต่อคน)
    3. การให้เงินอุดหนุนแก่เด็กและเยาวชนทุกคน (1,500 บาทต่อคน) 


ซึ่งครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทุกคน และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วกว่ามาก มาตรการทั้งสามส่วนนี้จะใช้งบประมาณรวมกัน 58,855 ล้านบาทสำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 11,519 ล้านบาทสำหรับ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

“ความรวดเร็วและความทั่วถึงของความช่วยเหลือจะเป็นหัวใจสำคัญในการพยุงพี่น้องประชาชนจากความทุกข์ยากครั้งนี้ และหากทำได้ก็จะพยุงความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนที่มีต่อกลไกของรัฐไปด้วยในตัว จะทำให้พี่น้องเข้าร่วมกองทุนประกันสังคมด้วยความเต็มใจ ดีกว่าที่จะตั้งเป็นเงื่อนไขเอาไว้ และอาจทำให้พี่น้องส่วนหนึ่งไม่ทราบเข้าถึงความช่วยเหลือที่จำเป็นเร่งด่วน” เดชรัตกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising