กระทรวงพาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนธันวาคมขยายตัว 5.89% เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้ภาพรวมเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2565 อยู่ที่ระดับ 6.08% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 ปี พร้อมคาดการณ์กรอบเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะชะลอตัวมาอยู่ที่ระดับ 2-3% ตามราคาสินค้าที่เริ่มทรงตัว การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และฐานการคำนวณที่สูงขึ้น
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ 107.86 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งเท่ากับ 101.86 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 5.89% (YoY) ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน และอาหารที่ยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับฐานราคาในเดือนธันวาคม 2564 ไม่สูงมากนัก และอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เงินเฟ้อปรับลดลง 0.06% (MoM) โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และผลไม้สด เป็นสำคัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
- ฉวยจังหวะค่าเงินอ่อน ส่องโอกาสลงทุนหุ้นโลก สร้างพอร์ตเติบโตระยะยาว
- ‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2565 ปรับสูงขึ้น 6.08% (AoA) ทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 ปี แต่ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วง 5.5-6.5% (ค่ากลาง 6.0%) โดยปัจจัยสำคัญมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายสำคัญควบคุมปริมาณการผลิต และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้อุปทานการผลิตพลังงานตึงตัวมากขึ้น และส่งผลมายังราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มในประเทศ
ทั้งนี้ ราคาพลังงานที่สูงขึ้นดังกล่าว รวมถึงการปรับขึ้นค่าจ้าง อัตราดอกเบี้ย และเงินบาทที่อ่อนค่า ยังเป็นต้นทุนที่แฝงอยู่เกือบทุกขั้นตอนการผลิต ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการหลายประเภททยอยปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ โรคระบาดในสุกร ปัญหาอุทกภัย อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ฐานราคาในปี 2564 ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น มีส่วนทำให้เงินเฟ้อปี 2565 อยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี หากเทียบกับอัตราเงินเฟ้อในต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2565) พบว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี เม็กซิโก และอินเดีย รวมถึงประเทศในอาเซียน สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดยอยู่ในลำดับที่ 28 จากทั้งหมด 128 ประเทศ
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนธันวาคมสูงขึ้น 5.89% มาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม โดยราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มปรับสูงขึ้น 3.87% (YoY) ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่สูงขึ้น 14.62% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ตลอดจนค่าโดยสารสาธารณะที่ปรับเพิ่มขึ้น
ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ก็ปรับสูงขึ้น 8.87% (YoY) โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปที่สูงขึ้น 9.66% เช่น ข้าวราดแกง อาหารเช้า ก๋วยเตี๋ยว และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิต
ด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก ในเดือนธันวาคมสูงขึ้น 3.23% (YoY) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้น 3.22% (YoY) ตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 สนค. คาดว่าจะชะลอตัวลงจากปี 2565 อย่างชัดเจน เนื่องจากราคาสินค้าส่วนใหญ่เริ่มทรงตัว และบางรายการปรับลดลงหลังจากที่ทยอยปรับขึ้นตามต้นทุนแล้วในปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ มีแนวโน้มชะลอตัวตามอุปสงค์โลกที่ลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ฐานราคาในปี 2565 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ และการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการอย่างเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิต มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อปี 2566 ขยายตัวไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า การปรับขึ้นค่าจ้างทั้งระบบ และเงินบาทที่ยังผันผวน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิต รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อปี 2566 ได้แก่ ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก จากความเสี่ยงของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สภาพอากาศที่แปรปรวน การแพร่ระบาดของโควิด และโรคระบาดในสัตว์ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 2-3% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
“ประมาณการเงินเฟ้อในปีนี้ของเราถูกคำนวณภายใต้สมมติฐานว่า GDP จะขยายตัวได้ 3-4% ราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 85-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์ แต่ถ้าดูจากข้อมูลล่าสุดที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 76-82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทอยู่ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์ โอกาสที่เงินเฟ้อจะต่ำกว่าประมาณการก็มีความเป็นไปได้” ผอ.สนค. กล่าว
ในวันเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ยังเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนธันวาคม 2565 โดยพบว่าปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.4 จากระดับ 49.9 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ระดับสูงที่สุด และเป็นการปรับขึ้นมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นครั้งแรกในรอบ 43 เดือน (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562) ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด เป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน และในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)
สาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว การส่งออก ราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังอยู่ในเกณฑ์ดี และมาตรการของภาครัฐที่ส่งผลให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจมีรายได้และกำลังซื้อมากขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น