กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขการส่งออกไทยในเดือนธันวาคม 2563 (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัว 4.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 3.7% ซึ่งถือว่าพลิกเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และถือว่าเติบโตสูงสุดในรอบ 22 เดือน ซึ่งขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก่อนการระบาดระลอกใหม่
ทั้งนี้ ส่งผลให้ทั้งปี 2563 มูลค่าการส่งออกไทยติดลบ 6.9% จากปี 2562 สาเหตุใหญ่เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ ที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไป รวมถึงความต้องการสินค้ายังลดลง ซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังปี 2564
ดังนั้น ขณะที่ปี 2564 หลายศูนย์วิเคราะห์ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกไทยจะเติบโตสูงกว่า 4% แม้ว่าปี 2563 การส่งออกจะมีฐานติดลบก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินมูลค่าการส่งออกไทยปี 2564 จะเติบโต 3.0% จากปี 2563 โดยปัจจัยที่ยังกดดัน ได้แก่ ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่สูงขึ้น และแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท จากกรณีที่เงินบาทเข้าไปอยู่ในบัญชีการติดตามของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มความซับซ้อนยิ่งขึ้น
ขณะที่ฝั่ง Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดคาดการณ์ส่งออกไทยปี 2564 เหลือ 4.0% จากช่วงก่อนหน้าที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4.7% โดยมองปัจจัยที่กระทบต่อการส่งออกไทยระยะสั้น 4 ปัจจัย ได้แก่
- เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ทั่วโลก เบื้องต้นคาดว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2564 ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันหมู่ช้ากว่า
- ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ยังกดดันการส่งออกในช่วงไตรมาสแรก
- การแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร
- ความเสี่ยงต่อการส่งออกอาหารทะเลของไทยที่เกิดจากความกังวลต่อโควิด-19 ระลอกใหม่ในจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว
ขณะที่กรณีการเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Antidumping Duty: AD) กับยางล้อไทย พบว่า ยางรถยนต์ไทยที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ มีแนวโน้มถูกเรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดที่อัตรา 13.25-22.21% ซึ่งนับเป็นต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับผู้ส่งออกยางรถยนต์ไทย
ด้าน Krungthai COMPASS ประเมินมูลค่าการส่งออกปี 2564 จะกลับมาเติบโต 2.9% จากปี 2563 (ปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะโต 4%) โดยปีนี้การส่งออกไทยยังมีความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งค่าเงินบาทแข็งค่า โควิด-19 ระลอกใหม่ การใช้วัคซีนต้านโควิด และโดยเฉพาะปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลนอย่างหนัก
ทั้งนี้ เมื่อตู้คอนเทนเนอร์ขาดตลาดส่งผลให้ต้นทุนค่าระวางเรือพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากดัชนีตู้คอนเทนเนอร์โลก (World Container Index) ณ วันที่ 21 มกราคม 2564 แตะที่ระดับ 5,340.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อ FEU ซึ่งทําสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554
อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จะค่อยๆ คลี่คลายภายหลังผ่านพ้นช่วงตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพราะเป็นช่วงที่มีคําสั่งซื้อค่อนข้างสูง และทางการจีนเร่งคุมค่าระวางเรือไม่ให้สูงเกินไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยแวดล้อมในปี 2564 อาจส่งผลบวกต่อการค้าไทย เช่น แนวนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ ที่จะปรับตัวเข้าสู่กฎกติกาสากลมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย รวมถึงต้องติดตามความคืบหน้าของ RCEP ที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าจากสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่เพิ่มขึ้น และอานิสงส์จากการค้าระหว่างคู่เจรจาในกลุ่มมากขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล