×

เมื่อ ‘หนี้’ ล้นโลก จากการเร่งปั๊มเงินเข้าระบบ แต่ ‘เศรษฐกิจจริง’ ยังไม่ฟื้น แล้วเงินไหลไปไหน

20.02.2021
  • LOADING...
เมื่อ ‘หนี้’ ล้นโลก จากการเร่งปั๊มเงินเข้าระบบ แต่ ‘เศรษฐกิจจริง’ ยังไม่ฟื้น แล้วเงินไหลไปไหน

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ปี 2564 หนี้โลกแตะ 281 ล้านล้านบาท คิดเป็น 355% ของ GDP โลก ยิ่งพิสูจน์ว่าปีโควิด-19 ทำให้รัฐบาลหลายประเทศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ แต่หนี้เหล่านี้จะกลายเป็นสภาพคล่องที่ยั่งยืนต่อเศรษฐกิจจริงหรือเปล่า
  • ปัญหาใหญ่ของโลกคือเมื่อรัฐพิมพ์แบงก์เข้าสู่โลกการเงิน และหวังว่าจะสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ แต่เงินนั้นกลับไหลไปทั่วโลกเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น จนเกิดภาพลวงตาในตลาดการเงิน (ตลาดหุ้น และบิตคอยน์ที่เพิ่มขึ้น)
  • ไทยยังอยู่ในกับดักสภาพคล่องที่เงินไหลไม่ถึงคนที่ต้องการ เห็นได้จากเงินฝากในระบบปี 2563 โต 12% แต่เงินกู้ยังโตแค่ 4% รวมถึงซอฟต์โลนที่ผู้ประกอบการที่อยู่ได้ และมีอนาคตยังเข้าไม่ถึง

หลายวิกฤตและปัญหาเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลของทุกประเทศต้องหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการอัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบการเงิน เพื่อสะท้อนสู่ภาคเศรษฐกิจจริง และเข้าถึงคนมากขึ้น 

 

โดยเฉพาะปี 2563 ที่ผ่านมา วิกฤตโควิด-19 ทำให้ทุกประเทศอัดเงินเข้าสู่ระบบมากเป็นพิเศษ รวมถึงการทำ QE อย่างการพิมพ์แบงก์เพิ่มเงินในระบบ รวมมาตรการต่างๆ ที่ทำให้หนี้ส่วนภาครัฐปรับสูงขึ้น จนล่าสุดคาดว่าปี 2564 หนี้สินของทั้งโลกจะอยู่ที่ 281 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8,451 ล้านล้านบาท

 

เมื่อ ‘หนี้’ กลายเป็นสภาพคล่องที่ล้นโลกแต่คนยังเข้าไม่ถึง เงินเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน?

 

ท่ามกลางวิกฤตระดับโลกอย่างโควิด-19 ทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องอัดฉีดเงินอย่างเร่งด่วนเข้าสู่เศรษฐกิจ ทั้งเพื่อพยุงตลาดการเงินไว้ และไม่สร้างผลกระทบต่อเนื่องไปภาคส่วนอื่นๆ เลยทำให้ปี 2563 ที่ผ่านมาหนี้สินของโลกอยู่ที่ 258 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,765 ล้านล้านบาท) เกินกว่าครึ่งหนึ่งมาจากหนี้สินของภาครัฐ

 

โดยหนี้สินของรัฐมาจากธนาคารกลางประเทศใหญ่ๆ ที่ทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) อย่างการพิมพ์เงินเพิ่มเข้าสู่ระบบ โดยจะเอาไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์อื่นๆ ที่อยากช่วยเหลือเป็นพิเศษ ซึ่ง QE เป็นเครื่องมือเพิ่มเติมนอกเหนือจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ทำได้ยากขึ้นเพราะก่อนโควิด-19 อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว 

 

ดังนั้นเม็ดเงินที่รัฐพิมพ์เพิ่มนี้จะช่วยเพิ่มความมั่งคั่ง และความมั่นใจกับเจ้าของสินทรัพย์ทั้งหลายว่า ตลาดการเงินจะไม่กระทบหนักกว่านี้ และเงินที่อัดฉีดมาในระบบการเงินจะนำไปลงทุนทางการเงินอีกต่อ ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายในระบบเศรษฐกิจได้ด้วย  

 

จากสถานการณ์ปัจจุบันเลยทำให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือ FII คาดว่าปี 2564 นี้จะมีหนี้สินเพิ่มขึ้น 24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 722.4 ล้านล้านบาท) และทำให้หนี้สินของโลกปี 2564 จะพุ่งสูง 281 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ​ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือราว 7,765 ล้านล้านบาท และคิดเป็น 355% ของ GDP โลก

 

แต่เงินที่รัฐอัดฉีดมายังไม่ได้ทำให้ภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างที่คิด แล้วเงินไปไหน? 

 

 

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี TMB Analytics เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตามทฤษฎีแล้วหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น และหากเพิ่มขึ้นที่ภาคครัวเรือนจะส่งผลให้ความสามารถในการซื้อทรัพย์สิน (Asset)  และแรงจูงใจในการออมลดลง

 

แต่ในส่วนของ QE ที่ภาครัฐพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบ จะกลายเป็นฝั่งหนี้สินของรัฐบาล ที่ระดมทุนเพื่อกระจายให้ถึงภาคเศรษฐกิจ อย่างการซื้อพันธบัตรเอกชน ก็เหมือนหนี้ภาคเอกชนก็จะไปอยู่กับภาครัฐ ดังนั้นหนี้จะยังคงอยู่ แต่จุดที่ต้องให้ความสำคัญคือ การพิมพ์เงินจำนวนมากนี้ ถ้ายังสร้างความเชื่อมั่นต่อไปได้ย่อมส่งผลดี แต่หากพิมพ์เงินเยอะเกินไปอาจส่งผลให้มูลค่าเงินที่หนี้สร้างขึ้นมาอาจจะลดลง 

 

“เมื่อมองกันยาวๆ นี่คือเงินเฟ้อแบบหนึ่ง เมื่อมูลค่าสินทรัพย์มีหนี้สูง มูลค่าของเงิน (อาจ) ลดลง ขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น เหมือนช่วงยุคก่อนหน้าที่เกิด Stagflation ในไทย (เศรษฐกิจซบเซาและเงินเฟ้อสูง) ซึ่งตอนนี้ไทยยังไม่อยู่จุดนั้นเพราะเงินยังฝืด ขณะที่ตอนนี้เราเห็นเม็ดเงินไปกระจุกอยู่บางสินทรัพย์ เช่น สกุลเงินดิจิทัล”

 

ในเรื่องนี้มีข้อมูลเพิ่มเติมจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า เงิน QE อาจจะสร้างภาพลวงตาในตลาดการเงินได้ หากความต้องการลงทุนใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจยังไม่มากจริง ดังนั้นจะเห็นเงินไหลออกไปประเทศอื่นๆ จากการ Search for Yield ทำให้สินทรัพย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างไม่สมดุล และมีความเสี่ยงว่าเม็ดเงินที่ไหลออกไปจะไหลกลับมา เรียกว่าสร้างความผันผวนที่อาจจะรวดเร็วและรุนแรง 

 

 

เมื่อ QE = ยาแรง ตอนนี้ตลาดเสพติดสภาพคล่องหรือยัง? 

 

นริศเล่าต่อว่า ตามทฤษฎี Demand-Supply เมื่อเศรษฐกิจแย่ เงินควรจะฝืด คนจะเริ่มออมกันมาขึ้น ใช้จ่ายน้อยลงและตลาดจะปรับสมดุลไปเอง แต่ตอนนี้ถือเป็นสถานการณ์ที่แปลก และการใช้ทฤษฎีเดิมมามองภาพในอนาคตยากขึ้นเรื่อยๆ 

 

“ตอนนี้คนชินกับภาพเม็ดเงิน (สภาพคล่อง) ที่ล้นทั้งโลกไปกระจุกตัวในภาคการเงิน แต่ภาคประชาชนเงินยังไม่ค่อยมี แสดงว่าสภาพคล่องนั้นส่งไปไม่ทั่วถึง ทำให้เม็ดเงินเลยหาที่ลง จนไปลงบางพื้นที่ เหมือนที่เห็นฝั่งการเงิน ทั้งตลาดหุ้นและตลาดสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ขยับสูงขึ้น” 


ดังนั้นเมื่อมองในภาครวมต้องติดตามว่า ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกจะ ‘ถอน’ QE อย่างไรเพื่อไม่ให้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจะไม่ใช่ภาพที่เกิดขึ้นในปีนี้ แต่อาจจะเห็นใน 3-5 ปีข้างหน้า หรือธนาคารกลางต้องไม่มี ‘เซอร์ไพรส์’ ในการถอน QE จะต้องค่อยๆ ลดเพื่อให้ตลาดรับรู้และไม่เกิดแพนิก โดยสภาพคล่องในโลกตอนนี้อาจจะต้องใช้เวลาหลักสิบปีเพื่อทยอยลดลง

 

ซึ่งปีนี้ยังไม่เห็นการถอน QE แต่เห็นสัญญาณการไม่เพิ่มเม็ดเงิน QE แล้ว อย่างไรก็ตามหากมีการถอน QE ออกก็จะทำให้เห็นภาพแรกคือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ขยับไล่สูงขึ้น

 

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

ย้อนมองปัญหาไทย: กับดักสภาพคล่อง-เงินไหลไม่ถึงมือคนที่ต้องการ

 

สถานการณ์ในไทยตอนนี้แม้ภาครัฐจะไม่ได้ทำ QE แต่ก็มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดผ่านมาตรการการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ (พ.ร.บ. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) แต่ปี 2563 ที่ผ่านมาจะเห็นว่าไทยมีสภาพคล่องในระบบที่สูงเช่นกัน โดยเงินฝากในระบบของไทยโต 12% ขณะที่เงินให้สินเชื่อโตเพียง 4% ซึ่งทำให้ไทยยังอยู่ในกับดักสภาพคล่องเหมือนช่วงต้นปี 2563

 

แต่แน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยแม้จะมีสภาพคล่องสูง แต่ก็ยังมีคนที่ขาดสภาพคล่องอยู่ เช่น ผู้ประกอบการ SMEs หรือธุรกิจที่ยังไปได้แต่ขาดสภาพคล่อง อย่างที่เห็นว่าสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่รัฐพยายามออกมานั้นยอดการเข้าถึงยังต่ำมาก ยิ่งทำให้รัฐยิ่งต้องหาทางกระจายสภาพคล่องสู่คนที่ตรงจุดยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตามหากการให้เงินสภาพคล่องยังต้องดูในภาพรวมด้วยว่า การให้สินเชื่อหรือสภาพคล่องนั้น จะช่วยขยายการเติบโตหรือเพียงแต่ยืดเวลาในธุรกิจที่ไปไม่ไหวแล้ว เพราะหากให้สภาพคล่องเพื่อยื้อไว้ย่อมจะสร้างภาระหนี้ให้สูงขึ้น และจะส่งผลต่อเนื่องทั้งในระดับบุคคลและเศรษฐกิจในระยะยาว

 

ขณะเดียวกันมาตรการที่ภาครัฐต้องเร่งออกมาคือ มาตรการด้านแรงงาน ที่ช่วยสนับสนุนการจ้างงานให้ตรงจุด ตรงเซกเตอร์ที่จะขยายตัวได้ในอนาคต

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X