เดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นเดือนที่มีความเสี่ยงใหม่เพิ่มขึ้นคือการเผชิญหน้าระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ภาพการลงทุนก็จะดูไปต่อลำบากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยเดิมเรื่องของทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามของนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นในเรื่องความไม่สงบที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และที่เพิ่มเข้ามาคืออิสราเอลกับอิหร่าน โดยเริ่มมีประเด็นตั้งแต่อิสราเอลใช้ขีปนาวุธเข้าไปโจมตีแบบจำกัดพื้นที่ในอิหร่าน และอิหร่านก็ได้ตอบโต้โดยการส่งฝูงโดรนเข้าไปถล่มในอิสราเอล ทำให้นักลงทุนทั่วโลกต่างกังวลว่าความไม่สงบดังกล่าวจะขยายวงออกไป แต่สุดท้ายก็ดูเหมือนจะยังไม่ขยายวงออกไปมากนัก
สำหรับความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวลดลง 3.4% ในเดือนเมษายน เทียบกับดัชนีในภูมิภาค MSCI Asia ex Japan ที่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ 1.1% ในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ เนื่องจากว่าดัชนีหุ้นในตลาด Shanghai และ Hang Seng มีการปรับตัวขึ้นแรงถึง 2.1% และ 7.4% ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีหุ้นในตลาดหลักและกลุ่มลาตินอเมริกามีการปรับตัวลดลงแรง สะท้อนจาก MSCI World และ MSCI LATAM ที่ปรับลดลง 3.9% และ 4.0% ตามลำดับ เรียกได้ว่าเคลื่อนไหวไปคนละทิศทาง
ในส่วนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รุ่นอายุ 2 ปี และรุ่นอายุ10 ปี มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.40% และ 0.48% ตามลำดับ ดูแล้วเหมือนกับว่านักลงทุนจะรับรู้กันหมดแล้วว่านอกจากรอบการประชุมที่จะถึงนี้ FOMC จะคงอัตราดอกเบี้ยและยังมีแนวโน้มว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงไปอีกระยะหนึ่ง
ในส่วนของราคาทองคำ เห็นได้ชัดเจนว่าปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเด็นหลักก็น่าจะมาจากความไม่สงบระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน โดยเพิ่มขึ้น 2.33% มาอยู่ที่ราคา 2,286 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ก็เป็นการทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 1.69% ขณะที่น้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 1.1% มาอยู่ที่ราคา 85.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังความตึงเครียดในตะวันออกกลางไม่ได้เร่งระดับมากอย่างที่นักลงทุนส่วนใหญ่กังวล
กลับมาที่สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยเดือนเมษายนปรับตัวลดลงเล็กน้อย 0.7% ซึ่งหากเทียบกับดัชนีหุ้นโลกแล้วดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงน้อยกว่ามาก หลักๆ ก็อาจจะมาจากการที่เรามีวันหยุดเยอะ และผลจากแรงซื้อกลับของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากมองว่าเป็นระดับที่น่าสนใจ เพราะตั้งแต่ต้นปีดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลง 3.4% แต่ MSCI ACWI เพิ่มขึ้นถึง 4.1% ถือว่ามีส่วนต่างพอสมควรที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิสูงถึงราว 4,000 ล้านบาทในเดือนเมษายน
ด้านเศรษฐกิจไทย ตัวเลขเงินเฟ้อหรือดัชนีผู้บริโภคเดือนมีนาคมยังคงอยู่ในระดับต่ำ เป็นการปรับลดลง 0.47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางและการปรับมุมมองต่อทิศทางดอกเบี้ยของ Fed ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 2 ปี และรุ่นอายุ 10 ปี มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.20% และ 0.26% ตามลำดับ ขณะที่ค่าเงินบาทมีการปรับอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ 2.3% มาอยู่ที่ 37.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ในส่วนของภาพการลงทุนในเดือนพฤษภาคมนี้ ผมมีมุมมองเป็นบวกกับการลงทุนในตราสารหนี้ทั้งระยะสั้นและกลาง เพราะ Fed ยังไม่มีท่าทีที่จะปรับลดดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ตราสารหนี้ที่อยู่ในระดับ Investment Grade ก็ดีกว่าฝากเงิน ในส่วนของหุ้นนั้นผมมองว่าหุ้นไทยก็ถือว่าน่าสนใจไม่ว่าจะเทียบทั้งมิติของปัจจัยพื้นฐานในประเทศ และในมิติของการเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนปัจจัยที่ควรจะต้องเฝ้าติดตามก็ยังคงเป็นแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเขาเลย อีกปัจจัยก็คงหนีไม่พ้นสถานการณ์ไม่สงบในตะวันออกกลาง เพราะต้องเฝ้าระวังว่าจะมีการขยายวงออกไปหรือไม่