×

เมื่อวงจรการขึ้นดอกเบี้ยใกล้สิ้นสุด ตราสารหนี้จะเป็นอย่างไร

18.09.2023
  • LOADING...
ตราสารหนี้

ลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นเหมือนกับธนาคารกลางอื่นทั่วโลก ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ระดับ 2.25% จากระดับต่ำสุดที่ 0.50% และตลาดเริ่มคาดการณ์ถึงจุดสิ้นสุดการขึ้นดอกเบี้ยไทยแล้ว โดยมองอัตราดอกเบี้ยเป้าหมายอยู่ที่ระดับ 2.25-2.50%

 

ขณะที่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้น กนง. ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นต่อตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยออกมาจากที่เคยกล่าวถึงการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปเหมือนการประชุมรอบก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม กนง. ยังต้องการเพิ่ม Policy Space และยังกังวลอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในระยะถัดไปที่ยังมีความเสี่ยงด้านสูง

 

ทางฝั่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระดับ 5.50% ตามที่นักลงทุนคาดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 ทั้งนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า Fed จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกแล้วเนื่องจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ผ่านมาเริ่มลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญเริ่มส่งสัญญาณที่อ่อนแอลง แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเติบโตต่ำกว่าระดับ 1% ในปีหน้า 

 

ซึ่งในระยะข้างหน้านี้ ตลาดการเงินอาจผันผวนได้บ้างหากตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ส่งสัญญาณการชะลอตัวอย่างที่คาด หรือเงินเฟ้อมีความหน่วงในการชะลอตัวลงช้ากว่าที่คาด ทำให้ Fed กลับมาพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน

 

นอกจาก Fed แล้ว ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกรกฎาคมเช่นกัน โดยปรับขึ้น 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Refi Rate) ขยับขึ้นสู่ระดับ 4.25% ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า ECB น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับนี้สักระยะเพื่อประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ หลังเศรษฐกิจของประเทศสำคัญอย่างเยอรมนีเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคไปในช่วงก่อนหน้า และอัตราเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณลดความร้อนแรงลง อย่างไรก็ดี ตลาดยังมองว่าในปีนี้ ECB มีโอกาสขยับอัตราดอกเบี้ยได้อีกหนึ่งครั้งก่อนถึงระดับสูงสุด

 

นอกจากนี้ จะเห็นว่าธนาคารกลางสำคัญๆ ในเอเชียได้สิ้นสุดหรือใกล้สิ้นสุดการต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จึงอนุมานได้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่างๆ ใกล้จบรอบเต็มที 

 

ซึ่งในสถานการณ์นี้ หากลองพิจารณาตามวงจรเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงไปของเส้นอัตราผลตอบแทนตลาดพันธบัตรในระยะถัดไป จะพบว่าเรากำลังเข้าสู่ Stage สุดท้ายของ Interest Rate Cycle ซึ่งอัตราผลตอบแทนรัฐบาลมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในลักษณะ Bull Flattening โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวลงมากกว่าพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งมักจะเป็นผลดีต่อตราสารหนี้

 

ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในอนาคตมีการปรับตัวลดลงเมื่อเข้าสู่วงจรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า ข้อมูลในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาที่มีการเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรก พบว่าส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 2 ปี และ 10 ปี จะลดแคบลงถึง 20bps ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อตราสารหนี้ระยะยาว ดังนั้น การเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้จึงเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงที่วงจรนโยบายการเงินเข้าใกล้จุดสิ้นสุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising