×

พริษฐ์หวังให้ประชาชนได้ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ ขอรัฐบาลอย่าควบคุมกติกา หวั่นกลายเป็นประชาธิปไตยแบบขออนุญาต

โดย THE STANDARD TEAM
04.04.2024
  • LOADING...

วันนี้ (4 เมษายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 32 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 วาระพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ซึ่งสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ต่อเนื่องเป็นวันสุดท้าย

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยหยิบยกปัญหาทางการเมืองต่างๆ ที่เริ่มต้นมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งรัฐบาลยอมรับว่าเป็นวิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนั้นความหวังของประชาชนว่าประเทศจะหลุดออกจากระบบการเมืองที่ไม่ปกตินี้เมื่อไร จึงแปรผันโดยตรงกับความแน่วแน่ของรัฐบาลในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

พริษฐ์อ้างคำพูดของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าสิ่งแรกที่จะทำเมื่อเข้ารับตำแหน่งคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้ผ่านมาเกือบครึ่งทางแล้ว ก็ชัดเจนแล้วว่าคำพูดนั้นเป็นเพียงลมปากของนายกรัฐมนตรีที่เชื่อถือไม่ได้

 

“วงการทหารเขาว่ากันไว้ว่าความไวเป็นของปีศาจ แต่ตั้งแต่ท่านนายกฯ ทำดีลที่ต่างชาติเรียกว่าเป็นดีลปีศาจ แล้วไปตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร เราก็แทบจะเห็นว่าความว่องไวและความกระตือรือร้นของท่านนายกฯ ในการแก้รัฐธรรมนูญดูจะระเหยหายไปหมด”

 

พริษฐ์ชี้ว่าในวันที่รัฐบาลเริ่มทำงานมีสองทางเลือกในการขยับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทางเลือก ก. เส้นทางประชามติ 2 ครั้ง เริ่มต้นจากการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. เข้าสู่รัฐสภา ส่วนทางเลือก ข. คือการเดินตามเส้นทางประชามติ 3 ครั้ง เริ่มต้นจากการเพิ่มการทำประชามติอีกหนึ่งรอบ ก่อนเริ่มกระบวนการหรือเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ เข้าสู่การพิจารณา

 

“แต่ผ่านมา 6 เดือน รัฐบาลยังตอบข้อสอบนี้ไม่ได้ ทำได้เพียงเดินหน้าเป็นวงกลม พายเรือในอ่าง เหมือนตอนหนึ่งในตลกหกฉากที่ไม่ได้ขยับประเทศไทยให้ใกล้กับรัฐธรรมนูญ”

 

พริษฐ์อภิปรายต่อไปว่า ฉากแรก รัฐบาลกลับคำสัญญาการทำประชามติ พรรคเพื่อไทยเคยให้สัญญาว่าการประชุม ครม. นัดแรก รัฐบาลจะออกมติ ครม. ให้ทำประชามติจัดตั้ง สสร. ผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เมื่อประชุม ครม. นัดแรก รัฐบาลกลับลำกันตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแทน ไม่ได้มองการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนเหมือนที่โฆษณาไว้

 

ฉากที่สอง รวมญาติสนิทมิตรสหายผ่านกลไกการตั้งคณะกรรมการศึกษาที่มีแต่คนกันเอง ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาและฟังความเห็นที่หลากหลาย เพราะมีข้อมูลที่ต้องศึกษาเพิ่ม เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ศึกษาเรื่องนี้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เหตุใดไม่ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร เพราะจะมีสัดส่วนของแต่ละพรรค สะท้อนถึงความหลากหลาย เพราะถ้าดูองค์ประกอบของคณะกรรมการศึกษา มีตัวแทนพรรคเพื่อไทย 10 คน ซึ่งเท่ากับตัวแทนของพรรคการเมืองอื่นรวมกันทั้งหมด

 

ฉากที่สาม ตลกร้าย รับฟังความเห็นแบบผิดที่ผิดเวลา รัฐบาลเดินสายทั่วประเทศเพื่อรับฟังความเห็นประชาชน นอกจากนี้ภาคประชาชน ConForAll ได้ร่วมกันลงชื่อ 2 แสนคน เสนอคำถามประชามติไปยัง ครม. แต่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ข้อเสนอจนถึงตอนนี้ยังไม่มีการตอบกลับ ทั้งที่ผ่านมา 200 วันแล้ว

 

ฉากที่สี่ เป็นฉากสยองขวัญ เสนอคำถามประชามติแบบยัดไส้เงื่อนไข การแถลงข้อสรุปเดียวให้ ครม. เดินหน้าตามเส้นทางประชามติ 3 ครั้ง โดยทำประชามติครั้งแรก มีหนึ่งคำถาม “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวดหนึ่ง หมวดสอง” ซึ่งเป็นคำถามที่หลายฝ่ายเตือนว่ามีปัญหา

 

ฉากที่ห้า แก้เกมแก้เก้อ สส. พรรคเพื่อไทย ตัดสินใจยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร. เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เหมือนเป็นการย้อนศรกลับมาสู่การทำประชามติสองครั้ง เหตุใดต้องรอหลายเดือนก่อนจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แทนที่จะยื่นตั้งแต่วันที่สภาเปิดทำการหรือวันที่ตั้งรัฐบาลสำเร็จ

 

ฉากที่หก เป็นฉากจบที่ยังไม่มีข้อสรุป เมื่อรัฐบาลหันมาสู่เส้นทางประชามติแต่กลับเจอตอในรูปแบบของประธานรัฐสภาที่ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ระเบียบวาระของรัฐสภา ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นกรรมการผู้ชี้ขาดโดยไม่มีหลักประกันว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเมื่อไร อย่างไร

 

แม้รัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะหาข้อสรุปเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญภายในไตรมาสแรกของปี 2567 แต่ขณะนี้เลยเส้นตายมา 4-5 วัน ชัดเจนแล้วว่าผ่านมา 6-7 เดือน เรื่องรัฐธรรมนูญยังอยู่ที่เดิมเช่นเดียวกับเมื่อครั้งตั้งรัฐบาล สิ่งเดียวที่ไม่เหมือนเดิมคือผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่นายกฯ และคณะรัฐมนตรี แต่อาจเป็นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ซึ่งหากศาลวินิจฉัยอย่างที่ควรจะเป็น ประชามติสองครั้งเพียงพอแล้ว คงจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ พ.ร.ป. ที่เกี่ยวข้องทัน 4 ปี แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะต้องทำประชามติสามครั้ง มีความเสี่ยงที่เราจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

พริษฐ์กล่าวต่อไปถึงหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมองว่าควรถูกขีดเขียนร่วมกัน หากรัฐธรรมนูญคลอดออกมาภายใต้รัฐบาลเศรษฐา รัฐบาลเศรษฐาที่ตั้งได้ ดำรงอยู่ได้ด้วยใบบุญของเครือข่ายเดิม จะไม่มีทางไว้ใจให้ประชาชนมาร่วมออกแบบระบบการเมืองและจัดทำกติกาสูงสุดของประเทศตามที่พวกเขาใฝ่ฝัน รัฐบาลอาจนำไพ่ไม้ตาย 3 ใบมาลดทอนอำนาจประชาชนในการกำหนดเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

  1. ไพ่ใบแรกคือ สสร. สูตรผสม ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดย 77 คนมาจากการเลือกตั้ง และอีก 23 คนถูกแต่งตั้ง

 

  1. ไพ่ใบที่สอง กินรวบ กมธ.ยกร่าง โดยองค์ประกอบของ กมธ.ยกร่าง ฉบับพรรคเพื่อไทย 2567 สส. ที่มาจากการเลือกตั้งลดลงเหลือ 51% และ กมธ.ยกร่าง ที่ไม่เป็น สสร. มาจากการแต่งตั้งเป็น สส. และ สว. รวมทั้งมีการแจกโควตาให้กับคณะรัฐมนตรีและ สส. ฝ่ายรัฐบาล

 

  1. ไพ่ใบสุดท้าย ด่านทางผ่านวุฒิสภา เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว สสร. จะต้องส่งรัฐธรรมนูญมาที่รัฐสภาเพื่อกลั่นกรอง แก้ไข ก่อนส่งไปทำประชามติ ซึ่งเป็นหนึ่งกลไกที่เปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถเข้ามาแทรกแซงได้

 

“ท้ายที่สุดหากไม่ปล่อยให้ประชาชนออกแบบเนื้อหารัฐธรรมนูญ แต่ไปคิดนวัตกรรมที่เข้ามาควบคุมเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แบบนี้เรียกว่าประชาธิปไตยที่ต้องขอใบอนุญาต ต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงเทียบเท่ากับอนาคตของประเทศ” พริษฐ์กล่าว

 

พริษฐ์เสนอมาตรการแก้ไข 4 ข้อ ได้แก่

 

  1. ขอให้รัฐบาลปฏิเสธคำถามยัดไส้ และหันไปใช้คำถามลักษณะเปิดกว้าง เพื่อเพิ่มโอกาสที่ประชามติครั้งแรกจะผ่าน

 

  1. ขอให้รัฐบาลยืนยันว่าจะสนับสนุน สส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่เปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาขี่คอ

 

  1. ขอให้รัฐบาลยืนยันว่าระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

 

  1. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนเร่งพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ตอนนี้มีสองร่างที่เข้าคิวอยู่ในระเบียบวาระการประชุม
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising