×

ก็สะดวกแบบนี้! สรุป 8 ประเด็นโซเชียลร้อน #เดี่ยว13

15.10.2022
  • LOADING...
เดี่ยว 13

เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงในโลกโซเชียลเป็นอย่างมากกับเรื่องราวของ โน้ต-อุดม แต้พาณิช วันสแตนด์อัพคอมเมเดียนระดับธานอสของเมืองไทย เมื่อล่าสุดการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนครั้งที่ 13 ที่ได้เผยแพร่ทางแพลตฟอร์มสตรีมมิง Netflix เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ได้กลายเป็นประเด็นร้อนทางสังคมมาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายวันที่ผ่านมา เนื่องจากบางช่วงบางตอนของ ‘เดี่ยว 13’ ได้มีการพูดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของคณะรัฐบาลและ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จนส่งให้แฮชแท็ก #เดี่ยว13 ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ที่แตกออกเป็น 2 ฝ่าย 

 

เพื่อให้ทุกคนเข้าใจเรื่องราวนี้มากขึ้น THE STANDARD POP ได้สรุป 8 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้

 

เดี่ยว 13

  1. 11 ตุลาคม 2565 หลังจาก เดี่ยว 13 ได้เผยแพร่ทางแพลตฟอร์มสตรีมมิง Netflix ก็เกิดประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในหัวข้อที่ โน้ต อุดม ได้เล่าสะท้อนถึงเรื่องการเมืองในประเทศไทย จนทำให้ผู้ที่มีความคิดเห็นที่ต่างกันในเรื่องนี้ได้ออกมาถกเถียงกันในหัวข้อดังกล่าว โดยมีใจความสำคัญว่า 

 

“ใจถึง พึ่งไม่ค่อยได้ สร้างปัญหาต่อ ก่อปัญหาใหม่ ยืนยันเรื่องความโปร่งใส แต่ไม่ให้ตรวจสอบ พร้อมชนทุกปัญหา ด้วยสติปัญญาที่มี 84,000 คือจำนวนเซลล์สมอง จุดแข็งคือหัว จุดอ่อนคือสิ่งที่อยู่ในนั้น ฉลาดพูด ตอนไม่พูดฉลาดกว่า นายกผู้แก้ปัญหาชาติด้วยการแต่งเพลง ท่านผู้อาสามากู้ชาติ ชาติล่าสุดเพิ่งกู้ญี่ปุ่นไป

 

“สมมติว่าตอนนี้เราขึ้นเครื่องบินลำเดียวกันอยู่ เป็นเครื่องบินที่เรียกว่าประเทศไทย ปกติเครื่องบินเนี่ย เขาขับด้วยกัปตันที่เชี่ยวชาญ แต่ตอนนี้กัปตันทั้งหลายที่ขับเครื่องบินเก่ง ขับเป็น ไม่ได้ขับ ที่ขับอยู่คือพนักงานรักษาความปลอดภัย”

 

  1. จากประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจ และวิพากษ์วิจารณ์ถึงการพูดในกรณีการเมืองของ โน้ต อุดม โดยในกลุ่ม เรารักลุงตู่ กลุ่มคนที่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทางเฟซบุ๊ก มีผู้โพสต์ข้อความระบุถึงการแสดงออกด้วยความไม่พอใจในการแสดงของ โน้ต อุดม พร้อมแฮชแท็ก #เลิกสนับสนุนโน้ตอุดม

 

เดี่ยว 13

 

  1. 12 ตุลาคม 2565 ทางด้านของ โน้ต อุดม มีการแสดงความเคลื่อนไหวหลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์แตกออกเป็น 2 ฝั่ง โดยโพสต์รูปภาพในเพจ เดี่ยว ทางเฟซบุ๊ก พร้อมแฮชแท็ก #กูสะดวกแบบนี้ 

 

 

  1. ต่อมา ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุข้อความถึงกรณีที่ โน้ต อุดม ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของรัฐบาลว่า “โน้ต เดี่ยว-13 ให้ท้ายม็อบก้าวล่วงหรืออย่างไร? พูดเอามัน เอาฮา ไร้เหตุผล และให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อสาธารณชน เดี๋ยวเจอกัน”

 

 

  1. 13 ตุลาคม 2565 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว @wirojlak โดยระบุข้อความว่า 

 

“ผมคิดว่าการที่ #เดี่ยว13 เอาประเด็นการเมืองมาแซวเป็น Parody เป็นเรื่องปกตินะ และคอมเมนต์ที่ชอบ หรือไม่ชอบ ก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน แต่ที่น่าสนใจก็คือ การที่ผู้จัดกล้าทำ Content แบบนี้แสดงว่าคงมีข้อมูลการตลาด ที่ยืนยันว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ และ Trend ของการบริโภค น่าจะไปในทิศทางนี้”

 

 

  1. ต่อมา ศรีสุวรรณ จรรยา ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวอีกครั้ง โดยออกมาโพสต์ข้อความโต้กลับพร้อมรูปภาพของตนเองผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมระบุข้อความพร้อมแฮชแท็กว่า #กูก็สะดวกที่จะร้องเรียนแบบนี้

 

“#กูก็สะดวกที่จะร้องเรียนแบบนี้ จัดการกับคนที่หากินกับการบิดเบือน และบูลลี่คนอื่น”

 

 

  1. 14 ตุลาคม 2565 เพจเฟซบุ๊กของ ทนายความแห่งประเทศไทย ได้ออกมาโพสต์ข้อความที่เขียนขึ้นโดย นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โดยมีใจความว่า โน้ต อุดม เพียงแค่ออกความคิดเห็นเท่านั้น เป็นการถ่ายทอดความรู้สึก และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว หาใช่การแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือการกล่าวหา ใส่ร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด 

 

“รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลสาธารณะที่ต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนได้ ประกอบกับการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ยังสอดคล้องกับความรู้สึกของประชาชนที่เห็นด้วยส่วนใหญ่ ที่เป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจอธิปไตย ตลอดจนเป็นผู้เสียภาษีให้กับรัฐ ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา จึงย่อมมีสิทธิตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์

 

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นว่า รัฐบาลควรปล่อยให้ประชาชนได้มีการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ การทำงานของรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นในรูปแบบใด และสำคัญที่สุด รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจต้องไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่าง อันจะทำให้บ้านเมืองเข้าสู่ความขัดแย้ง และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงแบบไม่จบสิ้น

 

กรณีดังกล่าว น่าจะเป็นประโยชน์และอุทาหรณ์ ให้เห็นว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชน เป็นเรื่องปกติและเป็นสิ่งที่สวยงามในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ซึ่งประชาชนเหล่านั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กฎหมายเดียวกัน มิได้สร้างความขัดแย้งหรือก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคมไทย เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตนั้นเป็นของประชาชนคนไทยทุกคน”

 

 

  1. จากกรณีดังกล่าวทำให้เกิดการโต้เถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างต่อเนื่อง โดยอีกหนึ่งบุคคลในวงการบันเทิงอย่าง เทพ-สุเทพ โพธิ์งาม ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงกรณีที่ โน้ต อุดม เล่าถึงการทำงานของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ผ่านทางไลฟ์ในเพจเฟซบุ๊ก ขนมเปี๊ยะขั้นเทพ โดยมีใจความว่า การศึกษาไม่ได้ช่วยอะไรเลยในเรื่องการพูด และทำไมถึงต้องไปวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบนั้น

 

“พูดอะไรของมันก็ไม่รู้ จะบ้าหรือเปล่า เมื่อก่อนก็รู้จักกับมัน ไม่รู้หรอกว่าเป็นคนแบบนี้ การศึกษาช่วยอะไรไม่ได้จริงๆ พูดอะไรออกมา เหมือนไม่มีความคิดเลยเหรอ มีความรู้ขนาดนั้นแล้ว ไปติ ไปว่าเขา แล้วทำอะไรได้ดีกว่าผู้นำเขาไหม ไปพูดถึงเขาอย่างนั้น 

 

เราทำอะไร เราอย่าไปถึงขนาดนั้น เรากำลังดีๆ อยู่ เดี๋ยวจะเสียไปด้วย เราต้องเอาความจริงมาพูด เราเป็นนักแสดงหรืออะไรก็แล้วแต่ อย่ามามีเล่ห์เหลี่ยมสิ แล้วจะไปหนักข้างหนึ่งข้างไหนก็ไม่ได้ เราเป็นนักแสดง เราต้องเข้าใจตรงนี้ ไม่ใช่เอาใจบางคน และเพื่อผลประโยชน์ ที่กล้าพูดขนาดนี้ ไม่สมควร ความรู้ก็ดี วุฒิก็ดี แต่ตรงนี้คิดได้แค่นี้เหรอ กู ป.4 นะ มึงจบ ม.อะไรก็ไม่รู้ แต่กูว่ามึงพูดผิด มึงคิดผิด มึงทำตรงนี้มึงพลาด กูจะบอกให้ มึงดีอยู่แล้ว มาพูดแบบนี้ไม่ถูก มึงเอาตามเขาหมดเลย มึงต้องเอาจากใจมึงบ้าง มึงไม่เห็นเหรอเขาทำอะไรเยอะแยะซะหมด มึงไม่เห็นเลยเหรอ

 

ผลประโยชน์ของมึงทำให้มึงลืมตัว ทำให้มึงพูดอะไรออกมาที่ไม่สมควรพูด ระดับมึงนะ มึงสูงกว่ากูเยอะ ความรู้เอยอะไรเอย สูงกว่าประชาชนเยอะ แต่การพูดของมึงต่ำกว่ากูอีกเหรอ เขาทำอะไรไว้บ้างมึงก็ต้องพูดให้ชัดเจน ไม่ใช่เอาแต่ฝ่ายเดียว มันไม่ใช่”

 

กรณีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน ด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไปของผู้คนในสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมแห่งประชาธิปไตย การมีความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกันจึงเป็นเรื่องที่สามารถยอมรับ ทำความเข้าใจ และใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองข่าวสารและข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง

 

ข้อมูลจากการถกเถียงกันในแง่มุมของแต่ละบุคคลย่อมมีความแตกต่างกัน ผู้ที่ติดตามข่าวในกรณีดังกล่าวก็ยังคงต้องติดตามบทสรุปของเรื่องนี้กันต่อไปในอนาคต

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising