×

ดีลประวัติศาสตร์ Disney รวบ 21st Century Fox บอกอะไรเรามากกว่าเงิน 52,400 ล้านเหรียญ?

15.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins read
  • Walt Disney (วอลต์ ดิสนีย์) บรรลุข้อตกลงเจราจาซื้อหุ้นบริษัท 21st Century Fox 52,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ทั้งหมดของ Fox กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของดิสนีย์แต่เพียงผู้เดียว
  • ดิสนีย์จะกลายเป็นเจ้าของ 20th Century Fox สตูดิโอผลิตภาพยนตร์ชื่อดัง รวมถึงสตรีมมิงวิดีโอออนดีมานด์ Hulu (ฮูลู) ในสัดส่วน 60%
  • Hulu คืออาวุธเด็ดที่ดิสนีย์ใช้กรุยทางสู่สังเวียนสตรีมมิงวิดีโอออนดีมานด์ และเตรียมจะเปิดตัวแพลตฟอร์มสตรีมมิงวิดีโอออนดีมานด์ของบริษัทอีก 2 ตัวได้แก่ สตรีมมิงวิดีโอกีฬา ESPN (ปีหน้า) และสตรีมมิงวิดีโอออนดีมานด์ของดิสนีย์เองที่เน้นผลิตคอนเทนต์สำหรับครอบครัว (ปี 2019)
  • Fox (เดิม) ยังคงเดินหน้าทำธุรกิจต่อไปด้วยกิจการจำพวกสื่อข่าวและสื่อกีฬา

วินาทีที่ Walt Disney (วอลต์ ดิสนีย์) ประกาศข่าวสำคัญของบริษัทหลังเข้าถือครองหุ้นบริษัท 21st Century Fox แบบ 100% ด้วยการทุ่มเงินจำนวนกว่า 52,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท! เชื่อแน่ว่าบริษัทที่โด่งดังและครองใจผู้คนทั่วโลกจากการผลิตการ์ตูนและแอนิเมชันเจ้าชาย-เจ้าหญิงแห่งนี้ได้มองแผนการในระยะยาวของการดำเนินธุรกิจไว้เบ็ดเสร็จแล้ว

 

เช้าวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม บริษัท The Walt Disney ได้ประกาศข่าวให้สาธารณชนได้รับทราบ กรณีบรรลุข้อตกลงเจราจาซื้อหุ้นบริษัท 21st Century Fox ด้วยเงินจำนวน 52,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ทั้งหมดของ Fox ตกทอดกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของดิสนีย์แต่เพียงผู้เดียวทันที!

 

ด้วยขนาดของงบการลงทุนซื้อบริษัทที่สูงเช่นนี้ จึงทำให้ดีลดังกล่าวขึ้นแท่นกลายเป็นอันดับ 2 ดีลใหญ่สุดวงการสื่อทันที เป็นรองแค่เพียงดีลซื้อขายระหว่าง AOL และ Time Warner เมื่อปี 2000 ที่มีมูลค่าประมาณ 165,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ความจริงเราเชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่รู้สึกช็อกและตะลึงกับการออกมาประกาศครั้งนี้ของดิสนีย์สักเท่าไร เพราะทุกคนคงใจเต้นตั้งแต่วันแรกที่ได้ยินข่าวดิสนีย์เข้าเจรจา Fox อย่างจริงจังเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนแล้ว ซึ่งกระบวนการต่างๆ ก็ดำเนินไปได้ด้วยดี เหลือแค่รอเวลาที่จะประกาศปิดดีลอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรออกมาเท่านั้น

 

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากดีลสั่นสะท้านวงการฮอลลีวูดที่หลายคนน่าจะพอทราบกันดีอยู่แล้วคือการที่เหล่าฮีโร่มนุษย์กลายพันธ์ุ X-Men, สี่พลังคนกายสิทธิ์ Fantastic Four และแอนตี้ฮีโร่เกรียนแตก Deadpool จะได้กลับคืนสู่อ้อมอก Marvel Entertainment ค่ายการ์ตูนฮีโร่ที่ดิสนีย์ซื้อมาเมื่อปี 2009 อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งหนึ่งโดยไม่ต้องรอ 5 ปีที่แสนยาวนาน (หากค่ายหนังเจ้าของสิทธิ์ตัวละครไม่ผลิตผลงานสื่อของฮีโร่ตัวนั้นออกมาภายใน 5 ปี กรรมสิทธิ์การถือครองตัวละครจะกลับคืนสู่ Marvel เหมือนกรณี Daredevil และ The Punisher)

 

แต่นอกจากฮีโร่จะได้กลับสู่บ้านเกิดแล้ว เคสดิสนีย์ฮุบ Fox ยังมีผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมความบันเทิงและวงการสื่ออีกมาก แน่นอนว่าดิสนีย์ออกหมัดครั้งนี้ได้เข้าเป้าและยอดเยี่ยมเช่นเคย ชนิดที่ว่าหลายฝ่ายต้องติดตามผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากดีลครั้งประวัติศาตร์นี้ให้ดี!

 

 

มากกว่า ‘ฮีโร่คืนถิ่น’ คือสิทธิ์การครอบครองแม่เหล็กวงการฮอลลีวูด

สิ่งที่ดิสนีย์จะได้รับพ่วงมาจากการเข้ามาเป็นเจ้าของ 21st Century Fox คือการถือสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของบริษัทลูกในเครือทั้งหมด ได้แก่ 20th Century Fox หนึ่งในสตูดิโอผลิตภาพยนตร์ชื่อดังของฮอลลีวูด ผู้สร้าง Avatar, The Simpson, Ice Age, หนังจักรวาล Planet of the Apes และ X-Men

 

นอกจากนี้ยังได้เป็นเจ้าของ Fox 21, FX Networks, National Geographic, Fox Sports (ต่างประเทศ), Fox Networks Group International, Star India และสตรีมมิงวิดีโอออนดีมานด์ Hulu (ฮูลู) ในอัตราส่วน 30% แต่ไม่นับรวมสื่อผลิตข่าวและสื่อกีฬาของ Fox เช่น Fox News Channel, Fox Business Network, Fox Sport 1, Fox Sport 2 และ Big Ten Network ที่ไม่ได้ถูกซื้อไปและจะแยกไปเปิดบริษัทใหม่กับผู้ถือหุ้นเดิม

 

บ็อบ ไอเกอร์ (Bob Iger) ประธานกรรมการบริหาร The Walt Disney ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์บริษัทว่า การที่ดิสนีย์ได้เข้าครอบครองธุรกิจในเครือ 21st Century Fox ทั้งหมดจะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นกับประสบการณ์ด้านความบันเทิงที่หลากหลาย น่าสนใจมากขึ้น เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกสบายกว่าที่เคย

 

“พวกเรารู้สึกเป็นเกียรติมากๆ ที่ รูเพิร์ต เมอร์ดอช (Rupert Murdoch: ประธานกรรมการบริหารร่วม 21st Century Fox) ไว้วางใจเราให้เป็นเจ้าของอนาคตธุรกิจสื่อที่เขาสละเวลาทั้งชีวิตปลุกปั้นมันขึ้นมา พวกเราตื่นเต้นมากๆ กับโอกาสสุดพิเศษที่จะได้เพิ่มผลงานลงในพอร์ตโฟลิโอผ่านแฟรนไชส์ซึ่งเป็นที่รักยิ่งและคอนเทนต์ดังๆ เพื่อยกระดับการให้บริการโดยตรงสู่ผู้บริโภคของเรา

 

“ดีลนี้ยังช่วยให้ดิสนีย์ขยายขอบเขตการเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วโลก ทำให้เราสามารถนำเสนอการเล่าเรื่องระดับโลกและนวัตกรรมแพลตฟอร์มจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคที่มากขึ้นในตลาดสำคัญๆ ทั่วโลก”

 

ด้านรูเพิร์ตกล่าวเปิดใจหลังขายบริษัทที่ตนสร้างมากับมือให้ดิสนีย์ว่า “พวกเราภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้สร้าง 21st Century Fox ขึ้นมา และผมก็เชื่อมั่นว่าการผนวกเข้าด้วยกันกับดิสนีย์จะเป็นการปลดล็อกมูลค่าการถือหุ้นที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับดิสนีย์โฉมใหม่ที่ยังคงเป็นผู้กำหนดจังหวะของสิ่งที่น่าสนใจและความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมนี้

 

“ยิ่งไปกว่านั้นผมเชื่อว่าการรวมกันในครั้งนี้ภายใต้ความเป็นผู้นำของบ็อบ ไอเกอร์จะทำให้ดิสนีย์กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ดีที่สุดในโลก”

 

มีการเปิดเผยเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ดีลใหญ่นี้ลุล่วงไปด้วยดี บอร์ดบริหารดิสนีย์ก็ตกลงปลงใจที่จะต่อสัญญายืดอายุงานให้กับบ็อบเพิ่มจนถึงปี 2021 เพื่อให้เจ้าตัวยังคงพาบริษัทเติบโตไปในทิศทางที่เหมาะสมและยั่งยืนตามแผนการที่วางเอาไว้

 

 

Fox วิกฤตหรือไม่ ทำไมถึงเทขายบริษัทตัวเองทิ้ง?

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ 21st Century Fox ถูกดิสนีย์ทุ่มเงินซื้อไป นอกจากฝั่งดิสนีย์จะถูกสรรเสริญถึงวีรกรรมบ้าระห่ำในครั้งนี้ ประเด็นที่น่าจับตาไม่แพ้กันก็คือความน่าเชื่อถือในตัว Fox ว่าในฐานะบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ว่ายังคงหลงเหลืออยู่ไหม? พวกเขาจะดำเนินธุรกิจด้วยกิจการเพียงหยิบมือที่เหลืออยู่อย่างไร?

 

ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมเป็นต้นไป สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปชัดเจนที่สุดคือ Business Model ของ Fox (ที่เหลืออยู่) ซึ่งจะหันไปให้ความสำคัญกับการผลิตข่าวและสื่อกีฬาอย่างเข้มข้นและพิถีพิถัน เพราะพวกเขายังเหลือ Fox News Channel, Fox Business Network, Fox Sport 1, Fox Sport 2 และ Big Ten Network อย่างที่เราได้กล่าวไว้ในตอนต้น คล้ายกับว่าพวกเขาก็แค่เบนเข็มไปจับธุรกิจสื่อข่าวและสื่อกีฬาเท่านั้น

 

ที่สำคัญยังมีการเผยเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ผู้ถือหุ้นเดิมของ 21st Century Fox จะได้รับหุ้นดิสนีย์ในสัดส่วน 0.2745 หุ้นตามจำนวนหุ้นแต่ละตัวที่พวกเขาถือในบริษัท 21st Century Fox เดิม ขณะที่ Fox ก็ยังได้รับประโยชน์จากการเข้ามาเทกโอเวอร์ของดิสนีย์ เพราะหนี้สินมหาศาลจำนวน 13,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 445,606 ล้านบาท ที่ฝั่งดิสนีย์จะเป็นผู้ชำระให้เองทั้งหมด (มูลค่าดีลดิสนีย์ฮุบ 21st Century Fox จึงอาจจะไปจบที่มูลค่า 66,100 ล้านเหรียญสหรัฐ)

 

ยังมีกระแสข่าวลืออีกขั้วหนึ่งที่ระบุว่า เมอร์ดอชคนลูก เจมส์ เมอร์ดอช (James Murdoch) ซีอีโอบริษัท 21st Century Fox เตรียมจะเข้ารับตำแหน่งระดับสูงในดิสนีย์ต่อไป และจะมีการหารือเรื่องตำแหน่งของเจ้าตัวในเร็วๆ นี้ ส่วน ลัชลัน เมอร์ดอช (Lachlan Murdoch) พี่ชายของเจมส์จะยังรับตำแหน่งผู้บริหารของ 21st Century Fox โฉมใหม่

 

ซีอีโอจากดิสนีย์บอกว่า “ผมและเจมส์ได้คุยกันหลายครั้งแล้วถึงอนาคตของบริษัทเหล่านี้ (Fox ฝั่งที่ถูกซื้อไป) เขาจะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญช่วยเหลือพวกเราในการประสานบริษัทเหล่านั้นเข้าด้วยกันในหลายๆ เดือนข้างหน้า ซึ่งในระหว่างนั้นพวกเราจะหารือกันว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งใดของดิสนีย์หรือไม่”

 

จริงอยู่ว่าการเฉือนอวัยวะร่างกายส่วนใหญ่ของตัวเองไปปลูกถ่ายให้กับดิสนีย์อาจดูคล้ายกับว่า Fox ล้มเหลวในการทำธุรกิจโดยสิ้นเชิง แต่ในขณะเดียวกันย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าการสละกำลังสำคัญของบริษัทออกไปในครั้งนี้ก็คือการผลักดันให้ Fox โฉมใหม่ยังคงดำเนินกิจการด้านสื่อมวลชนต่อไปได้โดยไม่มีอุปสรรคมาถ่วงรั้ง

 

 

‘Hulu’ เกมเชนจ์เจอร์ที่แท้จริงและแผนการอันแยบยลของดิสนีย์ในศึกสตรีมมิงวิดีโอออนดีมานด์

การที่ดิสนีย์ได้ 21st Century Fox มาครองก็ยังทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ Hulu สตรีมมิงวิดีโอออนดีมานด์ในอัตราส่วน 60% (เดิมถือหุ้นอยู่แล้ว 30% ในนามสถานีโทรทัศน์ ABC Television Group + หุ้นอีก 30% ที่จะได้มาจาก Fox) ร่วมกับ Comcast และ Time Warner อีก 30% และ 10% ตามลำดับ

 

เมื่อกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนขนาดนี้ก็เพียงพอจะส่งผลให้สิทธิ์ขาดและอำนาจในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายบริหารทั้งหมดของบริษัท Hulu ตกไปอยู่ในมือของดิสนีย์ทันที

 

ที่สำคัญ ด้วยเจตนารมณ์ชัดเจนที่มุ่งเป้าจะเป็นผู้ให้บริการสตรีมมิงวิดีโอออนดีมานด์อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2019 หลังถอดผลงานในเครือบริษัททั้งหมดออกจาก Netflix เมื่อเดือนสิงหาคม ก็ทำให้พวกเขายกระดับความจริงจังในการเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้ร่วมกับ Netflix, Amazon Prime และ HBO ขึ้นไปอีกขั้น

 

เว็บไซต์ Hollywood Reporter ได้ยกคำกล่าวของบ็อบ ประธานบริหารดิสนีย์ที่กล่าวถึง Hulu และการจับตลาดสตรีมมิงวิดีโอออนดีมานด์ขึ้นมาชูประเด็นว่าดิสนีย์ได้กระชับวงล้อมการแข่งขันในตลาดนี้ให้เข้มข้นขึ้นไปอีกระดับ และยังเป็นการประกาศอย่างอ้อมๆ ว่า “ข้าเอาจริงแน่”

 

“Hulu เป็นโอกาสที่ยอดเยี่ยมในการขยายขอบเขตการให้บริการโดยตรงสู่ผู้บริโภค การได้เป็นเจ้าของสัดส่วน 1 ใน 3 ของบริษัทถือเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม แต่การได้ควบคุมมันจะช่วยทำให้เราเร่งสปีด Hulu ในตลาดดังกล่าว และยังก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่ทำงานได้รอบด้านมากขึ้นกับผู้เล่นรายอื่นๆ ที่อยู่ในตลาดนี้อยู่แล้ว

 

“พวกเราจะไม่ได้แค่จะทำให้ทิศทางการผลิตคอนเทนต์ Hulu ลื่นไหลมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถควบคุมบริหาร Hulu ได้ชัดเจนขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย”

 

สื่อหลายสำนักฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่า ดิสนีย์มีแพลนจะเปิดตัวบริการสตรีมมิงวิดีโอออนดีมานด์ออกมาอีก 2 แบรนด์ ได้แก่ สตรีมมิงวิดีโอกีฬาในเครือ ESPN (ปีหน้า) และบริการสตรีมมิงวิดีโอออนดีมานด์ของดิสนีย์เองที่จะมุ่งเน้นผลิตคอนเทนต์สำหรับครอบครัว (ปี 2019) ขณะที่ต่อจากนี้ Hulu จะถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตคอนเทนต์ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่มากขึ้น

 

หากดิสนีย์ทำได้ตามแผนการที่วางไว้ และนับรวมถึงความโหดในการถอดคอนเทนต์ของตัวเองออกจาก Netflix ทั้งหมดเพื่อเตรียมออกฉายเฉพาะช่องทางตัวเองเท่านั้น ลองจินตนาการถึงการที่ดิสนีย์สั่งให้ผู้ให้บริการสตรีมมิงวิดีโอออนดีมานด์เจ้าอื่นๆ ถอดคอนเทนต์ของ Fox อย่างภาพยนตร์และการ์ตูนยอดฮิตออกทั้งหมดดูสิว่าพวกเขาจะเรืองอำนาจและผูกขาดในตลาดนี้มากแค่ไหน

 

การเข้ามาฮุบ Fox ของดิสนีย์จึงไม่ใช่แค่การได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ผลงานภาพยนตร์และทีวีซีรีส์ในเครือ Fox ทั้งหมด แต่ยังเป็นการพลิกกระดานครั้งสำคัญศึกสตรีมมิงวิดีโอออนดีมานด์ สะท้อนให้เห็นภาพความเป็นอภิมหาอำนาจที่แท้จริงของพวกเขาในวงการสื่อระดับโลก

 

สถานการณ์นับตั้งแต่ที่ดิสนีย์ไล่เจรจาซื้อ Marvel, Lucasfilm และ 21st Century Fox มาอยู่ในมือก็คงไม่ต่างจากการเตรียมหมากเด็ดไว้รอวันรุกฆาตคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาดให้ราบเป็นหน้ากลอง!

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising