×

ดีอีเปิดตัวร่างหลักการจริยธรรมพัฒนา AI 6 ข้อ ป้องกันพัฒนาผิดทาง แย่งงานมนุษย์

21.10.2019
  • LOADING...
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ร่วมกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมหิดล และไมโครซอฟท์ ประกาศเปิดตัวร่างหลักการด้านจริยธรรมในการพัฒนา AI หรือ ‘Digital Thailand-AI Ethics Guideline’ รวม 6 ข้อเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นแนวทางต่อยอดวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้เป็นประโยชน์ ปลอดภัย น่าเชื่อถือ ไม่เป็นอคติ และสามารถอยู่ร่วมกับคนไทยได้อย่างลงตัว

 

สำหรับร่างแนวทางการพัฒนา AI ที่ทาง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยประกอบด้วย 6 ข้อดังนี้

 

1. ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องได้รับการส่งเสริมตามการใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างการแข่งขันและพัฒนานวัตกรรม พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 

 

2. ความสอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรม และมาตรฐานสากลกำหนดให้มีแนวทางการปฏิบัติในการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ให้มีความสอดคล้องกับกฎหมาย จริยธรรม และมาตรฐานสากล โดยเคารพต่อความเป็นส่วนตัว เกียรติ สิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน 

 

3. ความโปร่งใสและภาระความรับผิดชอบ ควรมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งจะต้องมีภาระความรับผิดชอบ ต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นตามภาระหน้าที่ของตนได้ 

 

4. ความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ควรได้รับการออกแบบให้มีความมั่นคงปลอดภัย เพื่อป้องกันการโจมตีจากภัยคุกคาม เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและระบบ รวมถึงการคุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคล ตามหลักจริยธรรม 

 

5. ความเท่าเทียม หลากหลาย ครอบคลุม และเป็นธรรม ควรมีการออกแบบและพัฒนาโดยคำนึงถึง ความเท่าเทียม หลากหลาย ครอบคลุม และความเป็นธรรม หลีกเลี่ยงการผูกขาด ลดการแบ่งแยกและเอนเอียง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนจำนวนมาก

 

6. ความน่าเชื่อถือ ควรได้รับการสนับสนุนให้มีความน่าเชื่อถือและความมั่นใจในการใช้งานต่อสาธารณะ โดยมีผลลัพธ์อย่างถูกต้องแม่นยำ พร้อมการดำเนินการควบคุมคุณภาพและความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลได้

 

ด้าน วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่าทางกระทรวงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบที่คำนึงถึงบริบททางสังคมและจริยธรรม 

 

ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปูรากฐานเชิงนโยบายและแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เป็นไปในรูปแบบที่คำนึงถึงบริบททางสังคมและจริยธรรม โดยเฉพาะการรักษาโอกาส ‘เติบโตและพัฒนาของแรงงานคนไทย’ และการพัฒนา AI ซึ่งอาจจะเกิดอคติและเป็นภัยต่อมนุษย์จึงได้มอบหมายให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดลร่างเอกสารฉบับนี้ขึ้นมา

 

ด้าน ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าเอกสารฉบับนี้จะเน้นให้ข้อมูลด้านข้อแนะนำและแนวทางปฏิบัติเบื้องต้น ทั้งหน่วยงานรัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ผู้วิจัย ผู้ออกแบบ ผู้พัฒนา ผู้ให้บริการ และผู้ใช้งาน ทั้งยังครอบคลุมถึงมุมมอง ตัวอย่าง แนวทางปฏิบัติขั้นต้น และข้อแนะนำมากมายที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนในต่างประเทศ 

 

ประเทศไทยยังถือเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทางไมโครซอฟท์ ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะที่ปรึกษาด้าน AI ร่วมแบ่งปันความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการปรับใช้ปัญญาประดิษฐ์กับสังคมมนุษย์ จากประสบการณ์และมุมมองเชิงนโยบายในฐานะบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดภายใต้ความร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วนในประเทศไทย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X