×

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติส่งหนังสือแนวทางฉีดวัคซีนสลับชนิดถึงผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ กลุ่มเสี่ยงจังหวัดสีแดงเข้มรับ AstraZeneca 2 เข็ม

โดย THE STANDARD TEAM
27.07.2021
  • LOADING...
โอภาส การย์กวินพงศ์

วันนี้ (27 กรกฎาคม) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ 0410.7/ว 822 เรื่อง แจ้งแนวทางการฉีดวัคซีนโควิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยมีรายละเอียดระบุว่า

 

ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดในปัจจุบันที่ยังคงระบาดต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยมีโอกาสสัมผัสเชื้อไวรัสโควิดเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องสูญเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ที่เมื่อป่วยด้วยโรคโควิดจะมีความรุนแรงของโรค และมีโอกาสเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตเพิ่มขึ้น มีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าคนปกติ เพื่อบริบาลระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนโควิดทุกชนิดที่มีให้บริการในประเทศไทยขณะนี้ 

 

ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 มีมติให้ฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นในบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเป็นเข็มที่ 3 และการให้วัคซีนโควิดแบบสลับชนิด ประกอบกับในการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ) ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 มีมติเห็นชอบให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติมที่ควรได้รับวัคซีนโควิดเพิ่มเติม และจากการประชุมกระทรวงสาธารณสุขของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 273 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 และข้อสั่งการ ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ให้จัดระบบการฉีดวัคซีนสลับชนิดในประชากรกลุ่มเสี่ยงทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป โดยฉีดวัคซีน Sinovac เป็นเข็มที่ 1 และวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 2 กรณีจังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้พิจารณาฉีดวัคซีน AstraZeneca ครบทั้ง 2 เข็ม

 

กรมควบคุมโรค ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงขอสรุปสาระสำคัญจากมติการประชุม และข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการฉีดวัคซีนโควิดแก่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ดังนี้

 

  1. วัคซีนที่จัดสรรในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ขอให้เร่งรัดในกลุ่มเป้าหมายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย

 

  • ประเภทที่ 1 กลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

 

  • ประเภทที่ 2 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด โดยได้รับวัคซีน Sinovac ไปแล้ว 2 เข็ม อย่างน้อย 4 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

 

  • ประเภทที่ 3 กลุ่มเป้าหมายที่ฉีดวัคชีน Sinovac เข็มที่ 1 และครบกำหนดนัดรับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2

 

  1. การจัดบริการฉีดวัคซีนโควิดสำหรับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ให้ฉีดวัคซีนเมื่อมีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ณ คลินิกรับฝากครรภ์ของสถานพยาบาล (ANC) หรือจุดให้บริการวัคซีนปกติ (หากมีความจำเป็น) ซึ่งสามารถรับวัคซีนโควิดทุกชนิดที่มีให้บริการในประเทศไทยขณะนี้

 

  1. การให้วัคซีนโควิดสลับชนิดในพื้นที่ ขอให้ถือแนวทาง ดังนี้

 

3.1 สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 10/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564) 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส แบ่งเป็น

 

  • 3.1.1 กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ให้รับวัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม โดยฉีดห่างกัน 12 สัปดาห์ ทั้งนี้ สามารถฉีดวัคซีนด้วยชนิดหรือวิธีอื่นใดตามดุลยพินิจของแพทย์ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนและปริมาณที่มี

 

  • 3.1.2 กลุ่มเป้าหมายอื่น อาจให้รับวัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม หรือให้รับวัคซีน Sinovac เป็นเข็มที่ 1 และวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 2 ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนและปริมาณที่มี

 

3.2 สำหรับจังหวัดอื่นนอกเหนือจากข้อ 3.1 ให้ทุกกลุ่มเป้าหมายรับวัคซีน Sinovac เป็นเข็มที่ 1 และวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 2 โดยให้ฉีดห่างกัน 3-4 สัปดาห์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X