วานนี้ (11 กันยายน) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวแผนการจัดหาวัคซีนโควิดว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็น 758,503 โดส ทำให้ยอดฉีดสะสมอยู่ที่ 39,631,862 โดส โดยคนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มอยู่ที่ 26,954,546 คน คนที่ฉีดครบ 2 เข็มมีจำนวน 12,063,643 คน คาดว่าภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้จะฉีดได้ทั้งหมด 45 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปจะมีวัคซีนมากขึ้น และกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมจัดสรรวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนมากที่สุด เพื่อลดอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต
นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับแผนการจัดหาวัคซีนโควิด ในเดือนตุลาคม 2564 ประเทศไทยจะมีวัคซีน Sinovac 6 ล้านโดส AstraZeneca 10 ล้านโดส Pfizer 8 ล้านโดส ดังนั้นแผนในการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 24 ล้านโดส นอกจากนี้ยังมี Sinopharm ที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้ามาอีกประมาณ 6 ล้านโดส โดยภาพรวมกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนในเดือนตุลาคม แบ่งเป็น
- ประชาชนทั่วไปอายุ 18 ปีขึ้นไป 16.8 ล้านโดส
- นักเรียนอายุ 12-17 ปีทั่วประเทศ 4.8 ล้านโดส ฉีด Pfizer 2 เข็ม ส่วนจะฉีดกลุ่มไหนชั้นไหนก่อนจะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการ
- แรงงานในระบบประกันสังคม 0.8 ล้านโดส
- หน่วยงานอื่น เช่น องค์กรรัฐ ราชทัณฑ์ 1.1 ล้านโดส และ
- เข็มสามสำหรับคนฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็ม 0.5 ล้านโดส ซึ่งปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์
ทั้งนี้ แผนการฉีดวัคซีนโควิดที่ ศบค. เห็นชอบในเดือนตุลาคม เป้าหมายจะฉีดครอบคลุมประชากรทั้งหมดอย่างน้อยร้อยละ 50 ของทุกจังหวัด โดยพยายามให้อย่างน้อย 1 จังหวัดมีความครอบคลุมร้อยละ 70 และให้มีแผนดำเนินการ COVID Free Area อย่างน้อย 1 พื้นที่ ซึ่งมีความครอบคลุมร้อยละ 80 อีกทั้งยังเน้นครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงมีครรภ์ให้มากที่สุด รวมไปถึงประชากรกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ตามคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจัดสรร
“เดือนตุลาคมเป็นเดือนที่ประชาชนจะมาฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ค่อนข้างมาก จึงต้องให้ได้รับครอบคลุมมากที่สุด รวมทั้งกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป จะมีการจัดสรรในเดือนตุลาคมเช่นกัน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ส่วนคนฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็ม จากข้อมูลพบว่าเมื่อเวลาผ่านไป วัคซีนที่ฉีดไปแล้วนั้นภูมิคุ้มกันจะลดลง และเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อได้ ดังนั้นคนที่ฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม ต้องได้รับการกระตุ้นเข็ม 3 ในเดือนตุลาคมนี้ เบื้องต้นเริ่มในกลุ่มที่ฉีดครบโดสในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2564 และจะมีการจัดสรรวัคซีนไปยังพื้นที่เศรษฐกิจและควบคุมการระบาดต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เราเชื่อว่าสถานการณ์การระบาดจะค่อยๆ ลดลง สิ่งสำคัญจึงต้องขอความร่วมมือในการป้องกันโรคส่วนบุคคลแบบครอบจักรวาล หรือ Universal Prevention รวมถึงการรับวัคซีน” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการฉีดวัคซีน 4 ชนิด คือ Sinovac, AstraZeneca, Sinopharm และ Pfizer โดยปริมาณการฉีดที่มากที่สุด คือ AstraZeneca รองลงมาคือ Sinovac, Sinopharm และ Pfizer
ด้านอาการไม่พึงประสงค์ ส่วนใหญ่คล้ายกัน มีไข้ ปวดศีรษะ เวียนหัว ถือว่าไม่รุนแรง พัก 1-2 วันทานยาลดไข้ก็จะดีขึ้น สำหรับอาการแพ้วัคซีน Sinovac หรือที่เรียกว่า Anaphylaxis พบ 24 ราย คิดเป็น 0.16 ต่อแสนโดส ซึ่งทั้งหมดอาการไม่รุนแรงมาก และได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ
ส่วนอาการแพ้วัคซีน AstraZeneca พบ 6 ราย หรือ 0.04 ต่อแสนโดส ทั้งหมดหายเป็นปกติ อีกอาการคือภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ หลังได้รับวัคซีน 5 ราย หรือ 0.03 ต่อแสนโดส ผลข้างเคียงจากวัคซีนหลักของไทยค่อนข้างน้อย มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง
ส่วน Sinopharm พบ 4.46 ต่อแสนโดส แต่ต้องติดตามรายละเอียดเนื่องจากยังฉีดไม่มากพอ
ส่วนที่ผู้ปกครองกังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีน Pfizer นั้น สำหรับไทยพบ 1 ราย หลังจากฉีดไปประมาณ 1 ล้านโดส คิดเป็น 0.11 ต่อแสนโดส ขณะนี้หายเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม อาการไม่พึงประสงค์ทางกระทรวงสาธารณสุขมีการติดตามต่อเนื่อง
“กรณีเสียชีวิตจากวัคซีนนั้น จากข้อมูลผู้เสียชีวิตภายหลังได้รับวัคซีน คณะผู้เชี่ยวชาญได้รับพิจารณาแล้ว 416 ราย พบว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน 249 ราย เช่น ติดเชื้อระบบประสาทและสมอง เลือดออกในสมอง เส้นเลือดสมองอุดตัน ปอดอักเสบรุนแรง ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น ส่วนอีก 32 รายไม่สามารถสรุปได้ ส่วนที่สรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนมี 1 ราย จากการฉีดไปเกือบ 40 ล้านโดส ที่พบว่ามีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ จึงเห็นได้ว่ามีส่วนน้อยที่พบกับอาการไม่พึงประสงค์ หากเทียบกับประโยชน์และความปลอดภัยของวัคซีน” นพ.โอภาสกล่าว