กรมควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์โรคตาแดงของสำนักระบาดวิทยา พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 19 สิงหาคม 2561 พบผู้ป่วยโรคตาแดงแล้ว 59,751 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือช่วงอายุ 45-54 ปี โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จะใช้การรักษาตามอาการหรือหยอดตาเพื่อลดอาการระคายเคือง เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มป่วยอาจมีการลุกลาม หากรู้สึกมีอาการเคืองตาหรือมีขี้ตามากกว่าปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือโรคตาแดง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อ ภูมิแพ้ ถูกสารเคมี โดยชนิดที่พบได้บ่อยและติดต่อกันได้ง่ายมากคือโรคเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อไวรัส อะดีโนไวรัส รองลงมาคือเฮอร์ปีส์ไวรัส เอนเทอโรไวรัส และคอกแซกกี ติดต่อทางน้ำตา ผ่านทางการสัมผัสโดยตรงจากมือหรือเครื่องใช้และไปสัมผัสตาของอีกคน ไม่ติดต่อทางการมอง ทางอากาศ หรือรับประทานอาหารร่วมกัน
ทั้งนี้ประชาชนสามารถป้องกันโรคตาแดงด้วยการหมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดก่อนเอามือสัมผัสหรือขยี้ตา ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับคนที่เป็นตาแดง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัสผู้ป่วย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ไม่ใช้มือแคะ แกะ เกาหน้าตา ถ้ามีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที อย่าปล่อยให้แมลงหวี่หรือแมลงวันตอมตา นอกจากนี้ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดหน้าให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ใช้สิ่งของเหล่านี้ร่วมกับผู้อื่น รวมถึงหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในช่วงที่มีโรคตาแดงระบาด สำหรับผู้ป่วยโรคตาแดง สิ่งสำคัญที่สุดคือควรพบแพทย์ หยุดเรียน หรือหยุดงานรักษาตัวอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 3 วันเพื่อไม่ให้โรคตาแดงลุกลามหรือติดต่อสู่คนอื่น หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์