×

ความเศร้าของ เลสลี่ จาง ในภาพยนตร์ ‘Days of Being Wild’ เรื่องของนกไร้ขา ที่ต้องการกลับคืนสู่รัง

21.11.2019
  • LOADING...
Days of Being Wild

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ความเชื่อในความรักของยกไจ๋บางเบาเหมือนควันบุหรี่ที่ลอยอบอวลในภาพยนตร์ มองเห็น แต่ไม่อาจคว้าเอาไว้ได้ ความเชื่อในตัวตนของเขาชัดเจนในคำพูดที่เอ่ย ผมเคยได้ยินเรื่องนกไร้ขา มันได้แต่บินและบิน เหนื่อยก็นอนในสายลม ชีวิตจะลงดินเพียงครั้งเดียวคือ วันตายของมัน” 
  • ยกไจ๋คิดแบบนี้จริงๆ หรือเขาเพียงซุกซ่อนความเจ็บปวดเอาไว้ในใจในส่วนที่ลึกที่สุด?

ยกไจ๋ เพลย์บอยทรงเสน่ห์ที่ไม่เคยคบหาใครจริงจัง ตัวละครนำในภาพยนตร์ Days of Being Wild ผลงานของผู้กำกับ หว่องกาไว เป็นคาแรกเตอร์ที่มีส่วนผสมมาจากตัวตนจริงของ เลสลี่ จาง เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ภาพยนตร์ของหว่องกาไวไม่มีบท การอิมโพรไวซ์ของนักแสดงจึงเป็นสิ่งสำคัญ และถ้าหากจะทำความรู้จัก เลสลี่ จาง ให้ลึกซึ้ง เข้าใจถึงความเหงา ความเศร้าอันเยียบเย็น ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่ให้คำตอบได้ดี

 

Days of Being Wild เข้าฉายในปี 1990 เรื่องราวย้อนกลับไปในปี 1960-1961 ว่าด้วยช่วงชีวิตของ ยกไจ๋ (เลสลี่ จาง) ชายหนุ่มเจ้าเสน่ห์ที่หญิงสาวพร้อมจะตกหลุมรักและต้องหัวใจแตกสลาย เพราะเขาไม่เคยคิดจะจริงจังหรือแต่งงานกับใคร ยกไจ๋ไม่ได้ทำงาน มีรถ มีเงินใช้อยู่สบายด้วยเงินทองจากแม่เลี้ยงที่เป็นโสเภณีชั้นสูง ส่วน ไหล่เจิน (จางม่านอวี้) สาวขายน้ำ และ มีมี่ (หลิวเจียหลิง) สาวนักเต้นคาบาเรต์ ผู้หญิงสองคนที่เขาคบหาในช่วงนั้นต่างหลงรักเขาจนไม่อาจถอนตัว แต่ยกไจ๋ก็ปฏิเสธได้อย่างเย็นชา ราวกับว่าช่วงเวลาที่เคยมีต่อกันไม่มีค่าอะไรเลย 

 

ความเชื่อในความรักของเขาบางเบาเหมือนควันบุหรี่ที่ลอยอบอวลในภาพยนตร์ มองเห็น แต่ไม่อาจคว้าเอาไว้ได้ ความเชื่อในตัวตนของเขาชัดเจนในคำพูดที่เอ่ย ผมเคยได้ยินเรื่องนกไร้ขา มันได้แต่บินและบิน เหนื่อยก็นอนในสายลม ชีวิตจะลงดินเพียงครั้งเดียวคือ วันตายของมัน” 

 

ยกไจ๋คิดแบบนี้จริงๆ หรือเขาเพียงซุกซ่อนความเจ็บปวดเอาไว้ในใจในส่วนที่ลึกที่สุด?

 

Days of Being Wild

 

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์*

 

ประเด็นเรื่องการทิ้ง การถูกทิ้ง การไม่ยอมให้จากไป ย้ำๆ ซ้ำๆ อยู่ในภาพยนตร์หลายช่วง หลายตัวละคร โดยมียกไจ๋เป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นแม่ที่ทิ้งเขาไป, แม่เลี้ยงที่พยายามจะไปจาก แต่กลับผลักไสเขาไปไม่ได้, มีมี่ที่ทรมานจากการถูกปฏิเสธ ทั้งที่เธอยอมทำให้เขาได้ทุกอย่างจนไม่เหลือศักดิ์ศรี และไหล่เจินที่ต้องใช้เวลากว่าจะเยียวยาตัวเองจากความจำและความรักที่ยังติดค้าง 

 

“ผมไม่รู้จริงๆ ว่าผู้หญิงมีกี่คน ผมไม่รู้ว่าผมจะรักใครจนกว่าผมจะตาย”

 

มองภายนอกอาจเป็นการไม่แยแสผู้หญิงและความรักในอิสระของผู้ชายคนหนึ่ง แต่ปมลึกๆ ในใจเกิดจากบาดแผลที่ถูกทอดทิ้งมาตั้งแต่เกิด โดยเฉพาะจากแม่ ผู้หญิงคนที่ควรรักเขาที่สุด บาดแผลนี้สะท้อนผ่านการใช้ความรุนแรง และตัดตัวเองออกจากความเจ็บปวดที่เขาจะต้องเจอ ด้วยการบอกเลิกผู้หญิงที่ผ่านเข้ามาคล้ายไม่มีค่าให้จดจำ และสุดท้ายก็นำไปสู่จุดจบ เมื่อเขาตัดสินใจเดินทางไปฟิลิปปินส์ เพื่อแก้ไขปมในจิตใจ แต่กลับไม่ได้รับการแยแสจากต้นตอปัญหา แม้เพียงสักเล็กน้อย 

 

นาฬิกาที่พัวพันกับเรื่องราวอยู่ตลอดก็หายไปในตอนนี้ จากการที่ยกไจ๋ถามเวลาตำรวจที่กลายมาเป็นกะลาสีเรือ พร้อมบอกว่า “นาฬิกาผมหายไปแล้ว” ความเจ้าเสน่ห์สนใจหน้าตาทรงผมที่เป็นมาตลอดก็หายไป พร้อมกับการปล่อยปละละเลยตัวเอง คล้ายเขายินยอมพร้อมใจไปสู่ปลายทางในแบบนี้ เมื่อบาดแผลในใจไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งยังถูกทำซ้ำจนบอบช้ำเกินเยียวยา

 

Days of Being Wild

Days of Being Wild

 

“วันที่ 16 เมษา 1960 หนึ่งนาทีก่อนบ่ายสาม คุณอยู่กับผม เพราะคุณ…ผมจะจำนาทีนั้นไว้ จากนี้ไปเราเป็นเพื่อนกันแล้วหนึ่งนาที ความจริงข้อนี้คุณปฏิเสธไม่ได้หรอก มันเกิดขึ้นแล้ว”

 

ประโยคจำของภาพยนตร์เรื่องนี้ ย้อนกลับมาอีกครั้งในตอนท้ายของเรื่องราว พร้อมกับประโยคที่หลุดจากปากของยกไจ๋ว่า “เขาจดจำเฉพาะเรื่องที่น่าจดจำ” แปลว่า ขณะที่ทุกสิ่งกำลังล่มสลาย ก็ยังมีบางสิ่งที่มีคุณค่าต่อการจดจำ แม้ว่าเขาจะเลือกทอดทิ้งมันไปแล้วก็ตาม คำพูดที่เขาฝากไว้ในช่วงท้ายเป็นการเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้เราได้มองเห็นความบอบบางของยกไจ๋ ที่ปิดเปลือกไว้ด้วยภาพหนุ่มเพลย์บอยที่ไม่เคยรักใคร และจริงๆ ในตอนนั้นอาจเป็นครั้งแรกที่เขารู้สึกถึงคำว่า ‘รัก’

 

Days of Being Wild

 

กลับคืนสู่รัง

วันที่ 1 เมษายน 2003 เลสลี่ จาง ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในวัย 46 ปี ด้วยการกระโดดลงมาจากชั้นที่ 24 ของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนทัล ประเทศฮ่องกง จดหมายบอกลาของเขาขอบคุณคนรัก เพื่อนๆ และแพทย์ที่ทำการรักษา “ปีนี้สาหัสมากๆ ผมทนไม่ไหวแล้ว… ในชีวิตนี้ผมไม่ได้ทำอะไรเลวร้าย ทำไมมันถึงกลายเป็นแบบนี้ได้”

 

ดัฟฟี ตง คนรักที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่วัยเด็ก เปิดเผยหลังการเสียชีวิตของ เลสลี่ จาง ว่า เขาทุกข์ทรมานจากอาการซึมเศร้า และเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาหลายปี ก่อนหน้านั้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2002 เขาเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว ส่วน โอฟีเลีย พี่สาวของ เลสลี่ จาง ได้ให้สัมภาษณ์ในปี 2012 ว่าน้องชายของเขาจะนัดแพทย์มาที่บ้านของเธอ เพื่อไม่ให้นักข่าวที่คอยเฝ้าอยู่หน้าบ้านรู้ว่าป่วย ครั้งหนึ่งเขาเคยถามเธอว่า “ทำไมผมต้องเป็นโรคซึมเศร้าด้วย ทั้งๆ ที่ผมมีเงินและมีคนมากมายที่รักผม”

 

เลสลี่ จาง เกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน ปี 1956 ในครอบครัวที่พ่อเป็นนักตัดสูท ซึ่งได้รับการยอมรับระดับสากล แม่ทำงานเป็นผู้ช่วยพ่อ เขาเป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 10 คน เติบโตมาในอพาร์ตเมนต์ย่านหว่านไจ๋กับย่า พี่น้อง และคนรับใช้อีก 2 คน ส่วนพ่อแม่กินนอนอยู่ในร้านย่านเซ็นทรัล โดยไม่ค่อยมีเวลาดูแลลูกๆ 

 

“สิ่งที่ส่งผลที่สุดในวัยเด็กคือ พ่อแม่ไม่เคยอยู่กับผมเลย ผมค่อนข้างเศร้าและโดดเดี่ยว… พี่น้องที่โตแล้วก็อายุห่างจากผมมาก พวกเขาสนิทกันเป็นคู่ๆ แล้วพี่ชายคนที่ 9 เสียชีวิตไป ผมเลยค่อนข้างเงียบ อยู่คนเดียวในห้อง ไม่เคยบ่นหรือเรียกร้องความเห็นใจ ผมมีชีวิตวัยเด็กแบบนั้น ไม่มีอะไรควรค่าแก่การจดจำ หวังว่าพ่อจะสนใจผมบ้าง แม้กระทั่งจะโกรธผมก็ยังดี”

 

ตอนอายุ 12 เขาถูกส่งไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลีดส์ในด้านเทกซ์ไทล์ ระหว่างการเรียน พ่อของเขาล้มป่วย ทำให้ เลสลี่ จาง ต้องกลับมาฮ่องกง และเริ่มเข้าสู่แวดวงบันเทิงในปี 1977 จากการเป็นนักร้องป๊อปสตาร์ที่โด่งดังของฮ่องกงในยุค 80 เขามีความสัมพันธ์กับนักแสดงหญิงหลายคน ก่อนที่จะวางมือด้านดนตรีและไปใช้ชีวิตที่ประเทศแคนาดา จากนั้นเขากลับมาฮ่องกงอีกครั้ง และมุ่งมั่นในงานด้านการแสดง จนได้รับรางวัลการแสดงแรกจากเวที Hong Kong Film Awards ในปี 1991 จากภาพยนตร์ Days of Being Wild 

 

แม้จะจากโลกนี้ไป 16 ปีแล้ว แต่ เลสลี่ จาง ยังคงเป็นที่รักของแฟนภาพยนตร์และดนตรี ผลงานของเขายังคงโลดแล่นข้ามกาลเวลาต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด 

 

https://www.youtube.com/watch?v=2VLWIx9TwiM

 

Days of Being Wild

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

FYI
  • Days of Being Wild เป็นพาร์ตแรกของภาพยนตร์ไตรภาค จากนั้น หว่องกาไว ได้สร้าง In the Mood for Love (2000) และ 2046 (2004) โดยทั้ง 3 เรื่อง มีความเชื่อมโยงกัน
  • เมื่อเข้าฉายในเดือนธันวาคม ปี 1990 ภาพยนตร์ทำรายได้ 9.7 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ได้รับรางวัลสำคัญจาก Hong Kong Film Awards รวมถึงความสนใจจากต่างประเทศ
  • House สามย่าน ร่วมกับ AIS Play เปิดโปรแกรมภาพยนตร์ House Classics ด้วยการนำภาพยนตร์คลาสสิกกลับมาฉายบนจอใหญ่อีกครั้ง โดย Days of Being Wild เป็นโปรแกรมสำคัญในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยเป็นการฉายด้วยฉบับบูรณะที่ให้ภาพคมชัดและเสียงชัดเจนขึ้นจากต้นฉบับ เช็กรอบฉายได้ที่ www.housesamyan.com
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X