×

Day After the Perfect Storm (1): ธุรกิจปี 2018 คิดใหม่ไม่พอ ต้องทำใหม่ด้วย

05.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • Deloitte บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกคาดการณ์ว่า บทบาทของโลกดิจิทัลจะหลอมรวมกับชีวิตประจำวันมากขึ้น ขณะที่หัวหน้าภาควิชาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะปรับมุมมองเป็น ‘Lifeline’
  • ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ในปี 2018 ธุรกิจค้าปลีกบางแห่งจะเริ่มรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินดิจิทัลอย่างแน่นอน
  • Big Data ไม่เพียงพอแล้ว ต้องใช้ Smart Data และปัญหาเรื่อง Data ไม่ใช่ตัวข้อมูลแต่เป็นเรื่องคน

ปี 2016-2017 ประเทศไทยเผชิญหน้ากับการสูญเสียครั้งใหญ่ที่ส่งผลต่อชีวิตและจิตใจ บวกกับการมาถึงของ ‘Perfect Storm’ หรือพายุดิจิทัลลูกใหญ่ที่มาพร้อมคลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลงอันรุนแรงและรวดเร็ว ได้พัดถล่มธุรกิจมากมายจนล้มหายไม่เหลือซาก

 

ปี 2018 Perfect Storm ยังคงอยู่ ทุกชีวิตและธุรกิจยังต้องเดินหน้าพบกับความท้าทายใหม่และต้องปรับตัวตาม ก่อนที่จะถูกพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงกลืนกิน

 

อีกไม่นานต่อจากนี้ คำว่าออนไลน์หรือออฟไลน์จะกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ขณะที่ฐานข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ถูกจัดการอย่างชาญฉลาดคือสินทรัพย์แห่งอนาคต ที่จะสร้างฉากหน้าใหม่ของการแข่งขัน

 

แนวโน้มธุรกิจของปี 2018 จะเป็นอย่างไร?

 

สำนักข่าว THE STANDARD มองอนาคตผ่านวิสัยทัศน์ของผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อตรงกันว่า ไม่มีใครหยุดพลังของดิจิทัลได้อีกต่อไป

 

ปี 2018: เลิกแบ่งออนไลน์-ออฟไลน์ เพราะทุกอย่างคือ Lifeline

Deloitte บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกคาดการณ์ว่า บทบาทของโลกดิจิทัลจะหลอมรวมกับชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีผสานความจริงเสมือนหรือ AR (Augmented Reality) ที่เชื่อว่าอย่างน้อยผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนนับพันล้านคนจะมีประสบการณ์ใช้ AR ในปี 2018 โดยหลายสิบล้านคนจะใช้เทคโนโลยีนี้เป็นประจำทุกสัปดาห์

 

ขณะที่การนำเสนอข้อมูลรูปแบบของการถ่ายทอดสด (Live Event) จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นอีก โดยตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือประเทศจีน ซึ่งเชื่อว่ามูลค่าของ Live Streaming จะสูงถึง 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2018 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 86%

 

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีกระแสความกังวลเรื่องการใช้เวลากับโลกออนไลน์มากเกินไป โดยเชื่อว่าคน Gen Y ทั่วโลกถึง 65% จะเริ่มลดปริมาณการใช้สมาร์ทโฟนลง แต่เมื่อมองในภาพรวมระยะยาวเชื่อว่าสมาร์ทโฟนจะยังมีโอกาสเติบโตต่อไป โดยในปี 2023 คาดว่าจะมียอดขายโทรศัพท์ทั่วโลกถึงเกือบ 2,000 ล้านเครื่อง หรือเฉลี่ยวันละ 5 ล้านเครื่องเลยทีเดียว

 

สำหรับประเทศไทย พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ยังเร่งผลักดันเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ระบบการชำระเงิน และการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ภาคธุรกิจจึงต้องปรับแนวทางให้สอดคล้องกับทั้งตลาดและทิศทางของประเทศ

 

ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า โลกออนไลน์ อุปกรณ์ และการใช้ชีวิตของผู้คนปัจจุบันถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเราใช้โทรศัพท์มือถือเป็นนาฬิกาปลุกเพื่อตื่นตอนเช้า ขณะเดียวกันระหว่างเดินทางไปทำงานเราก็ใช้ฟังเพลง ดูหนัง ทุกกิจกรรมของชีวิตไม่สามารถแยกโลกออนไลน์และออฟไลน์ออกจากกันได้ ดังนั้นสิ่งที่ธุรกิจต้องเข้าใจคือการมองรวมเป็นการดำเนินชีวิตของลูกค้า (Customer Journey) ทั้งหมด โดย ผศ.ดร.วิเลิศ ให้คำจำกัดความว่า ‘Lifeline’ ซึ่งเป็น Line of Business ที่มองครบทุกมิติ

 

ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การทำการตลาดในปี 2018 สิ่งที่ต้องตระหนักคือ ไม่ควรแบ่งตลาดแยกจากกันระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาบรรดาธุรกิจจะแยกส่วน แยกทีมอย่างชัดเจน การดำเนินการมักจะไม่ไปในทิศทางเดียวกันและผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ดีเท่าที่คาดหวัง เพราะตอนนี้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจข้ามแพลตฟอร์มกันแล้ว เช่น Uber เกิดขึ้นมาจากช่องว่างที่โลกออฟไลน์เดิมให้ไม่ได้และแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากแท็กซี่ปกติไป ขณะเดียวกันระหว่างที่ลูกค้า Uber กำลังเรียกรถจากสมาร์ทโฟนอยู่นั้น ก็อาจเปลี่ยนใจหันไปขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้างแทนได้ เพราะราคาถูกว่าและไปถึงที่หมายได้เร็วกว่า

 

ดังนั้น คู่แข่งโดยตรงของ Uber อาจจะไม่ใช่แค่แอปพลิเคชัน Grab อย่างที่เข้าใจอีกต่อไป เพราะมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊กก็ถือเป็นคู่แข่งของ Uber ด้วยเช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมองตลาดของผู้บริโภคเป็นภาพรวมทั้งหมด นั่นคือพิจารณาไปถึงระดับ Lifeline

 

สำหรับส่วนผสมทางการตลาด (Marketing Mix) หรือ 4P ก็ต้องปรับด้วย เพราะปัจจุบันนี้ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place) เปลี่ยนไปมาก เราสามารถสั่งซื้ออาหารที่เราต้องการได้จากผู้ให้บริการบนโลกออนไลน์ การกระจายสินค้าโดยภาพรวมดีขึ้น หมุนเวียนสินค้าได้คล่องตัวขึ้นสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจรับ-ส่งสินค้าที่โตวันโตคืน ขณะเดียวกันการส่งเสริมการตลาด (Promotion) ก็ต้องปรับให้โดนขึ้น เพราะลูกค้าสามารถเดินทางไปที่ร้านเพื่อซื้อสินค้าหรือจะสั่งออนไลน์ก็ได้ ซึ่งเป็นปกติที่จะต้องเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุด

 

จุดหมายสำคัญของการทำการตลาดในอนาคตคือ การสร้าง Customer Lifeline Engagement ซึ่งเป็นการมัดใจลูกค้าให้อยู่หมัดทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ เราจะได้เห็นกระบวนการที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเช่น การเป็นสมาชิก (Membership) บางกลุ่มของโลกออฟไลน์ก็จะสามารถได้รับสิทธิพิเศษบนโลกออนไลน์ได้ หรือข้อเสนอพิเศษบางอย่างจากโลกออนไลน์ก็สามารถนำมาใช้กับร้านค้าในโลกออฟไลน์ได้ ทำให้กิจกรรมของแบรนด์ถูกฝังเข้าไปใน Lifeline ของลูกค้า ซึ่งสอดประสานและเชื่อมโยงกันผ่านทุก Touchpoint ที่ลูกค้าสัมผัสไม่ว่าจะจากประสาทสัมผัสทั้งห้าหรือในโลกดิจิทัลก็ตามที

 

ผศ.ดร.วิเลิศ เสริมว่า การสร้างปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าจะไม่เพียงพอในอนาคต เพราะตราบใดที่ผู้บริโภคเป็นมนุษย์ก็จะยังปรารถนามากกว่าการตอบสนองความต้องการปกติ นั่นคือโลกดิจิทัลต้องสร้างผลประโยชน์ด้านอารมณ์ (Emotional Benefit) ให้ได้ เช่น การเลือกเสียงของ AI ในสมาร์ทโฟนให้หลากหลายตามความชอบของผู้ใช้ รวมถึงการปรับแต่งวิธีการสื่อสารเพื่อ ‘เอาใจ’ ด้วย

 

หรือกรณีใช้การเดินทาง นอกจากเสียงของโปรแกรมที่คอยบอกแล้ว อาจจะแทรกเสียงเพลงเข้าไปด้วย หรือโปรแกรมอาจจะชวนผู้ขับรถคุย เช่น ‘วันนี้คุณแต่งตัวสวยจังครับ’ หรือ ‘คุณขับรถแปลกๆ คุณโอเคหรือเปล่าคะ?’ ซึ่ง AI จะถูกพัฒนาไปสู่อารมณ์ประดิษฐ์ (Emotional Intelligence) หรือ EI ในที่สุด

 

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด โลกดิจิทัลจะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์มากแค่ไหน การเข้าใจถึงความต้องการที่ลึกซึ้งของมนุษย์ (Human Insight) ยังเป็นหัวใจสำคัญเสมอ เพราะถ้ารู้สิ่งนี้ก็จะสามารถวางกลยุทธ์ทางการตลาดที่โดนใจผู้บริโภคได้เสมอ ไม่ว่าจะโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตามที

 

ปี 2018: ไม่ใช่แค่ Big Data แต่ต้องเป็น Smart Data

การใช้สัญชาตญาณเฉพาะตัว (Gut Feeling) สำหรับการทำธุรกิจเคยเป็นเรื่องที่ฮือฮาในสมัยก่อน สิ่งที่ต้องตระหนักคือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีสิ่งนี้ บางคนก็เชื่อว่ามีทั้งที่ไม่มี บางคนที่มีก็อาจไม่รู้ตัวว่าสัญชาตญาณของตนนั้นไม่ได้สอดคล้องกับยุคสมัยแล้ว

 

การวางกลยุทธ์ทางธุรกิจทุกวันนี้ นักบริหารและมืออาชีพทุกคนทราบดีว่าต้องใช้ข้อมูล (Data) เป็นวัตถุดิบสำคัญในการวิเคราะห์เพื่อใช้ในการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วงที่ผ่านมาเราพูดถึงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และทุกองค์กรต่างก็ตื่นเต้นและพูดถึงการใช้งาน Big Data ทั้งสิ้น แต่สำหรับปี 2018 และอนาคตแล้ว ธุรกิจต้องทำมากขึ้นให้ถึงระดับข้อมูลที่ชาญฉลาด (Smart Data) จึงจะรักษาพื้นที่ของตนเองในโลกธุรกิจที่แข่งขันกันรุนแรงได้

 

ผศ.ดร.อนุภาพ สมบูรณ์สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและวิจัยทางสถิติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า Smart Data คือข้อมูลเฉพาะส่วนที่สร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ โดยแยกส่วนเฉพาะข้อเท็จจริง (Fact) เท่านั้นมาพิจารณา ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของ Smart Data มี 2 ส่วนคือ ข้อมูลที่ถูกต้อง (Veracity) และคุณค่าของข้อมูล (Value) สิ่งที่สำคัญคือการวางแผน ตีโจทย์ให้ชัดเจนว่าต้องการอะไรจากข้อมูลที่มีและขอบเขตของการใช้งานภายใต้ข้อจำกัดที่มีเป็นเช่นไร เพราะถ้าเก็บแต่ข้อมูลเยอะๆ เข้าไว้ นอกจากจะเป็นข้อมูลขยะแล้ว ยังเป็นภาระและต้นทุนในการบริหารจัดการอีกด้วย

 

ผศ.ดร.อนุภาพ สมบูรณ์สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและวิจัยทางสถิติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ไม่ว่าจะองค์กรใหญ่หรือเล็กต่างก็สามารถใช้ Smart Data ได้ เพราะปัจจุบันข้อมูลมีอยู่รอบตัวเต็มไปหมด จะแตกต่างกันเรื่องวิธีการนำไปใช้งาน องค์กรขนาดใหญ่จะมีข้อได้เปรียบกว่าตรงที่มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ขณะที่องค์กรขนาดเล็กก็สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เผยแพร่แก่สาธารณชนหรือจากโลกออนไลน์ได้

 

Smart Data จะมีบทบาทมากขึ้นสำหรับโลกธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มุ่งศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่นธุรกิจค้าปลีกหรือธุรกิจธนาคารที่เก็บข้อมูลสินค้าและบริการที่ลูกค้าสนใจ ธุรกรรมที่ทำ รวมถึงแนวโน้มการใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งเหล่านี้จะถูกพัฒนาไปเป็นปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่ง ผศ.ดร.อนุภาพมองว่า จะเป็นสิ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน AI จะเข้ามาทดแทนงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะขั้นสูงมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญคือการสร้างความไว้วางใจของผู้บริโภคที่มีต่อการบริการ โดย AI และต้องระวังความถูกต้องของฐานข้อมูล ซึ่งถ้าใช้ข้อมูลผิดในการพัฒนา AI ก็อาจสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจได้ ซึ่งองค์กรต้องทบทวนและปรับปรุงข้อมูลตลอดเวลา ไม่สามารถกำหนดรูปแบบที่ตายตัวแล้วสามารถยึดตามกรอบไปได้ตลอด ต้องทำไปปรับไป

 

สิ่งสำคัญที่จะต้องเปลี่ยนคือเรื่องทรัพยากรบุคคลของส่วนงานด้านไอทีและสารสนเทศขององค์กร ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ด้านไอทีต้องรับผิดชอบงานที่หลากหลายจนไม่สามารถมุ่งเน้นการสร้างฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพได้ เช่น ช่วงเช้าต้องเดินสาย LAN และเครื่องคอมพิวเตอร์ให้พนักงาน ช่วงบ่ายต้องดึงข้อมูลนำส่งผู้บริหาร

 

ช่องว่างระหว่างวัยและองค์ความรู้ของหัวหน้างานและลูกน้องเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะคนรุ่นใหม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มากกว่าคนรุ่นก่อน การสื่อสารในทีมจึงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร คนเก่าไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่คนหนุ่มสาวต้องการความท้าทายใหม่ อัตราการเปลี่ยนงานของเจ้าหน้าที่ไอทีจึงค่อนข้างสูง บางองค์กรจึงเลือกที่จะตั้งทีมหรือบริษัทใหม่แยกออกมาเพื่อมุ่งสร้างนวัตกรรมโดยคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเห็นแนวโน้มแบบนี้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต


แม้ระบบเทคโนโลยีใหม่จะถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับเครื่องมือในการบริหารจัดการฐานข้อมูล แต่สิ่งที่สำคัญคือ ถ้าอัพเกรดซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์แล้ว แต่ไม่ได้อัพเกรดคนตามไปด้วย ก็ยากที่สร้าง Smart Data ได้

 

ปี 2018: เงินดิจิทัลและการระดมทุนไร้ตัวกลางจะผงาดในสยามประเทศ

“Blockchain และ Cryptocurrency มาไกลเกินกว่าที่จะหยุดได้แล้ว”

 

เป็นคำกล่าวของ วิศรุต ศรีเศวต CEO Enterprise Open Source Solution ของ eoss-th.com ที่เชื่อว่าอย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะไม่สามารถหลีกหนีเรื่องของเงินดิจิทัลไปได้

 

เป็นที่ทราบในวงกว้างว่า Blockchain นั้นเป็นกระบวนการสำคัญในการยืนยันธุรกรรมโดยมุ่งลดบทบาทของตัวกลางทางด้านการเงิน ปี 2018 จะเริ่มเห็นองค์กรธุรกิจใช้ประโยชน์จาก Blockchain มากขึ้น โดยการแชร์ข้อมูลระหว่างกันทั้งข้อมูลของลูกค้าและข้อมูลทางบัญชีเพื่อร่วมกันสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่ค่อนข้างคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและพร้อมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

 

 

บทบาทของเงินดิจิทัลจะมีมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลและแบงก์ชาติจะยืนยันว่ายังไม่มีกฎหมายรองรับและเตือนประชาชนเรื่องการลงทุนใน Bitcoin แต่วิศรุตเชื่อว่าเงินดิจิทัลจะได้รับความนิยม จนเกิดโบรกเกอร์ที่ทำธุรกรรมด้านนี้โดยเฉพาะ กระทั่งธนาคารพาณิชย์บางแห่งขณะนี้เริ่มผลักดันเงินดิจิทัล เช่น Ripple มาทดลองตลาดแล้ว โดยชูจุดขายคือการยืนยันธุรกรรมในระยะเวลาเพียง 3 วินาทีเท่านั้น

 

ส่วนราคาของ Bitcoin ตอนนี้ยังมองว่าเป็นช่วงของการปรับฐาน แม้จะยังมีแนวโน้มที่ผันผวน แต่เชื่อว่าในปี 2018 นี้จะเริ่มเห็นธุรกิจค้าปลีกอย่างร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าบางแห่งเริ่มรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินดิจิทัลอย่างแน่นอน แม้จะไม่ใช่ Bitcoin โดยตรง แต่เป็นเงินที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งจะต้องมีสภาพคล่องที่สูงและมีเสถียรภาพมากกว่า Bitcoin ซึ่งโดยส่วนตัววิศรุตไม่เชื่อว่าราคาจะกลับขึ้นสูงถึง 40,000 เหรียญต่อ BTC อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์

 

ส่วนการระดมทุนด้วยการเสนอขายเหรียญดิจิทัลในระยะเริ่มต้น (Initial Coin Offering) หรือ ICO ซึ่งธุรกิจจะออก Token ที่เปรียบเสมือนหุ้นที่อ้างอิงกับเงินดิจิทัล แม้ว่าจะเป็นที่นิยมในต่างประเทศเพราะว่าไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน รับรู้กำไรจากการซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทันที หากแต่ปัจจุบันรัฐบาลในหลายประเทศเริ่มระมัดระวังและพยายามจำกัดขอบเขตของ ICO มากขึ้นผ่านกฎหมายด้านสินทรัพย์ ขณะที่ประเทศจีนหรือสิงคโปร์ประกาศชัดเจนว่าไม่สนับสนุน ICO

 

สำหรับประเทศไทย เรื่องการระดมทุนยังอยู่ในขอบเขตอำนาจที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. รับผิดชอบดูแล ซึ่งยังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนในขณะนี้จนถึงวันที่ 22 มกราคมนี้ ซึ่งยังต้องดูท่าทีและแนวทางจาก ก.ล.ต. อีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเชิงเทคนิคที่สำคัญคือ การทำ ICO ต้องมีแพลตฟอร์ม ซึ่งต้องใช้ทีมของผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันต้องมีช่องทาง เช่น หน้าเว็บที่น่าเชื่อถือรองรับด้วย

 

บทสรุปของก้าวต่อไปในปี 2018 คือการเริ่มต้นใหม่

บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างมองตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงของ Digital Disruption เกิดขึ้นแล้วในวงกว้างและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกมิติ ไม่มีใครหยุดหรือต้านทานพลังของ Perfect Storm นี้ได้ แต่เมื่อมองลึกผ่านความวุ่นวายไป เราจะเห็นโอกาสใหม่ที่เกิดจากสิ่งใหม่ ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าของรูปแบบการทำธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่การสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวของ Lifeline ในที่สุด

 

เป็นไปไม่ได้เลยที่จะขับเคลื่อนธุรกิจโดยไร้รูปแบบ กลยุทธ์ต่างๆ ต้องถูกวางแผนอย่างแยบคายภายใต้การทำงานของข้อมูลที่ถูกยกระดับเป็น Smart Data และข้อจำกัดที่เกิดจากตัวกลางทางการเงินทั้งหลายจะหายไปเรื่อยๆ

 

ดังนั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องรู้จักของใหม่ เข้าใจของใหม่ และใช้ของใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่การต่อยอดธุรกิจให้เติบโต หากแต่เป็นการรักษาธุรกิจให้อยู่รอดในวันที่เราไม่รู้เลยว่าคู่แข่งของเราอยู่ในโลกออนไลน์ ออฟไลน์ หรือมิติไหนกันแน่

 

และอย่ากลัวที่จะเริ่มต้นใหม่

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X