การประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปีนี้ กลายเป็นเวทีปะทะคารมระหว่างสหรัฐฯ กับ เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชื่อดังวัย 17 ปี ชาวสวีเดน โดยก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อต้านนักเคลื่อนไหวที่ทำตัวเหมือนหมอดูทำนายวันสิ้นโลก
ล่าสุด สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้แนะธันเบิร์กให้ไปศึกษาเศรษฐศาสตร์ให้ดีก่อนจะออกมาเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ หยุดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ขณะที่ธันเบิร์กตอกกลับว่า เธอไม่จำเป็นต้องคว้าใบปริญญาเพื่อที่จะเข้าใจวิทยาศาสตร์
การโต้คารมระหว่างทั้งสองคน สะท้อนความคิดที่แตกแยกเป็นสองขั้วเกี่ยวกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นหัวข้อหลักในที่ประชุม WEF ปีนี้ ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากภาคประชาสังคมให้ดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดปริมาณคาร์บอน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกไม่ให้เพิ่มสูงเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมตามความตกลงปารีส
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว พร้อมประกาศนำสหรัฐฯ หันหลังให้กับความตกลงปารีสไปก่อนหน้านี้ ซึ่งหนึ่งในผู้ที่วิจารณ์นโยบายของสหรัฐฯ อย่างมากในช่วงที่ผ่านมาคือธันเบิร์ก
บนเวที WEF ขุนคลังสหรัฐฯ ถูกถามเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของธันเบิร์ก ให้หยุดการลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งมนูชินตอบผู้สื่อข่าวว่า “เธอเป็นนักเศรษฐศาสตร์หรือเปล่า หรือเธอเป็นใคร? ผมสับสนนะ” ก่อนจะพูดเสริมว่า “นั่นมุกตลกนะ เป็นเรื่องขำขัน”
“หลังจากที่เธอไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่วิทยาลัยแล้ว เธอสามารถกลับมาใหม่ และอธิบายให้เราฟัง” มนูชินกล่าว
ขณะที่ธันเบิร์กได้ตอบกลับในทวิตเตอร์ว่า ช่วงเวลา 1 ปี ในการค้นหาตัวเอง หลังจบมัธยมปลายของเธอจะสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคมนี้ แต่เธอไม่จำเป็นต้องได้ใบปริญญาในสาขาเศรษฐศาสตร์ เพื่อที่จะเข้าใจเกี่ยวกับงบประมาณคาร์บอน (Carbon Budget) 1.5 องศาเซลเซียสที่เหลืออยู่ ซึ่งเธอระบุว่า การอุดหนุนและลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลจะลดโอกาสในการควบคุมปัญหาโลกร้อน
ทั้งนี้ รายงาน IPCC ระบุว่า ระดับปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก หรือ Carbon Budget นั้นควรลดลงต่ำกว่า 570 กิกะตันในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า หากโลกต้องการโอกาส 67% ในการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
“เพราะฉะนั้นใครก็ได้ช่วยบอกเราทีว่า จะลดคาร์บอนตามเป้าหมายได้อย่างไร หรือช่วยอธิบายให้คนรุ่นใหม่และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนว่า ทำไมเราจึงต้องละทิ้งคำมั่นสัญญาเรื่องปัญหาสภาพอากาศ” ธันเบิร์กระบุในทวิตเตอร์
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: