ลอร์ดคาเมอรอนแห่งชิปปิงนอร์ตัน (The Right Honourable the Lord Cameron of Chipping Norton) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ปักหมุดนโยบายขยายความสัมพันธ์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ด้วยการเดินทางมาเยือนไทยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พร้อมประกาศยกระดับความสัมพันธ์ของสองประเทศ สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
สิ่งที่หลายคนสงสัยคือทำไมสหราชอาณาจักรถึงเลือกเยือนไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาค ก่อนจะเดินทางต่อไปยังออสเตรเลีย ความเคลื่อนไหวนี้สำคัญแค่ไหนในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ และสะท้อนถึงมุมมองที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีต่อไทยอย่างไร
ผู้เล่นที่มีอิทธิพลในภูมิภาค
นโยบายต่างประเทศของสหราชอาณาจักรตลอดหลายปีที่ผ่านมา มุ่งเน้นความสำคัญต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นลำดับต้นๆ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของจีน
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่บรรดาชาติมหาอำนาจ รวมถึงสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรต่างสนใจ เนื่องจากเชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านเส้นทางการค้าสำคัญอย่างช่องแคบมะละกา และครอบคลุมกว่า 40 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ รวมถึงอาเซียนและไทย
การที่ลอร์ดคาเมอรอนเลือกเยือนไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนั้นสะท้อนชัดถึงการให้ความสำคัญของสหราชอาณาจักรที่มีต่อบทบาทของไทย ขณะที่ทั้ง 2 ประเทศ จะเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 170 ปี ในปี 2025
แถลงการณ์ของคาเมอรอนที่เผยแพร่รายละเอียดการเยือนไทย ระบุว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นมหาอำนาจทางการค้า และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งการทำงานร่วมกับหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ยังหมายถึงการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะกลับคืนไปยังสหราชอาณาจักรด้วย”
ลอร์ดคาเมอรอนมองว่าไทยในฐานะหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียน ถือเป็น ‘ผู้เล่นที่มีอิทธิพล’ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และมีบทบาทสำคัญ ทั้งในด้านการพัฒนาสันติภาพและการปรองดองในเมียนมา การเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค ตลอดจนการรักษากฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเขายืนยันว่าไทยและสหราชอาณาจักรจะจับมือกันในการรับมือต่อความท้าทายระดับโลกด้านต่างๆ
“ประเทศไทยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียนและมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เราจะทำงานร่วมกับพวกเขาต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายระดับโลกที่มีร่วมกันซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกคน รวมถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุขทั่วโลก”
ยกระดับความร่วมมือไทย-สหราชอาณาจักร
ในการเยือนไทยครั้งนี้ คาเมอรอนได้มีการลงนามความตกลงหลายฉบับ รวมถึงแผนงานว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สหราชอาณาจักร-ไทย (Thailand-UK Strategic Partnership Roadmap) ซึ่งสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ไทยมีความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้วย
ขณะที่คาเมอรอนยืนยันว่าจะส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ใกล้ชิดในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านกลาโหม ความมั่นคงในภูมิภาค การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งคาดว่ามูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศในแต่ละปีนั้นมีมูลค่าสูงถึงกว่า 7.6 พันล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ คาเมอรอนยังได้เดินทางไปเยือนฐานทัพอากาศในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อดูเครื่องบินขับไล่ Gripen ที่สร้างโดยบริษัท Saab โดยใช้ส่วนประกอบกว่า 40% ที่ผลิตและจัดหาโดยบริษัทในสหราชอาณาจักร ซึ่งเขาระบุว่าฝูงบินขับไล่ Gripen ไม่เพียงแต่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับกองทัพอากาศไทย แต่ยังสร้างมูลค่าการส่งออกทางยุทธภัณฑ์ของสหราชอาณาจักร คิดเป็นมูลค่ากว่า 350 ล้านปอนด์
นอกจากนี้เขายังประกาศสนับสนุนเงินทุน 6 ล้านปอนด์ (7.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 275 ล้านบาท) สำหรับประเทศไทย ผ่านโครงการ UK PACT (UK Partnering for Accelerated Climate Transitions) เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคคมนาคมที่ยั่งยืน การเงินสีเขียว และการกำหนดราคาคาร์บอนในประเทศไทย
ภาพ: UK in Thailand
อ้างอิง:
- https://www.gov.uk/government/news/foreign-secretary-pushes-for-closer-cooperation-with-thailand
- https://www.independent.co.uk/news/uk/david-cameron-thai-cabinet-australia-south-east-asia-b2515368.html
- https://apnews.com/article/thailand-britain-cameron-visit-economy-trade-f789ea542c6eac5ff3a26fc94d710772