×

Darlings บางครั้งเจ้ากรรมนายเวรก็มาในรูปแบบของ ‘สามี’

23.08.2022
  • LOADING...
Darlings

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • Darlings เปิดตัวด้วยการเป็นหนังอินเดียที่มียอดการรับชมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยวันแรกที่สตรีมทาง Netflix มียอดการรับชมรวมกันมากกว่า 10 ล้านชั่วโมง และติดอันดับ 1 ใน 10 ของหนังยอดนิยมในกว่า 16 ประเทศ ซึ่งความสำเร็จนี้นอกจากจะมาจากตัว อาเลีย บาตต์ แล้ว ยังอาจบอกได้ว่าปัญหานี้ยังคงมีอยู่ในทุกมุมโลก

***บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนัง

 

ถ้าพูดถึงหนังที่ว่าด้วยเรื่องความรุนแรงในครอบครัวก็มักจะออกมาแนวดาร์กๆ นัวร์ๆ แต่ในโลกของความจริงความรุนแรงเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะอาหาร ระหว่างนั่งชิลในห้องรับแขก หรือแม้กระทั่งบนเตียงนอน ที่สำคัญหลายๆ คนก็มองว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา และกลายเป็นเรื่องตลกขบขันของคนรอบข้างเสียด้วยซ้ำ (ประมาณว่ายิ่งตีกันยิ่งลูกดก…ว่าไปนั่น)

 

​Darlings เป็นผลงานเรื่องใหม่ของ อาเลีย บาตต์ (หรือคังคุไบที่เราคุ้นเคย) ที่ควบตำแหน่งทั้งนักแสดงนำ ผู้อำนวยการสร้าง และเป็นผลงานจากโปรดักชันเฮาส์ของเธอเอง ว่าด้วยเรื่องของ พทรู (อาเลีย บาตต์) เธอแต่งงานกับ ฮัมซา (ไวเจ วาร์มา) ชายหนุ่มที่เหมือนจะรักเธอสุดหัวใจ แต่ชีวิตหลังแต่งงานตลอด 3 ปี พทรูได้กลายเป็นกระสอบทรายให้กับฮัมซาที่มีอาการติดเหล้า กลางคืนตบตี ตื่นเช้ารักกันใหม่ วนเวียนแบบนี้มาเรื่อยๆ โดยสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตคู่เอาไว้ได้คือความหวังของพทรูว่าสักวันสามีจะเลิกเหล้าและกลับตัวเป็นคนดี แต่แล้ววันหนึ่งฮัมซาก็ทำบางอย่างที่พทรูทนไม่ได้อีกต่อไป เธอจึงวางแผนกับ ซัมชู (เชฟาลี ชาห์) แม่ของเธอ ลักพาตัวสามีโดยเอามาซ่อนไว้ในบ้าน และเปลี่ยนตัวเองจากผู้ถูกกระทำเป็นผู้กระทำดูบ้าง นำไปสู่เรื่องราวอลหม่าน และจุดจบแสนเซอร์ไพรส์

 

Darlings

 

​สำหรับผู้เขียน ความดีงามอย่างแรกของ Darlings คือการเล่าเรื่องให้ออกมาในรูปแบบหนังตลกร้าย ไม่ได้ดูขึงขังดาร์กดำ เพราะเอาเข้าจริงๆ เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้ในบรรยากาศแห่งความสุขที่พร้อมจะพลิกกลับเป็นนรกในชั่วพริบตา รวมทั้งการตั้งชื่อว่า Darlings หรือที่รัก แม้ฟังดูย้อนแย้ง แต่นี่ก็คือสรรพนามแสนหวานที่พร้อมทำให้เรากลับไปสู่วังวนเดิมๆ อย่างไรก็ดี เนื้อหาหลักเรื่องความรุนแรงในครอบครัวก็ยังถูกเล่าอย่างครบถ้วนและเป็นจริง

หนังค่อยๆ พาเราเข้าไปรู้จักตัวละครทีละนิด ด้วยเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ สะท้อนการกดขี่ของฮัมซา เช่น ไม่ชอบให้เมียไว้ผมหางม้า ไม่ให้เมียใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่รับฟังความคิดเห็นของเมีย ทั้งหมดเหมือนเป็นเรื่องทั่วไป แต่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการครอบงำและใช้ความรุนแรงในที่สุด อีกทั้งยังพาคนดูเข้าไปสัมผัสชีวิตคู่ด้วยสายตาคนนอก โดยเริ่มต้นจากความรุนแรงเล็กๆ น้อยๆ แล้วค่อยทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ (ฉากรองเท้าส้นสูงคือฉากเด็ดที่ดึงคนดูเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ได้ดีมาก) ซึ่งคนรอบข้างก็รับรู้ได้แต่ก็ปล่อยผ่านไป เพราะในท้ายที่สุดคนนั่งคุยกันก็คงสู้คนนอนคุยไม่ได้อยู่ดี

 

​หลายๆ ฉากของเรื่องเผยให้เห็นภาพความเป็นจริงของสถานการณ์นี้ อย่างเช่นช่างทำผมที่ได้ยินเสียงปึงปังทุกคืน แต่ก็ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น, แม่ที่พยายามยื่นมือเข้าไปช่วย แต่สุดท้ายลูกสาวก็เลือกที่จะอยู่ต่อ หรือแม้กระทั่งตำรวจที่รับเรื่องพวกนี้อยู่ทุกวัน และมักจบลงอีหรอบเดิมจนกลายเป็นความชินชา

 

Darlings

 

ผู้เขียนชอบหลายๆ บทสนทนาในเรื่องที่ฉายภาพมุมมองของสังคมต่อปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี อย่างเช่นเมื่อซัมชูคุยกับตำรวจว่า “ทำไมผู้ชายเปลี่ยนเป็นสัตว์ร้ายเวลาเมา” แล้วได้คำตอบกลับมาว่า “เพราะผู้หญิงปล่อยให้พวกเขาเป็นน่ะสิ” ประโยคนี้ตีความได้สองแบบ ทั้งเป็นการโทษเหยื่อ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือผู้หญิงต้องไม่ยอมให้เกิด ‘ครั้งแรก’ เพราะ ‘ครั้งต่อไป’ จะตามมาอย่างแน่นอน หรืออย่างในเรื่องที่ตำรวจแนะนำให้แม่บอกให้ลูกสาวหย่ากับสามีเพราะโลกนี้เปลี่ยนไปแล้ว และซัมชูตอบว่า “โลกเปลี่ยนไปแล้วนั่นมันสำหรับคนในทวิตเตอร์ ไม่ใช่พวกเรา” มันคือภาพความเป็นจริงที่คนจำนวนไม่น้อยยังคิดว่าการหย่าร้างยังคงเป็นตราบาปของผู้หญิง

 

Darlings

 

​เราอาจจะจินตนาการว่าเจ้ากรรมนายเวรคือคนหรือวิญญานที่เต็มไปด้วยความอาฆาตมาดร้าย แต่ในหลายๆ กรณีก็มาในรูปแบบของคนรัก ส่วนบ่วงที่ยึดโยงเอาไว้ก็ไม่ใช่ ‘ความแค้น’ แต่เป็น ‘ความรัก’ ที่ไม่อาจทำให้หลุดพ้นได้สักที อย่างเช่นความรัก ทำให้พทรูมองข้ามความเห็นแก่ตัวของสามี แบบที่ฮัมซาพูดว่า “ถ้าผมไม่รักคุณ ผมจะทำร้ายคุณทำไม ถ้าคุณไม่รักผม คุณจะทนอยู่เหรอ” ถ้าฟังอย่างมีสติ ประโยคนี้คนที่ได้ประโยชน์ในความสัมพันธ์นี้มีเพียงคนเดียวคือฮัมซา แต่สุดท้ายพทรูก็ยอมให้โอกาสสามีอีกครั้งจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่ยากจะให้อภัย

 

Darlings

Darlings

 

และในเมื่อความรุนแรงเกิดได้ในชั่วพริบตา ความรักก็หมดลงในชั่วพริบตาได้เช่นกัน เมื่อเหตุผลร้อยแปดที่เคยคิดเข้าข้างตัวเองพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ แต่มันเป็นไปเพราะ ‘สันดาน’ ล้วนๆ จุดจบอันหมายถึงการปลิดชีวิตให้พ้นๆ ไปซะ ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน นอกจากเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องความรุนแรงในครอบครัวอย่างเป็นจริง อีกสิ่งที่ชอบมากคือการแสดงของ เชฟาลี ชาห์ ผู้รับบทซัมชู แม่ของพทรู เธอถ่ายทอดความเป็นหญิงหม้ายชนชั้นกลางของอินเดียได้เป็นอย่างดี และมีมิติเหมือนคนมีความลับตลอดเวลา ส่วน อาเลีย บาตต์ ก็แสดงได้สมมาตรฐาน โดยเฉพาะในฉากจบที่แสดงสีหน้าและท่าทางของคนหมดใจได้เป็นอย่างดี

 

Darlings เปิดตัวด้วยการเป็นหนังอินเดียที่มียอดการรับชมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยวันแรกที่สตรีมทาง Netflix มียอดการรับชมรวมกันมากกว่า 10 ล้านชั่วโมง และติดอันดับ 1 ใน 10 ของหนังยอดนิยมในกว่า 16 ประเทศ ซึ่งความสำเร็จนี้นอกจากจะมาจากตัว อาเลีย บาตต์ แล้ว ยังอาจบอกได้ว่าปัญหานี้ยังคงมีอยู่ในทุกมุมโลก

 

Darlings รับชมได้ทาง Netflix

 

ภาพ: Netflix

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising