×

อะไรคือทางรอดของคนและธุรกิจดิจิตัล บทสรุปจากงาน DAAT DAY 2017

30.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • 5 ประเด็นสำคัญที่ได้รับการพูดถึงใน DAAT DAY 2017 คือ การปรับ Mindset, Data คือสิ่งที่ขับเคลื่อนโลกและธุรกิจ, Machine Learning, Personalize หรือการสื่อสารรายบุคคล และคนยุค Millennial
  • ท่ามกลางกระแสเทรนด์และเทคโนโลยี สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเข้าใจลูกค้า
  • ในโลกวันนี้ คำถามว่า “ทำไม” กล้าคิด และทดลองทำ คือสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
  • บทความนี้เฉลยกระบวนการคิดที่บอกว่า ถ้าคุณจะเข้าใจลูกค้า และสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้จริงต้องทำอย่างไร

     วันนี้โลกดิจิทัลไทยกำลังยืนอยู่ที่จุดไหน?

     งาน DAAT DAY 2017 ที่จัดโดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) น่าจะตอบคำถามนี้ได้

     หลังมีโอกาสเข้าร่วมงานและเข้าฟังสัมมนาหลายหัวข้อจาก 1 เวทีใหญ่ และ 3 เวทีย่อยในงาน

     THE STANDARD ได้เห็น ‘ความคิด’ บางอย่างที่เป็นจุดร่วมกันของวิทยากรหลายๆ ท่าน

     ถ้าไม่ใช่เพราะพวกเขาคิดเหมือนกันโดยมิได้นัดหมาย ก็อาจจะเป็นเพราะเราอยู่ในโลกที่ ‘ความคิด’ ถูกส่งต่อ เชื่อมโยง และเคลื่อนที่ไปพร้อมๆ กันด้วยอัตราเร่งระดับเรียลไทม์

     กำแพงของระยะทางที่เคยเป็นอุปสรรคถูกอินเทอร์เน็ตทลายจนไม่เหลือซาก เช่นเดียวกับอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาทำให้เส้นพรมแดนที่เคยมีอยู่เร่ิมพร่าเลือน

 

Photo: DAAT

 

     ทักษะหลายอย่างกำลังถูกแทนที่โดยเครื่องจักรที่ฉลาดขึ้นกว่าเดิม และฉลาดขึ้นทุกวัน เพราะพวกมันพัฒนาตัวเองตลอด 24 ชั่วโมง

     ธุรกิจที่เคยมั่งคั่งและคิดว่าจะยั่งยืน จากการกินส่วนแบ่งในฐานะ ‘คนกลาง’ เริ่มไม่มั่นใจในอนาคตของตัวเอง เพราะข้อจำกัดทางการแข่งขันกำลังค่อยๆ ถูกลบออกไป เมื่อเทคโนโลยีช่วยให้คนตัวเล็กๆ สามารถตั้งธุรกิจได้ในต้นทุนที่ต่ำลงเรื่อยๆ และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาหรือจ่ายค่าต๋งให้ ‘ตัวกลาง’ อีกต่อไป

     ขณะที่คนตัวเล็กๆ ที่เข้าถึงเทคโนโลยี มีไอเดีย และเป็น ‘ของจริง’ ก็มีโอกาสสร้างรายได้ไม่ยาก โดยไม่ต้องมีทุนมากเหมือนในอดีต เพราะเทคโนโลยีทำให้หลายสิ่งที่เคยแพง ถูกลง

Photo: Pixabay

 

     คำว่า ‘โลกไร้พรมแดน’ เริ่มเป็นจริงในทุกมิติ โดยเฉพาะความรู้และนิยามของอาชีพ

     อาชีพเดิมๆ เริ่มไม่เหมือนเดิม นักการตลาดจะไม่ใช่แค่นักการตลาด ครีเอทีฟจะไม่ใช่แค่ครีเอทีฟ หรือแม้กระทั่งคนทำคอนเทนต์จะไม่ใช่แค่คนทำคอนเทนต์

     หลายๆ อาชีพต้อง ‘รู้ลึก’ ในสิ่งที่ทำ และจำเป็นต้อง ‘รู้กว้าง’ ในหลายๆ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำ

     เพราะ ‘งาน’ ของเราล้วนเชื่อมโยงกับอีกสิ่งหนึ่งเสมอ และสิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงเราไว้ด้วยกันก็คือ โลกดิจิทัล

     กลไกการทำงานของเทคโนโลยีจะไม่ปล่อยให้ใครที่รู้เพียงสิ่งเดียวประสบความสำเร็จอีกต่อไป

     อย่างน้อยถ้าคุณเป็นคนทำคอนเทนต์ที่เขียนคอนเทนต์ได้ดีมาก แต่ไม่รู้เรื่อง SEO หรือการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการเผยแพร่งานเลย คุณก็จะเป็นแค่คนเขียนคอนเทนต์ที่ดี แต่คอนเทนต์นั้นอาจไม่ได้รับการเผยแพร่ไปถึงคนในจำนวนที่มากพอ

     ดังนั้น จึงไม่แปลกที่วิทยากรหลายคนในงาน DAAT DAY 2017 จะ ‘คิดคล้าย’ กัน (และมีบางอย่างที่อาจจะคิดคล้ายเรา)

     เพราะพวกเขาและเราล้วนอยู่ในโลกใบเดียวกัน

 

  • จงปรับ Mindset ของตัวเอง
  • Data คือสิ่งที่จะขับเคลื่อนโลกและธุรกิจ
  • Machine Learning
  • Personalize การสื่อสารรายบุคคล
  • คนยุค Millennial

 

     คือประเด็นที่วิทยากรหลายคนพูดถึง โดยเฉพาะเรื่องการปรับ mindset ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง และคิดว่าเป็น ‘หัวใจ’ ของงาน

     เพราะถ้านับหนึ่งผิด จำนวนนับต่อมาก็ยากที่จะถูก

     คำถามคือ…

     เรามี mindset ที่ใช่หรือยัง?

     ถ้าไม่ใช่ เราจะปรับ mindset ได้ไหม?

     และถ้าปรับ ควรจะปรับอย่างไร?

 

Photo: Youtube

 

     THE STANDARD พบคำตอบอย่างเป็นรูปธรรมในสัมมนาหัวข้อ Design Thinking: Innovation Framework ที่บรรยายโดย กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร

     ASK – THINK – ACT

     นี่คือกระบวนการที่นำมาซึ่ง ‘นวัตกรรม’

     กวีวุฒิบอกว่า นวัตกรรมคือการทำสิ่งที่คนต้องการ ใช้แล้วมันเวิร์ก จะมีหรือไม่มีเทคโนโลยีก็ได้

     นวัตกรรมไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่คือทักษะการเข้าใจคนอื่น

     ส่วนการได้ซึ่งนวัตกรรม ต้องผ่านการคิดแบบ Design Thinking ซึ่งมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน และทำวนซ้ำไปเรื่อยๆ

 

Photo: DAAT

 

     1. รู้สึกอย่างที่ ‘คนอื่น’ รู้สึก (Empathize) คล้ายๆ กับการ ‘เอาใจเขา มาใส่ใจเรา’ วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้รู้สึกถึงใจคนอื่นได้ คือ การตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ ซึ่งเป็นคำถามที่เด็กๆ ชอบถาม และ ‘ทำไม’ เป็นคำถามที่สร้างนวัตกรรม

     ตัวอย่างเช่น เมืองหนึ่งมีแม่น้ำไหลผ่าน แบ่งเมืองเป็นสองฟาก สมมติว่าส่งวิศวกร นวัตกร และ อีลอน มัสก์ ไปถามคนในเมือง

 

     วิศวกร จะถามว่า อยากได้อะไร?

     “อยากได้สะพาน”

     วิศวกรก็จะกลับมาระดมสมองแล้วคิดว่าจะสร้างสะพานอย่างไรได้บ้าง

 

     นวัตกร จะถามว่า ทำไมถึงอยากได้สะพาน?

     “อยากข้ามไปฝั่งโน้น”

     นวัตกรก็จะกลับมาระดมสมองคิดหาวิธีว่า ถ้าจะข้ามไปฝั่งโน้น จะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งทางออกจะมีมากกว่าแค่สร้างสะพาน อาจเป็นเรือ คอปเตอร์ไม้ไผ่ ฯลฯ

     การถามว่า ทำไม ทำให้เฟรมของความคิดกว้างขึ้น

 

อีลอน มัสก์

 

     อีลอน มัสก์ บอกว่าจุดเด่นของเขาคือ การเป็นคน chain Why? หมายถึง สามารถถามคำว่า “ทำไม” ไปได้เรื่อยๆ แบบที่ไม่กลัวคนอื่นจะโกรธ จนกว่าเขาจะเข้าใจ ซึ่งการถามว่าทำไมมากขึ้น จะทำให้เราด่วนสรุปน้อยลง

     ใช่ครับ, อีลอน มัสก์ ไม่หยุดถามแค่ทำไมในคำถามแรก

     ทำไมถึงอยากข้ามไปฝั่งโน้น?

     “แฟนอยู่ฝั่งโน้นน่ะ คิดถึงแฟน”

     พอคำตอบเป็นแบบนี้ จะพบว่า สะพาน เรือ ฯลฯ ที่จะพาข้ามไปฝั่งโน้นอาจไม่ใช่คำตอบ แต่อาจเป็นการสร้างโทรศัพท์สักเครื่อง หรือแอปฯ ส่งข้อความสักแอปฯ

     กวีวุฒิ บอกว่า “คำถามว่า ‘ทำไม’ จะพาเราเข้าไปในปริมณฑลที่คนอื่นเข้าไม่ถึง”

     เพราะฉะนั้น ถ้าคุณอยากรู้ insight ที่แท้จริง จงกล้าที่จะถามว่า “ทำไม”

 

     2. เข้าใจปัญหา (Define) เมื่อรู้ความต้องการที่แท้จริง จะทำให้เห็นและเข้าใจปัญหา

 

Photo: DAAT

 

     3. ครีเอตไอเดีย (Ideate) จะแก้ปัญหาที่มีอย่างไร? ขั้นตอนนี้คือการระดมสมองประลองไอเดีย ซึ่งการสร้างบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนกล้านำเสนอความคิดสำคัญมาก

     “Context create Content นวัตกรรมหรือไอเดียใหม่พร้อมจะเกิดขึ้นเสมอ ถ้าสภาพแวดล้อมมันถูกต้อง”

     40 นาที คือช่วงเวลาที่ใช้ในการระดมสมองที่ดีที่สุด มากกว่านี้ไม่เวิร์ก

     ช่วงแรกให้แต่ละคนเขียนไอเดียใส่โพสต์อิท ก่อนจะเอามาคัดแยก วิเคราะห์ นำเสนอ เพื่อหาไอเดียที่น่าสนใจจำนวนหนึ่ง

     โดยทั่วไป เวลาระดมสมองจะมีคน 2 ประเภท คือ คนที่ชอบเสนอไอเดีย (Creative) กับคนที่ชอบคอมเมนต์และวิจารณ์ (Critical) ให้จัดสัดส่วนคนสองประเภทนี้ให้เหมาะสม

     แนะนำว่า ควรแยกคนประเภท Critical ออกไปจากห้องก่อน พอได้ไอเดียแล้ว ค่อยให้เข้ามาคอมเมนต์

 

Photo: yingyingz.com

 

     4. สร้างต้นแบบ (Prototype) พอได้ไอเดียแล้ว ลองนำมาทำให้เกิดขึ้นจริง โดยให้เริ่มต้นที่การสร้าง ‘ต้นแบบ’ แบบง่ายๆ

     กวีวุฒิบอกว่า Prototype ที่ดี ต้องใช้เวลาไม่นาน ใช้เงินไม่เยอะ เห็นภาพ และคนอื่นสามารถคอมเมนต์ได้

     เช่น ถ้าบอกให้ทำ Prototype ของแอปฯ สักแอปฯ ถ้าคุณบอกว่า ขอไปเขียน code ก่อน นั่นไม่ใช่ Prototype ที่ดี จากนั้นกวีวุฒิก็เปิดภาพ Prototype ของแอปฯ หนึ่งที่ทำอย่างง่ายๆ โดยการวาดหน้า interface อธิบายการทำงานของแอปฯ ลงบนโพสต์อิท

     และย้ำว่า การสร้าง Prototype ควรใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง

 

Photo: invention.si.edu

 

     5. ทำซ้ำ (Test) ไม่ดีอะไรที่เฟอร์เฟกต์ตั้งแต่ครั้งแรก การทำซ้ำขั้นตอน 1-5 ต่อไปเรื่อยๆ จะทำให้ของที่คิดนั้นพัฒนาและดีขึ้นเรื่อยๆ สิ่งสำคัญคือ ‘ต้องกล้าทดลอง’

     กวีวุฒิ ยกตัวอย่าง Kodak อดีตยักษ์ใหญ่ด้านกล้องถ่ายภาพยุคฟิล์มที่เจ๊งเมื่อปี 2012 เพราะการมาถึงของกล้องดิจิทัล แต่รู้ไหมว่า โกดักคิดเรื่องกล้องดิจิทัลก่อนทุกบริษัท ทว่าตัดสินใจไม่ทำ เพราะกลัวจะแย่งส่วนแบ่งธุรกิจฟิล์มถ่ายภาพ สุดท้ายคนอื่นเลยเอาไปทำ

     “การทดลองเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องกล้าล้มเหลวเพื่อจะสำเร็จ ถ้าไม่ทดลอง ก็จะมีคำตอบแค่ว่า เจ๊งใหญ่ หรือเจ๊งเล็ก เท่านั้น”

 

 

     คุณถาม “ทำไม” บ่อยแค่ไหน

     ถามแล้ว คิดหรือไม่

     คิดแล้ว ลงมือทำไหม

     สำคัญมาก คือ ทำแล้ว ทำมากขึ้นไหม

 

     กวีวุฒิทิ้งท้ายว่า โลกวันนี้หมุนเร็วมาก องค์กรต้องการคนทำมากกว่าคิด

     “ใช้ความเห็นให้น้อยลง จงทำมากขึ้น”

 

Photo: mobilemarketingwatch.com

 

     บางเวทีในงานวันนั้นบอกว่า หนังโฆษณาจะสั้นเหลือ 6 วินาที เพราะความสนใจของคนวันนี้สั้นกว่าปลาทอง

     แต่ครีเอทีฟในอีกเวทีกลับโยนความคิดเชิงตั้งคำถามว่า วิธีคิดหรือทฤษฎีต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยการใช้ ‘มีเดีย’ เป็นตัวตั้งเพื่อหาโซลูชัน อาจไม่ถูกทั้งหมด

     โฆษณา 6 วินาที อาจสร้าง awareness เพราะคนดูจบ แต่อาจเป็นการ ‘เห็นที่ไม่เห็น’ เพราะไม่ประทับใจ จำไม่ได้

     ‘ยอดวิว’ อาจไม่ได้บอกอะไร เพราะบางคนอาจดูแค่ไม่กี่วินาทีแล้วปิด ถามว่ายอดคนดู 5 ล้าน 10 ล้าน มีคนดูจนจบกี่คน

     รวมถึงระยะการวางแพลนที่ยาวเกินไป หนังโฆษณาบางเรื่องกว่าจะเคาะไอเดีย เตรียมงาน ถ่ายทำ ปรับแก้ ฯลฯ มีกระบวนการทำงานที่ยาวนานหลายเดือน แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างไปเร็วมาเร็ว หนังโฆษณาที่ทำนานหลายเดือน ก็อาจจะกลายเป็นหนังโฆษณาที่ได้รับการจดจำแค่เพียงวันเดียว หลังจากนั้นก็ถูกเรื่องราวอื่นๆ กลืนหายไปในทะเลข้อมูล ผู้คนต่างลืม เสมือนว่าไม่เคยมีเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง

     และไม่มีหรอก สื่อ traditional หรือ digital เพราะสุดท้ายทุกสิ่งกลับมาที่ ‘คน’ คนคือศูนย์กลางเสมอ

 

ภารุจ ดาวราย

 

     “บางทีเราอาจต้องกลับมาที่เหตุแห่งทุกข์”

     ภารุจ ดาวราย Managing Director จาก The Leo Burnett Group Thailand ชวนคิดด้วยการบอกว่า ทฤษฎี ตัวเลขต่างๆ เกิดจากความกลัวของลูกค้า เพราะเขาจ่ายเงินมาแล้ว การจ่ายเงินนั้นต้องมีเหตุผลตอบหัวหน้าได้ว่า จะเกิดผลอย่างไร ซึ่งตัวเลขและทฤษฎีต่างๆ ก็คือเหตุผลที่ยืนยันว่า เงินที่จ่ายไปนั้นมีเหตุมีผล

     “หน้าที่ของครีเอทีฟคือ ทำให้เขาละจากการใช้เหตุผล มาใช้ความรู้สึกนำ แทนที่จะโฟกัสแต่ข้อมูลและตัวเลข”

     ภารุจ บอกว่า ความกลัวทำให้คนพยายามหาสูตรสำเร็จ

     “แต่สูตรสำเร็จไม่เคยพาใครไปสู่ความสำเร็จ”

     เพราะสูตรสำเร็จ คือ อดีต

     สูตรสำเร็จในปัจจุบัน จึงต้องเป็นสูตรที่คุณต้อง ‘คิด’ และ ‘ทำ’ มันขึ้นมาเอง

 

Photo: websigmas.com

 

     ‘ความสำเร็จ’ คือสิ่งที่วิทยากรทุกคนพูดบนเวที แม้แต่วิทยากรจากบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ที่หลายคนตั้งคำถามถึงการปรับตัวและเอาตัวรอดในยุคดิจิทัล ก็พูดถึงความสำเร็จของตัวเอง

     บ้างก็พูดถึงบริการของบริษัทตัวเอง ว่าจะพาองค์กรอื่นที่ร่วมงานด้วยประสบความสำเร็จอย่างไร

     บ้างก็พูดถึงความสำเร็จของตัวเองเหมือนบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่

     ซึ่งความสำเร็จที่พวกเขาพูดถึงมีจุดร่วมกัน คือ ‘เข้าใจลูกค้า’ และมีกระบวนการทำงานคล้ายวิธีคิดแบบ Design Thinking ของกวีวุฒิ

     นั่นคือ การจะเข้าใจลูกค้าได้ ต้องรู้จักว่า ลูกค้าใช้ชีวิตอย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร สิ่งนี้เรียกว่า Data

     แต่ในโลกที่มีดาต้ามหาศาล หรือบางคนเรียก Big Data นั้น ถ้าจะให้คนทำความเข้าใจลูกค้าทุกคนก็คงไม่ไหว เพราะฉะนั้นจึงมีการใช้ Machine Learning เข้ามาทำความรู้จักลูกค้าแต่ละคนผ่านดาต้าของพวกเขา

     คนแต่ละคนมีความชอบ รสนิยม การใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน ดังนั้นดาต้า ของพวกเขาจึงไม่เหมือนกัน การทำความเข้าใจลูกค้าวันนี้จึงต้องเข้าใจเป็นรายบุคคลหรือ Personalize ไม่ใช่เหมารวมแบบในอดีต ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งเกินความสามารถของ Machine Learning ที่จะสามารถ ‘รู้ใจ’ ลูกค้าจนสามารถคาดเดาและนำเสนอสิ่งที่คนคน นั้นชอบ โดยไม่ต้องถาม

 

 

     Taboola และ Outbrain คือ แพลตฟอร์มที่จะนำคอนเทนต์ บทความ หรือโฆษณาแบบเนียนๆ (Native Ad) ไปปรากฏในหน้าเว็บไซต์ต่างๆ โดยมีรูปแบบที่กลืนไปกับบทความของเว็บไซต์นั้น

     โดยบทความจะปรากฏตามความสนใจของแต่ละคน ซึ่งเกิดจากการติดตามข้อมูลและคำนวณโดย Machine Learning

     “ผู้บริโภคยุคนี้มีสิทธิ์เลือก และปฏิเสธที่จะไม่ดูโฆษณา” Chris Mockford – Head of Operation APAC ของ Outbrain ชี้ว่า หมดยุคยัดเยียดโฆษณาแล้ว ถ้าจะโฆษณา โฆษณานั้นต้องไม่ใช่โฆษณา

 

How Outbrain Amplify Works

 

     คีย์เวิร์ดของ Chris Mockford ที่ฉายบนสไลด์ Trust of Advertising ระหว่างการบรรยาย คือ

     Content is King,

     Distribute is Queen,

     Relevant is KEY.

     และ

     Curated Content & High Quality

     ซึ่งทั้ง Taboola และ Outbrain ให้บริการในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เพื่อหยิบคอนเทนต์ในทะเลข้อมูลที่ท่วมท้นไปส่งถึงผู้อ่านได้อย่างตรงใจ

     ‘drive content to right person’

 

 

Introducing Taboola Feed

 

     ด้าน John Harvey – Managing Director, APAC ของ Taboola ได้แนะนำเครื่องมือใหม่ ชื่อ Taboola Feed ที่มาในรูปแบบ news feed บนโมบายดีไวซ์

 

 

Trying the IBM Watson tech behind the North Face beta

 

     นอกจากนี้ ยังมีการใช้ Machine Learning ในการขายของได้อย่างน่าสนใจ เช่นในกรณีของแบรนด์ The North Face ที่ใช้ Machine Learning ในการขายแจ็กเก็ต ผ่านการตั้งคำถามแล้วให้คุณพิมพ์ตอบ เพื่อแนะนำแจ็กเก็ตที่เหมาะกับคุณ

     สนใจเข้าไปลองเล่นได้ที่ www.thenorthface.com

 

     บนเวทีใหญ่ ระหว่างที่ ณธิดา รัฐธนาวุฒิ ผู้ก่อตั้ง www.marketingoops.com บรรยายเรื่อง Digital Marketing Trend แม้เธอจะพูดถึงเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่า Chatbot, Data ฯลฯ แต่เธอบอกว่า หัวใจสำคัญคือ Customer Experiences หรือการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้าของคุณ

     ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่นักการตลาดต้องจับตาในวันนี้ให้ดี คือ คนยุค Millennial นิยามตามอายุคือ คนที่วันนี้มีอายุ 17-37 ปี แต่ถ้านิยามตามพฤติกรรมคือทุกคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต ติดโทรศัพท์ จ้องจอมากกว่ามองหน้าคนใกล้ตัว

     และเป็นกลุ่มที่ยินดี ‘จ่าย’ ถ้าสินค้าของคุณตอบโจทย์

 

     สินค้าที่ตอบโจทย์เกิดจากอะไร?

     อันที่จริง โมเดลการคิดเพื่อค้นหาคำตอบมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนพูด

     นักการตลาด ครีเอทีฟ คนวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ เพื่อหาคำตอบที่ต้องการตามลักษณะเฉพาะของงาน

     แต่โดยแนวคิดนั้นมีวิธีคิดคล้ายกัน ทั้งหมดเริ่มต้นจาก ‘คำถาม’ ว่า

     “ทำไม?”

 

Photo: Pinterest

 

     เหมือนกับวิธีคิดแบบ Design Thinking เพื่อสร้างนวัตกรรมของกวีวุฒิ

     ASK – THINK – ACT

     ถาม, เพื่อรู้จัก เห็นปัญหา

     ขบคิด, เพื่อหาทางออก

     ทำ, เพื่อทดลอง และแก้ปัญหา

     ปัญหาที่พร้อมจะผุดกำเนิดใหม่ทุกวัน เพราะคนเปลี่ยนทุกวัน เทคโนโลยีเปลี่ยนทุกวัน โลกเปลี่ยนทุกวัน

     เพราะฉะนั้น คนทำงานยุคนี้ ต้องกล้า ‘ทดลอง’ และ ‘ทำ’ สิ่งใหม่ พร้อมกับไม่กลัวที่จะ ‘รื้อ’ สิ่งเก่า

     ไม่มีใครสนใจความสำเร็จของเมื่อวาน

     เพราะฉะนั้นจงกล้าตัดสินใจปรับ ​Mindset ในวันนี้ ถ้าคุณคิดว่ายังไม่ใช่

     หมั่นตรวจสอบความคิดอยู่เสมอ เพราะมันอาจเป็นความคิดที่หมดสมัย

     ถ้าคุณคิดว่า ตัวเองมีข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพราะอุปสรรคอะไรก็ตาม ขอให้รู้ไว้ว่า ‘ข้อจำกัด คือ มารดาของความคิดสร้างสรรค์’ (ใครที่ไปฟังเวทีที่ ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม พูดจะเข้าใจคำนี้ได้ดี)

 

     กลับมาที่คำถามในบรรทัดแรก “วันนี้โลกดิจิทัลไทยกำลังยืนอยู่ที่จุดไหน?”

     จุดไหนก็ได้ ที่ไม่ใช่จุดเดิม.

 

ภาพประกอบ: Thiencharas.w

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising