×

เมื่อคนไทยจะเข้าสู่โลก Metaverse ถึง 22 ล้านคนภายในปี 2570 แล้วธุรกิจจะสร้างโอกาสได้อย่างไร หาคำตอบได้จากมุมมองของสามผู้บริหาร Prakit Holdings, Smallroom และ EventPass พาร์ตเนอร์หลักของ ‘D.OASIS’

โดย THE STANDARD TEAM
04.07.2022
  • LOADING...
D.OASIS

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • จากการคาดการณ์ของ D.OASIS จะมีคนไทยเข้าสู่โลก Metaverse ถึง 22 ล้านคนภายในปี 2027 ซึ่งคำถามที่ตามมาคือ แล้วธุรกิจจะสร้างโอกาสได้อย่างไร 
  • ในมุมของ Prakit Holdings โลกของ Metaverse ไม่ใช่แค่เรื่องของการโฆษณาเท่านั้น แต่ต้องย้อนกลับไปยังเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือ ‘การสร้างแบรนด์’ ที่หากแบรนด์ไหนเข้าไปได้ก่อนก็ย่อมจะได้เปรียบ
  • อุตสาหกรรมเพลงก็เป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังเตรียมตัวกับการมาถึงของ Metaverse ซึ่งผู้ก่อตั้ง Smallroom กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า Metaverse เป็นจินตนาการที่กำลังจะมาถึง แล้วเราไม่ควรปิดกั้นมัน”
  • สำหรับวงการอีเวนต์ ผู้ก่อตั้ง EventPass เห็นว่า Metaverse เป็นโอกาสระยะยาวที่ธุรกิจจะทยอยเข้าไปสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้ องค์กรควรเริ่มแตะเข้าไปใน Metaverse เพื่อที่จะได้เรียนรู้ สร้างเครือข่าย การมีส่วนรวม และ Use Case การที่ไม่มี Use Case จะทำให้เราไปต่อไม่ได้
  • การที่องค์กรใหญ่ขนาด Prakit Holdings, Smallroom และ EventPass เข้าสู่ Metaverse ของ D.OASIS พร้อมกัน จะช่วยพาคนไทยเข้าสู่โลก Metaverse ระดับโลกได้เร็วยิ่งขึ้น

ด้วยความที่ ‘Metaverse’ คือโลก 3 มิติที่ผสมผสานทั้งโลกจริงและโลกเสมือนเข้าไว้แบบไร้รอยต่อ จึงทำให้ผู้คนสามารถเข้าไปใช้ชีวิต ทั้งทำงาน พักผ่อน ชมความบันเทิง เล่นเกม พบปะพูดคุยกัน ตลอดจนทำกิจกรรมร่วมกันได้เหมือนเป็นโลกจริงๆ 

 

ทำให้บริษัทต่างๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรมได้เริ่มสำรวจความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจบน Metaverse แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในธุรกิจค้าปลีก ความงาม และแฟชั่น ธุรกิจร้านอาหาร อุตสาหกรรมบันเทิง ภาคการเงินและธนาคาร ภาคการศึกษา ตลอดจนภาครัฐ 

 

โดย D.OASIS คาดว่า 1 ใน 3 ของประชากรในไทยจะเข้าสู่โลก Metaverse ภายในปี 2570

 

D.OASIS ประมาณว่า ปัจจุบันในไทยมีผู้ใช้งานเกมกึ่ง Metaverse ในแพลตฟอร์มหลัก เช่น Sandbox, Roblox และ Fortnite แล้วประมาณ 700,000 คน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึง 22 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในปี 2570 โดยอัตราการเติบโตใน 4-5 ปีนี้จะคล้ายกันกับการเติบโตยุคเริ่มต้นของโซเชียลมีเดีย

 

ไม่ใช่แค่เกม

“แต่การจะเป็น Metaverse ได้นั้นต้องเกิดการ Decentralized ต้องมีการจัดระเบียบเทคโนโลยีบางอย่างที่จะทำให้ไปถึงจุดจุดนั้นที่เรียกว่า Metaverse ไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะจบแค่เกม” อภิรักษ์ อภิสารธนรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ประกิต โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (Prakit Holdings) ให้มุมมอง

 

“ตอนแรกทุกคนพูดถึง Metaverse ผมถามว่ามันคือเกมเหรอ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะมีเทคโนโลยี Blockchain ที่ทำให้เกิดการ Decentralized ขึ้นได้ ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ มีคุณค่า และคอมมูนิตี้เกิดขึ้น เมื่อสามปัจจัยนี้มารวมตัวกันก็จะต่างจากเกมที่เล่นเฉยๆ ไม่ใช่แค่เกมเล่นกันเฉยๆ เล่นแล้วมีมูลค่าบางอย่าง ทำให้ความเสมือนจริงของโลกเกิดขึ้นมา”

 

เมืองของ D.OASIS ใน The Sandbox Metaverse

 

“Metaverse อยู่ในจุดเริ่มต้น และจะเติบโตแบบ Exponential โดยทั่วโลกจะมีคนอยู่สองกลุ่มคือ กลุ่มที่บุกเบิก กับกลุ่มที่ต้องเห็นของจริงก่อนแล้วค่อยกระโดดเข้าไป แต่สำหรับผมมองว่า นี่เป็นรถไฟที่ไม่ควรตกขบวน” 

 

และเพราะไม่อยากให้ภาคธุรกิจไทยตกขบวนรถไฟดังกล่าว จึงกลายเป็นที่มาของ ‘D.OASIS’ ซึ่งร่วมกับ 30 องค์กรพันธมิตรธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย เปิดตัว ‘D.OASIS, The Sandbox Metaverse’ โลกเสมือนระดับโลกของเมืองไทย ซึ่งพัฒนา Metaverse Ecosystem เพื่อเชื่อมต่อโลกธุรกิจ, บันเทิง, ครีเอทีฟ, การศึกษา และไลฟ์สไตล์ 

 

โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การสปริงบอร์ดให้ประเทศไทยเป็นผู้นำ Web3 และ Metaverse ของเอเชีย 

 

Metaverse ไม่ใช่แค่เรื่องของการ ‘โฆษณา’

หากมองว่า ‘โฆษณา’ จะเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ได้ประโยชน์จากโลกของ Metaverse แน่นอนเรื่องนี้ต้องเป็นผลดีต่อ Prakit Holdings หนึ่งในเอเจนซีสัญชาติไทยแท้ๆ ที่มีผลงานไม่ธรรมดากับการสร้างสรรค์งานโฆษณา จนคว้ารางวัลจากเทศกาล Cannes Lions ที่เปรียบได้กับรางวัล Oscars ของวงการภาพยนตร์ หรือ Grammy Awards ซึ่งเป็นที่สุดของผู้คนในวงการเพลง

 

กระนั้นอภิรักษ์ฉายภาพว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการโฆษณาเท่านั้น แต่ต้องย้อนกลับไปยังเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น คือ ‘การสร้างแบรนด์’

 

การสร้าง Branding ไม่ว่าจะในแพลตฟอร์มไหนก็ตามต้องมี Brand Equity หรือ Brand Asset ที่เข้าไปสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้คนและประสบการณ์บางอย่างได้ ซึ่ง Metaverse สามารถตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้ได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่แตกต่างคือ Metaverse จะเปิดช่องให้ Personal Branding เพิ่มมากขึ้นด้วย

 

โดยการที่ผู้คนจะเข้าไปอยู่ใน Metaverse จะต้องมี ‘อวาตาร์’ ที่ต้องการเสื้อผ้าหน้าผม รองเท้า ของต่างๆ เหมือนโลกแห่งความเป็นจริงเพื่อแสดงความเป็นตัวตนของเรา ซึ่งแบรนด์สามารถเข้าไปอยู่ในนั้น จะสามารถสร้างอิทธิพล ตลอดจนทำรายได้ได้ด้วย ต่อไปอาจจะมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ทั้งโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือน ทำให้กลายเป็นมัลติเวิร์สไปแล้ว

 

 

“ตอนนี้ 1 ใน 3 ของชีวิตประจำวันได้ไปอยู่ในโลกออนไลน์แล้ว ดังนั้นหนีไม่พ้นที่แบรนด์ทุกแบรนด์ต้องปรับตัวให้เข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ที่กำลังจะเกิดขึ้น และเปลี่ยนผ่านจาก Web2 ไป Web3 ได้” อภิรักษ์กล่าว “โดยแบรนด์จะอยู่ได้ต้องมีสองเรื่องคือ ต้องเข้าไปอยู่ในจิตใจและสมองของผู้คน คนถึงจะเห็นค่าและจำแบรนด์นั้นๆ ได้”

 

เมื่อแบรนด์เริ่มก่อนถึงจะเป็น ‘โฆษณา’ ซึ่งตามไปทุกที่ที่มีการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากัน ต้องมีการโปรโมตให้มีการรู้จัก เข้าใจ และเห็น ดังนั้นงานโฆษณาต้องอยู่ในโลกของ Metaverse เพื่อให้ทำให้คนรู้จักและขายของ ไม่ว่าจะเป็นโลกของ Metaverse ไหนก็แล้วแต่

 

“สิ่งที่เราจะได้เห็นโฆษณาแบบแรกๆ ใน Metaverse คือ การติดไปที่ตึกหรือป้ายต่างๆ ในโลกเสมือนจริง ซึ่งทำได้เลยวันนี้ อันที่สองการทำให้โฆษณาเข้าไปมีส่วนร่วมกับผู้คน ผ่านการให้รางวัลต่างๆ เหมือนการเล่นเกม ซึ่งหากให้เปรียบเทียบ Metaverse ก็เหมือนเกม แต่เป็นเกมที่มีมูลค่าจริง ใช้จ่ายจริงๆ”

 

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ หลังจากมีข้อมูลเยอะขึ้นจะนำไปสู่ Personalization ทำให้แต่ละคนที่เข้าไปอาจจะเห็นสิ่งของไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนมีความชอบที่แตกต่าง ซึ่งที่สุดแล้วจะก่อให้เกิดความเชื่อมต่อระหว่างโลกเสมือนจริงกับโลกแห่งความเป็นจริง โดยการเข้าไปก่อนถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะมูลค่าทุกสิ่งทุกอย่างยังจับต้องได้

 

“แบรนด์ใหญ่ๆ ในต่างประเทศเข้าสู่โลก Metaverse แล้ว เพราะกลุ่มนี้ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเทรนด์ใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า แต่สำหรับของไทยต้องมีการขายสินค้าให้ได้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ผิดและนี่เป็นเพียงความคิดที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงมีโซลูชันบางอย่างที่ปิดช่องว่างได้คือ NFT ซึ่งสามารถสร้างได้ไปในตัว”

 

Metaverse เป็นจินตนาการที่กำลังจะมาถึง

อุตสาหกรรมเพลงเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังเตรียมตัวกับการมาถึงของ Metaverse ซึ่ง รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Smallroom กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “Metaverse เป็นจินตนาการที่กำลังจะมาถึง แล้วเราไม่ควรปิดกั้นมัน”

 

Smallroom เป็นค่ายเพลงที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมานานกว่า 2 ทศวรรษ และมีศิลปินที่เราทุกคนต่างรู้จักอย่าง Tattoo Colour, Polycat, The Richman Toy และ Somkiat เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าต้องมีสักเพลงของศิลปินเหล่านี้เป็นเพลงโปรดของใครหลายคนแน่ๆ 

 

ผู้ก่อตั้งค่ายเพลงที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่ในยุคเด็กแนวเบ่งบานได้กล่าวต่อว่า แน่นอน Smallroom ทำเพลงเป็นหลัก (ปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 เพลง และเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 40-50 เพลง) คำถามที่น่าสนใจคือ ในโลกแห่งจินตนาการนี้ยังจะมี ‘เพลง’ อยู่ไหม?

 

รุ่งโรจน์มอง ‘เพลง’ เป็นปัจจัยที่ 5 นอกจาก อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ดังนั้นไม่ว่าจะโลกแห่งความเป็นจริงหรือโลกเสมือนจริงต้องมีเพลงอยู่ในนั้นแน่นอน

 

 

“ก่อนที่จะไปโลก Metaverse เพลงในปัจจุบันก็เป็นดิจิทัลอยู่ในสตรีมมิงต่างๆ อยู่แล้ว ในขณะที่สมัยก่อนยังเป็นเทปคาสเซตต์หรือซีดี ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนไปแล้วและกำลังจะเปลี่ยนไปอีก ซึ่งเกี่ยวข้องกับเพลงไหม มุมมองผมเห็นว่าเปลี่ยนแน่ๆ แต่แน่นอนการเปลี่ยนแปลงนี้ยังอยู่ในยุคแรกเริ่ม”

 

การเข้ามาของ Metaverse จะเข้ามาเปลี่ยนจินตนาการที่จะทำในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้ให้เกิดขึ้นได้จริงๆ 

 

รุ่งโรจน์ยกตัวอย่างจินตนาการที่เขามองเห็นคือ สมัยก่อน Smallroom มักจะแฮงเอาต์ใต้ต้นก้ามปูหน้าออฟฟิศ ถ้ามีใครเดินมาละแวกนั้นก็จะมีการทักทายเกิดขึ้น แต่พอย้ายออฟฟิศขึ้นไปชั้น 5 ก็ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว แต่ในโลก Metaverse ทำให้เราแฮงเอาต์กับแฟนเพลงได้ทุกวัน เวลา 2 ทุ่มก็สามารถทำได้แล้ว นี่ยังไม่นับรวมการปล่อยเพลงหรืออื่นๆ

 

“จริงๆ มันคือโซเซียลมีเดียที่เสมือนจริง เราสามารถเจอเพื่อนและสังคมในนั้น ขณะเดียวกันในมุมของศิลปินยังทำให้ใกล้ชิดกับแฟนเพลงได้มากขึ้นด้วย เช่นวันนี้ Tattoo Colour เพิ่งแต่งเพลงใหม่เสร็จ อยากถามความเห็นจากแฟนเพลง ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนอาจจะขอตัวอย่างสัก 50 คน แต่ใน Metaverse เราสามารถได้ความเห็นจากแฟนเพลง 5,000 คน ไปจนถึง 100,000 คน แล้วก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ทันที และค่อยๆ พัฒนาเพลงนี้ไปด้วยกัน”

 

ก่อนหน้านี้ในโลกแห่งความเป็นจริง รุ่งโรจน์เคยมีความคิดที่จะทำรายการเรียลิตี้เพื่อถ่ายทอดกระบวนการทำเพลงตั้งแต่แรก แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างก็ไม่สามารถทำได้ ตรงกันข้ามเรื่องนี้สามารถทำได้เลยใน Metaverse 

 

“เพลงเป็นตัวเชื่อมตรงกลางไม่ว่าจะโลกไหน เพลงเป็นภาษาสากล ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้นเมื่อมี Metaverse จะทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับแฟนเพลงต่างชาติได้เลย โดยที่เขาไม่ต้องเดินทางมาที่เมืองไทยด้วยตัวเอง นี่ยังไม่นับการจัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ที่ไม่ต้องถูกจำกัดด้วยพื้นที่ ซึ่งถ้าเราจะทำคอนเสิร์ตนั้น เสียง ภาพ เรื่องราว และประสบการณ์ร่วมต้องดีจริงๆ ผู้ชมต้องได้ไม่น้อยกว่าโลกแห่งความเป็นจริง” 

 

รุ่งโรจน์ยังได้ย้ำว่า Metaverse เป็นสิ่งที่เราควรกระโจนเข้าหามัน เพราะนี่เป็นจินตนาการของมนุษย์ที่สามารถสร้างให้เกิดจริงๆ ได้ แน่นอนในเบื้องต้นทุกคนไม่ว่าจะค่ายเพลง ศิลปิน และแฟนเพลงอาจจะต้องปรับตัว แต่ที่สุดเราก็จะคุ้นชินกับ Metaverse กันไปเอง 

 

Metaverse การเชื่อมโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือนจริง

นอกเหนือจากโฆษณาและเพลงแล้ว อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังสนใจ Metaverse ไม่แพ้กันคือ ‘อีเวนต์’ ด้วยการเกิดโรคระบาดของโควิด ทำให้การจัดงานออนไลน์หรืองาน Virtual เป็น Perception ใหม่ของผู้คน ทั้งคนจัดและคนร่วมงานต่างยอมรับมากขึ้น 

 

แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างหนึ่งของงานอีเวนต์คือ การไปร่วมงานเราจะได้ประสบการณ์ อารมณ์ร่วมครบในทุกด้าน ทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ดังนั้นคำถามที่เกิดขึ้นมาคือ Metaverse จะสามารถเติมเต็มเรื่องเหล่านี้ได้หมดหรือไม่?

 

เอกคณิต จันทร์สว่าง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีเว้นท์ ไทย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มบริหารจัดการอีเวนต์ครบวงจรภายใต้ชื่อ EventPass ให้มุมมองว่า เทคโนโลยีกำลังไปในทิศทางของ Metaverse และความเร็วของการพัฒนากำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้วตอนนี้อุปกรณ์ต่างๆ พร้อมแล้วที่จะให้ รูป รส กลิ่น เสียง ที่จะมาเติมเต็มในโลกของ Metaverse ไม่ใช่แค่การเห็นผ่านกล้องอย่างเดียว เพียงแต่ว่าอุปกรณ์จะถูกลงเมื่อไรและเร็วแค่ไหน ตรงนี้ยังเป็นความท้าทายอยู่

 

 

“สำหรับคนในวงการอีเวนต์เห็นว่า Metaverse เป็นโอกาสระยะยาวที่ธุรกิจจะทยอยเข้าไปสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้ องค์กรควรเริ่มแตะเข้าไปใน Metaverse เพื่อที่จะได้เรียนรู้ สร้างเครือข่าย การมีส่วนรวม และ Use Case การที่ไม่มี Use Case จะทำให้เราไปต่อไม่ได้”

 

สำหรับ EventPass ก่อตั้งมาแล้ว 5 ปี โดยเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มระบบการจัดงานอีเวนต์ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายให้กับผู้จัดงานและผู้ร่วมงาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานแล้วเกือบ 2 ล้านคนใน 711 อีเวนต์

 

ผู้ก่อตั้ง EventPass มองโอกาสของธุรกิจอีเวนต์จากการมาถึงของ Metaverse คือการที่คอยเชื่อมโลกออฟไลน์เข้ากับ Metaverse เพื่อที่ว่าเมื่อผู้บริโภคเข้าไปยังโลกของ Metaverse และออกมาในโลกออฟไลน์ จะยังมี Benefit หรือประสบการณ์บางอย่างติดตามมาด้วย ซึ่งในช่วงแรกจะต้องใช้กระบวนท่าแบบพลิกแพลงไปก่อน 

 

โดยช่วงแรกอีเวนต์ที่จะได้ประโยชน์จาก Metaverse คืออีเวนต์ที่ให้สัมผัสบางอย่าง เช่น การมอง การได้ยิน การช้อปปิ้ง กลุ่มนี้สามารถเข้าได้เลย เพราะไม่ต้องรอกลิ่น รอสัมผัส แต่จะเข้าแบบไหนคงต้องมาหาประสบการณ์ร่วมอีกที เพราะการไปอีเวนต์แบบออฟไลน์และออนไลน์ ความพยายามในการไปไม่เท่ากัน แต่ประสบการณ์ที่จะได้รับก็ไม่เท่ากันด้วย สิ่งสำคัญคือการไปในออนไลน์ต้องทำให้ได้มากกว่าออฟไลน์ แต่จะได้มากกว่าในมุมไหนยังคงเป็นการบ้านที่ต้องทำ 

 

ในมุมมองของเอกคณิตเห็นว่า อีเวนต์ควรเข้าไปในโลก Metaverse แม้นี่จะเป็นเรื่องที่ใหม่มาก เพราะถ้าไม่เข้าตอนนี้ก็จะไม่ได้เรียนรู้และจะตามหลังคนอื่นๆ วันหนึ่งหันกลับมาอีเวนต์ออฟไลน์จะอยู่ไม่ได้แน่นอน เพราะวันนี้มี Virtual Event ที่เกิดขึ้นแล้ว

 

ต้องมาอยู่ใน Ecosystem ที่พร้อม 

เอกคณิตยังได้ชวนคิดว่า ธุรกิจอีเวนต์จะใช้ประโยชน์จาก Metaverse ได้อย่างไร เบื้องต้นเลยคือการนำตัวเองมาอยู่ใน Ecosystem ที่พร้อมด้วย ซึ่งหากจะให้ตอบคำถามของเรื่องนี้คงเป็น ‘D.OASIS’

 

“ส่วนตัวไม่เชื่อว่าการจะทำ Metaverse ให้ประสบความสำเร็จจะอยู่ที่การทำเทคโนโลยีให้ล้ำหน้า แต่เป็นการสร้างประสบการณ์ให้ดีที่สุด เพราะผู้คนที่เข้ามาในโลกของ Metaverse คาดหวังจะได้ประสบการณ์ที่แตกต่าง

 

“โดยหากใน Ecosystem มีคนอื่นๆ ที่พร้อมจะตอบโจทย์หลายๆ ด้าน จะนำมาซึ่งประสบการณ์ที่เป็น First Impression ใครที่สามารถมอบจุด Touch Point ตรงนี้ได้ก่อนก็จะได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ”

 

 

อภิรักษ์ได้เสริมขึ้นมาว่า Ecosystem ที่ดีต้องมีพาร์ตเนอร์ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งทุกอย่างมีอยู่แล้วใน D.OASIS ที่พร้อมต้อนรับพาร์ตเนอร์คนใหม่ๆ เข้ามาทำ Ecosystem นี้ให้สมบูรณ์มากขึ้นไปอีก 

 

ขณะเดียวกันเขาได้ย้ำว่า Partnership Collaborations เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการเข้าสู่ Metaverse “เพราะยุคนี้เราไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่าง และเป็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ Partnership Collaborations จะปิดช่องว่างเหล่านั้น และ D.OASIS เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมารวมกัน”

 

ทั้ง Prakit Holdings, Smallroom และ EventPass เป็นหนึ่งในองค์กรพันธมิตรหลักของ ‘D.OASIS’ แพลตฟอร์มเชื่อมต่อเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญทุกมิติเพื่อเข้าสู่โลก Metaverse และ NFT เพื่อดึงคนไทยเข้า Metaverse ระดับโลกอย่าง The Sandbox ไปพร้อมกัน ซึ่งวันนี้พร้อมต้อนรับทุกพันธมิตรธุรกิจที่อยากเข้ามาร่วมขบวนรถไฟคันนี้!

  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising
X