×

ดีอี ดัน พ.ร.บ.ไซเบอร์-พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านวาระ 1 สนช. รวม 6 ฉบับ เผยมอบเป็นของขวัญปีใหม่คนไทย

โดย THE STANDARD TEAM
30.12.2018
  • LOADING...

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่าพระราชบัญญัติไซเบอร์-พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้ผ่านการรับหลักการของ สนช. และร่างพระราชบัญญัติอื่นๆ รวม 6 ฉบับแล้ว เผยเตรียมมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย เล็งผลักดันกฎหมายสำคัญต่อการรองรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน

 

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่ง ‘ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ….’ ไว้พิจารณา พร้อมทั้งลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่ง ‘ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ….’  และได้มีการมอบหมายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. เป็นผู้พิจารณาร่างไซเบอร์อีกด้วย

 

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีจุดประสงค์เพื่อกำหนดให้การเก็บรวมรวม การใช้หรือเปิดเผย ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อนจึงจะกระทำได้ เว้นแต่มีข้อยกเว้นตามที่ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนด เนื่องจากปัจจุบันมีการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก จนสร้างความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูล กฎหมายนี้จึงจะออกมาเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนทุกคน โดยแยกบุคคลเป็น 3 ระดับ คือเจ้าของข้อมูล ผู้จัดเก็บข้อมูล และผู้นำข้อมูลไปประมวลผล โดยหน่วยงานที่เป็นผู้จัดเก็บข้อมูล

ส่วน ‘ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์’ เนื่องจากการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม หรือการให้บริการโดยปกติของดาวเทียมมีความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์อันอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

 

ดังนั้นเพื่อให้สามารถป้องกัน หรือรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ได้ทันท่วงที สมควรกําหนดลักษณะของภารกิจหรือบริการที่มีความสําคัญเป็นโครงสร้างพื้นฐานสําคัญทางสารสนเทศที่จะต้องมีการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านต่างๆ รวมทั้งให้มีหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบในการดําเนินการประสานการปฏิบัติงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าในสถานการณ์ทั่วไปหรือสถานการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างร้ายแรง ตลอดจนกําหนดให้มีแผนปฏิบัติการและมาตรการด้านการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีเอกภาพและต่อเนื่อง อันจะทําให้การป้องกันและการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

กฎหมายดังกล่าวจะสามารถป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที เพราะปัจจุบันเกิดปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์ในหลายประเทศ และหลายกรณีก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น ฐานข้อมูลโรงพยาบาล ธนาคาร มีการปล่อยมัลแวร์ที่เหมือนไวรัสเข้ามาทำลายระบบการสื่อสารในระบบคอมพิวเตอร์

นายพิเชฐกล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติสำคัญอีก 4 ฉบับ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการลงมติในวาระที่ 1 รับในหลักการเรียบร้อย พร้อมทั้งทุกฉบับได้มีการตั้งคณะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแล้ว ประกอบด้วย 1. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2. ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 3. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เพิ่มหมวดการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล) และ 4. ร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย – กําหนดให้จัดตั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามร่างพระราชบัญญัตินี้

 

โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับสุดท้ายนั้นมีวัตถุประสงค์หลักในการเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลในการเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับดิจิทัล รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลร่วมกับหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนอื่นๆ ส่งเสริมให้มีการรับรองคุณภาพ มาตรฐาน และจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัล ตลอดจนเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมและอยู่ในระดับสากล

 

นายพิเชฐ กล่าวว่า “การผลักดันร่างกฎหมายทุกฉบับในครั้งนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมสูงที่จะไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในมาตรฐานที่เป็นสากล ทำให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง และเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยไซเบอร์ซึ่งเป็นปัญหาสากลที่ทั่วโลกเผชิญหน้าอยู่”

 

ภาพ: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising