วันนี้ (15 ตุลาคม) ดร.ทิวธวัฒ นาพิรุณ อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ร่วมกับทีมจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกที่ชื่อว่า ‘ดาราพิลาส’ หรือ Cute Star Flower โดยค้นพบครั้งแรก ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว จังหวัดระนอง เมื่อเดือนเมษายน 2564 จากนั้นได้ค้นคว้าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งสามารถยืนยันได้ว่าพืชชนิดนี้ยังไม่เคยถูกรายงานหรือถูกค้นพบมาก่อนแต่อย่างใด
สำหรับ ‘ดาราพิลาส’ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lasianthus ranongensis Sinbumroong & Napiroon และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพด้านชีววิทยาพืช PeerJ (Section Plant Biology) ของสหรัฐอเมริกา
ดร.ทิวธวัฒกล่าวว่า ได้ร่วมกับ อรุณ สินบำรุง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ มานพ ผู้พัฒน์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการสำรวจและเก็บตัวอย่างต้นแบบ ก่อนจะตั้งชื่อและเขียนคำบรรยายทางพฤกษศาสตร์ตามกฎนานาชาติของการกำหนดชื่อวิทยาศาสตร์ของพืช (ICN) โดย Lasianthus ranongensis Sinbumroong & Napiroon เป็นการตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติจังหวัดระนอง
“ช่วงที่เก็บพืชชนิดนี้มาเป็นช่วงที่กำลังออกดอกเมื่อราวๆ เดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้ใช้ห้องแล็บของสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการระบุพันธุกรรมพืช ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการพิสูจน์ทราบทั้งหมด” ดร.ทิวธวัฒกล่าว
ดร.ทิวธวัฒกล่าวอีกว่า ลักษณะของ ‘ดาราพิลาส’ จะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีลักษณะดอกสวยงามคล้ายดวงดาวที่มี 6 หรือ 7 แฉก ขึ้นอยู่ตามพื้นป่าที่นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นได้ระหว่างเส้นทางศึกษาธรรมชาติมุ่งสู่น้ำตกหงาว โดยไม่ต้องเข้าไปในป่าลึก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ในอนาคต
สำหรับดาราพิลาส เป็นหนึ่งในสมาชิกพืชสกุลกำลังเจ็ดช้างสาร วงศ์เข็มหรือวงศ์กาแฟ (Rubiaceae) หลายชนิดในสกุลนี้เป็นพืชป่าสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารสำคัญทางพฤกษเคมี เช่น สารสโคโปเลตินที่พบในปริมาณสูง ซึ่งจากจำนวนกลีบดอกตามหลักชีววิทยาของพืชหรือพฤกษศาสตร์ จำนวนกลีบดอกไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ 4-5 กลีบดอก หรือเป็นทวีคูณของจำนวนดังกล่าวตามลักษณะพืชใบเลี้ยงคู่ทั่วไป แต่ปรากฏให้เห็นอยู่ในป่าเขตร้อนของไทย
ในส่วนของลักษณะสืบพันธุ์จะมีความแตกต่างจากชนิดใกล้เคียงภายในสกุลเดียวกัน เช่นเดียวกับส่วนประกอบอื่นๆ ของพืช เช่น ลักษณะรูปใบ สิ่งปกคลุมพื้นผิวกลีบดอกแบบขนสายสร้อยลูกปัด กลีบเลี้ยง ลักษณะรูปทรงหูใบ ที่ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะที่มีการควบคุมโดยพันธุกรรม และบ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นชนิดได้เป็นอย่างดีในทางชีววิทยาวิวัฒนาการและพฤกษศาสตร์
“ผมได้พูดคุยในส่วนของงานวิจัยต่อเนื่องกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีชีวภาพพืชมาใช้ หรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเพิ่มจำนวนให้พืชชนิดนี้อยู่ในสภาพที่สมดุล หรือลดความเสี่ยงต่อการหายไป ซึ่งจะทำเป็นโมเดลเฉพาะในพื้นที่ เพื่อให้พืชอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถตั้งตัวได้ เพิ่มโอกาสรอด ส่วนในพื้นที่อื่นๆ หากมีสภาพแวดล้อมเหมาะหรือใกล้เคียงกับที่ค้นพบ ก็มีโอกาสพบได้เช่นกัน” ดร.ทิวธวัฒกล่าว
อนึ่ง ปัจจุบัน ‘ดาราพิลาส’ ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (Forest Herbarium-BKF) กรุงเทพฯ สามารถไปศึกษาชิ้นส่วนตัวอย่างของดอก ซึ่งได้ดองเก็บรักษาไว้ รวมถึงมีชิ้นตัวอย่างแห้งที่ได้สตัฟฟ์ไว้
ภาพ: อรุณ สินบำรุง