×

คลังหั่นคาดการณ์ GDP ไทยปี 67 เหลือ 2.4% ส่อรั้งท้ายอาเซียน หากรวมดิจิทัลวอลเล็ตจะโต 3.3%

29.04.2024
  • LOADING...

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง หั่นคาดการณ์ GDP ไทยปี 2567 เหลือ 2.4% จาก 2.8% เหตุส่งออก-ลงทุนภาครัฐน่าจะอ่อนแอกว่าประมาณการครั้งก่อน

 

วันนี้ (29 เมษายน) พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ปรับลดประมาณการ GDP ไทยปี 2567 ลงเหลือขยายตัว 2.4% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.9-2.9%) จากประมาณการเมื่อเดือนมกราคมที่ 2.8% ถือว่ามีแนวโน้มที่จะรั้งท้ายเพื่อนบ้านในอาเซียน

 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ สศค. ต้องปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงมาจาก

 

  1. การส่งออกสินค้าที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567

 

  1. การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว ซึ่งสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์และหมวดชิ้นส่วนและแผงวงจร
ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567

 

  1. ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนีโญ 

 

  1. ภาคการคลังที่ยังคงใช้การเบิกจ่ายตามงบประมาณตามปี 2566 ไปพลางก่อน

 

อย่างไรก็ตาม อัตราขยายตัวที่ 2.4% ก็นับว่าสูงขึ้นจากปี 2566 ที่ขยายตัว 1.9% โดย สศค. มองว่าได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ รวมถึงบทบาทสนับสนุนของนโยบายการคลังในช่วงที่เหลือของปี 

 

โดย สศค. คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจะอยู่ที่ 35.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26.7% ต่อปี นับว่ายังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิดเมื่อปี 2562 ที่ 39.9 ล้านคน

 

แจงประมาณการล่าสุดยังไม่รวมมาตรการกระตุ้นอสังหา-ดิจิทัลวอลเล็ต

 

พรชัย ฐีระเวช ยังชี้แจงด้วยว่า ประมาณการล่าสุดนี้ยังไม่รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไปเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวได้ 1.7-1.8%

 

สำหรับเหตุผลที่ยังไม่รวมมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เข้าไป พรชัยชี้ว่า เนื่องจากต้องการใช้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงแล้ว

 

นอกจากนี้ประมาณการล่าสุดก็ยังไม่รวมเม็ดเงินจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตด้วย

 

โดย สศค. คาดว่า หากสามารถเริ่มมีการใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นที่ 3.3% ต่อปี (กรณีประชาชนใช้จ่ายเม็ดเงินส่วนใหญ่ภายในสิ้นปี 2567)

 

เตือนประมาณการ GDP มีความไม่แน่นอนสูง

 

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ สศค. ยังแนะว่าควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด เช่น

 

  • ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น หรือการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ
  • ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
  • การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ

 

สศค. ชี้ กระสุนการคลังมีจำกัด แต่คาด กนง. จะใช้กระสุนการเงินในครึ่งปีหลัง

 

ก่อนหน้านี้มีผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วนเรียกร้องว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจที่อ่อนแรง จึงอยากจะเห็นมาตรการทางการคลังที่มีผล (Effective) รวดเร็วกว่านโยบายการเงินที่กว่าจะเห็นผลก็อย่างน้อย 6 เดือน

 

ด้านพรชัยชี้ว่า ทางกระทรวงการคลังจะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 นอกจากนี้ปัจจุบันก็ยังมีมาตรการทางการคลังอื่นๆ เช่น ทางภาษีและการลดหย่อนภาษีหลายมาตรการที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่

 

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีมาตรการใหม่อื่นๆ ยกเว้นดิจิทัลวอลเล็ตที่คาดว่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและหนุน GDP ให้เพิ่มขึ้นที่ 3.3% ต่อปี เนื่องจาก “กระสุนการคลังมีอยู่เท่านี้ และหากใช้มาตรการภาษี (เพิ่มเติม) ก็จะไปส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ด้วย” พรชัยกล่าว

 

กระนั้นพรชัยยังคาดว่า ในครึ่งหลังของปี คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้ทยอยปรับลดดอกเบี้ย MRR ลงไปแล้ว

 

นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะในภาคส่งออกและภาคอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะช่วยเป็นหลักฐานให้ กนง. ประกอบการตัดสินใจ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X