กรมศุลกากรส่งหนังสือชี้แจงกรณีสื่อสังคมออนไลน์ได้มีการกล่าวถึงการปฏิบัติงานของกรมศุลกากร เกี่ยวกับการเปิดตรวจพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศนั้น โดยทางกรมศุลกากรชี้แจงในประเด็นต่างๆ ดังนี้
– การเปิดตรวจพัสดุ
กรณีที่มีการเปิดตรวจสิ่งของที่มีการส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ เพื่อประเมินภาษีอากรของกรมศุลกากร ภายใต้ประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2560 นั้นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะเปิดตรวจและประเมินค่าภาษีอากรต่อหน้าเจ้าหน้าที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ทุกครั้ง และเมื่อเปิดตรวจเสร็จสิ้นแล้ว จะดำเนินการปิดหีบห่อพัสดุด้วยการคาดเทปกาวพลาสติกที่มีข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ‘เปิดตรวจ / ปิดผนึก’ โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรร่วมกับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์
– การประเมินค่าภาษีอากร
กรมศุลกากรจะประเมินค่าภาษีอากรตามแนวของการประเมินราคาศุลกากรภายใต้ความตกลงแกตต์ขององค์การการค้าโลก ทั้งนี้ โดยใช้ราคาซื้อขายได้จริงที่รวมค่าขนส่งและค่าประกันภัย (CIF) เป็นฐานในการประเมินค่าภาษีอากร โดยเบื้องต้นจะพิจารณาราคาจากเอกสารรายละเอียดของสินค้าและราคา (Invoice หรือ CP72: Customs Declaration) ที่แนบมากับหีบห่อ เว้นแต่มีข้อสงสัยว่าราคาที่ปรากฏนั้น ไม่น่าจะใช่ราคาซื้อขายแท้จริง
– การโต้แย้งการประเมินค่าภาษีอากร
ในกรณีที่ที่ทำการไปรษณีย์แจ้งให้ไปรับพัสดุไปรษณีย์และชำระค่าภาษีอากร ณ ที่ทำการไปรษณีย์ หากไม่เห็นด้วยกับการประเมินค่าภาษีอากร สามารถยื่นคำร้องขอให้ประเมินภาษีใหม่ตามแบบฟอร์มที่กำหนด ก่อนการชำระค่าภาษีอากร พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบการโต้แย้ง
ทั้งนี้ ให้แนบใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยที่ยังไม่ต้องรับสิ่งของ เพื่อให้ที่ทำการไปรษณีย์นั้นส่งพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวกลับไปยังหน่วยงานศุลกากรพิจารณาทบทวนความถูกต้องของการประเมินค่าภาษีอากรต่อไป
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล