WFH คือข่าวร้ายสำหรับคนค้าขาย
กระแสจำนวนผู้ติดโควิด-19 ที่มากขึ้นในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ กำลังเป็นประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลต่อทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศ สิ่งที่ต้องติดตามอาจไม่ใช่เพียงจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น แต่เป็นมาตรการทั้งจากภาครัฐและเอกชนในการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วน หรือรักษาระยะห่างทางสังคมที่มากขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดีในการลดการแพร่เชื้อ แต่ก็หลีกหนีไม่พ้นว่าจะมีผลให้การบริโภคในประเทศชะลอลง แต่ด้วยมาตรการที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่น่ารุนแรงหรือเข้มงวดเท่าช่วงสงกรานต์ปีก่อน ผมมองว่าน่าจะคล้ายๆ ช่วงวันหยุดปีใหม่ที่เพิ่งผ่านมา
ในมุมนักเศรษฐศาสตร์ที่ชอบซอกแซกไปตามท้องถนนอย่างผม คงต้องหาคำตอบว่าหากมีมาตรการคล้ายๆ ลักษณะเดิมออกมาจะมีใครได้รับผลกระทบบ้าง จากที่ลองสอบถามพ่อค้าแม่ค้าทั่วไปก็เจอคำตอบหนึ่งที่น่าสนใจ เขาเล่าว่าเพิ่งได้ข่าวร้ายจากลูกค้าเจ้าประจำว่า บริษัทเริ่มให้เขา Work from Home (WFH) แล้ว ในมุมพ่อค้าแม่ขายที่มีทำเลร้านเป็นหลักแหล่งใกล้อาคารสำนักงาน การที่คนมาทำงานน้อยลงหมายถึงยอดขายที่จะลดลงตาม ต่อให้มีมาตรการโอนเงินจากภาครัฐมาช่วยกระตุ้นกำลังซื้อหรือลดค่าใช้จ่ายก็ไม่สามารถเพิ่มยอดขายได้หากไม่มีคนเดินตามสถานที่ต่างๆ หรือนี่จะเป็นสัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจอีกครั้ง
ระบาดรอบสาม เศรษฐกิจไม่ปัง
เมื่อมีมาตรการรักษาระยะห่างที่เข้มงวดขึ้น บริษัทต่างๆ เริ่มจะให้พนักงานทำงานที่บ้านมากขึ้น คนออกจากบ้านน้อยลง มีผลให้ผู้บริโภคซื้อกาแฟ, น้ำผลไม้, ขนม และของกินเล่นอื่นๆ ลดลง ยอดการใช้จ่ายก็มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ก็มีการปรับตัวด้วยการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์และกลุ่มส่งของหรือส่งอาหารตามบ้านมากขึ้น รวมถึงไปซื้อสินค้าจากร้านในชุมชนใกล้บ้านมากกว่าร้านค้าขนาดใหญ่ ยิ่งถ้าหากได้สิทธิ์เงินโอนจากรัฐก็น่าจะไปใช้ในกลุ่ม Traditional Trade มากกว่ากลุ่ม Modern Trade โดยผมมองว่ายอดการจับจ่ายโดยรวมอาจลดลงไม่มาก
หากสถานการณ์ไม่เลวร้ายเหมือนเดือนเมษายนปีก่อน ผมมองว่าเหตุการณ์นี้น่าจะคล้ายช่วงก่อนวันหยุดปีใหม่ คนน่าจะหลีกเลี่ยงการเดินทางในที่ที่มีคนจำนวนมาก เช่น กลุ่มห้างสรรพสินค้า, โรงภาพยนตร์, ร้านอาหาร และร้านนวด อาจโดนผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น หรือถ้าหากมีกลุ่มคนที่ต้องการจะเลื่อนการเดินทางออกไป ก็จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มระบบขนส่ง โรงแรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว แต่ผมลองดูตัวเลขดัชนีการบริโภคภาคเอกชนในเดือนธันวาคมและมกราคมในช่วงการระบาดตอนนั้น ก็เห็นว่าตัวเลขหดตัวร้อยละ 3.1 และ 3.5 เทียบกับเดือนก่อนหน้า และฟื้นตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งน่าจะสะท้อนว่าหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงแล้ว คนก็น่าจะกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เราอาจเห็นยอดขายที่กระเตื้องขึ้นในเดือนมิถุนายนหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายลง ผมคงต้องบอกร้านประจำที่คุยด้วยว่าให้อดทนอีกสักสองเดือน แต่ไม่รู้เขาจะมีสายป่านพอที่จะรับมือกับยอดขายที่ลดลงได้นานหรือไม่ เพราะโดนเช่นนี้เป็นรอบที่ 3 แล้ว
นอกจากจะเช็กกำลังซื้อแล้ว ผมมีโอกาสซอกแซกสอบถามผู้ประกอบการภาคการผลิตบ้าง อยากรู้ว่าการระบาดรอบนี้ส่งผลกระทบถึงเขามากน้อยอย่างไร สิ่งที่น่าแปลกใจคือภาคการผลิตไม่ได้โดนผลกระทบแรงเท่าภาคการบริโภค เขาบอกว่ายอดขายดีขึ้นในช่วงก่อนสงกรานต์ เพราะก่อนหน้าการระบาดครั้งนี้ โรงงานเร่งผลิตของมากขึ้นเพื่อใช้ในการบริโภคในประเทศ และที่สำคัญคือมียอดสั่งซื้อจากต่างประเทศมากขึ้น
หากเทียบกับการระบาดช่วงก่อนหน้า เราเห็นจะดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเทียบเดือนก่อนหน้าร้อยละ 6 ในเดือนธันวาคม และหดตัวร้อยละ 0.6 ในเดือนมกราคม ก่อนกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งก็น่าจะสะท้อนว่า โรงงานต่างๆ ยังผลิตของได้ และน่าจะได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งก็เติบโตได้ตามการส่งออก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่กำลังร้อนแรงขึ้นหลังมีงบประมาณก้อนโตมาเร่งการแจกเงินและใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งหากเป็นในรูปแบบนี้ แม้มีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น โรงงานก็จะยังจ้างงาน สามารถผลิตสินค้าต่อได้ แต่ในช่วงที่การลงทุนยังไม่ขยับมาก ชั่วโมงการทำงานหรือเงินโอทียังคงมีไม่มาก
โดยสรุป แม้เราจะมีการระบาดอีกรอบจนอาจมีมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นรอบที่ 3 คนเตรียม WFH แต่ก็อาจจะกระทบการใช้จ่ายชั่วคราว ขณะที่ธุรกิจบางกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการขายออนไลน์หรือร้านค้าในชุมชนอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ขณะที่ภาคการผลิตยังสามารถประคองตัวไปได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งสภาวะเศรษฐกิจจากการกลับมาระบาดรอบนี้อาจจะไม่ทรุดตัวรุนแรงและอาจกระทบภาคการบริโภคชั่วคราว แต่แม้หลังจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง คนกลับมาทำงานมากขึ้น การใช้จ่ายของคนก็อาจไม่ได้เร่งแรง เราคงต้องรอให้มียอดการท่องเที่ยวจากต่างประเทศมามากขึ้น เพื่อดึงกำลังซื้อและเกิดการลงทุนที่มากขึ้นเพื่อสนับสนุนให้คนได้รับค่าจ้างมากขึ้นตามชั่วโมงการทำงานที่ขยับขึ้น ซึ่งในช่วงการฟื้นตัวเช่นนี้เราคงต้องหวังมาตรการภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ ทั้งมาตรการกระตุ้นการบริโภคหรือต่ออายุมาตรการโอนเงินเพื่อลดภาระค่าครองชีพ เพื่อหวังให้ระบบเศรษฐกิจตัวอื่นๆ เดินหน้าได้ ก่อนที่เราจะเปิดประเทศให้การท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญอีกตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คงต้องฝากความหวังไว้กับช่วงครึ่งปีหลังกันอีกทีครับ
พิสูจน์อักษร: ชฎานิสภ์ นุ้ยฉิม