ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร คือคลื่นลูกแรกที่บุกเบิกกระแสความนิยมให้ซีรีส์ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ประสบความสำเร็จได้อย่างสวยงาม มาถึงตอนนี้เขาค่อยๆ สะสมพลังงานเป็นคลื่นลูกใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
สกาย-วงศ์รวี นทีธร คือคลื่นระลอกใหม่จากซีรีส์เดียวกันในซีซัน 3 ที่เติบโตตามรุ่นพี่มาติดๆ และล่าสุดกับซีรีส์ Side By Side พี่น้องลูกขนไก่ นี่แหละ ที่เราจะได้เห็นรุ่นพี่-รุ่นน้องประชันบทบาทร่วมกันเป็นครั้งแรกบนคอร์ตแบดมินตัน
ในเรื่องต่อรับบทเป็น ‘พี่ยิม’ วัยรุ่นออทิสติกที่เล่นแบดได้เก่งระดับอัจฉริยะ ส่วนสกายรับบท ‘น้องโด่ง’ เป็นลูกพี่ลูกน้องและคู่หูของพี่ยิมมาตั้งแต่เด็ก
ตอนเห็นตัวอย่างซีรีส์ที่ถูกตัดออกมาก็คิดว่าน่าสนใจแล้วเชียว ยิ่งพอได้ฟังเรื่องเล่าแบบเต็มไปด้วยความตั้งใจของทั้งรุ่นพี่-รุ่นน้องกว่าจะออกมาเป็นผลงานล่าสุด ก็ยิ่งทำให้มั่นใจว่าคลื่นทั้งสองระลอกคงจะมีผลงานและอนาคตในวงการไปอีกไกล
ยังจำความประทับใจแรกตอนพวกคุณเจอกันครั้งแรกได้ไหม
ต่อ: ความรู้สึกแรกคือสกายเป็นคน weird นิ่งๆ นั่งหลังค่อมๆ แล้วก็ไม่พูดอะไร โฟกัสจุดเดียวไปเรื่อยๆ เลยมีความรู้สึกว่าไม่คุยกับมันดีกว่า หรือถ้าคุยแล้วมันจะตอบอะไรเราไหมวะ แล้วพอคุยกับมัน มันก็ไม่ตอบจริงๆ
สกาย: เจอกันครั้งแรกที่นาดาวฯ เราเจอกันแบบไม่มีบทสนทนาใดๆ ทั้งสิ้น ได้คุยกันครั้งแรกน่าจะตอนเอาต์ติ้งบริษัท ก่อนหน้านั้นพี่เขาเป็นไอดอลผมมาก ตอนเรียนผมกับเพื่อนตัดสกินเฮดตาม ‘พี่ไผ่’ กันทุกคนเลยนะ เรียกได้ว่าเป็นไอดอลของเด็กมัธยมแทบทุกคนในสมัยนั้น พอมาเจอกันก็ยังเท่อยู่ แต่ไม่ได้คุยอะไรกัน เพราะกลัวว่าจะมีความโหดเหมือนคาแรกเตอร์ที่เขาเล่น ผมเป็นคนไม่เข้าหาคนอื่นอยู่แล้ว เลยยิ่งกลัวเข้าไปอีก ทำตัวไม่ถูก ไม่รู้ว่าต้องทำตัวยังไงกับเขา
พอเจอตัวจริง เขายังเป็นไอดอลของเราอยู่ไหม
ต่อ: โห คำถาม (หัวเราะ)
สกาย: อืม… จะพูดยังไงดี (หัวเราะ) มันค่อยๆ ไล่ระดับนะครับ ตอนแรกๆ ยังเท่อยู่ พอรู้จักไปเรื่อยๆ ถึงรู้ว่าพี่ต่อกับพี่ไผ่เป็นคนละคนกัน ไม่ได้เหมือนกันขนาดนั้น แต่ที่จำได้อีกอย่างคือพี่ต่อเป็นคนแรกๆ ในกลุ่มพี่ๆ เฟิร์สเจนที่ชวนผมคุย
พอได้รู้จักมากขึ้นแล้วสกายยัง weird อยู่ไหม
ต่อ: เติบโตขึ้นเยอะนะ ถ้าเป็นถั่วงอก ตอนนี้คือเป็นต้นแล้ว
สกาย: ถั่วงอกมันขึ้นเป็นต้นด้วยเหรอพี่
ต่อ: สมมติไง เป็นต้นแล้วมีกิ่ง ก้าน ใบ เมื่อก่อนคิดว่าเด็กคนนี้จะชวนใครคุยไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นคนเปิดประเด็นได้ สามารถโยนอะไรบางอย่างลงมาให้คนในวงสนทนาช็อกได้ เขาหัดที่จะเล่นมุก มีสไตล์การเล่นมุกเป็นของตัวเอง บางทีเขาซีเรียสกันอยู่ สกายพูดขึ้นมาคำเดียว ทุกคนจะเงียบกันหมดเลย (หัวเราะ)
แต่ก็ยัง weird อยู่ อย่างเวลาสกายนอนที่กองถ่าย เขาจะชอบเอาหัวมุดเข้าไปในเต็นท์แต่งตัวแล้วปล่อยให้ขายื่นออกมาอย่างเดียว ค้างอยู่อย่างนั้น ไม่เข้าใจว่ามีความสุขยังไงเหรอกับการเอาหัวเข้าไปอึดอัดอยู่ในนั้น
สกาย: มันเป็นการปิดสิ่งแวดล้อม เราจะได้อยู่กับการนอนได้อย่างสบายใจ ถ้าได้ยินเสียงก๊อกแก๊กๆ ผมจะนอนไม่หลับ
คิดว่านิสัยอะไรที่ทั้งสองคนมีเหมือนกันที่สุด
ต่อ: ผมชอบการอยู่บ้าน ไม่ค่อยชอบออกไปเจอใคร นี่คือสิ่งที่เหมือนกัน เพราะสกายไม่ชอบออกไปเจอใครเหมือนกัน เป็นพวกที่มีถ้ำเป็นของตัวเอง เลยไม่ค่อยได้ออกไปไหนด้วยกันเท่าไร
ถ้าติดกล้องวงจรปิด เราจะเห็นภาพของต่อกับสกายเวลาอยู่บ้านเป็นอย่างไรบ้าง
ต่อ: แก้ผ้าครับ (หัวเราะ) พูดเล่นๆ
สกาย: อ้าว เหมือนกันนะ แก้ผ้านอนอยู่บนเตียง
ต่อ: เออ สรุปไม่พูดเล่นแล้วนะ (หัวเราะ) อยู่บ้านผมใส่แต่กางเกงบ็อกเซอร์เดิน ผู้ชายก็ปกติแหละ ผมกับพี่ชาย 3 คนเหมือนกันหมดเลย แล้วแต่ว่าใครจะมีขา หรือใครจะเป็นแบบเว้าสูง มีแค่พ่อแม่สองคนที่แต่งตัวเรียบร้อย
สกาย: คล้ายกัน แต่ผมจะใส่บ็อกเซอร์แค่คนเดียว พี่ไม่ใส่ เพราะพี่ผมอ้วน (หัวเราะ)
ก่อนมาเล่นซีรีส์เรื่องนี้ พื้นฐานการตีแบดของพวกคุณเป็นยังไงกันบ้าง
ต่อ: ผมชอบเล่นกีฬา แต่ไม่ชอบตีแบด ชอบเล่นบาสเกตบอลมากกว่า
สกาย: ผมชอบเล่นฟุตบอลที่สุด แต่แบดก็เป็นทางเลือกต้นๆ เหมือนกันถ้าต้องเล่นกีฬา
ต่อ: ทีมชาติน่าจะแพ้พวกผมได้เหมือนกันนะ (หัวเราะ) ล้อเล่นๆ ให้เล่นในโรงเรียนพอได้ แต่ท่าทางไม่ได้ถูกต้อง คือถ้าบิดนิดนึงก็อาจจะตีแรงขึ้นเท่าตัวเลย แต่ใช้ผิดวิธีมาตลอด
ต้องฝึกตีแบดอย่างไรบ้างก่อนเริ่มถ่ายจริง
สกาย: ต้องไปเรียนตีแบดประมาณ 6-7 เดือน เรียนกับพี่อิ้งค์ (อัครวินท์ อภิสุข อดีตนักแบดมินตันทีมชาติ) แต่ช่วงแรกๆ ไปแค่อาทิตย์ละวัน เพราะคิวไม่ได้ แล้วค่อยมาเพิ่มกันช่วงหลัง แต่ไม่ได้มีเวลาตายตัว ส่วนใหญ่ใครว่างจะไปกันเลย ช่วงที่ใกล้เปิดกล้องแต่รู้สึกว่ายังไม่ได้ ก็ต้องนัดแยกกันไปเรียนเพิ่ม บางครั้งที่นาดาวฯ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราไปเรียนกันเพิ่ม
กีฬาแบดมินตัน เด็กไทยส่วนใหญ่น่าจะเคยเล่นมาตั้งแต่เด็ก การตีเล่นกับฝึกจริงจังเป็นกีฬา ความยากง่ายต่างกันขนาดไหน แล้วคุณไปเจอประสบการณ์อะไรกันมาบ้าง
ต่อ: ผมเหนื่อย ดูอ่อนแอใช่ไหม (หัวเราะ) แต่นี่คือพูดจริงๆ ขนาดผมชอบออกกำลังกายนะ แต่เรื่องนี้มันเหนื่อยจริงๆ การกระโดดตบไม่กว่า 30 ครั้งต่อ 1 รอบ กระโดดกันจนขาอ่อน กระโดดจนแรงโน้มถ่วงมันดึงให้ตัวเรานั่งแล้วลุกไม่ขึ้นไปเลย เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ควบคุมได้ยากมาก หรือแทบจะควบคุมไม่ได้เลย แค่วิถีลูกที่ลอยมาให้ตบก็ยากแล้ว ไหนจะเรื่องมุมกล้องที่บางครั้งต้องถ่ายใกล้มากๆ ต้องคอยระวังไม่ให้หวดไปโดนกล้อง ซึ่งจะมีช็อตกล้องแฮนด์เฮลด์เข้ามาถ่ายใกล้ๆ เยอะมาก กลายเป็นว่าเวลาถ่ายไม่ใช่แค่ผมกับสกายต้องซิงก์กัน แต่เราต้องซิงก์กับตากล้องไปด้วย
สกาย: สำหรับผมเป็นท่าทางเวลาตีแบด ในเรื่องพี่ต่อต้องเล่นบท ‘ออทิสติก’ แต่ท่าพี่เขาเท่มาก ส่วนผมเป็นคนดูแลพี่ต่อ ต้องเท่ๆ นิ่งๆ แต่ท่าเวลาตีแบดจะเหมือนเด็กออทิสติกมากกว่า สลับกัน (หัวเราะ) เหมือนผมเป็นพวกมีปัญหากับการจัดระเบียบร่างกาย คือจัดท่าทางไม่ค่อยถูก ถ้าจะหยอดก็ต้องวิ่งไปหยอดเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ท่าหยอดที่สวยที่สุด
ต่อ: ทุกอย่างมันต้องเป๊ะจริงๆ ไม่ใช่แค่ท่า ต้องถูกต้องในภาพรวมด้วย เช่น ถ้ามีถ่ายมุมกว้างเป็นช็อตที่ต้องตบลูกให้ไปลงเส้นพอดีเป๊ะ ก็ต้องตีไปจนกว่าจะลงเส้นแบบพอดีจริงๆ แล้วพวกเราทำจนกว่าจะโอเค ถ้าไม่โอเค พวกผมไม่หยุด อย่างที่เราโปรโมต Project S The Series ตั้งแต่ตอนแรกว่าเป็นโปรเจกต์ที่เอานักแสดงมาเป็นนักกีฬา เพราะฉะนั้นพวกเราจะไม่หยุดทำจนกว่านักแสดงจะกลายเป็นนักกีฬาจริงๆ
สรุปว่าต่อกับสกายใครเล่นแบดเก่งกว่ากัน
ต่อ: สกายเก่งกว่า เพราะผมเหนื่อย (หัวเราะ) ความจริงเหมือนพี่ๆ เขาดูออกตั้งแต่แรกแล้วว่าผมไม่เหมาะกับการแข่งเดี่ยว ถ้าแข่งกันคือมันต้องวัดแบบเดี่ยวแน่ๆ สกายมันมีความคิดดี คิดได้ทั่วสนาม ส่วนผมจะได้แค่ลูกเร็วๆ ซึ่งมันจะโฟกัสแต่ลูกได้ แต่การเล่นแบบคู่จะต้องคิดเป็นช็อตแบบเร็วๆ ผมไม่ได้มองให้ทั่วแบบสกาย เวลาแข่งกันเลยสู้ไม่ได้
การเทิร์นตัวเองเข้าสู่ภาวะออทิสซึมจริงๆ มันไม่ใช่การแสดงออกมา แต่มันต้องเรียนรู้ว่าทำยังไงถึงจะเป็นได้ มันต่างกันมากนะระหว่าง ‘เล่นเป็นออทิสติก’ กับ ‘เป็นออทิสติก’
ต่อต้องไปอยู่ที่บ้านออทิสติกเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจเด็กออทิสติกให้มากที่สุดด้วย ช่วงเวลานั้นได้เรียนรู้อะไรกลับมาบ้าง
ต่อ: ผมไป-กลับอยู่ประมาณ 3 เดือน ปกติผมเป็นนักแสดงที่สร้างคาแรกเตอร์ตัวละครจากความเข้าใจและการเรียนรู้ของตัวเอง แต่บทนี้เกินการเรียนรู้ของผมไปเยอะมาก เป็นกำแพงที่ใหญ่จนข้ามไปไม่ได้ แถมเป็นกำแพงที่พื้นข้างล่างเป็นหนาม ถ้าผมปีนไม่ผ่าน เท่ากับว่าผมจะตกลงมาตายเมื่อมันออนแอร์ทันที ก็เลยพยายามทำทุกอย่างที่ทำได้ หาข้อมูล อ่านหนังสือ ดูหนัง ไปสังเกตการณ์ที่บ้านออทิสติก เป็นการนั่งแกะเด็กออทิสติกไปเรื่อยๆ ซึ่งระหว่างทางผมเจอปัญหาเยอะมาก เหมือนคนอยู่ในเขาวงกตที่เดินมาเจอทางออกแล้วเพิ่งรู้ว่ามันเป็นทางออกปลอม เคยคิดว่าแกะจนได้แล้ว แต่พอลองเอามาเล่น มันเชื่อไม่ได้เลย แม้แต่ตัวผมเองยังไม่เชื่อ ทั้งๆ ที่เข้าใจจนไม่รู้จะเข้าใจยังไงแล้ว
สุดท้ายต่อหาทางออกที่ถูกต้องของเขาวงกตนั้นเจอได้อย่างไร
ต่อ: ผมสังเกตตัวเองจากตอนที่หลงทางในเขาวงกตนั่นแหละ เหมือนคุยกับตัวเองว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้จะเล่นเป็นออทิสติก ไม่ต้องเข้าใจเขา แต่เรากำลังจะเป็นโรคนี้ต่างหาก สุดท้ายเลยเข้าใจว่าการเทิร์นตัวเองเข้าสู่ภาวะออทิสซึมจริงๆ มันไม่ใช่การแสดงออกมา แต่มันต้องเรียนรู้ว่าทำยังไงถึงจะเป็นได้ มันต่างกันมากนะระหว่าง ‘เล่นเป็นออทิสติก’ กับ ‘เป็นออทิสติก’ กระบวนการสำคัญคือเราต้องตัดคำว่า ‘เล่น’ ออกไปให้ได้
พอเข้าไปอยู่ในจุดนั้นจริงๆ มีเรื่องไหนบ้างที่คิดว่าคนทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับเด็กออทิสติกมากที่สุด
ต่อ: เด็กพวกนี้เก่ง แต่คนคิดว่าเด็กพวกนี้อ่อน ทำอะไรไม่ได้ จริงๆ แล้วเขาทำได้ แถมทำได้ดีด้วย โดยเฉพาะพวก Hi-Function คือเด็กออทิสติกสายอัจฉริยะ อย่างพี่ยิม ตัวละครที่ผมเล่นก็เป็นแบบนั้น คือเล่นแบดเก่งมากๆ เด็กพวกนี้เขามีความสามารถซ่อนอยู่ ถ้าวันไหนไปค้นเจอแล้วให้เขาได้ลองทำสิ่งนั้น เขาจะกลายเป็นอัจฉริยะได้เลย
ผมไปเจอคนหนึ่ง เขาสามารถวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เสร็จภายใน 11 นาที แล้วไม่ได้วาดแบบส่งเดช แต่สวยมาก รูปที่เร็วที่สุดคือ 9 นาที คนปกติยังทำไม่ได้เลย มันเกิดคำถามตามมาเลยว่า แล้วสิ่งที่สังคมผลักไสพวกเขามันคืออะไร ไปตัดสินเขาอย่างนั้นอย่างนี้ ไปกดดันพ่อแม่ที่มีลูกแบบนี้ บางครอบครัวมีฐานะทางสังคมที่ดี พอมีลูกเป็นออทิสติกก็ต้องปิดบังเอาไว้ ผมไม่เข้าใจสิ่งนี้ว่าเพราะอะไรวะ ให้เขาเข้ามาอยู่ในโลกของพวกเราไม่ได้เหรอ ทำไมต้องมีบ้านออทิสติกเกิดขึ้น ทุกคนควรช่วยกันดูแลหรือเปล่า หรือจริงๆ แล้วที่จับเขาไปขังไว้ในนั้นเพราะสู้เขาไม่ได้ใช่ไหม เก่งสู้เขาไม่ได้เหรอ อันนี้ผมมองในมุมที่เป็นเด็กออทิสติกนะ มันจะมีความคิดว่าเขากลัวความเก่งของเราโผล่ออกมาหรือยังไง
สกาย: ผมเห็นคล้ายๆ พี่ต่อนะครับ เพราะผมจะไปกับพี่ต่อด้วยตลอด เนื่องจากในบทต้องเป็นคนดูแลเด็กออทิสติก แต่ผมจะเห็นเวลาเด็กพวกนี้อยู่ด้วยกันในบ้านออทิสติก พวกเขาดูมีความสุขมาก เป็นตัวของตัวเอง อาจเพราะสังคมภายนอกทรีตเขาแบบนี้ คิดว่าเขาเป็นคนไม่ปกติ แต่พอเขามาอยู่รวมเป็นครอบครัวเดียวกัน ได้ทำกิจกรรมหลายอย่างแล้วเขามีความสุข ไม่ต้องมีใครมองว่าผิดปกติจากคนอื่นหรือเปล่า ความสุขตรงนั้นมันดีนะ
น่าเสียดายที่มันเกิดขึ้นได้แค่ในบ้านออทิสติกเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ พวกเขาควรมีความสุขและเป็นตัวของตัวเองได้ในทุกๆ พื้นที่ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม
- Side By Side พี่น้องลูกขนไก่ คือซีรีส์ลำดับที่ 2 จาก 4 เรื่องใน Project S The Series ที่จะเริ่มออกอากาศตอนแรกในวันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม เวลา 21.45 น. ทางช่อง GMM 25