ถ้าถามว่าโซแลง โนวส์ (Solange Knowles) คือใคร หลายคนมักพูดว่า “น้องสาวของบียอนเซ่ไงแก” หรือ “คนที่กระโดดถีบเจย์-ซี (Jay-Z) ในลิฟต์” หรือ “คนที่ชอบแต่งตัวผีบ้าๆ เดินพรมแดง”
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นเรื่องปกติในวงการบันเทิงของทั้งไทยและต่างประเทศ ที่คู่พี่-น้องมักจะถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบซึ่งกันและกันอยู่เสมอ ทั้งในเรื่องของรูปร่างหน้าตา ภาพลักษณ์ต่อสาธารณชน รวมถึงผลงานที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนใดคนหนึ่งมีชื่อเสียงแบบระเบิดระเบ้อ เป็นซูเปอร์สตาร์เบอร์หนึ่ง มีแฟนคลับทั่วทุกมุมโลก ในขณะที่อีกคนก็เลือกที่จะเดินทางบนสายงานใกล้เคียงกัน เช่น ไคลี มิโนก (Kylie Minogue) และแดนนี มิโนก (Dannii Minogue) หรือโทนี แบรกซ์ตัน (Toni Braxton) และทามาร์ แบรกซ์ตัน (Tamar Braxton)
ประเด็นนี้ก็มักเป็นที่จับตามองว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องถูกบดบังรัศมี จนกลายเป็นเพียงเงาตะคุ่มๆ เดินดุ่มๆ ตามความสำเร็จของอีกคนเป็นแน่แท้ แม้บางทีเขาหรือเธอคนนั้นอาจเพียงแค่ต้องการเวลาและโอกาสที่จะได้โชนแสงเพื่อพิสูจน์ตนเองก็ตาม
โซแลง โนวส์ คือน้องสาวผู้เปรียบเสมือนลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ในแง่ของเลือดศิลปินจากครอบครัวโนวส์ ผู้ซึ่งเคยสร้างผลงานปลุกปั้นลูกสาวคนโตของบ้านนาม บียอนเซ่ โนวส์ (Beyonce Knowles) ให้กลายเป็นหนึ่งในศิลปินหญิงที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรี โซแลงอายุน้อยกว่าพี่สาว 5 ปี (ปัจจุบันบียอนเซ่และโซแลง อายุ 35 และ 30 ปีตามลำดับ) และดูเหมือนว่าเธอถูกปูพรมให้เติบโตไปในทิศทางเดียวกัน จากการผลักดันอย่างเต็มรูปแบบของพ่อและแม่ สังเกตได้จากการพยายามก่อตั้งบริษัท Music World Entertainment เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการผลักดันบุตรสาว รวมไปถึงการตั้งชื่อบุตรสาวทั้งสองเป็นภาษาวิจิตรให้อ่านยากอ่านเย็นผิดมนุษย์เหลือเกิน โดย บียอนเซ่ เป็นคำที่สร้างขึ้นใหม่จากชื่อกลางของคุณแม่ของเธอ (Célestine “Tina” Beyincé-Lawson) และ โซแลง เป็นภาษาฝรั่งเศสซึ่งแปลว่า ความสง่างาม
การใช้ชีวิตเป็นน้องสาวคลานตามกันมาของบียอนเซ่ หนึ่งในผู้หญิงที่โด่งดังที่สุดในโลก ย่อมเป็นดาบสองคมโดยอัตโนมัติ นอกจากจะได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไปแล้ว ในกรณีของโซแลงซึ่งโลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีเช่นเดียวกันนั้น การถูกเปรียบเทียบย่อมอยู่ในเลเวลที่ไม่ธรรมดา
การเติบโตภายใต้เงา
ในขณะที่เพลง Crazy In Love หรือ Single Ladies (Put a Ring on It) ของบียอนเซ่เปิดแทบจะทุกที่บนโลกมนุษย์ ตั้งแต่ร้านก๋วยเตี๋ยวหน้าปากซอยในไทย ไปจนถึง After Party งาน Met Gala ที่นิวยอร์ก แต่ชื่อของโซแลงยังต้องอาศัยการกูเกิลหาว่าเธอมีผลงานอะไรออกสู่สาธารณชนบ้าง
โซแลงเคยทำเพลงแนวอาร์แอนด์บีร่วมสมัยที่ค่อนข้างจงใจให้อยู่ในกระแสหลัก สตูดิโออัลบั้มชุดแรกของเธอชื่อว่า Solo Star ซึ่งขนทีมโปรดิวเซอร์มาตั้งแต่ Linda Perry, Timbaland ไปจนถึง The Neptunes และแน่นอนว่าเป็นผลผลิตซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทที่พ่อของตัวเองเป็นประธาน แต่ด้วยยอดขายเพียง 108,000 แผ่นหลังจากที่โหมโปรโมตในปี ค.ศ. 2002 สำหรับศิลปินโปรไฟล์ขนาดนี้ หลายๆ ฝ่ายก็เริ่มมั่นใจแล้วว่าเธอคงเป็นได้เพียงแค่เงาของพี่สาวอย่างแน่นอน
ค้นพบทิศทางที่ ‘ใช่’
โซแลงเคยให้สัมภาษณ์กับ MTV โดยกล่าวขอบคุณพี่สาวที่เป็นผู้เบิกทางและมอบโอกาสให้ผู้คนได้รู้จักเธอในเบื้องต้น แต่อย่างไรก็ดี เธอก็ต้องการให้ทุกคนได้เห็นความสามารถที่แท้จริงมากกว่าที่จะรู้จักเธอในฐานะของน้องสาวคนดัง
เอาเข้าจริงๆ โซแลงเป็นคนที่มีประสบการณ์ทางดนตรีพอตัว รวมถึงเคยอยู่เบื้องหลังศิลปินมากมาย อาทิ การเขียนเพลงและเป็นแดนเซอร์ชั่วคราวให้ Destiny’s Child พอมารวมกับคาแรกเตอร์ที่พยศต่อวัฒนธรรมกระแสหลัก และความดื้อรั้นตามประสาลูกสาวคนเล็ก เธอร่วมแชร์ไอเดียกับทีมโปรดิวเซอร์มากขึ้น ทำให้ผลงานต่อๆ มาสะท้อนให้เห็นตัวตนของเธอมากขึ้น
นั่นทำให้ True ผลงาน EP ในปี ค.ศ. 2013 มีความแตกต่างจากสตูดิโออัลบั้มก่อนหน้านี้ (Solo Star, 2002 และ Sol-Angel and the Hadley St. Dreams, 2008) ในแง่ภาคดนตรีและเนื้อร้อง ชัดเจนว่าเจือกลิ่นอายของ Neo-soul, Electronica, New Wave Music และ 80s ป็อปได้อย่างละมุนละไม กลายเป็นสไตล์ดนตรีที่ทำให้นักวิจารณ์หลายสำนักเริ่มหมุนเรดาร์มามองเธอในแง่ของการเป็นปัจเจกศิลปินมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ต้องขอบคุณโซเชียลมีเดีย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แฟนๆ สัมผัสได้ว่าโซแลงเหวี่ยงภาพลักษณ์สาวสวยตามงานปาร์ตี้ออกไป แล้วกลายเป็นสตรีผู้มาพร้อมความฮิปแบบหัวจรดเท้า นับตั้งแต่ภาพพรีเวดดิ้งกับสามีผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ อลัน เฟอร์กูสัน (Alan Ferguson) ที่เหมือนหลุดออกมาจากอัลบั้มภาพใน Pinterest และโดยเฉพาะมิวสิกวิดีโอเพลง Losing You ซึ่งเป็นซิงเกิลแรกจาก EP True โซแลงหอบหิ้วเสื้อผ้าของ Kenzo, Diane von Fürstenberg และอีกมากมายไปถ่ายทำไกลถึงเมืองเคปทาวน์ ในแอฟริกาใต้ พอมิวสิกวิดีโอปล่อยออกมา สาวกแฟชั่นทั้งหลายถึงกับต้องกราบ
เธอไม่ใช่แค่น้องสาวบีย่อนเซ่อีกต่อไป
เมื่อเริ่มมองเห็นแววในการปลดแอกพันธนาการใต้เงาของพี่สาว โซแลงเลือกที่จะก้าวต่อไปบนบันไดขั้นที่สูงขึ้น เธอซุ่มทำงานเพลงอยู่นาน 3 ปี ก่อนจะปล่อยผลงานสตูดิโออัลบั้ม A Seat at the Table (2016) อัลบั้มนี้พุ่งขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่งของชาร์ต Billboard Top 200 Albums เป็นครั้งแรกในชีวิตการเป็นศิลปินของเธอ พ่วงด้วยการเป็นผู้ชนะรางวัลแกรมมีในสาขา Best R&B Performance จากเพลง Cranes in The Sky
อัลบั้มนี้ได้รับการตอบรับที่ดี ยืนยันด้วยคะแนน 89/100 จาก Metacritic ซึ่งทำการรวบรวมคะแนนจากนักวิจารณ์และแฟนเพลงทั่วไป สิ่งที่ทำให้อัลบั้มนี้ประสบความสำเร็จอยู่ที่ชิ้นงานซึ่งเป็นการผสมผสานดนตรีสไตล์ Modern Psychedelic Soul เข้ากับดนตรีฟังก์และอาร์แอนด์บีได้อย่างเนี้ยบกริบ นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องที่เธอนำเสนอผ่านเนื้อร้องในอัลบั้ม (หรือแม้กระทั่ง Interlude คั่นเพลงเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งใช้เสียงพูดของพ่อแม่เธอเอง) คือประเด็นเรื่องการรณรงค์สิทธิเสรีภาพของชาวแอฟริกัน-อเมริกันทั่วโลก โดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้รับจากการเติบโตในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานับจากเพลงแรกที่เขียนในปี ค.ศ. 2008
โซแลงเลือกที่จะโอบกอดชาติพันธุ์ของเธอไว้อย่างแนบแน่น ด้วยการสื่อสารกับผู้ฟังและผู้ชมผ่านศิลปะแขนงต่างๆ โดยที่ไม่ได้แฝงความเกรี้ยวกราด ตรงกันข้ามมันช่างแยบยล นุ่มนวล และรื่นรมย์อยู่ในที ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเหมือนตะปูตอกตรึงชื่อของเธอลงบนกระดานรายชื่อศิลปินผู้มาพร้อมสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งแฟชั่น งานอาร์ต รวมถึงผลงานมิวสิกวิดีโอที่มักจะสอดแทรกสัญลักษณ์มากมายให้คนดูได้วิเคราะห์กันไปอย่างเมามัน
ถึงเวลาเดินหน้าต่อไปด้วยตัวตน
การสร้างอัตลักษณ์ด้วยความซื่อสัตย์ต่อความคิดของตนเอง เป็นสิ่งสำคัญโดยเนื้อแท้ที่ทำให้โซแลงได้รับการยอมรับในฐานะศิลปินตัวจริง
หนทางอีกยาวไกลในโลกดนตรียังรออยู่ และยังมีบททดสอบอีกหลายรูปแบบรอให้เธอก้าวข้ามผ่าน เพื่อทำลายกำแพงแห่งบรรทัดฐานที่คนอื่นสร้างเอาไว้
คนเราไม่ว่าจะเป็นศิลปิน พนักงานแบงก์ หรือคนขายอาหาร ถ้าเรามุ่งมั่นเดินหน้าต่อไปเหมือนอย่างที่โซแลงเรียนรู้จากบทเรียนชีวิต ด้วยการพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนหาสูตรสำเร็จของตัวเองพบ วันนั้นเราจะกำหนดเส้นทางชีวิตด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้เงาของใคร และเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่งดงามและมีคุณค่าที่สุด
ในเมื่อมีแม่บีแล้ว เราขอมีแม่โซด้วยเหมือนกัน
อ้างอิง: