×

20 ปี อัลบั้ม Radiohead: OK Computer ที่เผลอๆ หยิบมาฟังใหม่ก็ยัง ‘อิน’

โดย Homesickalienn
15.06.2017
  • LOADING...

 

     ยุค 90s เปรียบเสมือนแสงทองผ่องอำไพ ส่องให้วงการดนตรีโลกเจิดจ้า ทั้งในแง่ของการเป็นช่วงเวลาแห่งความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เทคโนโลยีการสังเคราะห์ซาวด์ที่เริ่มหวือหวา มิวสิกวิดีโอโปรดักชันอลังการต้นทุนหนา และค่านิยมของวัยรุ่นที่ใช้เวลาจดจ่ออยู่กับช่อง MTV เฉกเช่นเดียวกับพฤติกรรมการเสพโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน

     ศิลปินหลายๆ รายใช้โอกาสนี้ในการสถาปนาแนวดนตรีรูปแบบใหม่ เช่น Massive Attack กับการพาดนตรีแนวทริป-ฮอปเข้าสู่กระแสหลัก, Erykah Badu ที่ทำให้ผู้ฟังในวงกว้างเข้าถึงดนตรีนีโอ-โซล หรือ Bjork ซึ่งดนตรีแนวทดลอง (เอ็กซ์เพอริเมนทัล) ของเธอกลายเป็นสิ่งที่เก๋ไก๋ ถึงแม้ใครต่อใครจะคิดว่าเธอเพี้ยนก็ตาม

 


     สำหรับ Radiohead หนึ่งในวงดนตรีที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งความเบ่งบานของยุค ‘อัลเทอร์เนทีฟครองเมือง’ เคียงข้างวงอย่าง Nirvana, Soundgarden, Pearl Jam หรือ Oasis เป็นต้น ในช่วงกลางยุค 90s นั้น พวกเขาเริ่มต้นอย่างเรียบๆ (ทว่าเป็นที่จับตามองของนักวิจารณ์พอสมควร) กับสองผลงานสตูดิโออัลบั้ม ได้แก่ Pablo Honey (1993) และ The Bends (1995) ส่วนอัลบั้มชุดที่ 3 ของพวกเขา OK Computer (1997) ส่งให้ชื่อ Radiohead ผนึกเข้าไปในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการดนตรีโลกตลอดกาล ทั้งในแง่อิทธิพลต่อวงการดนตรีโดยรวม ความแปลกใหม่ของชิ้นงาน รวมถึงความแยบยลคมคายในความหมายของเนื้อหา ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ถึงเวลาจะผ่านเลยไปนานกว่า 20 ปี บทเพลงในอัลบั้มนี้ก็ยังสามารถวนลูปกลับมาสะท้อนสภาพสังคมได้อย่างน่าประหลาดใจ ไม่ว่า ณ ขณะนั้นทางสมาชิกวงได้คาดการณ์เอาไว้หรือไม่ก็ตาม

 

 

     เนื้อหาว่าด้วยเรื่องรักๆ ใคร่ๆ รวมถึงความอ่อนไหวของจิตใจมนุษย์ บวกกับเสียงครืดๆ คราดๆ ของกีตาร์กรันจ์ เป็นหัวใจหลักในสองอัลบั้มแรก ทอม ยอร์ก (Thom Yorke) นักร้องนำผู้เปรียบเสมือนปลายปากกาหลักในการรังสรรค์เนื้อเพลงของวง ได้เลือกที่จะเบนเนื้อหาหลักของเพลงมาสะท้อนถึงสังคมที่คลั่งในลัทธิบริโภคนิยม ความอ้างว้าง ห่อเหี่ยว รวมถึงเรื่องราวที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ผสานเข้ากับความซับซ้อนในภาคดนตรีที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การเริ่มเข้ามามีบทบาทของเสียงสังเคราะห์ รวมถึงรูปแบบการอัดเสียงที่แปลกประหลาดไปจากผลงานของศิลปินอื่นๆ ในขณะนั้น เช่น การใช้แมนชันโบราณของนักแสดงสาวใหญ่ เจน ซีย์มัวร์ เป็นสตูดิโอบันทึกเสียง หรือการใช้เสียงฝีเท้าขณะก้าวขึ้นลงบันไดหิน บรรจุเข้ามาในเพลง Exit Music (For A Film) เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ ‘ยุคดนตรีทดลอง’ ของ Radiohead ในอัลบั้มต่อๆ มาอย่าง Kid A (2000) และ Amnesiac (2001)

 

 

     ทอมเคยอธิบายเอาไว้ว่า OK Computer นั้นไม่ได้เป็นคอนเซปต์อัลบั้ม แต่เป็นอัลบั้มที่ผู้สร้างต้องการให้เปิดฟังอย่างต่อเนื่อง โดยมีเนื้อหาที่ค่อนข้างจะหลากหลาย แต่ไม่เหลวเละไร้ทิศทาง เปรียบเสมือนกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ในห้องขนาดใหญ่ มีผู้คนมากมายหลายบุคลิกเดินผ่านเข้ามา และกล้องวงจรปิดได้บันทึกพฤติกรรมเหล่านั้นเอาไว้ สังเคราะห์ออกมาเป็นเนื้อเพลง สังเคราะห์ออกมาเป็นเรื่องราวสะท้อนสังคม เช่น การบรรยายถึงสภาพจิตใจของชายหนุ่มผู้หมกมุ่นอยู่กับการอยากโดนมนุษย์ต่างดาวลักพาตัว ในเพลง Subterranean Homesick Alien การกล่าวอ้างกฎแห่งกรรมในเพลง Karma Police และการเตือนสติผู้ฟังว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ในเพลง Airbag (สาบานว่าเนื้อหาของเพลงนี้กล่าวถึงถุงลมนิรภัยจริงๆ จากบทสัมภาษณ์ของทอมเอง)

 


     โครงสร้างทางดนตรีที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การเรียบเรียงตัวเพลงที่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับกฎ ‘ท่อนร้อง ต่อท่อนฮุก กลับเข้าท่อนร้อง แล้วซ้ำท่อนฮุก’ หรือแม้แต่ผลงานมิวสิกวิดีโอที่ไม่ได้ใกล้เคียงกับความธรรมดาเลยของเพลง Paranoid Android ซึ่งทอมกล่าวว่าได้แรงบันดาลใจมาจากการไปเที่ยวผับแล้วได้พบกับผู้หญิงคนหนึ่งที่มีอาการเกรี้ยวกราดเพราะโดนคนข้างๆ ทำเหล้าหกใส่ รายละเอียดยิบย่อยเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ และการนำมาตีความให้ ‘ดูมีอะไร’ ผ่านการใช้ภาษาอย่างมีชั้นเชิง ทำให้ผู้ฟังค่อยๆ ซึมซับความดีงามของตัวอัลบั้มผ่านกระแสปากต่อปาก รางวัลต่อรางวัล สุดท้าย OK Computer ซึ่งเคยถูกเย้ยหยันจากค่ายเพลงว่าเปรียบเสมือนผลงานฆ่าตัวตายของทางวง (เพราะมันไม่ตลาดเลย ณ ขณะนั้น) ทำยอดขายได้สูงถึง 4.5 ล้านแผ่นในที่สุด

 


     หลังจากการวางจำหน่ายของ OK Computer แฟนเพลง Radiohead เริ่มแบ่งออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน รักมาก อินมาก คาดหวังมาก ก็ย่อมผิดหวังมาก กับทิศทางใหม่ทั้งภาคดนตรีและเนื้อหา
     ประเด็นนี้เคยเกิดขึ้นกับหลายวงดนตรีที่พยายามเปลี่ยนแปลงแนวทางของตนเองเช่น Linkin Park หรือ Coldplay ในทางกลับกัน ศิลปินส่วนใหญ่นั้นมักจะมีแนวทางของดนตรีที่ฟังง่ายขึ้น หรือเจาะกลุ่มผู้ฟังในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับกรณีของ Radiohead แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็เป็นตัวบ่งชี้ถึงการเติบโตในวงการของศิลปินนั้นๆ ในวงการอยู่ดี (แต่ไม่ได้การันตีว่าจะโอเคหรือเปล่าในแง่ของความนิยม)

 

 

     อีกนัยหนึ่ง อาจจะเป็นความโชคดีที่นักวิจารณ์ในสมัยนั้นยังค่อนข้างมีความต้องการเบิกเนตรประเภทของงานดนตรีที่สดใหม่ หลังการจากไปของเคิร์ต โคเบน (Kurt Cobain) นักร้องนำวง Nirvana ในปี 1994 กูรูทางด้านดนตรีหลายสำนักเปรียบเปรยว่าเป็นเสมือนการปิดประตูยุคทองของดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ และแฟนเพลงเดนตายหลายคนเริ่มหันมาหาตัวเลือกใหม่ๆ ซึ่งตอบสนองความต้องการที่จะได้รู้สึก ‘คูล’ เมื่อเปิดฟัง

 


     OK Computer ยังคงเป็นผลงานที่เคียงคู่ประวัติศาสตร์วงการดนตรีสากลจนถึงทุกวันนี้ ครั้งแล้วครั้งเล่าที่มีการจัดลำดับผลงานอัลบั้มยอดเยี่ยมในรอบ 20 ปี หรือแม้แต่ตลอดกาล ชื่อของ OK Computer แทบจะไม่เคยหายไปจากรายชื่อในลำดับต้นๆ ความ ‘คูล’ ยังคงไม่จางไปไหน ภาคดนตรีที่แน่นปึ้ก ไม่สึกหรอไปตามอายุขัย กับเนื้อหาที่แม้จะนำกลับมาตีความในยุคปัจจุบัน พวกเรานั้นก็ยังรับรู้ได้ถึงสัจธรรมชีวิตแบบร่วมสมัย ผ่านการเสียดสีเปรียบเปรยจากบทเพลงอย่าง No Surprises, Climbing Up The Walls และ Let Down ได้แบบไม่ต้องสะกดจิตตนเองให้ ‘อิน’ เสียด้วยซ้ำ

 

     ในเดือนมิถุนายน 2017 นี้ อัลบั้ม OK Computer ได้ถูกผนึกรวมเข้ากับเพลง B-side ของทางวงจำนวน 8 เพลง รวมทั้งอีก 3 เพลงที่ไม่เคยเปิดตัวที่ไหนมาก่อน (I Promise, Man of War และ Lift) เพื่อออกวางจำหน่ายเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปีของการวางแผงอัลบั้มในเดือนพฤษภาคม ปี 1997 ภายใต้ชื่อยียวนกวนประสาทว่า OKNOTOK แน่นอนว่าแฟนเดนตายของ Radiohead รวมทั้งผู้เขียนเอง (ซึ่งนามปากกา Homesickalienn ก็มาจากเพลงในอัลบั้มนี้!) ย่อมไม่พลาด และคาดว่าจากการมองสภาพสังคมโดยรอบในปัจจุบัน เราน่าจะกลับมา ‘อิน’ กับบทเพลงเหล่านี้อีกครั้งก็เป็นได้

 

Photo: Radiohead, Facebook

 

อ้างอิง:

     – www.vinyloftheday.com/radiohead-ok-computer-reissued-vinyl

     – pitchfork.com/features/ok-computer-at-20/10038-exit-music-how-radioheads-ok-computer-destroyed-the-art-pop-album-in-order-to-save-it

     – www.rollingstone.com/music/news/radiohead-strike-gold-19971028

     – www.spin.com/2017/05/radiohead-lift-ed-o-brien-bbc-interview

     – www.theguardian.com/music/2006/jun/18/9

     – hwww.clickhole.com/article/oral-history-radioheads-ok-computer-2370

     – vimeo.com/79919324

     – thequietus.com/articles/01343-from-the-archives-1996-radiohead-interviewed-between-the-bends-and-ok-computer

     – www.nme.com/blogs/nme-blogs/radiohead-s-ok-computer-20-things-you-might-not-know-763724

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X