ในยุคที่การออกเทปเป็นเรื่องตลก ถ้าจะพูดให้เข้ากับยุคสมัยคงต้องใช้คำว่า ออกอัลบั้ม หรือออกซิงเกิลถึงจะเหมาะสม แต่ถึงอย่างไรผมก็ยังมีความพึงใจกับคำว่าออกเทป เพราะมันยังคงความขลังในยุคสมัยหนึ่งที่เราต้องไปรอหน้าร้านเทป เพื่อรอซื้อในวันแรกที่วางแผง รออ่านปกว่าใครมีหน้าที่อะไร ใครแต่งเพลงแต่งทำนอง ใครเรียบเรียง ใครเป็นโปรดิวเซอร์ วันดีคืนดีขายได้เกินล้านตลับก็มีการเปลี่ยนปกอีก
บางคนอาจจะงงว่าไอ้กระบวนการเหล่านี้มันมีด้วยหรือ คำตอบคือมันเคยมีและยังคงคลาสสิกในความทรงจำของผมเสมอมา แต่โลกย่อมหมุนไปตามกาลเวลาเหมือนเอกมัยและทองหล่อที่มี Turn Over ของผับบาร์ปรับเปลี่ยนหน้าตากันไปทุกๆ ปี
เหมือนกับตำนานดีวาเมืองไทย นันทิดา แก้วบัวสาย ที่วันนี้กลับมาอีกครั้งพร้อมสตูดิโออัลบั้มที่ใช้ชื่อว่า Nantida’17 หลังจากเว้นระยะไปถึง 8 ปี เป็นการกลับมาพร้อมฝ่ากระแสในยุคที่แทบจะไม่มีใครออกอัลบั้ม 10 เพลงกันอีกแล้ว
บางคนอาจจะไม่รู้ว่าดีวาคนนี้เคยมีอัลบั้มมาแล้วถึง 20 อัลบั้ม เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ล่วงเลยมาจนถึงปี พ.ศ. 2560 ส่วนชื่ออัลบั้ม Nantida’17 เป็นชื่อที่ล้อกับอัลบั้ม นันทิดา 2527 ซึ่งเป็นอัลบั้มชุดที่ 7 ในสายอาชีพนักร้องของเธอ มีเพลงดังอย่าง ดีเจเสียงใส ซึ่งนำไปเรียบเรียงใหม่สไตล์ฮิปฮอป ใช้ชื่อเพลงว่า DJ โดยแรปเปอร์ที่เรารู้จักกันดี โจอี้ บอย
อัลบั้ม Nantida’ 17 มาพร้อม 10 เพลงเต็ม ที่เต็มไปด้วยทีมคนทำเพลง และคนเขียนเพลง ในยุคทองของแกรมมี่ช่วงปี พ.ศ. 2526-2546 อาทิ นิติพงษ์ ห่อนาค, นิ่ม สีฟ้า, อภิไชย เย็นพูนสุข ที่หลายคนคงคุ้นเคยกันดี
มู้ดแอนด์โทนของอัลบั้มโดยรวมเป็นเพลงป๊อป มีกลิ่นอายของอาร์แอนด์บี และโซลบางๆ มีเครื่องเป่าสอดแทรกอยู่บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ต่างออกไปคือ มีความเป็นคอนเซปต์อัลบั้มที่เนื้อหาพูดถึงความรู้สึกต่อชีวิต ความรัก ครอบครัว และอดีตที่เพิ่งผ่านพ้นไป ซึ่งต่างจากอัลบั้มในยุคดั้งเดิมที่จะมีวาไรตี้ของเนื้อหาในหลายแง่มุมมากกว่า
เพลงหัวของอัลบั้ม คือ Good Morning-Hello-Goodnight คำร้องโดย สีฟ้า ทำนอง/เรียบเรียง ธนา ลวสุต แค่อ่านชื่อของคนเขียนเนื้อและคนเรียบเรียงก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาระดับหนึ่ง เพราะสีฟ้าคือผู้ที่เขียนเพลงฮิตมากมายในอดีต และถ้าใครเป็นแฟนเพลงของวงไฮดรา คงเข้าใจว่าอัลบั้ม อัศเจรีย์ (พ.ศ. 2535) มีอิทธิพลแค่ไหนในยุคนั้น พอลองจินตนาการเล่นๆ ว่านี่คือเพลงของวงไฮดราที่มีนันทิดาร้องนำ และสีฟ้าเขียนเนื้อ มันทำให้ผมอยากฟังก่อนจะกดเพลย์ขึ้นมาในบัดดล
แค่เธอบังเอิญรักเขา แทร็กที่ 2 เพลงที่มีสัดส่วนจังหวะ หรือ Time signature 3/4 เป็นเพลงโปรดของผมในอัลบั้มนี้ ให้อารมณ์ของโซลบางๆ หรือถ้าบางคนจะนิยามมันเป็นจังหวะ Half-Time Shuffle ก็แล้วแต่ใครจะจินตนาการกันไป
เธอคือเพลง เพลงป๊อปที่อุปมาอุปไมยถึงบุตรสาว (น้องเพลง-ชนม์ทิดา แก้วบัวสาย) เป็นเพลงป๊อปฟังสบายทำนองติดหู สิ่งพิเศษของเพลงนี้คือท่อนกลางเพลงที่บิดคอร์ดบ้าง ทำให้เพลงที่มีทางเดินคอร์ดธรรมดาๆ ดูมีอรรถรสของดนตรีเพิ่มขึ้นได้
ไม่มีใครรู้หรอก เป็นเพลงบัลลาดสูตรสำเร็จของแกรมมี่ยุคดั้งเดิม ฟังง่าย เข้าถึงง่าย มีส่วนผสมของอะคูสติกเจืออยู่ ลองหลับตาฟังดู มันทำให้ผมนึกย้อนไปในวันที่อุตสาหกรรมเพลงยังอยู่ในยุคทองที่เทคโนโลยียังไม่ส่งผลกระทบอย่างทุกวันนี้ เพลงนี้เป็นเหมือนตัวแทนเพลงสูตรสำเร็จในยุคนั้นที่ย้อนกลับมาให้ฟังอีกครั้งในยุคนี้ที่หาฟังเพลงแบบนี้ยากขึ้นทุกที
ติดปีกที่หัวใจ เพลงช้าที่ทำให้ผมนึกถึง Rush Rush ของพอลลา อับดุล (Paula Abdul) บวกกับ เพลง ฉันทำทุกๆ อย่างให้เธอมีความสุข ของบอย โกสิยพงษ์ อยู่กลายๆ จริตของผมอาจจะล่องลอยไปกระทบเพลงนั้น แต่ไม่ได้มีเจตนาเปรียบเทียบในทางลบแต่อย่างใด
ฟังมาครึ่งอัลบั้ม อยู่ๆ ผมก็นึกถึงแกรมมี่ในยุคที่ทำอัลบั้ม นันทิดา THE THEATRE (พ.ศ. 2537) ให้นันทิดา มันทำให้นึกถึงวันที่เพลงของแกรมมี่ส่วนใหญ่เป็นเพลงเลือกนักร้อง แต่ก็จะมีบางอัลบั้มที่เพลงแต่งขึ้นมาเพื่อศิลปินคนนั้นเพียงคนเดียว
ขั้นตอนความเสียใจ เพลงหัวหน้าบี ทำนอง/เรียบเรียง ยังคงเป็นบุคลากรเดิมเหมือนเพลงหัวหน้า A แต่เป็นเพลงที่มีการใช้คำศัพท์สมัยใหม่ ร้องให้เข้ากับยุคสมัยให้เป็น Coffee Bean ช่วยแก้เลี่ยน ซึ่งอาจฟังดูแปร่งหูไปบ้าง คงเป็นเพราะความไม่คุ้นกับวิถีการร้องแบบนี้ที่ศิลปินยุคใหม่นิยมใช้กัน แต่อีกมุมหนึ่ง การที่นันทิดาลองทำอะไรใหม่ๆ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
เพราะเธอคนเดียว Feat. น้องเพลง ชนม์ทิดา ผมว่าถ้าพี่เต๋อ (เรวัต พุทธินันทน์) ยังอยู่ เพลงนี้น่าจะเป็นไอเดียที่บรรเจิด และคงมีทีเด็ดมาจากผู้ชายที่ก่อตั้งแกรมมี่คนนี้เป็นแน่ คิดไปไกลถึงขนาดว่าถ้ามีออร์เคสตราเล่นอยู่ข้างหลัง คงจะเพราะและน่าฟังมากเพิ่มขึ้นไม่น้อย
เท้าเปล่า เพลงจังหวะกลางๆ ที่โดนใจในเนื้อหา สัจธรรมของชีวิต สิ่งที่วนผ่านไปมา และบางครั้งไม่พอดีกับตัวเรา เป็นเพลงป๊อปง่ายๆ แต่เนื้อหาเข้ากับสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ ส่วนในแง่เนื้อหาดนตรี การแยกท่อนมาโซโล่หลีกหนีความจำเจทำให้เพลงมีมู้ดที่แพงขึ้นและไม่ได้ฟังยากจนเกินไป
ล้างหัวใจให้สะอาด ก่อนที่จะเล่นแทร็กนี้ ผมดูชื่อเพลงแล้วนึกถึงเพลงชื่อคล้ายกันอย่าง ล้างใจ ของพี่อนันต์ บุนนาค แต่พอฟังแล้วตัวเพลงไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด
ก็แค่เกม เพลงปิดอัลบั้ม บทสรุปที่ Executive Producer นิติพงษ์ ห่อนาค เป็นคนเขียน และเป็นบทสรุปของอัลบั้มนี้ ผมนึกถึงเพลง ก้อนหินก้อนนั้น อาจจะเป็นเพราะเพลงนี้เจาะจงเขียนให้คนๆ เดียวร้องถึงจะเกิดพลัง นับเป็นบทสรุปของอัลบั้มที่บ่งบอกถึงตัวตนของนักร้อง และจบบทบาทการฟังของผมอย่างสมบูรณ์ เหมือนเสพหนังชีวิตเรื่องหนึ่งโดยใช้แค่หูไม่ได้ใช้ตา
หน้าที่ของดวงอาทิตย์คือส่องแสงสว่าง เปรียบเสมือนนักร้องที่ต้องร้องเพลงตราบเท่าที่วันหนึ่งจะไม่มีคนฟัง เพลงในอัลบั้มนี้จะมีศักยภาพเทียบเคียง วิมานดิน หรือ ทรายกับทะเล หรือไม่ คงไม่มีใครตอบได้ในตอนนี้ แต่สิ่งที่พิสูจน์ได้ชัดเจน คือเรายังมีดีวาตัวจริงคนนี้ และยังคงสร้างผลงานต่อไปในยุคที่การเมืองในค่ายหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งสงครามค่ายเพลงที่ต่างต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ขณะที่ธุรกิจเพลงนับวันจะกลายเป็นของฟรีขึ้นทุกที
นันทิดา อาจจะไม่ใช่ดีวาที่ร้องเพลงได้เก่งที่สุด แต่ผมเชื่อว่าทุกคำที่เปล่งออกมานั้นเจือความรู้สึกที่แท้จริงตามความหมายนั้นๆ บทเพลงที่ได้รับความนิยม มันมาแล้วก็จากไป แต่เพลงที่ดีจะอยู่กับเราไปตราบนานเท่านาน
Discography
I Who have Nothing (พ.ศ. 2521)
เพลงรักดอกไม้บาน (พ.ศ. 2522)
รักต่างแดน (พ.ศ. 2523)
ข้อยเว้าแม่นบ่ (พ.ศ. 2526)
Something in Our Mind (พ.ศ. 2526)
อัลบั้มรัก (พ.ศ. 2528)
ในฝัน (พ.ศ. 2531)
ขอเป็นคนหนึ่ง (พ.ศ. 2535)
นันทิดา THE THEATRE (พ.ศ. 2537)
คืนสุดท้าย (พ.ศ. 2541)
ปลายฟ้า (พ.ศ. 2543)
คนที่แสนดี (พ.ศ. 2546)
Me & My Orchestra ชุดที่ 1,2 (พ.ศ. 2548)
Love is still beautiful (พ.ศ. 2550)
Nantida This is My Life (พ.ศ. 2552)
Nantida’17 (พ.ศ. 2560)