×

Bjork ศิลปินตัวจริงที่ไม่ต้องเดินตามรอยใคร

โดย Homesickalienn
01.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 mins read
  • กว่า 4 ทศวรรษที่โลดแล่นอยู่ในวงการดนตรี นับตั้งแต่ออกอัลบั้มแรกที่บ้านเกิดในปี 1977 จนกระทั่งโด่งดังเป็นพลุแตกในระดับนานาชาติ กับ Debut ผลงานเดี่ยวภาษาอังกฤษชุดแรกในปี 1993 บียอร์ก (Björk) ได้พิสูจน์ให้เหล่ามวลชนเห็นถึงบทบาทของการเป็นศิลปิน นักร้อง นักดนตรี หรือนักเขียนเพลงได้อย่างสมบูรณ์แบบ
  • เธอเลือกที่จะสะท้อนความรู้สึกนึกคิด สภาวะทางอารมณ์ ความคิดเห็นที่มีต่อสังคม รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ในหลายๆ มิติผ่านเนื้อเพลง และรูปแบบดนตรีทดลอง (Experimental Music) ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในลายเซ็นประจำตัวของบียอร์ก
  • ศรัทธาจากผู้คนทั่วโลกที่มีต่อ ‘ตัวตน’ ของเธอ ทำให้บียอร์กกลายเป็นหนึ่งในศิลปินนอกกระแสเพียงไม่กี่คน ที่สามารถปรากฏกายพร้อมหัวข้อข่าวซึ่งผู้คนต่างพากันรออ่าน นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 90 จวบจนกระทั่งทุกวันนี้

     ยัยผีบ้า, เจ๊ป่วง, นักร้องสาวสุดเพี้ยน, ศิลปินเพลงเพ้อ, หญิงสติแตก, ผู้หญิงคนที่ไปตบนักข่าวที่สนามบินดอนเมือง ประเทศไทย

     ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่หยิบมือหนึ่งจากฉายา และคำนิยมนับร้อยนับพันที่สถาบันดนตรี แฟนเพลงรอบโลก หรือแม้แต่พิธีกรรายการโทรทัศน์ตั้งให้แก่ Björk Guðmundsdóttir ศิลปินสาวจากไอซ์แลนด์ ผู้มาพร้อมอัตลักษณ์เฉพาะตนที่ล้นปรี่ ความสามารถทางดนตรีที่ล้นพ้น รวมทั้งความกล้าหาญ จริงใจ และซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตนเองเป็นจากภายใน โดยที่ไม่เกรงกลัวต่อค่านิยมของคนส่วนใหญ่ ซึ่งพร้อมจะตัดสินว่าเธอเป็นเพียงหญิงสติหลุดที่ดังเพราะความ ‘แปลก’ มานานนับสิบปี

 

 

     แน่นอนว่าผู้ที่ตั้งตนอยู่บนบรรทัดฐานของสังคมโดยทั่วไปย่อมมีคำตอบในใจเสมอ หากพวกเขาพบเจอพฤติกรรมขบถอันระคายสายตา การได้มาซึ่งชื่อเสียงผ่านการสร้างคาแรกเตอร์ที่พิสดาร หรือการที่บุคคลเลือกเดินเบี่ยงตัวออกไปจากเส้นทางที่คนส่วนมากบอกว่าเป็น ‘สิ่งที่ถูกที่ควร’ หากแต่ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นอยู่ในโลกที่มิได้ถูกเติมเต็มด้วยเพียงแค่น้ำหมึกสีขาวและสีดำ สังคมพหุพฤติกรรมซึ่งความ ‘บ้าบอคอแตก’ ของใครบางคน อาจจะเปี่ยมล้นด้วยความคิดสร้างสรรค์อันสดใหม่ บังเกิดเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้กับผู้คนนับล้านที่ยังคงค้นหาแสงปลายอุโมงค์เพื่อคลำทางออกจาก ‘กรอบมายาคติ’ ที่ผูกตรึงคนส่วนใหญ่เอาไว้ในการดำเนินชีวิตไปในทิศทางเดียวกัน คิดและตัดสินสิ่งต่างๆ ด้วยตรรกะคล้ายคลึงกัน และพร้อมที่จะโจมตีหรือปรามาสผู้ที่เลือกจะเดินเบี่ยงออกไปจากค่านิยมหลักอยู่เสมอ

What probably confuses people is they know a lot about me, but it quite pleases me that there’s more they don’t know. – Bjork


สิ่งที่มักจะทำให้ผู้คนสับสนก็คือการที่พวกเขารู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับฉันหลายอย่างมาก แต่ฉันก็รู้สึกพอใจเหลือเกินว่ามันมีเรื่องที่พวกเขายังไม่รู้ มากกว่าที่พวกเขารู้ – Bjork

 

จุดเริ่มต้นในสายดนตรี

     บียอร์ก (Björk) เกิดและเติบโตในครอบครัวของคุณแม่นักกิจกรรมทางสังคม และคุณพ่อผู้นำสหภาพแรงงานในประเทศไอซ์แลนด์ ก่อนที่จะค่อยๆ ซึมซับอิทธิพลทางด้านดนตรีจากพ่อเลี้ยงนักกีตาร์ จนได้เข้าไปศึกษาในโรงเรียนดนตรี ณ เมืองเรคยาวิก (Reykjavík เมืองหลวงของประเทศไอซ์แลนด์) สถานที่ซึ่งบียอร์กได้บ่มเพาะความสามารถในการเล่นเปียโน และฟลุต รวมถึงขัดเกลาสไตล์การร้องเพลงอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

     ครั้งหนึ่ง เธอขึ้นไปแสดงต่อหน้าผู้ชมมากมายในงานโรงเรียนด้วยบทเพลง I Love to Love ของ ทีนา ชาร์ลส์ (Tina Charles) จนกระทั่งไปเตะหูอาจารย์ประจำชั้นที่คลุกคลีอยู่กับสถานีวิทยุท้องถิ่นเข้า นั่นคือจุดเริ่มต้นทั้งหมดของตำนานนักดนตรี ที่บียอร์กถูกยกให้เป็น 1 ใน 100 ศิลปินหญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วงการดนตรีโลก จากการจัดอันดับโดย VH1 ในปี 2013

 

 

     กว่า 4 ทศวรรษที่โลดแล่นอยู่ในวงการดนตรี นับตั้งแต่ออกอัลบั้มแรกที่บ้านเกิดในปี 1977 เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของวง The Sugarcubes ที่ชาว Icelandic ยกย่องให้เป็น ‘วงดนตรีร็อกที่ดีที่สุดของประเทศ’ ในช่วงกลางปี 80 จนกระทั่งโด่งดังเป็นพลุแตกระดับนานาชาติ กับ Debut ผลงานเดี่ยวภาษาอังกฤษชุดแรกในปี 1993 บียอร์กได้พิสูจน์ให้เหล่ามวลชนเห็นถึงบทบาทของการเป็นศิลปิน นักร้อง นักดนตรี หรือนักเขียนเพลงได้อย่างสมบูรณ์แบบ เธอได้ผ่านช่วงชีวิตของการถูกมองเป็นตัวตลก คนสติไม่สมประกอบ สู่ความเป็นคุณแม่ลูกสอง ภรรยา สตรีผู้ผ่านการหย่าร้าง และมรสุมชีวิตต่างๆ เฉกเช่นคนทั่วไป


จากซ้ายบนไปขวา: ผลงานอัลบั้มบางส่วนของ Björk… Debut (1993), Post (1995), Homogenic (1997), Volta (2007), Biophilia (2011) และ Vulnicura (2015)


อะไรคือประเด็นซึ่งสร้างความ ‘แปลก’ และแตกต่างให้กับบียอร์ก จากผู้คนปกติทั่วไปในวงการดนตรี
     เป็นเรื่องธรรมดาสามัญเหลือเกินในวงการบันเทิง ไม่ว่าไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งหากบุคคลใดบุคคลหนึ่งต้องการมีที่ยืนภายใต้ไฟสปอตไลต์ที่สาดส่อง บุคคลนั้นย่อมจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทุกสายตาหันมาจับจ้องมอง ตีฆ้องร้องป่าวถึงอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งเกินครึ่งเป็นสิ่งที่ค่ายเพลงหรือต้นสังกัดพยายามยัดเยียดให้ กลายเป็นการสร้างตัวตนขึ้นใหม่ มิได้ออกมาจากความคิดความอ่านภายในอันเป็นสิ่งที่จีรังยั่งยืน (กว่า)

     ในทางตรงกันข้ามบียอร์กคือหนึ่งในตัวอย่างของคำกล่าวที่ว่า ‘ทองแท้ ย่อมไม่แพ้ไฟ’ ที่แท้จริง นับตั้งแต่ผลงานสตูดิโออัลบั้มภาษาอังกฤษชุดแรก Debut ซึ่งออกวางจำหน่ายในปี 1993 มาจนถึงอัลบั้มที่สองอย่าง Post ที่คลานตามมาติดๆ ในปี 1995 นักเสพเพลงหลายคนยังตั้งข้อกังขาในทิศทางดนตรีของบียอร์ก นักวิจารณ์หลายสำนักออกมาชื่นชมถึงความแปลกใหม่ในดนตรี Alternative-Pop ที่เจือกลิ่นอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีลูกเล่นไม่ซ้ำใคร แต่ว่าเกินกว่าครึ่งก็ไม่ลืมที่จะตบท้ายทุกย่อหน้าด้วยข้อความเย้ยหยัน ล้อเลียนการแสดงออกและบุคลิกของบียอร์กในสำนวนเชิงตลกขบขัน โดยเฉพาะรายการ Mad TV และ Saturday Night Live ประหนึ่งเธอเป็นเพียงตลกคาเฟ่ที่จับพลัดจับผลูเดินเซมาเข้าสตูดิโอห้องอัด แล้วดังขึ้นมาเพราะความแปลก

I don’t expect people to get me. That would be quite arrogant. I think there are a lot of people out there in the world that nobody gets. – Bjork


ฉันไม่ได้คาดหวังให้ผู้คนเข้าในตัวฉัน ซึ่งอาจจะฟังดูโอหังนะ แต่ฉันว่าก็มีผู้คนอีกมากมายบนโลกนี้ที่ไม่มีคนเข้าใจเช่นเดียวกัน – Bjork



คำวิจารณ์ต่างๆ ส่งผลกระทบใดๆ ต่อจิตใจของบียอร์กหรือไม่?

     เราไม่สามารถตอบแทนเธอได้ เนื่องจากบียอร์กไม่ใช่ศิลปินประเภทที่ออกมากล่าวแสดงความรู้สึกเบื้องลึกต่อสื่อต่างๆ สักเท่าใดนัก แต่บียอร์กเคยให้สัมภาษณ์กับ ABC News ในปี 1996 โดยกล่าวว่า เธอเลือกที่จะทำดนตรี และกลายเป็นคนที่สังคมรู้จักในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดีเธอก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่ยังต้องการพื้นที่ส่วนตัว และไม่ควรมีใครเข้ามาก้าวก่ายเกินขอบเขตมากเกินไป ความรู้สึกหลายอย่างเธอจึงเลือกที่จะเก็บไว้หรือพูดคุยกับลูกชาย เพื่อความสบายใจส่วนบุคคล แต่เธอเลือกที่จะสะท้อนความรู้สึกนึกคิด สภาวะทางอารมณ์ ความคิดเห็นที่มีต่อสังคม รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ในหลายๆ มิติผ่านเนื้อเพลง และรูปแบบดนตรีทดลอง (Experimental Music) ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในลายเซ็นประจำตัวของบียอร์ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลงานช่วงหลังๆ

 


     ในสตูดิโออัลบั้มภาษาอังกฤษลำดับที่ 3 Homogenic ออกวางจำหน่ายในปี 1997 พร้อมกับคอนเซปต์การเป็นอัลบั้มแรกที่บียอร์กเลือกที่จะโฟกัสไปที่เรื่องส่วนตัว โดยการมองเข้าไปถึงตัวตน มากกว่าการมองออกไปสู่โลกภายนอกดังเช่นสองอัลบั้มก่อนหน้า (Debut, 1993 และ Post, 1995) สิ่งนี้เปรียบเสมือนดาบสองคมสำหรับศิลปิน โดยแขนงหนึ่งอาจจะเป็นตัวที่ทำให้ศิลปินได้มาซึ่งรางวัลและคำสรรเสริญเยินยอมากมาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง การสูญเสียแฟนเพลงซึ่งชื่นชอบผลงานในยุคแรกๆ ย่อมเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ถึงแม้จะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงจากเพลงที่ฟังยาก กลายเป็นเพลงที่ฟังง่ายขึ้นดังเช่นกรณีของ Linkin Park และ Alanis Morissette แต่เป็นการเพิ่มมิติความซับซ้อนให้ตัวงานจนหลายๆ คนเริ่มที่จะรู้สึกเหนื่อยจนไม่อยากเข้าถึง เช่น Radiohead

 

 

เธอคือหนึ่งในผู้บุกเบิกยุค Visual Era ที่เรากำลังเผชิญอยู่

     การหยุดนิ่งอยู่กับที่ ปราศจากความต้องการทดลองเริ่มต้นนวัตกรรมดนตรีใหม่ๆ ดูเหมือนจะไม่ใช่แนวทางของบียอร์ก นักวิจารณ์หลายคนต่างก็จับจ้องที่จะเห็นวันที่เธอหมดซึ่งไอเดียในการนำเสนอ แต่ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาจะต้องล้มเลิกความตั้งใจในทุกครั้งที่บียอร์กเริ่มก่อร่างสร้างอัลบั้มหรือผลงานชิ้นใหม่ๆ

     ผู้หญิงคนนี้ไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่เคยทิ้งการค้นคว้าหาซาวด์สังเคราะห์ เทคโนโลยีที่มักจะล้ำหน้าชาวบ้านไปจนหลายคนต้องมองค้อน (เช่นการใช้เสียงไฟฟ้าสถิต รวมทั้งตัวกำเนิดปฏิกิริยาสะท้อน มาสร้างสรรค์เป็นเครื่องดนตรีชิ้นใหม่เพื่อทำอัลบั้ม Biophilia (2011) โดยเฉพาะ หรือการถ่ายทำมิวสิกวิดีโอเพลง Stonemilker จากอัลบั้มชุดล่าสุด Vulnicura (2015) ในรูปแบบของ Virtual Reality ซึ่งสามารถรับชมได้แบบ 360 องศาด้วยกล้องชนิดพิเศษ ซึ่งเธอเป็นศิลปินรายแรกๆ ของโลกที่มาพร้อมไอเดียนี้)

 

 

     หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทำให้บียอร์กยังมีไฟในการกลับมาและทำให้ทุกคนอ้าปากตกตะลึงได้ทุกครั้ง คือความจริงที่ว่าความแปลกประหลาดพิสดาร (สำหรับสังคมส่วนใหญ่) ทั้งหมดที่เกิดขึ้นล้วนเป็นสิ่งที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาภายในตัวของเธอเอง มิได้เป็นเพียงแค่ภาพลักษณ์ฉาบฉวยอันปลอมเปลือก แต่เป็นการเลือกที่จะอยู่กับตัวตนที่แท้จริง ถึงแม้จะต้องละทิ้งตัวเลขทางด้านยอดขายซึ่งไม่มีทางทำได้ถล่มทลายแบบศิลปินในกระแสหลักอย่าง Rihanna, Beyonce หรือ Katy Perry แต่ศรัทธาจากผู้ที่ชื่นชอบในตัวเธอทั่วโลกที่มีต่อ ‘ตัวตน’ ของเธอ ทำให้บียอร์กกลายเป็นหนึ่งในศิลปินนอกกระแสเพียงไม่กี่คน ที่สามารถปรากฏกายพร้อมหัวข้อข่าวซึ่งผู้คนต่างพากันรออ่าน นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 90 จวบจนกระทั่งทุกวันนี้

I guess I’m quite used to not being understood rather than being understood. – Bjork


ฉันว่าฉันชินชากับการถูกเข้าใจผิด มากกว่าการที่ได้รับความเข้าอกเข้าใจจากผู้คนรอบข้างแล้วล่ะ – Bjork



เมื่อวงการแฟชั่นหลงรักในตัวเธอ

     ไก่ล้วนงามเพราะขน คนก็ย่อมงามเพราะแต่ง แต่สำหรับเสื้อผ้ารุ่ยๆ แหว่งๆ ของบียอร์ก ซึ่งบ้างก็พิสดารจนนำมาล้อเลียนในรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์จนถึงทุกวันนี้ หลายๆ ตัวก็เกินที่จะถูกจำกัดความว่า ‘สวย’ ในสายตาคนทั่วไป แต่กระนั้นก็ได้กลายเป็นชุดที่อยู่ในความทรงจำของแฟชั่นกูรูหลายๆ คน เช่น ชุด ‘หงส์’ พร้อม ‘ไข่’ ที่เธอทยอยปล่อยลงพรมแดงระหว่างการปรากฏตัวในงานออสการ์ ปี 2001 ซึ่งเธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในฐานะผู้แต่งเพลง I’ve Seen It All จากภาพยนตร์เรื่อง Dancer In The Dark ที่บียอร์กแสดงนำเอง

 

 

     บียอร์กกลายเป็นขวัญใจของนักข่าวและหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ที่ต่างตั้งหน้าตั้งตารอว่าเธอจะปรากฏกายในชุดผีบ้าผีบออะไรในงานเทศกาลดนตรีต่างๆ อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นเพราะด้วยคาแรกเตอร์ ความคิดความอ่าน รวมทั้งการที่เธอคลุกคลีอยู่ในแวดวงศิลปะแขนงต่างๆ ซึ่งรวมถึงแฟชั่น ทำให้บียอร์กมีเพื่อนสนิทเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าชั้นนำมากมาย ที่มักจะพร้อมใจกันถวายชุดดีไซน์ประหลาดล้ำพิลึกพิลั่นให้เธอใส่ประกอบการถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ เช่น ชุดของ Alexander McQueen ในมิวสิกวิดีโอเพลง Pagan Poetry และคอนเสิร์ตต่างๆ หรือชุดที่ทำจากผ้าอะคริลิกซึ่งใช้เวลาถึง 4 เดือนในการตัดเย็บของดีไซเนอร์ชาวดัตช์ Iris van Herpen สำหรับการแสดงสดเพื่อโปรโมตอัลบั้ม Biophilia ในปี 2011

 



ก้าวต่อไปของวีรสตรีทางดนตรีที่ชื่อบียอร์ก

     กว่า 40 ปีที่ทั้งสร้างผลงานดนตรี คิดค้นนวัตกรรมทางด้านเสียงใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งการที่เธอได้มีโอกาสโลดแล่นอยู่บนจอเงินพ่วงด้วยรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ บียอร์กได้ทำหน้าที่ศิลปินที่แสดงให้เห็นถึงมิติของความเป็นมนุษย์ ความคิดสร้างสรรค์ที่ก่อกำเนิดได้โดยไม่สิ้นสุด ความกล้าหาญที่จะสื่อสารความคิดความอ่านภายในตัวตนออกมา โดยไม่ได้สนใจ (จนเกินไป) ว่าจะถูกผู้คนที่ยึดมั่นในมายาคติสังคมตัดสินให้เราเป็นพวกนอกคอก แปลกประหลาด สติไม่ดี

     ผลงานและบทบาทของบียอร์กทั้งในฐานะของศิลปิน นักแสดง ดีเจ นักกิจกรรม ทูตวัฒนธรรมจากการแต่งตั้งของรัฐบาลประเทศไอซ์แลนด์ หรือแม้แต่การเป็นคุณแม่ลูกสอง ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ทุกคำครหาที่เธอได้รับมาตลอดชีวิต และแน่นอนว่าคำครหาเหล่านั้นจะยังไม่มีทางหมดไป ตราบใดที่โลกมนุษย์นี้ยังคงหมุนอยู่ได้ด้วยความหลากหลายของความคิดความอ่าน เพียงแต่พวกเราทุกคนจะเปิดใจยอมรับกันและกันได้มากแค่ไหน ลืมตามองโลกออกไปได้ไกลเกินกว่าจะตัดสินว่าทุกคนต้องตั้งอัตตาอยู่ในทิศทางเดียวกันได้หรือไม่ เท่านั้นเอง

 

 

Photo: Björk/Facebook

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X