ถ้าคุณเป็นคนรักแมวและกำลังอินกับความน่ารักของเจ้าเหมียวที่เกิดขึ้นในเรื่อง Kedi เมืองแมว ภาพยนตร์สารคดีเรื่องล่าสุดจาก Documentary Club ที่พาไปทำความรู้จักวิถีชีวิตที่คน เมือง และแมว รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ถ้ายังไม่จุใจ วันนี้ แอ๊ด-พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ บรรณาธิการภาพของ THE STANDARD มีภาพน่ารักๆ จากประสบการณ์จริงตลอด 10 วัน ใน ‘เมืองหลวงแห่งแมว’ มาฝาก
ต้องขอบคุณความผิดพลาดเรื่องตั๋วเครื่องบินทริปตะลุยนิวยอร์กที่ทำให้แอ๊ด พีรพัฒน์ ต้องเปลี่ยนแผนก่อนออกเดินทาง 1 วัน และ ‘อิสตันบูล’ คือเป้าหมายใหม่ที่เขาเลือก
ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งความสะดวกที่ไม่ต้องขอวีซ่า สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ผู้คน ฯลฯ รวมทั้งการเป็นเจ้าของแมว 8 ตัว (ของตัวเอง 4 และของแฟนอีก 4 และยังมีอีก 4 ตัวที่คอยให้อาหารอยู่นอกบ้าน) ก็เพียงพอแล้วที่ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเดินทางไปที่นี่
และภาพที่กำลังจะได้เห็นต่อไปนี้ ก็น่าจะพอบอกได้ว่าเขาตัดสินใจถูกต้อง
ในมุมมองของช่างภาพและคนรักแมว คุณให้คะแนน ‘เมืองหลวงแห่งแมว’ นี้เท่าไร
ผมชอบที่ตุรกีเป็นเมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างเอเชียกับยุโรป ทั้งสถาปัตยกรรมต่างๆ วัฒนธรรม ความเป็นเมือง หรือความใจดีของผู้คน ในมุมของช่างภาพอย่างเดียวผมให้ 8 เต็ม 10 แต่ถ้าเอาแค่มุมของคนรักแมวล้วนๆ นี่ให้ 9 เต็ม 10 เลยครับ มีแมวอยู่ทุกที่ เดินไปที่ไหนก็เจอ ตลอด 10 วันที่นั่นน่าจะเจอแมวประมาณ 100 ตัว แล้วใน 10 ตัว จะสู้กล้องสัก 9 ตัว อาจจะมีแค่ตัวเดียวที่หนีหรือกลัวคน
เอกลักษณ์เฉพาะตัวของแมวอิสตันบูลคืออะไร
แมวที่นี่สะอาด ทั้งๆ ที่เมืองเขาก็ไม่ได้สะอาดขนาดนั้น ก็อาจจะมีบ้างพวกที่ชอบคุ้ยขยะ สภาพแมวก็จะโทรมๆ หน่อย แต่รวมๆ ถือว่าสะอาดมาก แล้วแมวก็ไม่กลัวคน รู้สึกได้ว่าที่อิสตันบูล เมือง คน และแมว เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันจริงๆ เดินๆ อยู่แมวบางตัวก็เข้ามานัวเนียที่ขาเลย ไม่ก็นอนกลิ้งไปกลิ้งมาตรงหน้าทั้งๆ ที่เราเป็นนักท่องเที่ยว ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน
แต่ที่ชอบที่สุดคือ ผมรู้สึกว่าสภาพจิตใจของแมวที่นี่ดีมาก ผมเคยไปเกาะแมวที่ญี่ปุ่นอย่างอาโอชิมะกับเอโนะชิมะจะรู้สึกว่าแมวที่นั่นดูมีความเครียดกว่าที่นี่ ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่านะ แต่ที่ญี่ปุ่นจะเห็นแมวขู่กันบ้าง ไม่เล่นกับคนบ้าง แต่ที่นี่ไม่เคยเห็นภาพแบบนั้นเลย
ขนาดคุ้ยขยะ ขนแมวก็ยังดูสวย
มานอนกลิ้งกันต่อหน้าต่อตาแบบนี้เลย
ผู้คนในอิสตันบูลดูแลแมวพวกนี้อย่างดี
ส่วนใหญ่ที่ผมเห็นจะเป็นอย่างนั้นนะ อย่างที่บอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันไปแล้ว อย่างอาหาร ถ้าคนที่นั่นกินอะไรเขาก็ให้แมวกินแบบนั้นไปพร้อมๆ กัน ไม่ได้เอาของเหลือๆ มาให้นะ คนกินขนมปัง แมวก็กินขนมปังด้วย เป็นแมวฝรั่งมาก (หัวเราะ) บางคนก็พกอาหารแมวติดตัวไป เจอแมวที่ไหนก็เอาอาหารออกมาให้ บางคนก็ทำอาหารเป็นกะละมังให้แมวอย่างเดียว ในเมืองก็จะมีบ้านแมวสร้างไว้เต็มไปหมด
อยู่บนหลังคาก็ยังมีทาสแมวปีนขึ้นไปเสิร์ฟอาหารให้ถึงที่
โฮมสเตย์แมวจรที่เหล่าทาสสร้างไว้ให้ทั่วเมือง
มีสถานที่ไหนอยากแนะนำสำหรับทาสแมวที่จะไปเมืองนี้เป็นพิเศษบ้างไหม
จริงๆ ก็ทุกที่เลยนะ มันมีแมวอยู่ทุกที่จริงๆ เดินอยู่ในตลาดนัดยังเจอเลย เพราะฉะนั้นเดินดูเมืองไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ได้ดูแมวไปด้วยเอง อย่างที่บอกว่าแมวเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตคนตุรกีไปแล้ว
ในบ้านร้างก็ยังมี
- Kedi เป็นภาษาตุรกีแปลว่า แมว
- คนตุรกีรักแมวขนาดตั้งชื่อเมืองอิสตันบูลว่า Catstantinople ล้อกับชื่อเล่นเก่าของเมือง Constantinople
- Kedi เมืองแมว เป็นผลงานกำกับหนังสารคดีเรื่องแรกของ เจดา โทรุน (Ceyda Torun) ผู้กำกับหญิงชาวตุรกี เธอใช้ชีวิตผูกพันกับแมว และอยากสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับแมวที่ทำให้อิสตันบูลแตกต่างไปจากเมืองอื่น
- แม้จะเป็นหนังนอกสายตา แต่ Kedi เมืองแมว ก็เดินทางไปมาแล้วทั้งเทศกาลหนังอินดี้อิสตันบูล เทศกาลหนังซีแอตเทิล เทศกาลหนังเมลเบิร์น และเข้าโรงฉายในอเมริกามาแล้ว
- ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้ที่ www.facebook.com/DocumentaryClubTH