×

สร้างคอนเทนต์ให้ปังสไตล์ ‘เต๋อ นวพล’ ผู้แหกทุกขนบตำราการตลาดออนไลน์

27.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 mins read
  • เต๋อ นวพล มองว่า โลกเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว น่าจะเป็นเราที่ปรับตัวตามสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่า เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลถือว่าเป็นโอกาสทั้งในแง่ของคนทำและคนดู เนื่องจากยุคนี้คือยุคที่อาวุธครบมือ ทุกคนสามารถพัฒนางานของตัวเองให้ดีพอที่จะหากลุ่มคนดูของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องไปทำตามใคร
  • หลักการตลาดในการทำวิดีโอออนไลน์ เช่น 5 วินาทีแรกต้องปัง อาจจะไม่เกี่ยวเท่าไรในการทำคอนเทนต์ แต่อยู่ที่ว่าเราทำงานนั้นออกมาดีพอหรือเปล่า เพราะหากคุณต้องใช้หลัก 5 วินาทีแรก นั่นอาจแปลว่าคอนเทนต์คุณยังไม่แข็งแรงพอ
  • ถ้าเกิดพยายามเป็นคนทำคอนเทนต์ที่ดี เราจะไม่ต้องกลัวเทคโนโลยีอีกเลย เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะใช้กระดาษ กล้องถ่ายรูป หรืออะไรก็ตาม ถ้าหลักการในใจคือเราต้องทำให้มันน่าสนใจมากๆ หรือเป็นคอนเทนต์ที่ใหม่จริงๆ มันจะอยู่ในแพลตฟอร์มไหนก็ได้

    “เรากำลังอยู่ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นลำไย ไหทองคำ ได้” เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับที่มีสไตล์ชัดเจนที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคกล่าวกับเรา ก่อนที่จะเริ่มการเสวนา

     คนส่วนใหญ่รู้จักเต๋อ นวพล ในฐานะผู้สร้างผลงานภาพยนตร์อย่าง ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย..ห้ามพัก.. ห้ามรักหมอ แต่ความจริงแล้วเขายังมีผลงานบนโลกออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จอีกหลายชิ้น เช่น ผลงาน This Brings Me Here ft. Kiko Mizuhara ที่ทำร่วมกับเซ็นทรัล เอ็มบาสซี, ROMPBOY – 39 ที่ทำร่วมกับรองเท้ายี่ห้อ Rompboy, FUN FACTS ที่ทำร่วมกับโครงการ Young Love รักเป็น ปลอดภัย

     คำถามก็คือ ในโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกราก ความสำเร็จวัดกันที่ยอดไลก์ ยอดแชร์ เขามีมุมมองต่อโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบอย่างไร เขากังวลกับอนาคตที่ไม่แน่นอนหรือไม่ และที่สำคัญ ใครล่ะที่จะเป็นลำไย ไหทองคำ ได้นานที่สุด

     THE STANDARD จึงได้ชวน เต๋อ นวพล มาร่วมพูดคุยในงาน AIS D.C. TALK #1: Transforming to the Future ดำเนินการเสวนาโดยนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร เพื่อเล่าประสบการณ์การทำงานในยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์มากมาย แต่เขากลับทำให้คอนเทนต์ของตัวเองเป็นที่รู้จักได้โดยไม่ต้องพึ่งทฤษฎีหรือหลักการออนไลน์มาร์เก็ตติ้งใดๆ

โครงเรื่องบางอันมันเหมาะกับ 5 นาทีก็ 5 นาที บางอัน 2 นาทีพอแล้วก็พอ เราเลยรู้สึกว่าแม่งไม่เกี่ยวกับเวลา แต่เกี่ยวกับว่าคอนเทนต์คุณน่าสนใจพอไหม

 

คุณคิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลเป็นโอกาสหรือวิกฤต

     ถ้าเป็นเรื่องหนัง เรามองว่ามันเป็นโอกาส อย่างที่บอกว่าอุปกรณ์หรือการทำหนังมันไม่เคยถูกกระจายสู่มือชุมชนอยู่แล้ว แต่ยุคนี้ทุกคนมีคนละอัน มันเลยเป็นโอกาสที่คนจะทำอะไรก็ได้ออกไป ข้อดีคือมีคอนเทนต์ให้เราดูหลากหลายขึ้นมากๆ เป็นยุคที่เราสามารถดูเด็กผู้หญิงตบกันในห้องน้ำได้แบบ realistic มาก ซึ่งโอเค มันก็มีความดาร์กถ้าเกิดใช้ผิด แต่เราไม่เคยโทษเทคโนโลยี เทคโนโลยีก็เกิดมาของมัน อยู่ที่เราในฐานะ user มากกว่าว่าจะใช้มันอย่างไร

     เราไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นวิกฤต เพราะโลกเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว มันไม่มีใครอยู่นิ่ง แล้วก็น่าจะเป็นเราที่ปรับตัวไปตามสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เราก็คิดว่าถ้าในฐานะผู้ชมหรือผู้บริโภค สำหรับเราก็ยังเป็นโอกาสอีก เพราะเรามีชอยส์ให้เลือกมากมายเต็มไปหมด ถ้าให้เลือกว่าอยู่ยุคนี้หรืออยู่ยุคที่แล้ว ก็อยู่ยุคนี้นะ ไม่อย่างนั้นถ้ากลับไปอยู่ยุคที่แล้วก็ต้องรอว่าสถานีโทรทัศน์จะเอาอะไรให้เราดูบ้าง เราต้องรอว่าสตูดิโอหนังจะเอาอะไรให้เราดูบ้าง ความหลากหลายมันก็น้อย การเรียนรู้มันก็น้อย

 

แล้วในฐานะคนที่ทำหนังเป็นอาชีพ ไม่คิดว่าจะโดนแย่งงานเหรอ

     เราคิดว่าต้องไม่หวาดกลัว มันเป็นพื้นฐานอาชีพเรานะ ต่อให้โลกนี้ไม่มีคนทำวิดีโอมากมาย เราก็ควรพัฒนาตัวเอง หมายถึงว่าเราควรทำให้มันดีขึ้นอยู่แล้วโดยพื้นฐาน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกังวล

     สองคือมันมาพร้อมกัน พอมีคนทำเยอะขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ audience ของแต่ละคนมันแตกกระจายไป ยกตัวอย่าง ลำไย ไหทองคำ เราไม่รู้จักเลยจนเขาเป็นข่าว แล้วพอรู้จักถึงพบว่า 900 ล้านวิวไปแล้ว ซึ่งทำไมเราไม่รู้จักคนคนนี้ในเมื่อวิวมันเยอะขนาดนั้น หรือเพลงมันดังขนาดนั้น ทำไมเราถึงไม่เคยได้ยิน

     อย่างที่เราบอกคือมันมาพร้อมกัน หมายถึงว่าพอมีคนทำเยอะขึ้น คนดูก็เริ่มแตกกระจายไปในสิ่งที่เขาชอบมากขึ้น ในขณะเดียวกันคนทำก็ค้นเจอ audience ของตัวเองเยอะขึ้นผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ เพราะฉะนั้นความจริงมันไม่ได้แย่งกัน audience คนหนึ่งไม่ใช่ว่าดูหนังเราแล้วเขาไม่ดูหนังคนอื่น เขาอาจจะติดตามหลายๆ คนในเวลาเดียวกัน

     มันเป็นตลาดที่ niche มากขึ้น niche ที่ประสบความสำเร็จด้วยนะ เพราะปัญหาของสมัยก่อนคือเป็น niche แล้วหาคนซื้อไม่เจอ หาคนดูไม่เจอ เพราะว่าเราไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก เราไม่มีสะพานต่อกับใครเลย แต่ตอนนี้เหมือนว่าทุกคนอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวที่เชื่อมต่อกัน เพราะฉะนั้นถ้างานคุณดีจริง ต่อให้เป็น niche คุณก็หาคนดูของคุณเจอเหมือนกัน คราวนี้มันอยู่ที่ว่าใครจะอยู่ไปได้ยาวๆ มากกว่า

 

ผลงาน This Brings Me Here ft. Kiko Mizuhara ที่ทำร่วมกับเซ็นทรัล เอ็มบาสซี เริ่มจากเต๋อได้รับบรีฟให้ทำแค่ ‘คลิปเบื้องหลังการถ่ายทำปรินต์แอด’ แต่เขาสร้างสตอรี่และตัวละครขึ้นมาเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมและทำให้ใกล้ตัวขึ้น ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นหนังสั้นกึ่งสารคดีที่ดูแล้วอมยิ้ม มากด้วยความรู้สึกดีๆ พร้อมกับคีย์แมสเสจที่ตรงจุดและเป็นสากลอย่าง ‘โชคชะตาทำให้เราได้มาเจอกัน’

 

วิธีคิดของคนทำเปลี่ยนไหม เวลาเราทำงานอะไรออกไปแล้วต้องมียอดไลก์หรือยอดวิวมาเป็นตัวชี้วัด

     นี่คือยุคที่เรามีอิสรภาพในการทำคอนเทนต์เยอะที่สุด สมมติถ้าเป็นเมื่อก่อนบอกว่าลำไย ไหทองคำ ดังโดยที่ยังไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก อำนาจการตัดสินใจว่าอะไรจะออกไปหรือไม่ออกไปมันก็อยู่ที่สถานี เขาก็จะบอกว่าต้องทำอย่างนี้สิถึงจะดัง กลายเป็นว่าเราต้องทำตามเขา แม้ว่าเราอาจจะไม่ใช่อย่างนั้น เราอาจจะไม่ได้อยากร้องหรือเต้นแบบนั้น แต่ถ้าเราไม่ทำตามสถานีหลักหรือเซ็นเตอร์ของมัน เราก็อาจจะไม่มีอาชีพไปเลย เพราะเราก็ไม่รู้จะไปติดต่อใครได้อีก เราไม่สามารถพบเจอ audience ของเราได้ในจุดอื่น

     แต่ยุคนี้คือยุคที่อาวุธติดครบเลย เกิดมาสามารถติดต่อชาวไอซ์แลนด์ได้เลย บางทีเราก็แปลกใจว่าทำไมทุกคนต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ในเมื่อคุณสามารถพัฒนาตัวเองจนดีพอที่จะหา audience ของคุณเองได้โดยที่ไม่ต้องไปเป็นแบบล้านวิวอันนั้นก็ได้

เชื่อเรื่องตำราออนไลน์มาร์เก็ตติ้งไหม เช่น 5 วินาทีแรกจะต้องทำอย่างนั้น หรือความยาวที่เหมาะสมที่สุดคือ 3 นาที

     เราทำในแบบของเราเองจนค้นพบว่าจริงๆ มันไม่เกี่ยว สมมติว่างานต้อง 3 นาทีไหม หรือ 5 วินาทีแรกต้องเกิดอะไรไหม เราว่างานของเราไม่เคยมีอะไรแบบนั้นเกิดขึ้นเลย งานของเรายาวกว่า 3 นาทีเกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่ 5 นาทีบวก หรือ 7 นาทีอะไรแบบนั้น 5 วินาทีแรกบางทียังเป็นภาพดำกับตัวหนังสืออยู่เลย 5 วินาทีแรกยังขึ้นชื่อนักแสดงอยู่เลย หมายถึงไม่มีอะไรดึงคนได้เร็วขนาดนั้น แต่มันก็ยังโอเคนะ ยังรู้สึกว่ามันเวิร์กอยู่

     ความจริงแล้วในฐานะคนทำคอนเทนต์ เรารู้สึกว่าหลัก 5 วินาทีแรกไม่เกี่ยวเท่าไร มันอยู่ที่ว่าเราทำงานออกมาดีพอหรือเปล่าแค่นั้นเอง ถ้าเกิดเราต้องใช้หลักการ 5 วินาทีแรก นั่นแปลว่างานเราอาจจะยังไม่แข็งแรงพอ 5 วินาทีแรกเราเลยต้องโกยให้มากที่สุด

 

แล้วลูกค้าเชื่อไหม

     เราโชคดีนิดหนึ่งที่เขาเชื่อ ไม่ใช่เชื่อเพราะมีชื่อเสียงอยู่แล้วนะ แต่เป็นการต่อสู้ บางทีตัดต่อเสร็จแล้วเอาให้ดู แล้วบอกเขาว่า 4 นาทีนะครับ ซึ่งจริงๆ คือ 7 นาที คือมันสนุก เขาก็ดูไปแล้วบอกว่าโอเคเลย ไม่ยาว ซึ่งจริงๆ คือ 7 นาที หนังมันจะยาว 7 นาทีก็ต่อเมื่อมันเริ่มไม่เวิร์กไปเรื่อยๆ คนมันจะเร่ิมรู้สึกว่าทำไมนานจัง แต่โอเค ในฐานะคนทำโฆษณาสั้นๆ อะไรที่มันไม่ควรยาวมากๆ ก็ไม่ต้องยาวมาก ถ้าเกิดประเด็นที่เราจะเล่ามันมีอยู่ประเด็นเดียวก็ไม่รู้จะยืดยาวไปทำไม โครงเรื่องบางอันมันเหมาะกับ 5 นาทีก็ 5 นาที บางอัน 2 นาทีพอแล้วก็พอ เราเลยรู้สึกว่าแม่งไม่เกี่ยวกับเวลา แต่เกี่ยวกับว่าคอนเทนต์คุณน่าสนใจพอไหม

     เวลาชอบอะไรสักอย่างมากๆ อยู่กับเขาครึ่งชั่วโมงก็เหมือน 5 นาทีเอง เพียงแต่ว่าเราทำให้มันดีหรือยัง อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำให้ได้มากกว่า คือทำให้มันน่าสนใจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หมายถึงว่าต่อให้เป็นงานซีเรียส เราก็ยังรู้สึกว่าทำให้มันน่าสนใจได้ เราไม่ได้รู้สึกว่าต้องฮาเท่านั้น ต้องโรแมนติกมากๆ เท่านั้นถึงจะครองใจคน โอเค มันอาจจะครองใจคนจริงๆ ในจำนวนมาก แต่เราแค่คิดว่านี่มันคือยุคที่เราอนุญาตให้มีความหลากหลายทางคอนเทนต์มากที่สุดแล้ว เราก็พัฒนาในแบบที่มันแตกต่างให้ดีพอ

ก่อนจะกระโดดออกจากกรอบ ควรไปศึกษากรอบให้ดีก่อน

การทำหนังของตัวเองกับทำตามโจทย์ของลูกค้า วิธีคิดต่างกันอย่างไร

     เวลาเราทำหนัง เรามีเรื่องจะเล่าใช่ไหม เช่น เราสนใจเรื่องอะไรสักอย่างหนึ่ง เราก็ทำสตอรี่ขึ้นมารองรับเรื่องนั้น แต่ของโฆษณาเหมือนธีมที่เราควรได้รับตอนสุดท้าย สมมติมาซื้อน้ำนี่กินกันเถอะ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจขนาดนั้น ความต่างระหว่างการทำหนังกับการทำโฆษณาคือธีม หรือสิ่งที่ต้องเล่าจริงๆ มันไม่เหมือนกัน แต่เราแค่คิดว่าเราหาแง่มุมในการเล่าเรื่องพวกนี้ได้

     การทำโฆษณาค่อนข้างดูเป็นโจทย์มากกว่าว่าเราจะแก้โจทย์อันนี้อย่างไร เราจะบอกคนดูอย่างไรว่าสินค้านี้มันเป็นอย่างนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เวลาเขาเรียกเราไปทำ เขาไม่อยากให้เราพูดตรงๆ ทำยังไงก็ได้ให้คนเก็ตข้อมูลของสินค้านี้โดยไม่รู้ตัว นี่คือสิ่งที่ต่าง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมานั่งคิดว่าในเมื่อสิ่งที่เราจะทำไม่ได้มาจากสตอรี่ของตัวเอง เราก็ต้องไปดูว่ามีสตอรี่อันไหนที่เข้ากับอันนี้ได้บ้าง แล้วก็ต้องมาดูว่าแบบไหนที่เขาทำไปแล้วด้วย อย่างขายผลิตภัณฑ์นี้ แนวโรแมนติกเขาทำกันไปเยอะแล้วก็ต้องหนี เพราะถ้าเกิดทำออกมาอีกตัวก็จะซ้ำ หรือว่าเทคนิคไหนเขาเคยใช้ไปแล้วบ้าง มันก็เลยเป็นเหมือนการหาวิธีแก้ปัญหามากกว่า

 

ผลงาน ROMPBOY – 39 ทำร่วมกับรองเท้ายี่ห้อ Rompboy เต๋อเล่าว่าเป็นงานที่สนุกและทำเร็วมาก เพราะตัวเจ้าของแบรนด์ (บู้ Slur-ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์) และกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ซึ่งเป็นวัยรุ่นค่อนข้างจะถูกจริตกับตัวเขา โฆษณาตัวนี้เริ่มจากความคิดที่ว่า เบอร์รองเท้าเป็นเรื่องส่วนตัวที่ต้องเป็นคนใส่ใจจริงๆ เท่านั้นจึงจะจำกันได้ ผลลัพธ์คือหนังสั้นแอบรักแฟน เพื่อน

 

แต่มันมีปัญหาในการทำคอนเทนต์ที่บางทีเนื้อเรื่องดี แต่กลบตัวผลิตภัณฑ์

     ตัวเราเองพยายามบาลานซ์ให้เกิดสิ่งนี้ได้พร้อมๆ กัน เราถึงบอกว่ามันต้อง collaborate กันนิดหนึ่ง ถ้าใครฝั่งใดฝั่งหนึ่งเยอะเกินไป เช่น สมมติว่าฝั่งลูกค้าเยอะเกินไป มันก็จะกลายเป็นโฆษณาเพียวๆ ที่คนขี้เกียจดู แต่ถ้าฝั่งเราเยอะเกินไป ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือเนื้อเรื่องนำโปรดักต์ไปนิดหนึ่ง อันนี้มันเลยรู้สึกว่าต้องซึ่งและกันนิดหนึ่ง มันพูดยากในฝั่งคนคิด ความจริงแล้วมันไม่ได้มีหลักการอะไรมากมาย แต่สิ่งที่พอจะมีในใจคือเราพยายามจะบาลานซ์สองอันนี้ให้ไปพร้อมๆ กัน หมายถึงว่ามันดูเป็นปัญหานั่นแหละ แต่มันไม่สามารถแก้ได้ด้วยการใช้ปัจจัยภายนอก มันต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงคิดไอเดียว่ามีไอเดียไหนบ้างที่จะบาลานซ์สองอย่างนี้ได้

     อย่างที่ว่า พอเหวี่ยงไปทางลูกค้าเยอะก็อาจจะน่าเบื่อ แต่ถ้าเหวี่ยงไปทางสตอรี่เยอะก็อาจจะลืมโปรดักต์ ผมเชื่อว่าทุกอันมันมีอันหนึ่งที่บาลานซ์สองอย่างนี้ได้พอดี เพียงแต่ว่าอันนั้นมันคืออะไร แล้วจะใช้วิธีไหน บางครั้งมันใช้วิธีที่แตกต่างกัน เพราะบางอันอาจจะต้องฮาร์ดโชว์ไปเลยหรือเปล่า หรือสินค้าแบบนี้ให้เนียนๆ ไปดีกว่า ทีนี้มันเป็นการตกลงกันระหว่างคนทำคอนเทนต์กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ ผมเลยบอกว่าต้องพยายามหาคนที่มันตรงกันเพราะเราจะเห็นในทิศทางเดียวกัน ผมว่ามันเป็นการหาคน The right person for the right job มากกว่า ซึ่งก็ยากนิดหนึ่ง แต่ถ้าหาเจอก็จะโอเค

ถ้าเป็นคนทำคอนเทนต์ที่ดี เราจะไม่ต้องกลัวเทคโนโลยีอีกเลย เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะใช้กระดาษ กล้องถ่ายรูป หรืออะไรก็ตาม หลักการในใจคือเราต้องทำให้มันน่าสนใจมากๆ เราทำให้คนติดตามได้ หรือทำให้มันยูนีกขึ้นมา หรือเป็นคอนเทนต์ที่ใหม่จริงๆ มันอยู่ในแพลตฟอร์มไหนก็ได้

 

โฆษณาสมัยก่อนเน้นขายตรงๆ แต่ตอนนี้หันมาสร้างสตอรี่กันหมด แล้วแบรนด์จะได้มากขึ้นหรือน้อยลง

     มันอยู่ที่ว่ารีบแค่ไหน สำหรับเรา ยุคนี้คนมันทันขึ้นมากๆ อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวนะ ถ้ามันมาเนียนๆ อยู่ในชีวิตประจำวัน มันจะอยู่นานกว่า หมายถึงว่าของสิ่งนี้มันเป็นส่วนหนึ่งกับเราได้จริงๆ ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม เพราะโดยพื้นฐานไม่มีใครอยากดูโฆษณาอยู่แล้ว เราเลยต้องทำให้มันสนุกมากๆ จนคนอยู่กับมันโดยที่ไม่รู้ตัว ถ้าเกิดเราเปิดมาจะขายเลย มันเหมือนโฆษณาที่เราไม่ดูแล้วเดินไปฉี่ กลายเป็นว่าไม่ได้อะไรเลย ยกเว้นแบบที่มันฮาร์ดเซลล์แล้วมันเวิร์ก คือเขาก็จะมีศิลปะของเขา มันไม่ได้ฮาร์ดตรงๆ มันมีความหลอกล่อ หรือบอกไม่หมดอะไรแบบนี้อยู่แล้ว

     ผมรู้สึกว่ามันแล้วแต่ฟังก์ชันด้วย หมายถึงว่าเราอาจจะไม่ถนัดทำ TVC 30 วินาที สำหรับเรามันยาก ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นงานขายวิญญาณหรืออะไร แต่มันเร็วมาก ทำไม่ทัน คือวิธีคิดมันคนละแบบ 30 วินาทีในแบบของเราคือตัวละครเดินเข้ามาในห้องจะไปนั่งก็หมดแล้ว ยังไม่ทันพูดอะไร แต่คนที่เขาทำ TVC 30 วินาที เขาเปิดมาลุยเลย เล่าเลย มันเป็นอีกทางหนึ่งที่เราอาจจะไม่ถนัดขนาดนั้น

     คราวนี้มันอยู่ที่ว่าเจ้าของสินค้ารู้ใช่ไหมว่ารอบนี้จะขายอะไร ถ้าเกิดต้องขายปังๆ ทีเดียวไปเลยก็อาจจะไม่ได้จ้างนวพล หรือแซลมอนเฮาส์ ก็ต้องไปจ้างคนที่เขาถนัดทางด้านนี้

 

FUN FACTS ที่ทำร่วมกับโครงการ Young Love รักเป็น ปลอดภัย เป็นหนังที่เต๋อบอกว่าเป็นตัวเขามาก โจทย์มีแค่เรื่องการให้ความรู้เรื่องเพศกับวัยรุ่น  เขาจึงสร้างเรื่องราวและตัวละครตามที่ตัวเองถนัดจนได้ออกมาเป็นหนังสั้นตลก สนุก แต่แทรกความรู้ 

 

สำหรับคนรุ่นใหม่หรือคนที่กำลังอยากเข้ามาทำคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นหนัง โฆษณา หรือวิดีโอออนไลน์ คุณสมบัติสำคัญที่สุดที่เขาควรจะมี หรือควรจะเพิ่มทักษะตัวเองเพื่อรับกับอนาคต

     ถ้าเป็นคนทำคอนเทนต์ที่ดี เราจะไม่ต้องกลัวเทคโนโลยีอีกเลย เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะใช้กระดาษ กล้องถ่ายรูป หรืออะไรก็ตาม หลักการในใจคือเราต้องทำให้มันน่าสนใจมากๆ เราทำให้คนติดตามได้ หรือทำให้มันยูนีกขึ้นมา หรือเป็นคอนเทนต์ที่ใหม่จริงๆ มันอยู่ในแพลตฟอร์มไหนก็ได้ เพราะยุคนี้พิสูจน์แล้วว่าเรามีวิดีโอมากมายให้ดูแต่วิดีโอที่น่าสนใจมันก็ไม่ได้มีเยอะขึ้นกว่าเดิมเท่าไร เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่าถ้าเป็นคนทำ หนึ่ง ต้องหาสิ่งที่เราสนใจที่สุดให้ได้ คุณจะได้พัฒนาสิ่งนั้นให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่บอก ถ้ามันดีถึงจุดหนึ่ง คนทั่วไปจะมาสนใจมันเอง เพราะเอาจริงๆ บางทีมันมีความเข้าใจผิดๆ ว่าถ้าเราจะทำหนังแมส เราต้องทำหนังผีหรือตลกไปเรื่อยๆ แล้วในความรู้สึกเรา คนทั่วๆ ไปเขาไม่ได้อยากดูหนังเรื่องเดิม เขาอยากดูคอนเทนต์ใหม่ที่เขาเข้าใจได้

 

ถ้าเกิดคนอยากทำงานเรื่องการสื่อสาร เขาควรจะไปหาความรู้หรือทักษะจากไหนดี

     จริงๆ เรารู้สึกว่ามันมีหลักเบสิกในการสื่อสารอยู่ ทุกเรื่องในโลกมันก็เกิดจากอะไรง่ายๆ หมายถึงว่าต่อให้เป็นหนังทดลองขนาดไหน มันก็เกิดมาจากหลัก 3 องก์ปกติ คือเหมือนภาพยนต์มันจะมีหลัก 3 องก์ เริ่มต้นก็ทำให้ตื่นเต้นขึ้นเรื่อยๆ แล้วปิดจบอะไรแบบนี้ คือเราไม่ได้เรียนหนังนะ แต่เรามาเรียนรู้เรื่องนี้หลังจากทำงานกับที่สตูดิโอ ซึ่งตอนแรกคิดว่าการเรียนกฎพวกนี้มันจะทำให้เราตันหรือเปล่านะ จะทำให้เราเสียวิญญาณหรือเปล่านะ แต่ตอนหลังพบว่ามันไม่มีอะไรหรอก มันเป็นหลักเบสิกในการสื่อสารแค่นั้นแหละ

     ก่อนจะกระโดดออกจากกรอบ ควรไปศึกษากรอบให้ดีก่อนจะดีมาก อันนี้พูดในฐานะคนอยู่นอกกรอบแล้วเข้ามาศึกษาในกรอบ แล้วก็กระโดดออกไปนอกกรอบใหม่ รู้สึกว่าพอมันมีกรอบแล้วเราจะรู้ว่ามันจะกระโดดออกไปทางไหนได้บ้าง หรือเขาเคยทำอะไรมาแล้วบ้าง หรือเราจะชื่นชมงานที่กระโดดออกจากกรอบได้ดีขึ้น เพราะเรารู้ว่าเขากระโดดออกอย่างไร มันไม่ใช่เป็นแบบ งานมันแจ๋วดีว่ะ เท่ดีว่ะ แล้วอธิบายอะไรไม่ได้เลย

     เพราะฉะนั้นต่อให้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากขนาดไหน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือตัวเราเอง ถ้าหากเรารู้จักปรับตัวและพัฒนาคอนเทนต์ของเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่ามันอยู่แพลตฟอร์มไหน มันก็จะหาคนดูเจอเอง เพราะท้ายที่สุด ถ้าคอนเทนต์คุณยังไม่ดีพอ หลักการตลาดใดๆ ก็คงช่วยคุณไม่ได้ / จบ.

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X