T2 Trainspotting เข้าฉายแล้วเฉพาะที่เฮ้าส์ อาร์ซีเอ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2017 ความจริงมันเกือบจะไม่ได้เข้าฉายในเมืองไทยแล้วเชียว แต่ด้วยเสียงเรียกร้องจากแฟนหนังยุค 90s ส่งเสียงดังจนทำให้เฮ้าส์ อาร์ซีเอ และโซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (ประเทศไทย) ตัดสินใจจับมือกันเพื่อฉาย T2 ในที่สุด ซึ่งบอกเลยว่ามาฉายให้ดูแล้วก็อย่าได้พลาด!
หนังวัยรุ่นขี้ยายุค 90s แห่งเกาะอังกฤษเรื่องนี้เจ๋งตรงไหน ทำไมมันถึงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังจากอังกฤษและสกอตแลนด์ที่ติดอันดับยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล แล้วหนังภาคต่อที่สร้างห่างจากภาคแรกถึง 23 ปีมีดีอะไร เปรี้ยวยังไง คนรุ่นใหม่ดู T2 แล้วจะอินตามได้ไหม
เดี๋ยวจะพาย้อนเวลากลับไปเมืองเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ แหล่งกำเนิดของ Trainspotting อีกครั้ง
Choose Life: เราเลือกชีวิตที่เป็นอยู่เพราะเราอยากเลือก หรือคนอื่นตีกรอบว่าเป็น ‘ชีวิตที่ดี’
Trainspotting เข้าฉายครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1996 และทันทีที่เข้าฉายใน ‘สหราชอาณาจักร’ มันก็ฮิตระเบิดจนลุกลามไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย (ที่ถึงจะไม่ได้เข้าโปรแกรมฉาย แต่คนชอบดูหนังก็ยังไปหามาดูกันจนได้ อ้อ ในปี 1996 The British Council เคยจัดรอบพิเศษฉาย Trainspotting ร่วมกับหนังอังกฤษอีกหลายเรื่องที่ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งแน่นอนว่าคนดูหนังมากันแน่นโรงจนต้องนั่งดูกันตามบันได)
เนื้อหาใน Trainspotting พาคนดูไปติดตามชีวิตมึนๆ ของเพื่อนพ้อง ‘ไอ้หนุ่มขี้ยา’ ที่ชีวิตไร้แก่นสาร ไร้อนาคต แถมยังเต็มไปด้วยคำสบถหยาบคาย แต่ขณะเดียวกันหนังก็ตั้งคำถามกับคนดูถึงการเกิด เติบโต และมีชีวิตอยู่ ว่าแท้จริงแล้วทุกวันที่ตื่นนอน เรากำลังเลือกในสิ่งที่ใช่และดีที่สุดให้กับชีวิตอยู่จริงๆ หรือ
ตกลงเราเลือกชีวิตที่เป็นอยู่เพราะเราอยากเลือก หรือเพราะใครต่อใครตีกรอบความเชื่อให้ว่า ‘ชีวิตที่ดี’ ควรเป็นแบบไหน และถึงที่สุด ถ้าตกลงเลือกใช้ชีวิตเละๆ เหลวๆ ซึ่งต่างไปจากขนบของสังคมที่คิดว่าดีบ้างจะไม่ได้เชียวหรือ… (ฉากเปิดเรื่องนี้มาพร้อมบทพูด “Choose Life” ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในความคลาสสิกของคนดูหนังยุค 90s)
Trainspotting ได้รับการยกย่องว่าเลือกตีแผ่แง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งเสพติดได้อย่างแยบคายและตรงประเด็น ผ่านงานวิชวลด้านภาพที่แปลกตา ผสมกับซาวด์แทร็กเปรี้ยวๆ ที่ในยุคนั้นต้องเรียกว่าสดใหม่สุดๆ ความดีงามคือหนังไม่พยายามจะตัดสินหรือมาสั่งสอนเราเหมือนผู้ใหญ่หัวโบราณว่าอะไรคือดี อะไรคือเลว เพราะสุดท้ายพอดูไปเรื่อยๆ เราก็จะรู้สึกได้เองแหละว่าอย่าไปทำอะไรตามอย่างไอ้พวกนี้เลยจะดีกว่า
“เนื้อเรื่องมันโดนใจคนในยุคนั้น ซึ่งเป็นยุคที่คนเริ่มใช้ชีวิตเป็นสูตรสำเร็จกันมากขึ้น หนังมันเลยตั้งคำถามกับเราว่า แล้วคุณจะใช้ชีวิตตามสูตรสำเร็จอย่างนั้นเหรอ ถ้าอย่างนั้นเราควรจะใช้ชีวิตแบบไหนดี แล้วมันไม่ใช่แค่เรื่องหนัง แต่ผมว่ามันเกิดอิทธิพลทางแฟชั่น และเป็นเรื่องป๊อปคัลเจอร์ด้วยนะครับ หนังเรื่องหนึ่งทำงานได้กว้างในระดับนี้ ผมว่ามันไม่ได้ทำกันง่ายๆ
“Trainspotting เป็นปรากฏการณ์ของหนังเรื่องหนึ่งที่สร้างความครึกโครม กระแสมันเริ่มจากอังกฤษ ก่อนจะไหลไปทั่วโลก ถ้าใครทันในช่วงที่หนังมันออกฉายเมื่อราวๆ 20 ปีที่แล้ว คุณจะเห็นโปสเตอร์ Trainspotting เต็มบ้านเต็มเมือง หนังเรื่องนี้ไม่ได้ฉายในบ้านเราด้วยซ้ำ แต่ยังเห็นโปสเตอร์เต็มไปหมด บางคนเอารูปมาทำ เสื้อยืดใส่กัน คุณยวน แม็คเกรเกอร์ ที่ตอนนั้นคนไทยยังเรียกชื่อเขาว่า ‘อีวาน’ อยู่ก็กลายเป็นขวัญใจวัยรุ่นขึ้นมา
“ผมเคยมีเสื้อ Trainspotting แล้วช่วงนั้นเวลาถ่ายรูปก็พยายามจะยืนท่าเดียวกับยวน แม็คเกรเกอร์” – พงศ์นรินทร์ อุลิศ Cheif Executive Officer คลื่น Cat Radio และผู้บริหารโรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ
Choose Name: Trainspotting มีที่มาจาก ‘คนไร้บ้านขี้ยา’
ชื่อเรื่อง Trainspotting มาจากตอนหนึ่งในนวนิยายของเออร์วิน เวลซ์ (Irvine Welsh) เมื่อเบ็กบี (รับบทโดย โรเบิร์ต คาร์ไลล์) และเรนตัน (รับบทโดย ยวน แม็คเกรเกอร์) ไปเจอลุงขี้เมาไร้บ้านในสถานีรถไฟ Leith Central ที่เลิกใช้ไปแล้ว ลุงแกเลยถามมึนๆ แบบติดตลกกับไอ้หนุ่มทั้งสองว่า “จะเข้ามาดูรถไฟกันเหรอ” (trainspotting)
เวลซ์เคยอธิบายไว้ว่า ช่วงที่เขาเติบโตในเอดินบะระ ที่นั่นมีสถานีรถไฟร้างที่กลายเป็นที่ชุมนุมของพวกไร้บ้านและคนติดยา ซึ่งคนติดยาเหล่านี้จะใช้คำพูดว่า ‘trainspotting’ เมื่อพวกเขาจะไปเสพยากัน นั่นทำให้ช่วงปลายของยุค 80s ในประเทศอังกฤษ คำว่า trainspotting จึงหมายถึงคนที่ไม่เอาจริงเอาจัง เหยาะแหยะ และแน่นอนว่าส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการใช้ยาเสพติดด้วย
(และถ้าใครกำลังเตรียมตัวไปดู T2 เกือบท้ายเรื่องคุณจะพบว่ามีฉากเล็กๆ ที่เบ็กบีวิ่งไล่ล่าเรนตันไปจนถึงสถานีรถไฟ หนังพาย้อนกลับไปที่นั่นเพื่อบอกกับเราว่า ลุงขี้เมาคนที่พูดคำว่า ‘trainspotting’ คนนั้นเป็นใคร งานนี้รับรองว่าแฟนหนังจากภาคแรกมีเซอร์ไพรส์)
Choose Frame: ภาพที่อิงจากภาพวาดกึ่งจริงกึ่งหลอนของฟรานซิส เบคอน
ขณะที่หนังเต็มไปด้วยอารมณ์ขันและสถานการณ์แบบตลกร้าย ซึ่งมันถูกเล่าผ่านช็อตภาพสีสด ล่องลอยๆ ประหนึ่งว่าอยู่ในอาการของคนติดยาที่มักจะมองเห็นสิ่งรอบตัวเป็นภาพเหวี่ยงๆ เคลื่อนไหวตลอดเวลาจนสติจับภาพไม่ทัน หลายฉากชวนแหวะ หลายฉากก็พาหลอน เหมือนพาคนดูไปอยู่ร่วมในประสบการณ์จริงของคนที่หลงดำผุดดำว่ายอยู่กับสิ่งที่เรียกว่ายาเสพติด
เพราะตั้งใจจะสร้างแนวทางการถ่ายภาพแบบ ‘จินตนาการดิบเถื่อน’ หรือ ‘อาการประสาทหลอน’ นี้เอง แดนนี บอยล์ (Danny Boyle) ผู้กำกับ เลยเลือกจะถ่ายทำโดยการวางเฟรมกล้องด้วยมือ บวกด้วยการตัดต่อแบบตัดไปตัดมา บางจังหวะค้างเฟรม บางช็อตซูมแล้วกลับไปถ่ายมุมกว้าง ฯลฯ สไตล์ที่หวือหวาแหวกขนบเหล่านี้กลายเป็นสไตล์ที่แข็งแรง ซึ่งหนังของบอยล์ในเรื่องหลังๆ อย่าง The Beach หรือ 28 Days Later ก็มีลายเซ็นความหวือหวาแบบนี้ด้วยเช่นกัน
ภาพของ Trainspotting บอยล์ได้รับอิทธิพลมาจากสีภาพเพนต์ของฟรานซิส เบคอน ที่ส่วนหนึ่งของภาพมีเค้าความจริง ขณะที่อีกส่วนเป็นจินตนาการ ให้อารมณ์หลอน เหนือจริง ส่วนฉากที่เรนตันมุดโถส้วมแล้วดำดิ่งอยู่ในห้องน้ำก็สื่อออกมาจากนิยายของโทมัส พินชอน ที่ชื่อว่า Gravity’s Rainbow
ฉากคลาสสิกในตำนานมีเยอะมาก (จนคิดว่าถ้าคนรุ่นใหม่อยากเข้าไปดู T2 ก็ควรจะหาหนังภาคแรกมาดูเสียหน่อย) ยกตัวอย่าง ฉากที่แสดงภาวะหลังจากเสพยาของเรนตัน หรือฉากที่เรนตันมุดลงไปในโถส้วมของห้องน้ำที่สกปรกโสโครกที่สุดในสกอตแลนด์
และอีกฉากหลอนคือฉากที่เรนตันเห็นภาพหลอนของเด็กทารกแบบหมุนคอ 180 องศา
https://www.youtube.com/watch?v=KYAmt9WRoNo
“Trainspotting ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสไตล์ของหนังในยุคนั้น มันมีความหวือหวาด้านภาพหรือแม้แต่การทำดนตรีประกอบ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่คนไม่เคยเห็นในภาพยนตร์มาก่อน โดยหลังจากออกฉายก็มีหนังต่างประเทศอีกมากมายเลยที่มีทางคล้ายๆ กับหนังเรื่องนี้” – พงศ์นรินทร์ อุลิศ Cheif Executive Officer คลื่น Cat Radio และผู้บริหารโรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ
Choose Music: อัดแน่นด้วยเพลงระดับมงกุฎทูตทั่วเกาะอังกฤษ
ซาวด์แทร็กเป็นอะไรที่ยิ่งต้องพูดถึง เพราะมันเต็มไปด้วยเพลงบริตป๊อป, อัลเทอร์เนทีฟร็อก และอิเล็กทรอนิกส์มิวสิกระดับมงกุฎทูตจากวงดังทั่วเกาะอังกฤษซึ่งกำลังบูมสุดๆ ในยุคนั้น เพลง Lust for Life ของ Iggy Pop นั้นโดดเด่นที่สุด เคียงคู่มากับ Born Slippy ของ Underworld ที่ฟังแล้วกรี๊ดสุดในตอนนั้น
ยังไม่จบง่ายๆ Temptation ของ New Order, Sing ของ Blur, Atmosphere – Joy Division หยุดไม่ได้แล้ว ขอบอกอีก Perfect Day ของ Lou Reed และ Mile End ของ Pulp เพราะแบบนี้นี่แหละ Trainspotting จึงมักจะติดอันดับเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอยู่เสมอทุกครั้งที่มีการจัดอันดับ
Lust for Life – Iggy Pop
Born Slippy – Underworld
Choose Casting: ดาราโนเนมที่ดังระเบิด!
นักแสดงเองก็สดใหม่ในตอนที่เริ่มต้นการถ่ายทำ ทุกคนแทบจะโนเนมกันหมด (ยวน แม็กเกรเกอร์, จอนนี ลี มิลเลอร์, อีเวน เบรมเนอร์, โรเบิร์ต คาร์ไลล์, เควิน แม็กคิดด์ และเคลลี่ แม็คโดนัลด์) ยกเว้นยวน แม็คเกรเกอร์ ที่เคยแสดงใน Shallow Grave หนังเรื่องแรกของแดนนี่ บอยล์ มาแล้ว ส่วนโรเบิร์ต คาร์ไลล์ เคยแสดงมา 3-4 เรื่อง โดยเฉพาะ Go Now ในปี 1995 ที่ทำให้เขาเริ่มโดดเด่น แต่หลังจากหนังออกฉาย ทุกคนก็ดังระเบิดไปเลย!
ก่อนการถ่ายทำ บอยล์ให้นักแสดงเตรียมตัวโดยสั่งให้พวกเขาไปดูหนังเก่าๆ เกี่ยวกับการก่อกบฎโดยเยาวชน เช่น The Hustler และ A Clockwork Orange โดยเฉพาะบท ‘เรนตัน’ บอยล์ต้องการให้การแสดงของยวนมีส่วนผสมของไมเคิล เคนน์ จากเรื่อง Alfie และมัลคอล์ม แม็กโดเวลล์ จากหนังคัลต์ในตำนานอย่าง A Clockwork Orange ที่จัดว่ามีคาแรกเตอร์ดิบถ่อย ไม่น่าคบหา แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็เป็นตัวละครที่มาพร้อมกับเสน่ห์ที่น่าติดตามด้วยเช่นกัน
เบกบี
เอียน รัช
Choose Novel: สร้างจากนิยายดัง ปี 1993 รางวัล Booker Prize ยอดขายกว่า 5 ล้านเล่ม
Trainspotting สร้างมาจากนิยายดังระเบิดของเออร์วิน เวลซ์ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1993 หลังจากวางขายได้ไม่นาน เรื่องราวของไอ้หนุ่มขี้ยาแห่งเอดินบะระก็เข้าไปบอมบ์กล่องดวงใจของคนหนุ่มสาวจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือแอนดรูว์ แม็คโดนัลด์ โปรดิวเซอร์ที่เพิ่งส่ง Shallow Grave จนดังเปรี้ยงไปหมาดๆ เขาอ่านหนังสือเล่มนี้บนเครื่องบินแล้วสัญชาตญาณแห่งวัยหนุ่มก็บอกทันทีว่ามันเหมาะสร้างเป็นหนัง แอนดรูว์ส่งหนังสือเล่มนี้ไปให้แดนนี่ บอยล์ และจอห์น ฮอดจ์ (John Hodge) ดรีมทีมที่สร้างชื่อมาด้วยกันจาก Shallow Grave ก่อนที่ต่อมาพวกเขาจะช่วยกันปั้นนิยายสุดห่ามเล่มนั้นจนกลายเป็นหนังเปรี้ยวที่โลกไม่เคยลืม
Trainspotting ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้ายในการพิจารณารางวัล Booker Prize ด้วยยอดขายกว่า 5 ล้านเล่ม ก่อนที่อีก 3 ปีต่อมา ภาพยนตร์ที่ถูกดัดแปลงจากหนังสือเล่มนี้จะออกฉายและประสบความสำเร็จทั้งในแง่เสียงวิจารณ์และรายได้
หลังจากหนังสือเล่มแรกโด่งดังระดับตำนาน 9 ปีต่อมา เวลซ์เขียนภาคต่อของแก๊งนี้อีกครั้งในชื่อ Porno ซึ่งเนื้อหาพูดถึงชีวิตอีก 10 ปีต่อมาของตัวละคร
Choose Icon: โปสเตอร์สุดปัง ส่วนผสมของภาพขาว-ดำ และสีส้มจากป้ายเตือนภัย
หลังจากหนังเปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1996 Trainspotting กลายเป็นหนังฮิต โดยเฉพาะกับคอหนังวัยรุ่น เพราะมันมีส่วนผสมมากมายที่จะพาไปสู่หนังระดับ ‘ป๊อบคัลเจอร์แห่งยุค’ ไล่เรียงตั้งแต่เนื้อหนังแสนขบถ ภาษาภาพสุดหวือหวา ดนตรีจากวงบริตป๊อป หรือซาวด์จากอิเล็กทรอนิกส์มิวสิกที่กำลังมา คาแรกเตอร์ตัวละคร เสื้อผ้าหน้าผม ไปจนถึงโปสเตอร์โปรโมต!
โปสเตอร์ของ Trainspotting เป็นไอเท็มที่ขายดีสุดๆ ในยุคนั้น วัยรุ่นนอกกรอบจะต้องติดมันไว้ที่ห้องนอนของตัวเอง (โปสเตอร์ที่ขายดีที่สุดชิ้นหนึ่งคือเวอร์ชันที่มีบทพูด “Choose Life” ในช่วงเปิดเรื่อง) สาเหตุที่มันดูคูลสุดๆ เพราะมาร์ค บลาเมียร์ จากสตูดิโอกราฟิกดีไซน์ Stylorouge (ผู้ออกแบบปกแผ่นเสียงของ Enya, Blur, Stereophonics, Jake Bugg, Menswear และอีกเพียบ) ต้องการให้โปสเตอร์ของ Trainspotting ไม่เหมือนกับโปสเตอร์เรื่องอื่นๆ ในอุตสาหกรรมหนังขณะนั้นเลย
เขาเริ่มต้นการออกแบบด้วยการหาไอเดียที่ต่างจากที่เห็นในตลาดหนังทั่วไป จนปิ๊งไอเดียในการนำเอานักแสดงของเรื่องที่ตอนนั้นโนเนมสุดๆ มาถ่ายภาพพอร์เทรตขาว-ดำที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปถ่ายสมาชิกวง The Beatles ของแอสตริด เคิร์ชเนอร์ และสไตล์ภาพถ่ายแฟชั่นแนว Heroin Chic ของอัลเบิร์ต วัตสัน ที่โชว์ความผอมแห้งของแบบที่ถ่าย ยิ่งเมื่อทีมได้ลอเรนโซ อากิอุส ช่างภาพที่ในวงการรู้กันดีว่าสามารถจับอารมณ์สมจริงตามธรรมชาติของแบบได้ดี ภาพถ่ายคาแรกเตอร์ของนักแสดงนำทั้ง 5 ก็ยิ่งโดดเด่นขึ้นอีก เพราะเขามีงานพอร์เทรตขาว-ดำที่นำเสนอภาพคนไร้บ้านในอเมริกาของริชาร์ด อเวดอน เป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งมันเวิร์กมาก!
ร็อบ โอคอนเนอร์ จาก Stylorouge เล่าว่า “บุคลิกของนักแสดงค่อนข้างสำคัญ เราอยากให้เขาดูเหมือนกับตัวละครในหนังมากที่สุด แม้ว่าเราจะพยายามจัดชุดให้เป็นสีดำทั้งหมด แต่โพสที่พวกเขาแสดงออกมีพื้นฐานมาจากลักษณะของนิสัยและการกระทำในหนัง เช่น ซิกบอยคลั่งไคล้เจมส์ บอนด์, เรนตันมีฉากที่เขามุดลงไปในห้องน้ำที่สกปรกเพื่อจะเอายากลับขึ้นมาเสพ หรือเบกบีที่เป็นคนอารมณ์รุนแรง และเป็นพวกที่ถ้าเมาแล้วมักจะหาเรื่องเสมอ”
ส่วนงานกราฟิก เขาเลือกใช้แถบสีส้มสดร่วมกับฟอนต์ helvetica เพื่อสื่อให้นึกถึงป้ายเตือนอันตรายหรือขวดยาเฉพาะโรค ผสมกับระบบตัวเลขที่เออร์วิน เวลช์ มักจะใช้ในนิยาย หรือโปสเตอร์แนะนำตัวละครในหนังเรื่อง Reservoir Dogs ของเควนติน ทารันติโน
หลังจากปรับปรุงและแก้ไขอยู่พักใหญ่ ที่สุดมันก็ออกมาเป็นโปสเตอร์หนังที่ทั้งฮิตและเท่ที่สุดเรื่องหนึ่งของยุค 90s
ในงานเขียนของเวลซ์ เขามักจะใส่ระบบตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้อง Trainspotting ก็เช่นกัน เพียงแต่ทีมดีไซน์เปลี่ยนจากตัวเลขยากๆ เป็น #1 ถึง #5 เพื่อแทนลำดับของแต่ละคน
ยวน แม็คเกรเกอร์ ที่ตัวเปียกน้ำ ผอมแห้ง มาจากการที่ทีมดีไซน์อยากให้เขาดูเหมือนตัวละครในหนังมากที่สุด ส่วนภาพของโรเบิร์ต คาร์ไลล์ ในบทเบกบี ก็แสดงถึงความห้าวเป้งสมกับคาแรกเตอร์ได้เป็นอย่างดี
Choose Inspiration: โปสเตอร์สุดฮิตระดับ Mother of All Bombs
โปสเตอร์อีกชุดหนึ่งซึ่ง Stylorouge ไม่ได้ออกแบบ แต่มันกลายเป็นโปสเตอร์สุดฮิตระดับ Mother of All Bombs (มารดาแห่งระเบิด) คือโปสเตอร์บทพูดอันโด่งดังตอนเปิดเรื่อง ซึ่งไดอะล็อกมันโคตรโดนกับหนุ่มสาวยุคนั้นจนอดไม่ได้ที่จะต้องหามาติดไว้ที่ข้างฝาห้องสักแผ่น! ไอเดียมันเกิดขึ้นหลังจาก Stylorouge ทำโปสเตอร์เวอร์ชันดั้งเดิมออกมา จากนั้น PolyGram Filmed Entertainment เกิดครึ้มใจหลังจากประโยค “Choose Life” เริ่มเป็นที่กล่าวขวัญ ค่ายหนังเลยตัดสินใจทำอีกแคมเปญกับ GB Posters ซึ่งมาร์ค (Mark Arguile) ผู้อยู่เบื้องหลังโปสเตอร์บทพูดสุดฮิตเล่าให้ฟังว่า
“งานออกแบบส่วนใหญ่ถูกนำมาจากแคมเปญเดิม พวกเราทำมันใหม่ทุกปี มันถูกตีพิมพ์ออกมาใหม่เรื่อยๆ พวกเราทำโปสเตอร์คำพูดออกมา 3 เวอร์ชัน บางทีนี่อาจเป็นโปสเตอร์เดียวที่พวกเราทำมาต่อเนื่องถึง 20 ปี!”
ถามว่าทำไมมันถึงฮิต ทั้งที่ไม่มีแม้แต่รูป ชื่อนักแสดง หรือชื่อผู้กำกับ แน่นอนว่าเพราะมันบรรจุสาระที่จับใจและสำคัญที่สุดของ Trainspotting ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นมากกว่าหนังชีวิตวัยรุ่นขี้ยาพาเพี้ยนจากเมืองเอดินบะระ สกอตแลนด์
ตัวอย่างโปสเตอร์บทพูด “Choose Life” ที่มีไดอะล็อกหนังสุดฮิตที่วัยรุ่นอังกฤษ (และต่อมาคือวัยรุ่นทั่วโลก) จะต้องติดไว้ที่ฝาผนังห้อง!
Choose Your Future: เลือกชีวิตแล้วก็ใช้มันซะ
หลังจากผ่านไป 23 ปี Trainspotting ถูกนำกลับมาสร้างอีกครั้งด้วยดรีมทีมชุดเดิมเกือบยกเซต แน่นอน แดนนี่ บอยล์ ยังคงกำกับ จอห์น ฮอดจ์ (เขียนบท) แอนดรูร์ แม็คโดนัลด์ (โปรดิวเซอร์ร่วม) และนักแสดงนำชุดเดิมกอดคอมากันครบ
ล่าสุดกระแสหนังทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ (ที่ฉายไปก่อนแล้วพักใหญ่) ก็ออกมาในเชิงบวก
แน่นอนว่าเมื่อชีวิตเดินทางผ่านมา 23 ปี เสียงดนตรีแบบมิกซ์ใหม่ของ Iggy Pop ในเพลง Lust for Life ฉบับ The Prodigy Remix พาแฟนหนังและตัวละครหวนรำลึกกลิ่นความหลัง และถึงแม้มันจะไม่ใช่หนังภาคต่อที่ดีที่สุด แต่ก็เชื่อเถอะว่ามันเก๋าและกลมพอจะทำให้แฟนหนังรุ่นเดิมยังรัก ขณะเดียวกันมันก็มีแง่มุมที่จะทำให้วัยรุ่นเจนวาย เจนแซด และเจนมี อินตามไปกับหนังในตำนานของคนรุ่นพี่ รุ่นพ่อได้
ถึงที่สุดแล้ว ระหว่างดู T2 หนังอาจจะทำให้ใครสักคนได้คิดว่า แม้ตัวเลขอายุจะเพิ่มขึ้น นั่นก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะต้องเติบโต มีวุฒิภาวะ หรือมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่อย่างน้อยการได้หวนกลับไปมองตัวเองในอดีต และพยายามจะทำชีวิตในแต่ละวันให้ดีขึ้น แค่นั้นก็น่าจะเพียงพอแล้ว
เอาน่า เลือกชีวิตแล้วก็ใช้มันซะ!
อ้างอิง:
–www.imdb.com/title/tt0117951/
-www.bfi.org.uk/news-opinion/news-bfi/features/trainspotting-phenomenon-20-years
-fordonfilm.wordpress.com/2013/03/14/why-trainspotting-is-the-greatest-film-of-all-time/
-www.rollingstone.com/movies/lists/the-25-greatest-soundtracks-of-all-time-20130829/lost-in-translation-2003-19691231
-www.empireonline.com/movies/trainspotting/review/
-sfy.ru/?script=trainspotting
-stylorouge.co.uk/
-www.lorenzo-agius.com/
-www.independent.co.uk/arts-entertainment/art/features/lorenzo-agius-totally-exposed-1777063.html
-www.vice.com/sv/article/the-story-behind-the-groundbreaking-trainspotting-poster
-www.thedrum.com/news/2017/01/26/t2-trainspottings-marketing-nostalgia-trip-too-far
-www.theweek.co.uk/81203/choose-life-shooting-trainspotting
-www.creativereview.co.uk/trainspottings-film-poster-campaign-15-years-on/
-www.vice.com/sv/article/the-story-behind-the-groundbreaking-trainspotting-poster
- Trainspotting ได้รับอันดับที่ 10 จาก British Film Institute (BFI) ภาพยนตร์ยอดนิยม 100 เรื่องของอังกฤษตลอดกาลในปี 2004 มากไปกว่านั้น หนังยังได้รับเลือกให้เป็นภาพยนตร์สกอตแลนด์ที่ดีที่สุดตลอดกาลในการหยั่งเสียงของประชาชนทั่วไป
- นิตยสาร Empire ของอังกฤษ เคยตีพิมพ์ลิสต์ 100 หนังดีหลายยุคจากเกาะอังกฤษที่ได้รับการยอมรับทั้งจากคนดูและนักวิจารณ์ทั่วโลก ซึ่ง Trainspotting อยู่ในอันดับ 8 ส่วนอันดับ 1 คือ Lawrence of Arabia
- ในปี 2004 นิตยสาร Total Film กล่าวว่า นี่คือหนังที่ดีที่สุดอันดับที่ 4 ของสหราชอาณาจักร
- ปี 2007 Vanity Fair จัดอันดับให้เพลงประกอบ Trainspotting อยู่ในอันดับ 7 ของเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล
- Entertainment Weekly จัดอันดับให้เพลงจาก Trainspotting อยู่ในอันดับที่ 17 จาก 100 อันดับเพลงประกอบหนังที่ดีที่สุด
- Rolling Stones จัดให้เพลงจาก Trainspotting อยู่ในอันดับที่ 13 จาก 25 อันดับเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดฮิตในปี 2013
- หนวดของเบกบี ที่รับบทโดยโรเบิร์ต คาร์ไลล์ ได้แรงบันดาลใจมาจากเอียน รัช อดีตกองหน้าทีมชาติเวลส์ และยอดนักเตะในตำนานของสโมสรลิเวอร์พูล ช่วงยุค 80s-90s
- เออร์วิน เวลซ์ ไปโผล่อยู่ในหนังด้วยนะ ในเรื่องเขารับบทเล็กๆ สั้นๆ แต่เก๋า! เป็นดีลเลอร์ขายยาที่เรนตันโซซัดโซเซไปขอซื้อเฮโรอีน แต่ดันได้ยาสวนทวารมาแทน
- ถ้าอยากเห็นหน้าเวลซ์ เราแนะนำฉากในตำนานของ Trainspotting นั่นคือฉากที่เรนตันมุดลงโถส้วมที่สกปรกที่สุดในสกอตแลนด์ ที่สำคัญ ความลับของฉากนี้คือ คราบปฏิกูลที่เราเห็น ความจริงแล้วคือช็อกโกแลต (เทคนิคเดียวกันกับหนัง Slumdog Millionaire ถ้ายังจำฉากนั้นกันได้)
- ใน T2 เวลซ์ก็ยังไปร่วมเล่นบทเล็กๆ กับเขาด้วยเช่นเคย ส่วนจะเป็นฉากไหน ก็ขอให้จำหน้าจากภาคแรกแล้วไปตามดูกันเอาเอง
- บทพูด “Choose Life” อันโด่งดังในฉากเปิดเรื่อง เดิมทีมันเคยถูกวางไว้ให้อยู่กลางเรื่อง แต่เพราะแดนนี บอยล์ (ผู้กำกับ) และจอห์น ฮอดจ์ (ผู้เขียนบท) มีปัญหากับการเลือกช็อตเปิดเรื่อง ท้ายที่สุดพวกเขาเลยตัดสินใจย้ายบทพูดสุดคลาสสิกนั้นมาไว้ตอนเปิดเรื่องแทน
- ก่อนที่ฮอดจ์จะก้าวมาเป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์ เขาเคยเป็นแพทย์ในส่วนงานเกี่ยวกับการเสพติดของคนไข้ โดยเฉพาะเฮโรอีน ซึ่งแน่นอนว่าบางเรื่องราวในชีวิตจริงถูกนำมาใช้ในบทภาพยนตร์