×

ล้มแล้วต้องลุก การกลับมาอย่างสง่างามของกูตูริเยร์แห่งยุค จอห์น กัลลิอาโน

12.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • จอห์นเปิดห้องเสื้อภายใต้ชื่อแบรนด์ของตัวเองตอนเรียนจบ แต่ด้วยความไม่มีหัวทางธุรกิจ เขาถูกประกาศเป็นบุคคลล้มละลายในปี 1990 จากนั้นย้ายถิ่นฐานไปปารีส จอห์นลุกขึ้นสู้อีกครั้ง ด้วยแรงสนับสนุนและคอนเน็กชันที่ใหญ่ที่สุดในวงการแฟชั่นจาก แอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการบริหาร และอังเดร ลีออน เทลีย์ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์นิตยสาร Vogue อเมริกา
  • เขาสร้างกำไรมหาศาลโดยเฉพาะช่วงยุคทองของจอห์น ที่กระเป๋าทรงอานม้าลายโมโนแกรมบูมสุดๆ นั้น Dior ทำรายได้มากถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะแตะยอดขายพันล้านในปี 2010
  • ค.ศ. 2011 คลิปวิดีโอขณะที่เขาเมาอาละวาดในบาร์ย่านมาเรส์ กรุงปารีส พร้อมกล่าวถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติยิว รวมถึงประโยคว่า “ฉันรักฮิตเลอร์” กลายเป็นพาดหัวข่าวอันดับหนึ่งทั่วโลก เขาถูกคำสั่งให้พักงานทันที ก่อนที่จะถูกไล่ออกในไม่กี่วันถัดมา
  • ค.ศ. 2014 จอห์นเข้ารับตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ให้กับห้องเสื้อ  Maison Margiela แม้ว่างานออกแบบของจอห์นจะดูเข้าถึงยากขึ้น แต่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากคอลเล็กชันเสื้อผ้าชั้นสูงและกระเป๋า นอกจากนั้นยังเพิ่มความดังจากดาราดังที่ใส่ชุดของเขาออกงาน อย่างล่าสุดที่นักร้องสาวเคที เพอร์รี ใส่ไปงาน MET Gala

     ในช่วงปี ค.ศ. 1990 จนถึงราวปี ค.ศ. 2000 พูดได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของวงการแฟชั่น เพราะแต่ละแบรนด์มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะสไตล์มินิมัลลิสต์ ไปจนถึงงานปัก งานถม เรียกได้ว่าสุดๆ กันไปเลย

     ในช่วงนั้นดีไซเนอร์ส่วนใหญ่เก็บตัวอยู่หลังม่าน หรือไม่ออกสื่อเหมือนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นางแบบก็มีเอกลักษณ์ชัดเจน ไม่ต้องพึ่งอินสตาแกรมเพื่อเสริมความดัง แต่มีอยู่คนหนึ่งที่ได้รับขนานนามว่าเป็น กูตูริเยร์แห่งยุค เขาคือ จอห์น กัลลิอาโน (John Galliano) หนึ่งในนักออกแบบที่จัดงานแฟชั่นโชว์ได้ปังที่สุด แต่งองค์ทรงเครื่องเข้ากับธีมเวลาออกหน้าเวทีหลังโชว์จบ และยังได้รับคะแนนโหวต เป็นผู้ทรงอิทธิพลวัฒนธรรมบริติช อันดับ 5 โดยสำนักข่าว BBC ในปี ค.ศ. 2004  

     ดีไซเนอร์ผู้เคยรุ่งเรืองบนรันเวย์ Dior สุดอู้ฟู่ ต้องตกอับเพราะปากและคำพูดในการเหยียดเชื้อชาติ แต่สุดท้ายก็กลับมาทวงบัลลังก์อย่างสมภาคภูมิในปีที่ผ่านมา ทำไมเขาถึงทำได้? เรามาทำความรู้จักกับดีไซเนอร์คนสำคัญของยุคนี้กัน

 

คอลเล็กชัน Les Incroyables ปี 1984

Photo: Pinterest

 

ก่อนโลกจะรู้จัก จอห์น กัลลิอาโน

     จอห์น กัลลิอาโน เกิดวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1960  ที่ยิบรอลตาร์ ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร ก่อนจะย้ายไปประเทศอังกฤษกับครอบครัวตอนอายุ 6 ขวบ ชีวิตวัยเยาว์ของจอห์นนั้นยากลำบาก เพราะถูกเพื่อนล้อเรื่องเครื่องแต่งกายของเขา แม่นักเต้นระบำฟลามิงโกชาวสเปนจะจับเขาแต่งตัวให้ดูดี ภูมิฐานตลอดเวลา แม้กระทั่งการออกไปจ่ายตลาด

     สิ่งนี้หลอมรวมกับความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการไร้ขอบเขต จนทำให้จอห์นตัดสินใจเรียนแฟชั่นที่วิทยาลัยศิลปะเซนต์มาร์ติน หรือที่รู้จักกันดีในปัจจุบันภายใต้ชื่อ Central Saint Martins ก่อนจะจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง คอลเล็กชันจบการศึกษาของเขามีชื่อว่า Les Incroyables ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส และประสบความสำเร็จอย่างมากจน Brown’s ร้านเสื้อผ้ามัลติแบรนด์ชื่อดังแห่งลอนดอนเหมาทุกชิ้นไปขายต่อในร้าน

     จอห์นรีบฉวยโอกาสนี้เอาไว้ โดยเปิดห้องเสื้อภายใต้ชื่อแบรนด์ของตัวเอง เสื้อผ้าของเขาผสมผสานไปกับการตัดเย็บสุดประณีต มีลักษณะเด่นคือการตัดผ้าเฉลียง (bias cut) และการสไตลิ่งสุดโต่ง ที่สำคัญเขาหยิบจับแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว หรือประวัติศาสตร์มาเล่าผ่านเสื้อผ้า รวมทั้งจัดรันเวย์ได้อย่างดีเยี่ยม

 

Christian Dior Haute Couture Spring/Summer 1997

 

     แต่ด้วยความไม่มีหัวทางธุรกิจ ผลกระทบจึงตกที่แบรนด์ เขาถูกประกาศเป็นบุคคลล้มละลายในปี 1990 จากนั้นย้ายถิ่นฐานไปปารีส จอห์นลุกขึ้นสู้อีกครั้งด้วยแรงสนับสนุนและคอนเน็กชันที่ใหญ่ที่สุดในวงการแฟชั่นจาก แอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการบริหาร และอังเดร ลีออน เทลีย์ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์นิตยสาร Vogue อเมริกา ที่ช่วยหาเส้นสายทางการเงินมาจัดแฟชั่นโชว์ให้ และยังดันให้จอห์นเป็นผู้คุมบังเหียนที่ห้องเสื้อ Givenchy ในปี ค.ศ. 1995 โดยโชว์ผลงานเสื้อผ้าชั้นสูงที่สนามกีฬา Stade de France

     ทำงานได้ปีเดียว บริษัทแม่ LVMH ก็ย้ายจอห์นไปเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ให้กับห้องเสื้อ Christian Dior สถานที่ที่เขาสร้างชื่อและเติมพลังวิเศษให้กลายเป็นสุดยอดแบรนด์ระดับโลก

 

Christian Dior Haute Couture Spring/Summer 2004

 

Christian Dior Haute Couture Spring/Summer 2003

 

Christian Dior Haute Couture Fall/Winter 2005

 

จากยอดเขา สู่ก้นเหว

     ห้องเสื้อ Dior ในยุคนั้นคือสัญลักษณ์ของงานตัดเย็บชั้นสูงของฝรั่งเศส จอห์นในฐานะนักออกแบบเมืองผู้ดี มาเป็นหัวเรือให้กับแบรนด์ใหญ่ระดับชาติ จึงไม่เป็นที่ถูกใจของนักวิจารณ์และมีคำครหามากมาย เขาไม่รอช้าส่งผลงานโบว์แดงชิ้นแรกเป็นชุดราตรีสีน้ำเงิน ประดับลูกไม้สีดำ สวมใส่โดยเจ้าหญิงไดอานา ตอนที่เสด็จไปงาน Met Gala ปี ค.ศ. 1996

     นอกจากเสื้อผ้าตระการตาที่ดูแล้วเหมือนชุดประกอบการแสดง มากกว่านั้น จอห์นยังเพิ่มความอลังในการจัดแฟชั่นโชว์ให้ปังยิ่งกว่าเดิม เอาง่ายๆ คือ ดีไซเนอร์สมัยนั้นตายกันเป็นแถบ อย่างคอลเล็กชันเสื้อผ้าชั้นสูงที่เขาแปลงโฉมสถานีรถไฟ Gare d’Austerlitz ให้กลายเป็นตลาดแอฟริกาเหนือ มีบริกรหนุ่มนุ่งน้อยห่มน้อยเสิร์ฟชามินต์รับแขก ส่วนเหล่านางแบบก็เข้างานแบบเก๋ๆ ด้วยรถจักรไอน้ำ

 

 

     นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จอห์นเนรมิตฉากหลังให้กับงานออกแบบของเขา แต่ละสถานที่และธีมของคอลเล็กชัน Dior นั้น เป็นที่ขึ้นชื่อลือชาอย่างมาก ไม่ว่าจะงานกาลาที่โรงละคร Opéra Garnier หรือการอิมพอร์ตนักกายกรรมจากจีนมาร่วมโชว์

 

 

     แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่ว่าจินตนาการไร้กรอบของเขาจะน่าประทับใจเสมอไป คอลเล็กชันโอต์กูตูร์ Spring/Summer ปี 2000 จอห์นหยิบแรงบันดาลใจมาจากกลุ่มคนไร้บ้านริมแม่น้ำแซนในกรุงปารีส ซึ่งหลายคนไม่พอใจที่เขาเอาเรื่องคนเร่ร่อนมาหากิน โดยเฉพาะราคาเสื้อผ้าที่คงจะทำให้คนไร้บ้านสักคนตั้งตัวได้เลย สุดท้ายเขาต้องออกมาขอโทษ และให้สัมภาษณ์ว่า “คนวิจารณ์ว่าผมหากินกับคนไร้บ้าน แต่ผมมองว่าพวกเขาสร้างสิ่งสวยงามจากความจำเป็น ผมรักคอลเล็กชันนั้นมาก”

     แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ บอสใหญ่แห่ง LVMH ยี่หระแม้แต่น้อย เพราะจอห์นช่วยตอกย้ำให้ชื่อแบรนด์ Christian Dior กลายเป็นห้องเสื้อระดับโลกที่มีตำนานยาวนาน แต่ก็มีความร่วมสมัยและนำเทรนด์

     นอกจากจะช่วยดูแลแบรนด์ย่อยอย่าง Baby Dior ทั้งในส่วนแคมเปญโฆษณา และการตกแต่งบูติก เขาสร้างกำไรมหาศาล โดยเฉพาะช่วงยุคทองของจอห์นที่กระเป๋าทรงอานม้าลายโมโนแกรมบูมสุดๆ นั้น Dior ทำรายได้มากถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะแตะยอดขายพันล้านในปี 2010 จอห์นตอกเสาเข็มจน Dior กลายเป็นแบรนด์หรูในฝันของสาวๆ ทุกคน ขนาดหนึ่งปีหลังจากที่จอห์นออกจากห้องเสื้อ ยอดขายของ Dior ยังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21

 

Christian Dior Haute Couture Fall/Winter 2007

 

     แต่เป็นที่รู้จักกันดีว่าจอห์นเป็นนักปาร์ตี้ นักดื่ม และนั่นก็นำไปสู่ช่วงเวลาที่เขาตกอับที่สุดในชีวิต ในปี ค.ศ. 2011 คลิปวิดีโอขณะที่เขาเมาอาละวาดในบาร์ย่านมาเรส์ ในกรุงปารีส พร้อมกล่าวถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติยิว รวมถึงประโยคว่า “ฉันรักฮิตเลอร์” กลายเป็นพาดหัวข่าวอันดับหนึ่งทั่วโลก เขาได้รับคำสั่งให้พักงานทันที ก่อนที่จะถูกไล่ออกในไม่กี่วันถัดมา มากกว่านั้นเขาถูกเด้งออกจากแบรนด์ John Galliano ซึ่งเป็นแบรนด์ลูกของ LVMH อีกด้วย

 

 

 

ถึงเวลาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

     จอห์นหันหลังให้วงการแฟชั่นระยะหนึ่ง แล้วทุ่มเทเวลาทั้งหมดฟื้นฟูตัวเองในสถานบำบัดแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด โดยได้รับแรงสนับสนุนทั้งจากเพื่อนในวงการ และกลุ่มสมาคมชาวยิวที่พร้อมจะให้อภัย ทั้งยังช่วยให้เขากลับมายืนหยัดอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 2014 จอห์นเข้ารับตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ให้กับห้องเสื้อ  Maison Margiela โดยคอลเล็กชันแรกที่จัดแสดงคือคอลเล็กชันกูตูร์ Artisanal Spring/Summer 2015 ณ กรุงลอนดอน

     หากมองจากภายนอก แบรนด์นี้มีสไตล์แตกต่างจากคาแรกเตอร์ของจอห์นอย่างสิ้นเชิง เพราะนอกจากจะมีสไตล์ที่เรียบ เน้นหยิบเอาเสื้อผ้าหรือของเก่ามาตีความใหม่ สอดแทรกปรัชญา ตัวดีไซเนอร์ชาวเบลเยียมอย่าง มาร์แตง มาร์เจลา ซ่อนตัวอยู่หลังม่านเป็นเหมือนบุคคลปริศนา ต่างกับจอห์นที่ต้องแต่งองค์ทรงเครื่องก่อนจะออกมาโค้งคำนับหลังจบโชว์

 

Maison Margiela Artisanal Fall 2017

 

     แน่นอนหลายคนไม่มั่นใจว่าเขาจะเสกเวทมนตร์ให้กับแบรนด์เหมือนที่เคยทำไว้กับ Dior ได้หรือไม่ ส่วนทิศทางของวงการแฟชั่นในช่วงนั้นต่างจากยุคต้นปี 2000 เทรนด์เสื้อผ้าเองก็ดูไม่ฉูดฉาด หวือหวาเหมือนเมื่อก่อน แต่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 หลังจากรับตำแหน่ง เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าแฟนๆ รอซื้อสินค้าของจอห์น และเขาก็เพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์อย่างต่อเนื่อง โดยทำรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 และเพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น

     แม้ว่างานออกแบบของจอห์นจะดูเข้าถึงยากขึ้นภายใต้แบรนด์ Maison Margiela แต่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากคอลเล็กชันเสื้อผ้าชั้นสูง และกระเป๋า นอกจากนั้นยังเพิ่มความดังจากดาราดังที่ใส่ชุดของเขาออกงาน อย่างล่าสุดที่นักร้องสาว เคที เพอร์รี ใส่ไป MET Gala

 

 

     คอลเล็กชันที่ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญและน่าจดจำ คือคอลเล็กชันกูตูร์ Artisanal Spring /Summer 2017 ที่ตอกย้ำฝีมืออันเฉียบคมของเขาด้วยการหยิบเอาเซลฟี และสแนปแชตมาตีความใหม่ รวมไปถึงเสื้อโค้ตประดับผ้าทูลที่ทำร่วมกับศิลปิน เบนจามิน ไชน์ (Benjamin Shine) ที่กลายเป็นไวรัล เพราะมันดูไม่ต่างราวกับงานศิลปะเดินได้จริงๆ

Maison Margiela Artisanal Spring/Summer 2017 ในนิตยสาร i-D ถ่ายโดย Tim Walker และสไตลิ่ง โดย Grace Coddington

 

ผู้สร้างเทรนด์ตัวจริง

     สาเหตุที่ทำให้จอห์นเป็นที่นับถือของคนในวงการแฟชั่น และมีพลังซัพพอร์ตมากมายจากบรรดาตัวแม่ คือความสามารถและความรู้ในประวัติศาสตร์แฟชั่นของเขา กล่าวง่ายๆ คือเป็นคนมีของและทำถึงทุกอย่าง นอกจากจะรู้เทคนิคการตัดเย็บชั้นครูแล้ว เขายังมีความสามารถในการสร้างเทรนด์ และทำให้เสื้อผ้าของเขากลายเป็นสไตล์ที่ผู้คนใส่ในวงกว้าง โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่รับอิทธิพลมาจากชุดชั้นในไม่ว่าจะเป็นสลิปเดรสผ้าไหมซาติน สายเดี่ยว กุ๊นลูกไม้ประดับ หรืออย่างการตัดเฉลียง ที่ทำให้ชุดรับกับสรีระโค้งเว้าของสตรีมากขึ้น

 

นิตยสาร Vogue เล่มเมษายนปี 1997 ถ่ายโดย Peter Lindbergh

 

     อังเดร ลีออน เทลีย์ กล่าวถึงจอห์นว่า “เราน่าจะเอ่ยชื่อคนที่เปลี่ยนวงการแฟชั่นจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ไม่กี่คน และจอห์นจะต้องเป็นหนึ่งในนั้น” ในขณะที่ดีไซเนอร์ระดับตำนาน ไดแอน วอน เฟอร์สเตนเบิร์ก กล่าวว่า “จอห์นคือจุดอ้างอิงของพวกเราทุกคน พวกเราทำเสื้อผ้า ส่วนเขานั้นเสกเวทมนตร์”

     แต่คนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของจอห์นอย่างที่สุดคือ แอนนา วินทัวร์ ตัวแม่แห่งวงการแฟชั่น ที่ช่วยผลักดันจนทำให้ได้ทำงานที่ Dior และช่วยปูทางให้เขากลับเข้าสู่วงการแฟชั่นหลังรับการบำบัด โดยที่นิตยสาร Vogue อเมริกาไม่เคยตีพิมพ์ข่าวการไล่จอห์นออกจาก Dior และแอนนากล่าวถึงข่าวนี้ในนิตยสาร WSJ ว่า “เรื่องทั้งหมดมันน่าเศร้า” นอกจากนี้แอนนายังเป็นคนแรกที่ใส่เสื้อผ้าผลงานของจอห์นภายใต้แบรนด์ Maison Margiela เข้ารับรางวัล Outstanding Achievement จาก British Fashion Awards โดยเธอยังเชิญจอห์นให้กล่าวคำแนะนำก่อนรับขึ้นรางวัลอีกด้วย

 

 

     ปัจจุบันนี้ชีวิตของจอห์นดูเรียบง่ายมากขึ้น ดูเหมือนว่าเขาเติบโตและเข้าใจการใช้ชีวิตผ่านการเรียนรู้จากความลุ่มหลงในสุราและแสงสี สิ่งที่เราสัมผัสได้คือความตั้งใจในการทำงาน ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อสร้างผลงานที่มีค่ามากกว่ายอดขาย ชื่อของ จอห์น กัลลิอาโน ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของ Dior และขึ้นหิ้งเป็นบุคลากรสำคัญในวงการแฟชั่นยุคนี้

นช่วงเวลาที่ดีไซเนอร์หน้าใหม่พึ่งพื้นที่สื่อของนางแบบที่มียอดฟอลโลว์มหาศาลบนอินสตาแกรม หรือแต่งตัวดาราดังเดินพรมแดง จอห์นทำให้เห็นแล้วว่าไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือผลงานและความพยายามอย่างไม่ลดละ ถ้าล้มได้ก็ลุกขึ้นใหม่ได้ ยังไงฟ้าหลังฝนต้องสดใสกว่าเดิมแน่นอน เพียงแค่ยอมรับสิ่งที่ทำพลาด และพร้อมจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

 

     นิทรรศการ Christian Dior, Designer of Dreams ที่พิพิธภัณฑ์ Musée des Arts Décoratifs ในกรุงปารีสที่กำลังจัดแสดงผลงานของแบรนด์ Dior มากกว่า 400 ชิ้น

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising