กว่าจะกลายมาเป็นนักแสดงที่ตีบท ‘คิม’ ใน ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ แบบแตกกระจายจนตุ๊ดตัวจริงยังต้องยอมแพ้ เต๋อ-รัฐนันท์ จรรยาจิรวงศ์ ต้องผ่านการค้นหาและต่อสู้กับความคิด ‘ขบถ’ ของตัวเองอยู่หลายครั้ง กว่าจะค้นหาทางออกที่เหมาะสมให้กับตัวเอง
จากเด็กไม่ตั้งใจเรียน ไม่นับถือศาสนา มีความคิดต่อต้านระบบครอบครัวและสังคม แต่ด้วยความเป็น ‘นักอยากรู้’ เรื่องต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เขาค่อยๆ ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกับสังคมและโลกผ่านตัวหนังสือแทบทุกชนิด และค่อยๆ หยิบจับสิ่งที่เขาได้รับรู้มาปรับใช้กับชีวิต จนเรียกได้ว่า 70 เปอร์เซ็นต์ที่หล่อหลอมให้เขาเดินทางมาถึงจุดนี้มีพื้นฐานสำคัญมาจากการ ‘อ่าน’
ผมว่าดีนะที่เรามีนิสัยรักการอ่านติดตัวมา ไม่สำคัญเลยว่าเริ่มอ่านจากอะไร
มันจะมีความอยากรู้ที่ค่อยๆ เพิ่มเข้ามา แล้วเราจะอยากหา อยากขยายขอบเขตความรู้ของเราไปเอง
ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ เลยหรือเปล่า
เด็กๆ ไม่อ่านเลย อ่านแต่หนังสือการ์ตูน จำได้ว่าเริ่มอ่านจาก Dragon Ball ในนิตยสาร The Talent (นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายสัปดาห์ของสำนักพิมพ์มิตรไมตรี) แล้วก็อ่านโน่นอ่านนี่ไปเรื่อย จนมาอ่านการ์ตูนแบบจริงจังตอนป. 5-6 ไปเจอเรื่อง Tomie ของจุนจิ อิโต แล้วไล่อ่านไปเรื่อยๆ จนถึง ก้นหอยมรณะ พวกนี้จะชอบมาก มันพาเราไปอยู่อีกโลกหนึ่ง พวกการ์ตูนแมสๆ ก็อ่านนะ อย่าง Hareluya Boy กับ Jojo ล่าข้ามศตวรรษ นี่ก็ชอบมาก
ส่วนหนังสือเรียนไม่ต้องพูดถึง ไม่อ่านเลย (หัวเราะ) รู้เลยว่าเราไม่สามารถเรียนตามคนอื่นๆ ได้ ทุกวิชาเลยนะ ไม่เคยเรียน เอาแต่นั่งวาดการ์ตูน มองไปนอกหน้าต่าง คิดอะไรไปเรื่อย โฟกัสในห้องไม่ได้ หลุดออกจากห้องเรียนไปเลย เกรดสมัยประถมก็ได้สองกว่าๆ หนึ่งกว่าๆ ก็เคยมาแล้ว (หัวเราะ) แย่สุดคือเหลือ 0.9 ตอนม. 3 คือไม่เอาอะไรเลยจริงๆ
เริ่มมาอ่านหนังสือเล่มนอกจากหนังสือการ์ตูนตั้งแต่เมื่อไร
ประมาณม. 1-2 มีครูแนะแนวเอาเรื่องสั้นมาให้อ่าน แล้วก็มาถามนักเรียนว่ารู้สึกยังไงบ้าง ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจหรอกว่าครูเอามาให้อ่านทำไม แต่ก็ต้องขอบคุณครูคนนั้นที่ทำให้ผมรู้จักสรจักร (สรจักร ศิริบริรักษ์) แล้วก็เริ่มไปอ่าน ศพใต้เตียง, ศพข้างบ้าน, ศพท้ายรถ แล้วก็เรื่องผี เรื่องฆาตกรรมอื่นๆ ของเขา จากนั้นก็ไปอ่านหนังสือแปลของคุณโรจนา นาเจริญ ที่เกี่ยวกับการฆาตกรรม ตอนนั้นชอบเรื่องพวกนี้มาก
ผมว่าดีนะที่เรามีนิสัยรักการอ่านติดตัวมา ไม่สำคัญเลยว่าเริ่มอ่านจากอะไร มันจะมีความอยากรู้ที่ค่อยๆ เพิ่มเข้ามา แล้วเราจะอยากหา อยากขยายขอบเขตความรู้ของเราไปเอง ตอนหลังผมก็เริ่มไปอ่านนิยายไทย นิยายต่างประเทศ เริ่มอ่านพวก non-fiction หนังสือประวัติศาสตร์ต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อ่านหนังสือของสรจักรตั้งแต่เด็กขนาดนั้น เพื่อนๆ มีงงกันบ้างไหม
งง (หัวเราะ) ไม่ได้งงเพราะหนังสือที่ผมอ่านหรอก แต่งงว่ามึงเป็นบ้าอะไรทำไมต้องอ่านหนังสือตลอดเวลา ประมาณม. 3-5 เริ่มอ่านหนังสือเยอะขึ้นเรื่อยๆ เป็นช่วงที่ซีไรต์บูมมากเหมือนแสงสว่างของโลกวรรณกรรม ด้วยความเป็นเด็กก็ต้องรอดูว่าปีนี้ใครจะได้ซีไรต์ แล้วเราก็ไปตามอ่าน จำได้ว่ายุคนั้นจะปลื้มคุณวินทร์ เลียววาริณ มาก สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน, ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน, สมุดปกดำกับใบไม้สีแดง
อ่านไปมากๆ ถึงขั้นเคยเขียนเรื่องสั้นของตัวเองด้วยนะ ที่เขียนขึ้นมาตอนนั้นเพราะมันขบถมาก ผมเคยต่อต้านทุกสิ่งที่มี ทั้งระบบการศึกษา ครอบครัว สังคม เพราะตอนนั้นยังเด็กมากด้วยแหละ แล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบต่างๆ มากขนาดนั้น ก็เลยเขียนเรื่องสั้นที่ทรีตตัวเองในแบบนั้นขึ้นมา เขียนแบบไม่มีชั้นเชิงในการเล่าอะไรเลยนะ แต่ก็เขียนเป็นสิบเรื่องเลย เคยเอาไปโพสต์ลงเว็บแล้วมีคนเข้ามาเรียกผมว่า ‘สรจักรน้อย’ ด้วยนะ (หัวเราะ) แต่เสียดาย ผมพิมพ์ใส่คอมพิวเตอร์เครื่องเก่าเอาไว้ พอไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ที่บ้านก็เอาคอมพิวเตอร์ไปให้คนอื่นใช้ แล้วต้นฉบับทั้งหมดก็หายไปหมดเลย
การอ่านหนังสือมากๆ มันช่วยซัพพอร์ตหรือแย้งความคิดต่อต้านสังคมได้มากน้อยขนาดไหน
ยอมรับว่าช่วงหลังๆ ผมอ่านหนังสือน้อยลงมากเลยนะ แต่เท่าที่รู้สึกคือมันเป็นช่องทางที่ทำให้เข้าใจโลกมากยิ่งขึ้น หนังสืออีกประเภทที่ผมชอบอ่านคือพวกศาสนาและความเชื่อ ผมเคยเป็นคนไม่มีศาสนามาก่อนในช่วงม. ปลาย จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากที่เคยทะเลาะกับแม่ คือเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นมาครั้งหนึ่ง แล้วก็เหมือนลามไปต่อต้านทุกอย่าง เกลียดทุกอย่างเลย สังคม ครอบครัว แต่กับศาสนาอาจจะไม่ได้ถึงขั้นเกลียด ไม่ได้ต่อว่าด่าทอ แต่เป็นลักษณะที่ยังไม่นับถือดีกว่า แล้วเวลาอ่านหนังสือมากขึ้นๆ มันก็จะทำให้เราเข้าใจมุมมอง ความคิด และเหตุผลต่างๆ มากขึ้น จนตอนนี้ก็คิดว่าตัวเองไม่ได้ต่อต้านแบบนั้นแล้ว
ตอนนี้ผมเป็นชาวพุทธ แต่เป็นชาวพุทธที่ชอบเต๋า รวมทั้งอีกหลายๆ ลัทธิที่ผมชื่นชอบก็เอามาปนๆ กัน ถ้ามีคนให้ไปทำพิธีทางศาสนา ผมก็ทำได้ ไม่ต่อต้าน แต่ถ้าไม่มีคนบอกให้ทำ ผมก็จะไม่ทำเลย
ช่วงที่อ่านหนังสือน้อยลง รู้สึกเลยไหมว่าอะไรบางอย่างในชีวิตหายไป
ไม่เลย เพราะมันมีเฟซบุ๊ก มียูทูบเข้ามาแทนไง การไม่อ่านหนังสือไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย การอ่านเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรับรู้เท่านั้นเอง ถ้าพูดในแง่นี้จริงๆ ผมอาจจะไม่ได้เป็นคนรักการอ่านก็ได้นะ แต่ผมอาจจะเป็นคนรักการเรียนรู้ แล้วก็รักที่จะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ ไปศึกษาหาข้อมูล เพื่อที่จะตอบสนองความอยากรู้ของเราให้ได้ เพราะพอได้รู้เรื่อง ได้เห็นภาพที่เราอยากเห็นชัดขึ้นแล้วมันจะฟินมาก
ซึ่งผมแค่อยากรู้อย่างเดียวด้วยนะ รู้แล้วจบ ไม่ได้วิเคราะห์หรือเอาไปใช้ประโยชน์อะไรต่อหรอก แต่มันฟินมาก เพราะฉะนั้นถ้ามันมีสื่อหรือช่องทางไหนที่จะทำให้ผมเข้าไปถึงข้อมูลที่อยากรู้ได้ ผมก็ไม่ติดนะว่ามันจะต้องอยู่ในรูปแบบไหน โอเค ตอนนี้ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมันถูกตราหน้าว่ามั่ว เชื่อถือไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีวิธีเปรียบเทียบข้อมูลเพื่อหาว่าอันไหนน่าเชื่อถือและตรงกับข้อเท็จจริงมากที่สุด
เพราะการเมืองมันไม่ใช่แค่การเมือง การปกครอง ความสงบ สงคราม หรือเศรษฐกิจในบ้านเมือง แต่มันคือเรื่องของคนกับอำนาจ ซึ่งคนยุคไหนก็เหมือนกัน
หนังสือ 5 เล่มที่เต๋อแนะนำ
1. มาเคียแวลลี เจ้าทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่ (เขียน: ไมล์ส เจ. อังเกอร์, แปล: ศิริรัตน์ ณ ระนอง)
หนึ่งในเรื่องที่ผมคิดว่ากำลังจะผันความสนใจไปศึกษาต่อก็คือเรื่องยุคกลางของยุโรป ช่วงสองปีที่แล้วจะได้ยินคำว่า ‘แม่มด’ เยอะ รู้ว่าการล่าแม่มดในยุคกลางแม่งโหดมาก ปีที่แล้วผมไปถ่ายรายการที่เมืองซานจิอาโน ประเทศอิตาลี เขามีพิพิธภัณฑ์เก็บเครื่องทรมานที่ใช้ลงโทษแม่มดในยุคกลาง ผมเห็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่เขาเอามาแสดง เป็นสร้อยหนัง แต่ตรงด้านบนกับด้านล่างเป็นส้อมแหลมๆ ที่ใช้ง้างระหว่างใต้คอกับคอหอย ถ้าหลับเมื่อไร ส้อมก็จะแทงทะลุปาก โหดมาก เห็นแล้วก็อยากศึกษาเรื่องราวในยุคนั้นต่อ เลยเริ่มหาหนังสืออ่านมาเรื่อยๆ
จนมาเจอเรื่องของมาเคียแวลลี เขาเป็นรัฐบุรุษคนสำคัญทางการเมืองของอิตาลีในช่วงยุคกลาง ซึ่งสิ่งที่เขาเล่ามาเป็นอีกโลกหนึ่งไปเลย เขาพูดถึงเรื่องการเมืองในฟลอเรนซ์สมัยนั้น ซึ่งก็มีความน่าสนใจเหมือนกัน ผมยังอ่านไม่จบนะ แต่อ่านไปแล้วรู้สึกดีมาก เขาพูดถึงยุคกลาง แต่หลายๆ สิ่งที่เขาพูดก็ยังเอามาเป็นเครื่องมือมองการเมืองในปัจจุบันได้แบบขาดมาก เพราะการเมืองมันไม่ใช่แค่การเมือง การปกครอง ความสงบ สงคราม หรือเศรษฐกิจในบ้านเมือง แต่มันคือเรื่องของคนกับอำนาจ ซึ่งคนยุคไหนก็เหมือนกัน แล้วเขาบรรยายไว้ดีมาก
2. นิทานเซน
เนื่องจากมันมีหลายเรื่องมาก ผมขอรวมไว้เป็นหมวดเดียวแล้วกันนะครับ เลือกอ่านเอาได้เลย จะเป็นหนังสือของสำนักพิมพ์ดอกหญ้าที่ทำเป็นการ์ตูนก็ได้ หรือจะเลือกอ่านจากของท่านพุทธทาสก็ได้เหมือนกัน
ผมเคยอ่านหลายเรื่อง แต่จำเรื่องราวได้ไม่หมด แถมที่จำได้ก็ไม่ได้เข้าใจทั้งหมดด้วย (หัวเราะ) แต่ผมจะชอบทุกครั้งที่นิทานเซนพูดถึงสติ สมาธิ ความเข้าใจ ความสอดคล้องกับความเป็นไปหนึ่งเดียวของโลก เล่มนี้ก็จะรวมนิทานเซนหลายๆ เรื่องเอาไว้ อ่านไปก็ไม่ได้เข้าใจทั้งหมดหรอก ต้องไปอ่านเฉลยปริศนาธรรมในตอนจบ ซึ่งบางอันขนาดอ่านเฉลยแล้วก็ยังไม่เข้าใจ เพราะเรื่องที่เล่ากับคำเฉลยมันไกลกันมากจนคิดไม่ถึงว่ามันกลายเป็นแบบนั้นได้ยังไง (หัวเราะ)
แต่ที่ผมชอบและอยากแนะนำให้อ่าน เพราะมันเป็นการต่อยอดความอยากรู้ของคุณไปสู่สิ่งอื่น ต่อยอดไปสู่พุทธนิกายอื่นๆ หรือศาสนาอื่นๆ หลายอย่างที่อ่านไปก็ไม่สามารถเข้าใจและทำได้ อย่างการภาวนาหรือถือศีล ถ้าไม่ได้เคร่งครัดจริงๆ เราก็ไม่สามารถเข้าใจได้ลึกขนาดนั้นหรอก แต่พออ่านไปเรื่อยๆ ความเป็นธรรมชาติของเซนจะค่อยๆ บอกว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการไม่ต้องทำอะไร ไม่ทำอะไรไม่ใช่ว่านอนเฉยๆ แต่หมายถึงให้ทำสิ่งใดๆ ที่ไม่ต้องฝืนธรรมชาติ ไม่ต้องทำอะไรที่มันมากเกินไป เหมือนต้นหลิวที่ปลิวไปตามสายลม เหมือนน้ำที่ไหลไปตามน้ำตก
3. OSHO
ผมขอรวมงานของโอโชไว้เป็น 1 เล่มแล้วกัน จริงๆ หนังสือโอโชแทบจะไม่ต่างอะไรกับนิทานเซนเลย เพราะเซนก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่โอโชพูดถึงบ่อยๆ แล้วเราก็ไม่ได้เข้าใจอะไรที่เขาพูดทั้งหมดเหมือนกัน แต่โอโชเป็นการอธิบายแนวคิดต่างๆ บนโลกในมุมมองของเขาให้เข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งความจริงก็ยากอยู่ดีแหละ เพราะเขาลึกมาก (หัวเราะ)
เหตุผลที่อยากให้อ่านงานของโอโชคือ เมื่ออ่านแล้วคุณจะเป็นคนที่เปิดใจมากขึ้น เพราะโอโชไม่เคยตำหนิติเตียนหรือต่อว่าศาสนาใดๆ เลย ผมว่าสิ่งเด่นชัดที่โอโชให้ไว้กับเราคือ เมื่อใดก็ตามที่มีความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นในใจแล้วเราไม่เพิกเฉยต่อมัน ทั้งยังพยายามทำความเข้าใจ สักวันหนึ่งเราจะได้คำตอบที่ค้นหาอยู่ เช่น ถ้าอยากเลิกขบถ ผมก็ต้องรู้ว่าที่มาของความขบถคืออะไร เมื่อก่อนผมไม่มีศาสนา แต่ทำไมวันนี้พูดได้ว่าผมคือชาวพุทธที่ชอบเต๋า พวกนี้มันคือความเข้าใจที่เกิดขึ้นเมื่อเราเปิดใจและทำความเข้าใจกับมันจริงๆ
อย่างตอนก่อนมาเล่น ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ เดอะ ซีรีส์ ผมเคยเป็นโฮโมโฟเบียมาก่อน เรื่องนี้ผมไม่เคยบอกใครเลยนะ ผมเคยโดนครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นผู้ชายส่งข้อความมาขอมีอะไรด้วย เคยโดนเพื่อนนักเรียนแลกเปลี่ยนมาพูดว่ามีอะไรกันไหมหลายๆ รอบ ช่วงมหาวิทยาลัยก็มี ซึ่งมันจะมีความหลอนๆ และทำให้ผมกลัวเรื่องพวกนี้มาก ไม่อยากยุ่ง ไม่อยากถูกตัดสิน ไม่อยากเข้าไปอยู่ในวงนั้น แต่พอได้ไปเล่นซีรีส์เรื่องนี้แล้วได้เวิร์กช็อป มันเป็นการทำความเข้าใจที่ลึกมาก และทำให้ความคิดพวกนั้นหายไป นี่แหละคือกระบวนการเปิดใจเรียนรู้อย่างที่โอโชบอกเอาไว้ หลังจากนั้นผมก็เข้าใจ ถ้ามันคือรสนิยมของคุณก็ตามสบายเลย ตราบใดก็ตามที่รสนิยมนั้นไม่ได้ไปเบียดเบียนหรือทำให้ใครเดือดร้อน
4. Flicker (เขียน: ธีโอดอร์ รอสแซ็ก)
เป็นนิยายเกี่ยวกับหนังที่พี่สนธยา ทรัพย์เย็น (บรรณาธิการหนังสือชุด Filmvirus) แนะนำในช่วงที่ผมเริ่มดูหนังและอินกับการดูหนังมากขึ้น แล้วเรื่องนี้ก็เปลี่ยนมุมมองการดูหนังของผมไปเลย
ประมาณม. ปลาย เป็นช่วงที่ผมเริ่มเบื่อหนังฮอลลีวูด เริ่มอ่านนิตยสาร Bioscope กับ Pulp เริ่มดูหนังยุโรปนอกกระแส ดูหนังหว่องกาไว ดูหนังญี่ปุ่นประหลาดๆ แล้วนิยายเรื่องนี้มันก็มาซัพพอร์ตภาพหนังที่ผมชอบดูได้พอดี มันมีทั้งความสนุก ความตื่นเต้น ความลึกลับของการทำหนัง มีการอธิบายทฤษฎีเกี่ยวกับหนัง เกี่ยวกับแสงและเงาที่สะท้อนขึ้นไปบนจออะไรไม่รู้เต็มไปหมด อ่านแล้วทำให้รู้สึกดีกับการดูหนังมากๆ เพราะนิยายเรื่องนี้ทำให้เรารู้เพิ่มไปด้วยว่าภาพยนตร์คือสื่อที่น่าสนใจจริงๆ เล่มนี้อ่านสนุกแบบวางไม่ลงในระดับเดียวกับตอนอ่าน The Davinci Code ของแดน บราวน์ เลยนะ
5. สนิมสร้อย (’รงค์ วงษ์สวรรค์)
ผมอ่านงานของอาว์ ’รงค์เยอะมากนะ เยอะจนบางทีเวลาเขียนบทความหรือสเตตัสอะไรบางอย่างก็จะแอบติดภาษาของอาว์ ’รงค์มาแบบไม่รู้ตัว ถ้าจะพูดถึงหนังสือสักเล่มก็ต้องมีหนังสือของอาว์ ’รงค์อยู่ในนั้น ที่เลือกเล่มนี้เพราะเป็นเรื่องที่ผมรู้สึกวูบไหวมากที่สุดเวลาคิดถึงงานของเขา เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องแบบ bittersweet ได้สวยงาม โรแมนติก แล้วก็หม่นเศร้า พล็อตก็เจ๋ง ภาษานี่ไม่ต้องพูดถึง ตัวละครแต่ละตัวก็เฟี้ยวมาก ทั้งเจ๊หมอน คนคุมซ่อง คนที่มาเที่ยว น้องโสเภณีที่อยู่ในซ่อง ฯลฯ แต่ละคนก็จะมีเรื่องราวชีวิตที่มีสีสัน สนุก แล้วมันคือราตรีของกรุงเทพฯ ที่สว่างไสว ไร้ซึ่งกฎหมายใดๆ เข้ามายุ่งเกี่ยว
- สรจักร หรือสรจักร ศิริบริรักษ์ นักเขียนเรื่องสั้นแนวเขย่าขวัญที่ได้รับฉายาว่าเป็นสตีเฟน คิง เมืองไทย ผลงานเด่นของเขาคือรวมเรื่องสั้นชุด สามศพ, สามผี และ สามวิญญาณ
- จุนจิ อิโต นักเขียนการ์ตูนแนวสยองขวัญอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นที่เก่งมากในเรื่องการนำสภาวะทางอารมณ์ที่กดดันสุดๆ ของตัวละครออกมานำเสนอ ผลงานเด่นของเขาคือ Tomie, ปลามรณะ, ก้นหอยมรณะ, คลังสยอง ฯลฯ
- The Davinci Code ของแดน บราวน์ คือหนังสือที่เต๋อยกให้เป็นหนังสือที่สนุกที่สนุก (แต่ไม่ได้ชอบที่สุด) เพราะเป็นเล่มเดียวที่ทำให้เข้าใจถึงคำว่า ‘สนุกจนวางไม่ลง’ เพราะชีวิตช่วงนั้นเขาแทบไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากอ่านหนังสือ นอนหลับ แล้วก็ตื่นมาอ่านหนังสือวนไปอย่างนี้จนจบเล่ม
- การ์ตูนเรื่องล่าสุดที่เต๋อชอบคือ Gantz ของฮิโรยะ โอคุ เพราะคิดว่าเป็นการ์ตูนไซไฟที่ตั้งคำถามเรื่องจิตวิญญาณได้ฉลาดที่สุดแล้ว
- โฮโมโฟเบีย คือความกลัว ความเกลียด หรือการเลือกปฏิบัติต่อพวกรักร่วมเพศ หรือพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ โดยเหตุผลส่วนหนึ่งอาจมาจากความเชื่อฝังใจต่อบทบาทที่ถูกต้องเหมาะสมตามครรลองทางธรรมชาติ หรือพฤติกรรมฝังใจบางอย่างที่เคยถูกกระทำจากคนที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศมาก่อน