ย้อนกลับไปราวร้อยกว่าปีก่อนในวันที่เมืองไทยยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี หรือโรงเรียนสอนศิลปะ คำถามที่น่าสนใจก็คือ กรมพระยานริศทรงเรียนรู้ศิลปะหลายแขนงได้อย่างไร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (28 เมษายน พ.ศ. 2406 – 10 มีนาคม พ.ศ. 2490) หรือกรมพระยานริศ ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงเป็นช่างหลวงในช่วงรัชกาลที่ 5-7 ถ้าเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย พระองค์ทรงเป็นศิลปินคนสำคัญของเมืองไทยที่ ถนัดทั้งงานเขียน ดุริยางคศิลป์ โบราณคดี สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ดนตรี นาฏศิลป์ รวมไปถึงศิลปะการละคร ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม โดยมีอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้สอนศิลปะตะวันตก และกลายเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในภายหลัง
ผลงานชิ้นสำคัญๆ ของพระองค์ เช่น ทรงนิพนธ์เพลง สรรเสริญพระบารมี เพลง เขมรไทรโยค และยังร่วมก่อตั้งวงดนตรีปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ทรงนิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์หลายเรื่อง เช่น สังข์ทอง อิเหนา รามเกียรติ์ เป็นผู้ออกแบบตรากระทรวงต่างๆ ทรงออกแบบพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่อยู่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา รวมถึงออกแบบพระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ออกแบบ-ก่อสร้างอุโบสถและอาคารเรียนโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร แต่งานที่โปรดมากคือการออกแบบพระเมรุมาศ
คำตอบที่ว่ากรมพระยานริศศึกษาศิลปะอย่างไร ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ ผู้เป็นหลาน ได้อธิบายไว้ในวันแถลงข่าวหนังสือ Prince Naris: A Siamese Designer พร้อมทั้งยังนำชมห้องทรงงาน ณ บ้านปลายเนิน อันเป็นสถานที่ที่กรมพระยานริศทรงใช้เป็นตำหนักที่ประทับจนถึงวันสุดท้าย
“ท่านไม่เคยได้รับการฝึกหัดให้เป็นศิลปินเลย ในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนสอนศิลปะ โรงเรียนศิลปะแห่งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ก่อนหน้านั้นถ้าสนใจจะเรียนดนตรี งานปั้น งานแกะสลัก วาดเขียน หรือศิลปะแขนงไหนก็ตาม คุณต้องไปสมัครเป็นลูกศิษย์ของศิลปินอาชีพคนใดคนหนึ่ง คุณต้องถือขันน้ำ มีพวงมาลัย มีผ้าตามประเพณี เอาไปกราบขอเป็นศิษย์ ถ้าครูเขารับขันบูชาครูของคุณ นั่นคือสัญญาณของการเป็นศิษย์ คุณต้องย้ายไปอยู่บ้านครู เป็นคนรับใช้ ทำทุกอย่างที่ครูสั่งแลกกับการได้รับทักษะด้านศิลปะจากครู ซึ่งสิ่งนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นกับกรมพระยานริศได้เลย การที่ประสูติเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอของรัชกาลที่ 4 ทำให้ไม่มีครูคนไหนกล้ารับเจ้านายระดับสูงขนาดนั้นไปอยู่ที่บ้านของตน
“ท่านทรงนิพนธ์เล่าในบันทึกส่วนพระองค์ไว้ว่า ขณะที่ทรงพระเยาว์ มีหน้าที่ต้องเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัวทุกวันเพื่อกราบบังคมทูลทุกข์สุขของตัวเอง และมีหน้าที่อีกอย่างคือเลี้ยงพระที่มาสวดมนต์ในวัง ขณะพระฉันเพล วงปี่พาทย์จะบรรเลงประโคม ท่านจะชอบประทับอยู่ใกล้วงปี่พาทย์ คอยฟังว่าเขาบรรเลงเพลงกันอย่างไร หนักเข้าก็ขอเขาเล่นเครื่องดนตรีบ้าง บางครั้งก็แอบเสด็จลงจากพระที่นั่งเข้าไปดูช่างที่กำลังเขียนผนังในวัดพระแก้ว แล้วจดจำวิธีการเขียน พอเสด็จกลับมาที่ตำหนักจึงลองเขียนตามแบบนั้น
“ท่านทรงศึกษาศิลปะด้วยพระองค์เองในระบบครูพักลักจำ นี่คือที่มาของการเป็นศิลปินของสมเด็จฯ ท่าน พระปรีชาสามารถทางศิลปะทั้งหมดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของพระองค์เอง”
หลังจากที่แบบร่างฝีพระหัตถ์และภาพเขียนของกรมพระยานริศได้รับการเก็บรักษาไว้ที่พระตำหนักบ้านปลายเนินมาเป็นเวลากว่า 64 ปี ในที่สุดผลงานต่างๆ ก็ได้รับการเผยแพร่ผ่านหนังสือ Prince Naris: A Siamese Designer ที่คัดสรรและเล่าเรื่องโดย ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ ผู้เป็นเหลน ซึ่งใช้เวลากว่า 5 ปีในการรวบรวมและคัดเลือกผลงาน
จุดเริ่มต้นและรายละเอียดของหนังสือเล่มนี้
คุณแว๋ว-ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
“ม.จ.กรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาของกรมพระยานริศ เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ดิฉันทำงานวิจัยสำเร็จ 2 ชิ้น กล่าวคือ หนังสือเล่มนี้และงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง Cleanliness in Thailand: King Rama V’s “Hygiene Strategy” from Urban Planning to Dresscodes เมื่อท่านย่าได้ยินว่าดิฉันศึกษาประวัติศาสตร์ด้านการกำจัดเชื้อโรคในสมัยศตวรรษที่ 19 ท่านรับสั่งทันทีว่า “เรื่องขี้เป็นงานของกรมหมื่นมหิศ เรื่องศพเป็นงานของสมเด็จชวด (กรมพระยานริศ)” นี่เป็นเหตุผลที่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ยังคงวนเวียนอยู่แถวอุจจาระและซากศพ
“หนังสือเล่มนี้ตอบคำถามหลักที่ว่ากรมพระยานริศคือใครและเป็นอะไร ซึ่งคำตอบก็คือกรมพระยานริศเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ทรงมีศักดิ์เป็นปู่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงวาดภาพได้ ประเด็นนี้สำคัญเพราะแสดงให้เห็นว่าพระองค์ต่างจากเชื้อพระวงศ์ในยุโรปตะวันตก อย่างเช่น เจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี ประเทศอังกฤษ (Prince Consort Albert) ทรงรักงานศิลปะ ทรงสนับสนุนให้ลอนดอนจัด The Great Exhibition โดยทรงนำเงินที่ได้จากการเข้าชม Crystal Palace มาสร้างกลุ่มอาคารพิพิธภัณฑ์เซาท์เคนซิงตัน (South Kensington) แต่เจ้าชายอัลเบิร์ตไม่ได้ทรงออกแบบอาคารเหล่านั้น
“ในทางตรงข้าม กรมพระยานริศทรงวาดแบบได้ สมัยเมื่อทรงเริ่มต้นวาดภาพ กรุงสยามยังไม่มีการเรียนการสอนทฤษฎีศิลปะ ไม่มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ไม่มีคณะศิลปกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัย กรมพระยานริศทรงเป็นนายช่างผู้ซึมซับความชำนาญทางงานฝีมือจากช่างชั้นครูท่านต่างๆ และสร้างสรรค์งานศิลปะยุคใหม่ขึ้นผ่านความร่วมมือกับช่างไทยและศิลปินจากยุโรป การออกแบบคือวิธีการใช้ชีวิตการทำงานร่วมกันระหว่างพระองค์และทีมงานในการเปิดที่ว่างสำหรับงาน ‘ศิลปะ’ ในกรุงสยาม”
แบบร่างพัดดำรงธรรม ในการฉลองพระชนมายุ 60 พรรษา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พัดนภาพรประภา เนื่องในงานฉลอง 60 พระชันษา ของพระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การเขียนรายละเอียดของเนื้อหา
“ภาพแบบร่างและภาพเขียนฝีพระหัตถ์ที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 หมวดหมู่และ 4 บทตามลำดับ – อาคาร, มนุษย์, สัตว์ทั้งในจิตนาการและความเป็นจริง และตัวอักษร โดยครึ่งหลังของเล่มมีหน้าที่เป็นภาคผนวกภาพแบบร่างจำนวน 4 ภาคผนวกตามชื่อบท ภาพแบบร่างฝีพระหัตถ์เหล่านี้แสดงถึงวิธีคิดและกระบวนการออกแบบตั้งแต่การสร้างจินตนาการสังเคราะห์และวางโครงร่างตัวงาน ดิฉันดีใจทุกครั้งที่สามารถตั้งชื่อให้ภาพร่างเหล่านี้ได้ เพราะบางภาพไม่มีชื่อกำกับไว้ ตัวอย่างเช่น แบบร่างฐานสิงห์ของวัดเบญจมบพิตร แบบร่างรูปสิงโต และเสือในสมุดจดเล่มขนาดโปสการ์ดที่พระองค์ทรงคิดแบบเฟรสโก (fresco – การเขียนสีลงบนปูนเปียก) ในพระอุโบสถวัดราชาธิวาส
แบบร่างด้านนอกและในอุโบสถวัดเบญจมบพิตร
“บทที่ 1 อาคาร จุดเริ่มต้นคือการคัดภาพ หลักการคือเลือกที่ตรงกับความสนใจของตนโดยเฉพาะ และยังไม่เคยเห็นผ่านสายตาในหนังสือที่ตีพิมพ์มาก่อน ตามที่กล่าวข้างต้น ดิฉันสนใจเรื่องความสะอาด ในที่นี้หมายถึงยุทธวิธีการรักษาสุขภาพของคนในกรุงเทพฯ และเครื่องมือในการรักษาเอกราชของประเทศจากการล่าอาณานิคมของยุโรปตะวันตก ภาพที่ขึ้นต้นบท ‘อาคาร’ จึงเป็นแปลนรูปตัดรูปด้านของพระตำหนักที่เกาะสีชัง สมเด็จฯ ทรงเขียนคำว่า WC โดยที่สมัยนั้นยังไม่มีการนำเข้าชักโครกมาจากประเทศอังกฤษ ส่วนอีกแบบร่างหนึ่งที่ดิฉันให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือศาลาโรงธรรมที่วัดสระเกศ เพราะเกี่ยวเนื่องกับข้อเสนอของกรมพระยานริศต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าพระองค์ต้องการจัดระเบียบบริเวณเมรุแร้งวัดสระเกศให้เรียบร้อย
“บทที่ 2 ใจความของบทมนุษย์ (Human Figures) ภาพแบบร่างฝีพระหัตถ์เวสสันดรชาดกภายในอุโบสถวัดราชาธิวาส แสดงให้เราเห็นถึงกระบวนการคิดและทำงานร่วมกันระหว่างกรมพระยานริศกับช่างเขียนชาวอิตาเลียนชื่อ คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) ดิฉันเห็นว่าการทำงานร่วมกันของช่างต่างวัฒนธรรมนี้คือความสำเร็จที่ยากจะหางานใดมาเปรียบเทียบ กรมพระยานริศทรงเข้าใจเนื้อหาของพระเวสสันดรชาดก ริโกลีเข้าใจการสร้างฟอร์มของภาพเฟรสโก นี่คือตัวอย่างที่ดีของการทำงานร่วมกันระหว่างคนที่มีความเคารพซึ่งกันและกัน
ภาพพระอาทิตย์ชักรถ ห้องทรงเขียนของพระที่นั่งบรมพิมาน
“บทที่ 3 กายวิภาคสัตว์ (Animal Figures) ทั้งสัตว์จริงและสัตว์ในจินตนาการ คือบทที่ดิฉันสนุกในการเขียนมากที่สุด บทนี้เริ่มต้นด้วยกายวิภาคม้าวิ่งและฝูงม้าวิ่ง อันเป็นกระบวนการออกแบบภาพพระอาทิตย์ชักรถ มุมมองของม้าเหล่านี้ไม่ได้เขียนจากการมอง แต่มีการปรับสเกลให้ต่ำกว่าสายตาคนปกติ กรมพระยานริศไม่ได้ออกแบบรูปด้านของพระอาทิตย์ชักรถ แต่ท่านทรงออกแบบรถพระอาทิตย์เป็นยานพาหนะก่อนที่จะทรงวาดรูปด้าน หลักฐานมีอยู่ในภาพแบบร่างฝีพระหัตถ์อันแสดงถึงผังพื้นของรถพระอาทิตย์ สถานที่จริงของการวาดภาพพระอาทิตย์ชักรถคือบนเพดานห้องทรงเขียนของพระที่นั่งบรมพิมาน ภาพเฟรสโกนี้เขียนโดยริโกลี ห้อมล้อมด้วยฝ้าไม้ลวดลายวิจิตรบรรจง กรอบภาพนี้จึงคล้ายเป็นหน้าต่างให้ผู้ชมมองผ่านไปยังท้องฟ้า
“ภาพในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แบบร่างฝีพระหัตถ์ที่เก็บรักษา ณ บ้านปลายเนิน การเขียนหนังสือเล่มนี้ยังพาดิฉันไปในสถานที่ที่ไม่คาดคิดที่สุด คือบ้านไม้เก่าหลังงามชื่อ Chateau William เพียงเพื่อตอบคำถามว่า ภาพเขียนรูปช้างของคุณเปียร์ ปิแอร์ ที่เข้ากรอบโดยยังเขียนไม่เสร็จเป็นภาพฝีพระหัตถ์ของสมเด็จฯ หรือไม่
อุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์
“บทที่ 4 บทสุดท้ายว่าด้วยเรื่องตัวอักษร (Alphabetical Letters) ความยากในการเขียนบทนี้คือการอ่านข้อความที่สลักเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร เช่น เยธัมมาคาถา คำสอนหัวใจของพระพุทธศาสนาที่พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ สมเด็จฯ ทรงกะสัดส่วนบนกระดาษกราฟเมื่อไปเห็นผนังด้านหลังของพระอุโบสถจริง ดิฉันเริ่มเข้าใจว่ากรมพระยานริศทรงวาดภาพอักษรด้วยแสงเงาอันแปรเปลี่ยนไปตลอดวัน ผลงานของกรมพระยานริศเป็นตัวอย่างที่ดีในการเสนอแง่คิดว่า หมวดหมู่การวาดอักษรกับการเขียนใจความแยกออกจากกันได้ไม่ชัดเจน สำหรับพระองค์ การออกแบบอักษรอาคาร ตาลปัตร ภาพเขียนฝาผนัง ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน
“โดยสรุป หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นมาจากความรักในซองจดหมายใช้แล้วและเศษกระดาษทุกแผ่นของกรมพระยานริศ ในอนาคตดิฉันหวังว่าบ้านปลายเนินจะมีหอจดหมายเหตุที่เก็บกระดาษเหล่านี้อย่างมีระบบเพื่อให้คนในยุคต่อไปได้เห็นว่าหลักฐานชั้นต้นทางด้านการออกแบบของกรมพระยานริศจะนำพาจินตนาการของพวกเขาไปที่ใด”
ความคิดเบื้องหลังการออกแบบหน้าปก
“กระดาษหุ้มปกหนังสือสีชมพูนี้เป็นความคิดของคุณนิรมิต สิทธิราษฎร์ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบหน้าปกและกระดาษหุ้มปกของหนังสือ Prince Naris: A Siamese Designer สีชมพูนี้เป็นสีที่คุณนิรมิตดึงมาจากรูปเขียน ‘พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ’ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวาดถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในภาพเขียนจริง สีชมพูของเมฆที่ช้างเอราวัณกำลังก้าวเดินค่อยๆ ประสานเข้ากับสีเทาอมเขียวของท้องฟ้าอันเป็นฉากหลังของพระอินทร์ ความอ่อนโยนของภาพวาดเหมือนประสานความเป็นผู้หญิงไว้กับความเป็นผู้ชาย
“ส่วนภาพต้นแบบหน้าปกหนังสือเล่มนี้คือ หน้าปกภาพพิมพ์ลายเส้นฝีพระหัตถ์มหาชนกชาดก ‘เพียรกล้า’ ซึ่งกรมพระยานริศทรงพิมพ์แจกผู้มารดน้ำสงกรานต์พระองค์ใน พ.ศ. 2468 คุณนิรมิตเลือกภาพนี้จากความประทับใจของเธอต่อการออกแบบภาพพิมพ์ของกรมพระยานริศ อายุของภาพพิมพ์ และความละเอียดของการพิมพ์ในสมัยก่อน
“หน้าปกภาพพิมพ์มหาชนกชาดกนี้ประกอบด้วยภาพสัญลักษณ์ส่วนพระองค์ของกรมพระยานริศ เรียกกันว่า ตรา ‘น ในดวงใจ’ และร่องรอยของการพิมพ์คำประกอบด้านหลังกระดาษ กล่าวคือ ‘วาทะ พระมหาชนกโพธิสัตว์ ตรัสโต้ตอบกับนางมณีเมขลา’ คุณนิรมิตเห็นร่องรอยของตัวอักษรกลับด้าน เธอจึงคิดต่อยอดจากภาพต้นแบบดังกล่าว ส่วนหน้าปกจริงของหนังสือ Prince Naris: A Siamese Designer เป็นผ้าสีดำปั๊มนูนสูงตรา ‘น ในดวงใจ’ ด้วยสีทอง และปั๊มนูนต่ำผ้าสีดำด้วยตัวอักษรกลับด้านตามภาพต้นแบบ”
เมื่อพลิกหน้าหนังสือจากปกไปทีละหน้า คล้ายเป็นการค่อยๆ เผยความคิดเบื้องหลังการทำงานของกรมพระยานริศในด้านต่างๆ เรียงร้อยเข้าไว้ด้วยกันเป็นหมวดหมู่ โดยในแต่ละหน้าเป็นภาพถ่ายของผลงาน แบบร่าง ซึ่งหลายชิ้นเป็นเพียงภาพสเกตช์คร่าวๆ ซึ่ง ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ ต้องใช้ความสามารถและค้นคว้าอย่างหนักในการปะติดปะต่อแบบร่างต่างๆ จนกลายเป็นหนังสือฉบับสมบูรณ์ในท้ายที่สุด
ทุกวันนี้ เมื่อดิจิทัลกำลังเปลี่ยนโลกและได้หลอมละลายตัวมันเองเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คน การที่เราละทิ้งออกจากหน้าจอมาสู่หนังสือ ชั่วขณะที่พลิกหน้ากระดาษเปิดดูภาพที่วาดร่างด้วยมือ ภาพสเกตช์ตัวอักษร มองเห็นจังหวะการลงสีหรือร่องรอยดินสอ สิ่งเหล่านี้ชวนให้เราจินตนาการตามภาพและเรื่องราวไปด้วย คล้ายได้ย้อนกลับไปในวันที่ศิลปินทำงานในบริบทสังคมที่เทคโนโลยียังเดินทางไปไม่ถึง วิธีคิดและการจัดการ มุมมองต่อสิ่งต่างๆ อาจเป็นการช่วยต่อยอดทางความคิดและเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินในยุคหลัง Prince Naris: A Siamese Designer เล่มนี้คืองานที่สะท้อนให้เห็นชีวิตของศิลปิน และนับเป็นหนึ่งในบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของศิลปะไทย
ภาพ: หอจดหมายเหตุ บ้านปลายเนิน
Prince Naris: A Siamese Designer
ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ ผู้เขียน
จัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ โดยมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ และสำนักพิมพ์เซรินเดีย
จำนวน 292 หน้า 279 ภาพประกอบ
รายได้จากการจำหน่ายหนังสือจะนำไปใช้ในกิจกรรมของมูลนิธิ อาทิ รางวัลนริศ มอบให้แก่นักเรียน นักศึกษาด้านศิลปะไทยทุกแขนง ส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย รวมทั้งใช้ในการก่อสร้างหอจดหมายเหตุ เพื่อรวมรวบผลงานแบบร่างทั้งหมดของสมเด็จฯ กรมพระยานริศ