×

สุจิตต์ วงษ์เทศ ย้อนรอยประวัติศาสตร์ ไข 5 คำตอบ ‘จันทบุรีมาจากไหน?’

13.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่าจันทบุรีเป็นชุมชนดึกดำบรรพ์เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว มีพัฒนาการบ้านเมืองมาจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นไทยเมื่อราวหลัง พ.ศ. 2000
  • ‘สำเนียงจันท์’ มีที่มาจากสำเนียงพูดที่เป็นสำเนียงหลวงอยุธยา หรือปัจจุบันเรียกว่าการออกเสียง ‘เหน่อ’ ถูกผสมเข้ากับสำเนียงถิ่น จนกลายมาเป็นสำเนียงคนเมืองจันทบุรี

หนังสือ จันทบูร Shining Moon

 

    “จันทบุรีเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของ southeast asia (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เพราะฉะนั้น จันทบุรีจึงเป็นส่วนหนึ่งของ southeast asia อย่างน้อย 2,500 ปีมาแล้ว”
     สุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญ พูดขึ้นในเสวนาเปิดตัวหนังสือ จันทบูร Shining Moon ที่จังหวัดจันทบุรี
     และอธิบายว่า ‘จันทบุรี’ หมายถึงเมืองที่มีไม้จันทน์ ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นไม้มงคล กลิ่นหอม ราคาสูง เป็นสินค้าที่ต้องการของบ้านเมืองเมื่อหลายพันปีมาแล้วสืบมาจนถึงทุกวันนี้ เทียบได้กับชื่อเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว
     นี่คือข้อมูลเบื้องต้นที่สุจิตต์ วงษ์เทศ เกริ่นเรียกน้ำย่อย ก่อนจะอธิบายถึงการก่อร่างสร้างเมือง ที่มาทางประวัติศาสตร์ ฯลฯ เพื่อไขคำตอบว่า‘จันทบุรี มาจากไหน?

 

โบราณสถานเมืองเพนียด

 

     1. 2,500 ปีที่แล้ว: ชุมชนดึกดำบรรพ์

     คนที่อยู่จันทบุรี เป็นส่วนหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างน้อยเมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ซึ่งมีคนและชุมชนอาศัยอยู่ เป็นชุมชนดึกดำบรรพ์ กระจัดกระจายอยู่ตามหุบเขาและที่ราบชายฝั่งจังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่ อ.โป่งน้ำร้อน, อ.สอยดาว, อ.ท่าใหม่ ตลอดจนชายฝั่งทางตะวันออก ลึกเข้าไปจนถึงเขตกัมพูชา เวลานั้นยังไม่มีชาติ แต่คนเหล่านั้นก็ถือเป็นบรรพชนไทยทั้งหมด

     ในแง่ภาษาที่ใช้สื่อสารมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะพูดภาษามอญ-เขมร หรือที่เรารู้จักกันในสมัยนี้ว่าพวก ‘ชอง’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบรรพชนไทย (ในทัศนะของสุจิตต์) ขณะเดียวกันก็มีชุมชนใหญ่อยู่บริเวณแม่น้ำท่าจีนซึ่งเป็น ‘ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย’ หรือที่รู้จักกันทุกวันนี้ในชื่อเมืองอู่ทอง

 

     2. 1,500 ปีที่แล้ว: เมืองเริ่มแรกบนเส้นทางการค้าเลียบชายฝั่ง

     ประมาณ พ.ศ. 1000 หรือ 1,500 ปีมาแล้ว เริ่มมีการติดต่ออินเดีย และคนพื้นเมืองที่นับถือศาสนาผี (เพราะศาสนาพุทธยังไม่เข้ามา ในทัศนะของสุจิตต์มองว่า ทุกวันนี้คนไทยนับถือศาสนาผีแต่เอาพุทธมาหุ้มไว้) บริเวณบ้านเรือนใกล้ทะเลหน้าเขาสระบาปหรือลุ่มน้ำจันทบุรี เป็นเหมือน ‘เมืองสถานีการค้าชายฝั่ง’ ที่ติดต่อค้าขายระหว่างจีนและอินเดีย มีการรับเอาศาสนาจากอินเดีย-ลังกาเข้ามา แต่พบว่ายังไม่มีการใช้ชื่อเมืองจันทบุรี

     พบเพียงจารึกอักษรเขมรเกี่ยวกับการทำบุญของพระราชารัฐใหญ่ในกัมพูชาที่ทำขึ้นราว พ.ศ. 1400 ซึ่งต่อมาได้มีการผูกกับตำนานนิทาน เรียกเมืองแห่งนี้ว่า ‘กาไว’ ส่วนคนต่างถิ่นจะเรียกเมือง ‘เพนียด’

 

ริมน้ำจันทบูร

 

     3. 1,000 ปีที่แล้ว: รับอำนาจวัฒนธรรมขอม

     เมื่อประมาณ พ.ศ. 1500 หรือ 1,000 ปีมาแล้ว วัฒนธรรมขอมจากโตนเลสาบ หรือ ‘กัมพูชา’ ในปัจจุบันได้แผ่เข้ามายังพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งขณะนั้นการค้าทางทะเลกับจีนขยายอย่างกว้างขวาง ทำให้มีผู้คนหลากหลายไปมาหาสู่มากกว่าแต่ก่อน และวันหนึ่งอำนาจทางการเมืองของตระกูลที่พูดภาษาไต-ไทย มีเหนือกว่าตระกูลภาษาเขมร คนในตระกูลภาษาอื่นๆ ก็หันมาพูดภาษาไต-ไทยจนเป็นเรื่องปกติ

     สุจิตต์อธิบายว่า ภาษาไต-ไทยเป็นต้นทางของภาษาไทย ถูกใช้เป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน ขยายจากลุ่มน้ำโขงลงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตกแถบสุพรรณบุรี ซึ่งสำเนียงลาว ‘เหน่อ’ เป็นสำเนียงดั้งเดิมของลุ่มน้ำโขง (ขณะที่คนดั้งเดิมในเมืองจันทบุรีได้กลายเป็นไทยราวหลัง พ.ศ. 2000 โดยเทียบกรณีโคราช ซึ่งในสมัยนั้นมีการโยกย้ายคนจากอยุธยาขึ้นไป แล้วใช้สำเนียงพูดเป็นสำเนียงหลวงอยุธยา ปัจจุบันเรียก ‘เหน่อ’ ผสมสำเนียงถิ่นกลายเป็น ‘สำเนียงจันทน์’​)

 

     4. 700 ปีที่แล้ว: สร้างเมืองใหม่

     ประมาณ พ.ศ. 1800 หรือ 700 ปีมาแล้ว มีการสร้างเมืองขนาดใหญ่โต กว้างขวาง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบบนเนินสูงริมแม่น้ำ เป็นการขยายตัวเมืองจากบริเวณ ‘เพนียด’ ขึ้นมา

     สุจิตต์อธิบายว่า เมือง ‘จันทบุรี’ เป็นเมืองเอกราชที่ยอมรับอำนาจของรัฐใหญ่กว่าในยุคนั้น เช่น รัฐอโยธยาศรีรามเทพหรืออยุธยา ทำการค้าขายกับพ่อค้าจีนโดยตรง สินค้าสำคัญ ได้แก่ ไม้จันทน์ พริกไทย และของป่าอื่นๆ แต่อำนาจของอยุธยาแผ่เข้าไปไม่ถึงโดยตรงต่อเมืองจันทบุรีและเมืองอื่นๆ ขณะนั้น เช่น เมืองชลบุรี เมืองระยอง เพราะมีอำนาจท้องถิ่นควบคุม

 

บรรยากาศชุมชนริมน้ำจันทบูรในวันนี้

 

     5. 250 ปีที่แล้ว: พระเจ้าตากเข้าตีเมือง

     สุจิตต์เล่าถึงเหตุการณ์นี้ว่า ประมาณ พ.ศ.​ 2310 หรือ 250 ปีมาแล้ว พระเจ้าตากตีได้เมืองจันทบุรี แต่ยังมีกลุ่มผู้นำท้องถิ่นอีกมากแข็งข้อ และมีผู้นำ 2 คนที่ปราบไม่สำเร็จ คือ ‘ขุนราม’ กับ ‘หมื่นซ่อง’ ที่ซ่องสุ่มผู้คนอยู่ที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง แล้วนำทัพมาช่วยเจ้าเมืองจันทบุรีรบกับพระเจ้าตาก จากนั้นทั้งสองก็หายตัวไป ไม่ปรากฏพบในพงศาวดาร

     ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษก สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้ให้กรมพระราชวังหลังเข้าไปดูแลเกลี้ยกล่อม ซึ่งได้มอบหมายให้ทหารเอกคนหนึ่งบวชเพื่อมาเป็นสมภารอยู่บ้านกร่ำ ซึ่งต่อมาทหารคนนั้นเป็นที่รู้จักในฐานะพ่อของสุนทรภู่

     มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งสุนทรภู่ได้เดินทางมาหาพ่อ เนื่องจากได้รับคำสั่งให้มาราชการเพื่อส่งข่าวให้พ่อ ทำให้เกิด นิราศเมืองแกลง และทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสุนทรภู่เกิดที่เมืองแกลง ทั้งที่เกิดวังหลัง ศิริราช ในปัจจุบัน

 

     จันทบุรีมาจากไหน? คำตอบและคำอธิบายของสุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ เปรียบเสมือนกุญแจที่ไขผ่านบานประตูพาเราก้าวข้ามปัจจุบันทะลุถึงอดีต

     อดีตที่ทำให้เรารู้ว่า เรามาจากไหน เราในวันนี้คือใคร

     เมื่อ ‘รู้’ อดีต เราก็จะไม่ ‘หลง’ ปัจจุบัน และช่วยให้เราเดินหน้าต่อไปในอนาคตอย่างไม่หลงทาง

FYI
  • คำตอบว่าจันทบุรีมาจากไหน? อ้างอิงข้อมูลจากการเสวนาโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งได้เดินทางมาเสวนาเปิดประเด็นเรื่องนี้ในงานเปิดตัวหนังสือ จันทบูร Shining Moon ที่จัดโดยมติชนอคาเดมี เมื่อ 11 มิ.ย. 2560 ซึ่งส่วนหนึ่งคัดและเรียบเรียงจากเอกสารต้นฉบับเล่าเรื่องจันทบุรี ซึ่งได้แจกให้กับผู้มาร่วมงานดังกล่าว
  • หนังสือ จันทบูร Shining Moon ได้รวบรวมภาพถ่ายที่ใช้เวลาทั้งสิ้นเกือบ 5 ปีเต็ม เพื่อเล่าเรื่องวิถีชีวิตผู้คน สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี อาหารพื้นถิ่น รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวในจันทบุรี จัดพิมพ์ 3 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และจีน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X