×

เส้นทางชีวิตแอนดี้ วอร์ฮอล ศิลปินผู้ใช้ ‘ศิลปะ’ ขับเคลื่อนบริบทสังคม และยังทรงอิทธิพลจนถึงวันนี้

06.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 mins read
  • วัยเด็กของแอนดี้ถือได้ว่ายากลำบาก เพราะตัวเองเป็นโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Sydenham’s Chorea) ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง และมีอารมณ์แปรปรวน
  • ในยุค 50s แอนดี้ได้กลายเป็นศิลปินอิลลัสเตรเตอร์ด้านพาณิชย์ศิลป์ระดับต้นๆ ของวงการนิตยสารและโฆษณา มีผลงานในนิตยสารทั้ง Harper’s Bazaar, Vogue และ Esquire
  • เพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้แอนดี้เริ่มหันมาวาดของใช้ประจำวันที่มนุษย์เราใช้กัน ซึ่งเมื่อคำว่า ‘กระป๋องซุป’ ถูกเอ่ยขึ้นมา แอนดี้ก็มีไอเดียปิ๊งเข้ามาในหัวและออกไปซื้อกระป๋องซุปยี่ห้อ Campbell’s มาทั้งหมด 32 ประเภท สุดท้ายงานชุดนี้กลายเป็นงานอมตะ ที่แม้ว่าคุณจะไม่ได้สนใจหรือติดตามงานศิลป์ก็ต้องเคยผ่านตางานของเขาสักครั้งอย่างแน่นอน
  • ในยุค 70s และ 80s เราก็ได้เห็นวิวัฒนาการของแอนดี้ในการเป็นศิลปินเชิงพาณิชย์อย่างเต็มตัว พร้อมวลีเด็ด “การทำเงินคือศิลปะอย่างหนึ่ง และการทำงานก็เป็นศิลปะ ซึ่งธุรกิจที่ดีก็คือศิลปะที่ยอดเยี่ยม”

     โลกศิลปะในสายตาหลายคนมักถูกมองว่ามีความเฉพาะกลุ่มที่เข้าถึงยาก ต้องอาศัยความรู้เบื้องต้น ซึ่งพูดกันตรงๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เสพได้ง่าย และมักจะมาพร้อม ‘ราคา’ ที่บางคนมองว่าสู้เอาไปซื้อกองทุนกับธนาคารยังจะดีเสียกว่า

     แต่หากเอ่ยชื่อ แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) เขาเป็นมากกว่าเจ้าพ่อศิลปะเชิงป๊อปอาร์ตที่วาดรูปกระป๋องซุป แต่เขาคือหนึ่งในศิลปินระดับโลกเพียงไม่กี่คนผู้สร้างผลงานที่เปลี่ยนบริบทของสังคมได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

     ในวันคล้ายวันเกิดของแอนดี้ THE STANDARD จะพาย้อนกลับไปดูเส้นทางชีวิตของอีกหนึ่งวีรบุรุษคนนี้

     แอนดรูว์ วาร์โฮลา (Andrew Warhola) เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1928 ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ครอบครัวของเขาอพยพมาจากหมู่บ้าน Miková ทางตอนเหนือของประเทศสโลวาเกีย ซึ่งในตอนนั้นคือราชอาณาจักร ‘ออสโตร-ฮังการี’ ที่ล่มสลายภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

     แอนดี้มีพี่ชายสองคน พ่อของเขาทำงานในเหมืองถ่านหิน ก่อนที่จะเสียชีวิตตอนแอนดี้อายุเพียง 13 ปี  

     สำหรับชีวิตในวัยเด็กของแอนดี้ก็ถือได้ว่ายากลำบาก เพราะตัวเองเป็นโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Sydenham’s Chorea) ซึ่งส่งผลทางระบบประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง และมีอารมณ์แปรปรวน โรคนี้ทำให้แอนดี้ต้องพักรักษาตัวเองอยู่ที่บ้านบ่อยครั้ง และมีผลกระทบต่อการเข้าหาเพื่อนฝูง แต่แอนดี้ก็เรียนจบจาก Schenley High School และไปต่อมหาวิทยาลัยที่ Carnegie Mellon University สาขา Pictorial Design ก่อนที่จะย้ายไปมหานครนิวยอร์กในปี 1949 หลังจากรับปริญญาตอนอายุ 20 ปี

 

งานของแอนดี้ในนิตยสาร Harper’s Bazaar

 

     ภายในไม่กี่เดือน แอนดี้ก็ได้งานแรกที่นิตยสารแฟชั่น Glamour ในเครือ Condé Nast หลังจากพอร์ตงานไปเข้าตาอาร์ตไดเรกเตอร์ ทีนา เฟรเดอริกส์ (Tina Fredericks) ซึ่งทีนาให้แอนดี้เริ่มวาดภาพรองเท้าสุภาพสตรี ก่อนที่จะได้วาดไอเท็มอื่นๆ เช่น ขวดน้ำหอม เครื่องประดับ และแว่นตา โดยแอนดี้จะใช้เทคนิคการวาดภาพแบบ Blottled-line

     ในช่วงเวลาเดียวกัน นิตยสาร Glamour เกิดพิมพ์นามสกุลของแอนดี้ผิดจาก Warhola เป็น Warhol ที่ขาดตัว A ไป แต่แอนดี้ก็ไม่ได้ขอให้แก้ไข และปล่อยมาโดยตลอด

     ในยุค 50s แอนดี้ได้กลายเป็นศิลปินอิลลัสเตรเตอร์ด้านพาณิชย์ศิลป์ระดับต้นๆ ของวงการนิตยสารและโฆษณาที่มีงานในนิตยสาร Harper’s Bazaar, Vogue และ Esquire เป็นต้น งานของเขาเริ่มสร้างรายได้ แต่นั่นก็ไม่เพียงพอสำหรับแอนดี้ เขาอยากท้าทายตัวเองและสร้างชื่อเสียงในแวดวงศิลปะ

     แอนดี้มีงานนิทรรศการภาพวาดครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ Hugo Gallery ในนิวยอร์ก ปี 1952 ที่ชื่อ Fifteen Drawings Based on the Writings of Truman Capote เกี่ยวกับนักเขียนชื่อดัง ทรูแมน คาโปต (Truman Capote) แต่แอนดี้ก็ไม่สามารถขายผลงานได้แม้แต่ชิ้นเดียว และพิพิธภัณฑ์หลายที่ก็ปฏิเสธงานของเขา อย่างเช่น MoMa ในตอนนั้นมีแค่ร้านขนมหวาน Serendipity 3 ที่ยอมโชว์ผลงานเขา ซึ่งในปีแรกๆ ที่แอนดี้ย้ายไปอยู่นิวยอร์ก เขาก็มักจ่ายค่าขนมในร้านแลกกับภาพวาดของเขานั่นเอง

 

     เริ่มต้นยุค 60s ผลงานของแอนดี้ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ถ้าเทียบกับศิลปินคนอื่นในศิลปะแนวป๊อปอาร์ตอย่าง รอย ลิกเทนสไตน์ (Roy Lichtenstein) ที่มีชื่อเสียงกับพวกภาพวาดล้อเลียนการ์ตูนคอมิก แต่ในปี 1962 มีเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้แอนดี้เริ่มหันมาวาดของใช้ประจำวันที่มนุษย์เราใช้กัน ซึ่งเมื่อคำว่า ‘กระป๋องซุป’ ถูกเอ่ยขึ้นมา แอนดี้ก็มีไอเดียปิ๊งเข้ามาในหัวและออกไปซื้อกระป๋องซุปยี่ห้อ Campbell’s มาทั้งหมด 32 ประเภท ในราคากระป๋องละ 29 เซนต์ ซึ่งพอแอนดี้วาดทุกกระป๋องเสร็จบนแคนวาสไซส์ 20×16 นิ้ว ต่อชิ้น เขาก็ได้เอาผลงานนี้ที่ตั้งชื่อว่า Campbell’s Soup Can ไปเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการแรกของเขาที่ลอสแอนเจลิส ณ Ferus Gallery ซึ่งเจ้าของแกลเลอรี เออร์วิง บลัม (Irving Blum) ได้ขอซื้อผลงานในราคา 1,000 เหรียญสหรัฐ โดยผ่อนเดือนละ 100 เหรียญสหรัฐ และต่อมาเออร์วิงก็ได้ขายผลงานนี้ให้กับพิพิธภัณฑ์ MoMa ในปี 1996 ด้วยราคา 15 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ในปี 1956 พิพิธภัณฑ์ MoMa เคยปฏิเสธที่จะโชว์ผลงานของเขาด้วยซ้ำ

 

 

     ในปี 1962 แอนดี้ได้ก่อตั้งสตูดิโอชื่อ The Factory ที่ทาสีเงินทั้งหมด และเป็นศูนย์กลางการทำงานของเขาในหลายศาสตร์ เช่น การทำภาพพิมพ์ซิลก์สกรีนของเหล่าดาราฮอลลีวูด, ศิลปะจัดวางต่างๆ และเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังของเขา ตั้งแต่ปี 1963 โดยหนังของแอนดี้มักมีความทดลองอยู่ในตัว เขาชอบใช้หลายเทคนิคในการถ่ายทำ เช่น ถ่ายคนนอนไปเรื่อยๆ โดยไม่ตัดต่ออะไร การจัดวางให้มีหน้าจอสองจอฉายภาพเคลื่อนไหวไซส์ 16 มม. พร้อมกันในหนังเรื่อง Chelsea Girls หรือการทำหนังแบทแมนเวอร์ชันของตัวเองชื่อ Batman Dracula

 

 

 

     แม้แอนดี้จะเป็นคนเปราะบาง นิ่มนวล พูดน้อย และไม่ค่อยแตะยาเสพติดที่เล่นกันในสตูดิโออยู่ตลอดเวลา แต่อีกหนึ่งเสน่ห์ของแอนดี้คือการนำผู้คนจากหลากหลายอาชีพ ชนชั้น และเพศ มาอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกันคือ The Factory ความหลากหลายที่ว่านี้มีตั้งแต่นักธุรกิจ นักดนตรี สาวสังคม วัยรุ่น นักแสดง ยันแดรกควีน โดยก๊วนเพื่อนของแอนดี้จะชื่อว่า Warhol Superstars มีหลายคนที่เขาปลุกปั้นให้มีชื่อเสียง เช่น อีดี เซ็ดจ์วิกซ์ (Edie Sedgwick) และแคนดี้ ดาร์ลิง (Candy Darling) สาวข้ามเพศที่ได้กลายมาเป็นมิวส์ของวงร็อกระดับตำนาน The Velvet Underground ที่แอนดี้เป็นผู้บุกเบิกอีกด้วย และแน่นอน นี่คือวงดนตรีประจำที่ The Factory

     แต่ในปี 1968 แอนดี้เกือบเสียชีวิต หลังจากสาวเฟมินิสต์หัวรุนแรง วาเลอรี โซลานาส (Valerie Solanas) ยิงปืนใส่เขาที่ The Factory แอนดี้ต้องผ่าตัดหัวใจและพักฟื้นในโรงพยาบาลอยู่นาน ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเขาทั้งทางร่างกายและจิตใจ เขาเริ่มเก็บตัวมากขึ้น และลดทอนหลายกิจกรรมสุ่มเสี่ยงที่ The Factory

 

ปกนิตยสาร Interview

 

     ในยุค 70s และ 80s เราได้เห็นวิวัฒนาการของแอนดี้ในการเป็นศิลปินเชิงพาณิชย์อย่างเต็มตัว พร้อมวลีเด็ด “การทำเงินคือศิลปะอย่างหนึ่ง และการทำงานก็เป็นศิลปะ ซึ่งธุรกิจที่ดีก็คือศิลปะที่ยอดเยี่ยม” โดยในตอนนั้นมีทีมเข้ามาบริหารเรื่องการซื้อขายผลงานและโปรเจกต์ว่าจ้างของแอนดี้ภายใต้ชื่อบริษัท Andy Warhol Enterprises ซึ่งคนดังหลายคนได้มาจ้างให้แอนดี้ทำภาพพิมพ์ซิลก์สกรีนให้ นอกจากนี้แอนดี้ยังได้โฟกัสกับนิตยสาร Interview ที่เขาก่อตั้ง, ผลิตรายการทีวีต่างๆ เช่น Andy Warhol’s Fifteen Minutes ทางช่อง MTV และเขายังไปปรากฏตัวในโฆษณา Diet Coke อีกด้วย

     วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ปี 1987 เวลา 6.31 น. แอนดี้เสียชีวิตที่นิวยอร์กหลังจากผ่าตัดถุงน้ำดีและเกิดอาการหัวใจวาย โดยสุสานของเขาตั้งอยู่ที่ St. John the Baptist Byzantine Catholic Cemetery ในรัฐเพนซิลเวเนีย ข้างๆ คุณพ่อคุณแม่ของเขาเอง ส่วนผลงานก็มีการจัดแสดงไปทั่วโลกตามธีมนิทรรศการ รวมถึงที่ The Andy Warhol Museum พิพิธภัณฑ์สูง 7 ชั้นที่เปิดเมื่อปี 1994 ในเมืองพิตต์สเบิร์ก บ้านเกิดของแอนดี้

 

รูปปั้นที่ยูเนียนสแควร์ นิวยอร์ก ในปี 2011

 

     แม้แอนดี้จะจากเราไปแล้ว 30 ปี แต่ความสนใจในตัวเขาและพลังขับเคลื่อนสังคมก็ยังมีอยู่เต็มเปี่ยม ถ้าเราเปิดโปรแกรม Photo Booth ในคอมพิวเตอร์ของ Mac เราจะยังเห็นเอฟเฟกต์ชื่อ Pop Art ที่มาในสไตล์การพิมพ์ซิลก์สกรีนของแอนดี้ หรือถ้าไปเดินช้อปปิ้งที่ร้าน Uniqlo หรือ Converse เราจะเห็นสินค้าที่เอาผลงานแอนดี้มาสกรีน หรือตระกูลคาร์ดาเชียนเองที่เป็นหนึ่งในผู้นำวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ ก็มีหลักการของแอนดี้อยู่ไม่น้อย ตั้งแต่การสร้างตัวเองให้มีชื่อเสียง การทำเงิน หรือสิทธิเรื่องเพศกับเคทลิน เจนเนอร์ (Caitlyn Jenner) ที่แอนดี้เองก็เป็นหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญในการทำให้คนทุกเพศทางเลือกมีจุดยืนในวงการ

     ส่วนของวลีที่ดังที่สุดของแอนดี้ที่ว่า “ในอนาคต ทุกคนต้องมีโอกาสดัง 15 นาที” ที่เขากล่าวไว้ในปี 1968 ทุกวันนี้เราก็เห็นคอนเซปต์นี้ล้อมรอบสังคมเรา กับการที่หลายคนผลักดันตัวเองให้มีชื่อเสียง ทั้งเป็นดารา ศิลปิน หรือ Influencer ซึ่งด้วยกลไกของโซเชียลมีเดียที่ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น เราเชื่อว่าแอนดี้เองคงจะเป็นผู้นำโลกออนไลน์อย่างแน่นอน ถ้าเขายังอยู่ เพราะเขาเป็นคนที่มองไปข้างหน้าเสมอ

 

     คงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ ถ้าถามว่าแอนดี้เป็นศิลปินคนสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์หรือไม่ แต่ถ้าต้องหาศิลปินที่หมั่นเพียรเรียนรู้ศาสตร์หลายแขนงของโลกศิลปะ โลกบันเทิง โลกป๊อปคัลเจอร์อย่างไม่รู้จบ ที่หนึ่งคงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากแอนดี้ วอร์ฮอล

 

อ้างอิง: 

FYI
  • จาเรด เลโต (Jared Leto) นักแสดงดีกรีออสการ์ กำลังจะแสดงเป็นแอนดี้ในหนังชีวประวัติเรื่อง Warhol ที่ได้เทเรนซ์ วินเทอร์ มาเขียนบทภาพยนตร์ให้ หลังเคยเข้าชิงจากหนังเรื่อง The Wolf of Wall Street
  • วันที่ 7 สิงหาคมนี้ ช่อง HBO จะฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Brillo BOx (3¢ Off) เล่าเรื่องการสร้างสรรค์กล่องศิลปะจัดวาง Brillo Box ของแอนดี้ในปี 1964 และเรื่องราวของคนที่ได้ซื้อขายกล่องพวกนี้ ซึ่งมีมูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐในทุกวันนี้

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising