ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จามจุรี 9) เปิดพื้นที่เป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่นิสิตและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 โดยในวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อรวมยอดฉีดวัคซีนกับศูนย์ฉีดวัคซีนของจุฬาฯ ที่บริเวณชั้น 4 จามจุรีสแควร์ ยอดฉีดวัคซีนสะสมทั้งหมดอยู่ที่ 61,953 โดส ฉีดให้บุคลากรทางการศึกษาแล้ว 84 สถาบัน และฉีดให้ผู้ให้บริการสาธารณะแล้ว 17 องค์กร เฉพาะในศูนย์จามจุรี 9 ฉีดได้เฉลี่ย 1,000 โดสต่อวัน
“เราไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้จะสิ้นสุดเมื่อไร แต่ที่เราทำได้คือช่วยเหลือให้มากที่สุด” นพ.สัณฐิติ ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับบทบาทของจุฬาฯ ในฐานะมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร และเคยตกอยู่ในสถานะของมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด สู่การกลายเป็นศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนที่คาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้ครบ 1 แสนโดสภายในสิ้นเดือนนี้
การให้บริการฉีดวัคซีนที่จุฬาฯ ยึดหลักการสำคัญ ‘3 ป’ คือ ‘ปลอดภัย ปูพรม และประสิทธิผล’ โดยการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดแก่ผู้รับบริการที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ เช่น ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาในเขตปทุมวัน และกลุ่มผู้ให้บริการสาธารณะ อย่างพนักงาน ขสมก. ซึ่งมีความปลอดภัยด้วยวัคซีนที่ได้มาตรฐาน ดำเนินการโดยทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ด้วยระบบการให้วัคซีนที่ปลอดภัยครบถ้วนทุกขั้นตอน โดยดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพทางเทคโนโลยี และการจัดระบบให้บริการที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของกระทรวงสาธารณสุขที่ทำให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
นพ.สัณฐิติให้ความกระจ่างว่า ศูนย์ฉีดวัคซีนของจุฬาฯ ไม่ได้อยู่ในระบบของกรุงเทพมหานคร ทำให้ได้รับวัคซีนจากกรมควบคุมโรคโดยตรง สถานะของวัคซีนในตอนนี้จึงมีเพียงพอ ซึ่งที่จัดฉีดอยู่ในช่วงนี้จะเป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ของ Sinovac
ภายในศูนย์บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อาคารจามจุรี 9 เปิดให้บริการฉีดวัคซีนตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น. โดยนิสิตและบุคลากรที่จะเข้าฉีดต้องผ่านการลงทะเบียนทางแอปพลิเคชันของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเปิดให้เข้าลงทะเบียนได้ตามจำนวนของวัคซีนแต่ละยี่ห้อที่ได้รับมาเป็นรอบๆ เมื่อได้รับแจ้งการยืนยันพร้อมวันที่รับวัคซีนแล้วถึงสามารถเดินทางมารับวัคซีนที่ศูนย์ฯ ได้ ต่อมาจะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้ผู้เข้ารับวัคซีนวัดความดันโดยใช้ถุงพลาสติกสวมแขนเพื่อรักษาความสะอาด จัดให้นั่งรอรับวัคซีนภายในห้องกว้างที่มีการเว้นระยะห่าง เชื่อมต่อระบบกับ ‘หมอพร้อม’ เพื่อให้ขึ้นสถานะหลังการรับวัคซีน มีจุดบริการให้ปรึกษาแพทย์และพยาบาลหากกังวลว่าจะเกิดการแพ้
รวมทั้งภายหลังการฉีดจะมีพื้นที่ให้นั่งรอสังเกตผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นเวลา 30 นาทีภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ก่อนจะให้ผู้รับวัคซีนสามารถกลับได้ โดยระบบการจัดการทั้งหมดเป็นไปอย่างไหลลื่นด้วยการประสานงานระหว่างทีมวิศวกรและทีมแพทย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในอนาคตทางศูนย์ฯ หวังว่าระบบการจัดการฉีดวัคซีนนี้จะสามารถเป็นตัวอย่างให้กับศูนย์ฉีดวัคซีนที่อื่นต่อไป
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ